คนมองหนัง : “สังข์ทอง” เรตติ้งทะลุ 7! และการยึดบท “พระเอก” ของ “เจ้าเงาะ”!!

คนมองหนัง

ในที่สุดละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง “สังข์ทอง” ฉบับปี 2561 ก็มีเรตติ้งเลยหลัก 7 เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดย “สังข์ทอง 2561” ตอนที่ “พระสังข์” ถอดรูปเงาะออกมาให้เห็นร่างทองแบบแว้บๆ โกยเรตติ้งไปได้ถึง 7.016

ส่งผลให้ละครพื้นบ้านเรื่องปัจจุบันของค่ายสามเศียร ผงาดขึ้นเป็นโปรแกรมยอดนิยมอันดับหนึ่งของช่อง 7 สี ประจำวันที่ 4-10 มิถุนายน 2561

และเป็นรายการโทรทัศน์ยอดนิยมอันดับสองของทั้งประเทศ แพ้เพียงโปรแกรมการถ่ายทอดสดวอลเลย์บอลหญิงเนชั่นส์ ลีก ระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ซึ่งคว้าเรตติ้งไป 8.150

“สังข์ทอง” เวอร์ชั่นใหม่ ติดเครื่องสตาร์ตอย่างซึมๆ ไม่หวือหวานัก ขณะออกอากาศประมาณยี่สิบตอนแรก ซึ่งเล่าเรื่องราวว่าด้วย “พระสังข์เด็ก” จนถึงช่วงสิ้นใจของ “นางพันธุรัต”

แต่แล้วเรตติ้งก็มาพุ่งกระฉูด เมื่อ “พระสังข์” สวมรูป “เงาะป่าบ้าใบ้” ไปเผชิญหน้ากับ “นางรจนา” “ท้าวสามนต์” “พระมเหสีมณฑา” ตลอดจน “หกพระพี่นาง-หกเขย”

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม เรตติ้งของ “สังข์ทอง” อยู่ที่ 6.7

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม เรตติ้งขยับไปที่ 6.8

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน เรตติ้งตกลงเล็กน้อยไปอยู่ที่ตัวเลข 6.6

ก่อนจะแตะหลัก 7 ได้สำเร็จ ดังรายละเอียดในย่อหน้าแรก

ปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้เรตติ้ง “สังข์ทอง” ขึ้นถึงเลข 7 น่าจะมีอยู่ 3-4 ประการ

ประการแรกคือ ตัวละครคู่ขวัญ “พระสังข์” ตอนโต และ “นางรจนา” ที่รับบทโดยสองพระ-นางดาวรุ่งแห่งค่ายสามเศียร ได้แก่ “ม่อน-สุรศักดิ์ สุวรรณวงษ์” และ “ปูเป้-เกศรินทร์ น้อยผึ้ง”

แต่ปัจจัยข้อนี้อาจมีน้ำหนักไม่มากนัก ณ ปัจจุบัน เพราะแม้ “นางรจนา” จะเริ่มแสดงบทบาทชัดเจนจับต้องได้ในละคร ทว่า “พระสังข์รูปทอง” ที่รับบทโดย “ม่อน สุรศักดิ์” นั้น กลับยังออกจอไม่บ่อยครั้งสักเท่าไหร่

อีกจุดที่ช่วยสร้างอารมณ์ขันให้ “สังข์ทอง 2561” ได้เป็นอย่างดีก็คือ ตัวละคร “ท้าวสามนต์” (เขียนว่า “สามนต์” อันมีที่มาจาก “สามนตราช” ซึ่งหมายถึง “พระราชาแห่งแคว้นที่ใกล้เคียง” หรือ “เจ้าประเทศราช” ไม่ใช่ “สามล” ดังที่นิยมเขียนกัน) และ “มเหสีมณฑา”

แม้มองเผินๆ นักแสดงที่มารับบทบาทพระบิดา-พระมารดาของ “นางรจนา” จะแลดูเป็นองค์ประกอบที่ผิดฝาผิดตัวไม่น้อย เพราะ “เพชรฎี (รัฐธรรมนูญ) ศรีฤกษ์” อดีตพระเอกดาวรุ่งของช่อง 7 ซึ่งมาสวมบท “ท้าวสามนต์” นั้นมีวัย 42 ปี ขณะที่ “ปนัดดา โกมารทัต” ผู้รับบท “นางมณฑา” มีอายุย่าง 61 ปีเข้าให้แล้ว

เพชรฎีที่ต้องแสร้งเป็นคนแก่และสามีของนักแสดงรุ่นแม่ จึงกลายสภาพเป็น “ท้าวสามนต์” ในลักษณะการ์ตูน-โอเวอร์แอ๊กติ้ง-ติ๊งต๊องนิดๆ

แต่หากมาตรวัดความสำเร็จอยู่ที่เสียงหัวเราะจากผู้ชม ก็ดูเหมือนเพชรฎีจะทำหน้าที่ของตนได้ดีระดับหนึ่ง แม้ยังไม่ยอดเยี่ยมทัดเทียมการแสดงในบทเดียวกันโดย “ไพโรจน์ สังวริบุตร” เมื่อปี 2550

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ และดูเหมือน “สังข์ทอง” เวอร์ชั่นใหม จะปรุงรสเปลี่ยนสูตรได้อย่างน่าสนใจคือ กลุ่มตัวละคร “หกพระพี่นาง-หกเขย”

“หกพระพี่นาง” ซึ่งหนนี้เหมือนจะมาในรูป “นางร้าย” ยกเซ็ต รับบทโดยนักแสดงหญิงที่หน้าตาสะสวยไม่แพ้ดาราละครเย็นหรือละครหลังข่าว บางคนเป็นเด็กปั้นของดาราวิดีโอ-ดีด้า-สามเศียร ขณะที่บางรายก็มีดีกรีนางงาม เคยผ่านเวทีนางสาวไทยและมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์มาแล้ว

ส่วน “หกเขย” แห่งปี 2561 ก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ยิ่งขึ้น เพราะประกอบด้วยเขยแขก, เขยพม่า, เขยฝรั่ง, เขยไทย, เขยจีน และเขยลาว

ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ คู่เขยบางคนของ “พระสังข์/เจ้าเงาะ” เวอร์ชั่นล่าสุด มีเพศสภาพที่ลื่นไหลไปไกล จน (อาจจะ) กลายเป็น “ชายรักชาย”

วิธีการนำเสนอความหลากหลายลื่นไหลทางชาติพันธุ์และเพศสภาพผ่านอารมณ์ขันสไตล์ละครพื้นบ้านจักรๆ วงศ์ๆ อาจไม่ได้ “ถูกต้องทางการเมือง” แบบเป๊ะๆ

แต่ก็สะท้อนถึงวิธีมองโลก มองคน และค่านิยมที่ผันแปรเปลี่ยนไปของสังคมไทยร่วมสมัยได้ดีมีพลวัตพอสมควร

ปัจจัยสำคัญ (มาก) ประการสุดท้าย ที่แฝงไว้ด้วยลักษณะอาการ “ผิดแผก” จากจารีตเดิมๆ ก็คือ ตัวละคร “เจ้าเงาะ” ซึ่งรับบทโดย “ปอนด์-โอภาภูมิ ชิตาพัณณ์” หนึ่งในนักแสดงจักรๆ วงศ์ๆ ขนานแท้สารพัดประโยชน์ของทีมงานสามเศียร

คนส่วนใหญ่ที่รู้เรื่อง “สังข์ทอง” คงจะพอจำแนกได้ออก ถึงบทบาทหน้าที่อันแตกต่างกันระหว่าง “พระสังข์” รูปทอง กับ “เจ้าเงาะป่า” บ้าใบ้ตัวดำ

กล่าวคือ “พระสังข์” นั้นมีฐานะเป็นพระเอกรูปงาม ส่วน “เจ้าเงาะ” เป็นพระเอกในเวอร์ชั่นตัวตลกผู้มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์

ทั้งสองตัวละครคือ “สองคนในร่างเดียว” ซึ่งทำหน้าที่แยกจากกันชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เส้นแบ่งดังกล่าวค่อยๆ พร่าเลือนกว่าเดิม เพราะพลานุภาพของ “เจ้าเงาะ” ใน “สังข์ทอง 2561”

เนื่องจาก “เจ้าเงาะ” ฉบับใหม่ ได้สวมบทบาท “ตัวตลก” คอยสร้างเสียงเฮฮาไปพร้อมๆ กับการเป็น “ชายหนุ่มรูปร่างกำยำ” มีมัดกล้ามงดงามชวนมอง

แฟนละครพื้นบ้านหลายรายเห็นว่า นี่อาจเป็น “เจ้าเงาะ” ที่หุ่นล่ำกว่า “พระสังข์” เสียด้วยซ้ำไป

“เจ้าเงาะ” ใน “สังข์ทอง 2561” จึงดูคล้ายจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็น “ตัวตลก” อย่างเพียวๆ แต่เขายังเปล่งประกาย “ความเป็นพระเอกรูปงาม” (ที่ปิดซ่อนไว้ไม่มิด) ของตนเองออกมา ผ่านเรือนร่างแข็งแกร่งสมชายชาตรี

ซึ่งคนดูก็ให้การยอมรับบทบาทหน้าที่คู่ขนานนี้เป็นอย่างดี

ไม่แน่ใจว่าการที่ “เจ้าเงาะ” มีบทบาทแบบ “ทูอินวัน” เสียเองเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อ “เหรียญอีกด้าน” อย่าง “พระสังข์” หรือไม่? อย่างไร?

อย่างน้อยที่สุด คุณสมบัติ “ความเป็นพระเอกรูป(ร่าง)งาม” ที่ “พระสังข์” เคยครอบครองอยู่เพียงฝ่ายเดียว ก็ต้องถูกแบ่งสันปันส่วนมายังฝั่ง “เจ้าเงาะ” มากพอสมควร

ผิดกับองค์ประกอบ “ความเป็นตัวตลก” ที่ “เจ้าเงาะ” มิได้ถ่ายโอนไปให้ “พระสังข์” สักเท่าไหร่

ถ้าลองผลักตรรกะไปให้สุดทาง บางที การเล่นบทพระเอกได้อย่างสมบูรณ์แบบของ “เจ้าเงาะ” อาจบ่งชี้ถึงความเปล่าประโยชน์ในการดำรงอยู่ของ “พระสังข์”