ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 132 “วาฬ” เหยื่อของ “ความชุ่ย”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ความตายของ “วาฬ” นำร่องครีบสั้นที่จังหวัดสงขลานั้น ถือเป็นข่าวใหญ่ของวงการสิ่งแวดล้อมโลก และเชื่อว่าผู้คนอีกจำนวนมากตื่นตระหนกกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

หนังสือพิมพ์ระดับชาติอย่าง “บางกอกโพสต์” ถึงกับหยิบข่าว “วาฬ” ตายขึ้นมาพาดหัวใหญ่ในฉบับวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก

พร้อมๆ บทบรรณาธิการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาวิธีป้องกันไม่ให้ขยะหมักหมมในทะเลรวมถึงบทความของผู้อำนวยการองค์การอนุรักษ์ธรรมชาติประจำภูมิภาคเอเชียที่พูดถึงวงจรขยะพลาสติกในท้องทะเลของเอเชีย

อารมณ์ของสื่อสะท้อนผ่านตัวหนังสือภาษาอังกฤษดังกล่าว ไม่เพียงบอกให้รู้ว่า ประเทศไทยเผชิญวิกฤตการณ์ขยะพิษอย่างหนักหน่วงเท่านั้น หากยังพาดหัวตอกย้ำความล้มเหลวในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศนี้อีกด้วย

 

เป็นที่รู้กันว่าประเทศไทยทิ้งขยะลงในทะเลปีละประมาณ 50,000-60,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกราว 50,000 ตัน หรือ 750 ล้านชิ้น นับเป็นปริมาณที่สูงติดอันดับ 6 ของโลก

สถิตินี้ประจานความชุ่ย ความไม่รับผิดชอบต่อสาธารณะได้เป็นอย่างดี

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลบอกกับบางกอกโพสต์ว่า ความตายของวาฬทำให้ชาวโลกพากันจับจ้องประเทศไทย เนื่องจากมีพฤติการณ์ไม่เป็นมิตรกับชีวิตสัตว์ในท้องทะเล มีโอกาสเสี่ยงจะถูกเพื่อนร่วมโลกรวมหัวออกมาตรการแซงก์ซั่นทางการค้า

ขอย้อนลำดับเหตุการณ์ข่าวการเสียชีวิตของวาฬที่บันทึกลงในเฟซบุ๊กชื่อ “Thaiwhales” เพื่อให้เห็นเรื่องราวอันน่าสลดหดหู่

 

“เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นายสันติ นิลวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง แจ้งว่าพบวาฬนำร่องครีบสั้น (Short fined Pilot Whales) ว่ายเข้ามาในคลองนาทับ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา

ทีมสัตวแพทย์เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุและช่วยกันย้ายวาฬซึ่งอยู่ในที่โคลน น้ำไม่ค่อยดี มาอยู่บริเวณใกล้เคียงหลังแนวกั้นคลื่น เพื่อช่วยเหลือวาฬเพศผู้ ยาว 4.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม มีอาการเซื่องซึม ไม่กินอาหาร ไม่สามารถว่ายน้ำเอง

สัตวแพทย์ให้น้ำเกลือผสมกลูโคสทางสายยาง ให้ยาทางเลือด เช็ดขูดเนื้อตายออกตรงปากล่างด้านซ้าย และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ต่อมาเช้าวันที่ 1 มิถุนายน วาฬมีอาการดิ้น สัตวแพทย์พบถุงพลาสติกที่มีเมือกและกลิ่นเหม็นฉุนคล้ายเวลาตอนผ่าวาฬ และยังมีถุงพลาสติกลอยน้ำมา

กระทั่งช่วงบ่ายวาฬดิ้นแรงขึ้น พยายามสำรอกเอาถุงพลาสติกเมือกออกมา 2-3 ครั้ง ไม่มีเสียงหายใจออกของวาฬ และไม่มีสัญญาณชีพจร แม้สัตวแพทย์จะช่วยกันปั๊มหัวใจแต่ไม่เป็นผล สุดท้ายวาฬได้ตายลงแม้สัตวแพทย์ช่วยชีวิตอย่างสุดความสามารถ ท่ามกลางฝนฟ้าคะนอง

จากนั้นได้ย้ายซากวาฬไปที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เพื่อผ่าพิสูจน์ พบอวัยวะหลายอย่างไม่ปกติ มีพยาธิในหลายอวัยวะ

เมื่อกรีดหลอดอาหารไปจนถึงปลายสุดของกระเพาะอาหาร พบถุงพลาสติก 85 ชิ้น น้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากวาฬได้กินขยะถุงพลาสติกที่ลอยน้ำมา แล้วสะสมในกระเพาะอาหารจนเสียชีวิต”

 

ส่วนเฟซบุ๊ก “Watchara Sakornwimon” ของ “หมออุ๋ย” วัชรา ศากรวิมล สัตวแพทย์หญิงประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โพสต์ภาพและข้อความหลังจากเข้าช่วยเหลือวาฬว่า

“ตั้งแต่เป็นหมอมาไม่เคยรู้สึกแย่เท่านี้เลย ทุกครั้งที่มีโลมาหรือวาฬเกยตื้นเราจะทำใจแล้วว่าอาการสัตว์เหล่านี้คือวิกฤต โอกาสรอดน้อย ทุกครั้งมันคือความท้าทายที่จะช่วยมันให้รอดแม้ว่าบางครั้งจะจบด้วยการชันสูตรก็ตามที

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ปวดใจที่สุด เมื่อก่อนตายมันขย้อนเอาถุงพลาสติกออกมา 5 ชิ้น แต่ที่ปวดใจยิ่งกว่าคือการเจอขยะในกระเพาะ 8 กิโลกรัม หรือขยะกว่า 80 ชิ้น

ถึงแม้ว่าเจ้าวาฬนำร่องครีบสั้นจะป่วยแต่ถ้าไม่กินขยะเข้าไปด้วยโอกาสรอดคงเพิ่มขึ้น เศร้าว่ะเมื่อคนยังเป็นผู้ฆ่าสิ่งมีชีวิตต่างๆ ด้วยความมักง่าย ขอบคุณทุกคนจริงๆ ที่อดหลับอดนอนเฝ้ากัน และช่วยกันผ่าซากจนข้ามวัน และชาวบ้านและคนในพื้นที่ที่ช่วยอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ขอโทษด้วยนะวาฬนำร่องตัวแรกในชีวิต”

หมออุ๋ยสัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวบีบีซีไทยในภายหลังยอมรับว่า ช่วงนาทีที่กรีดมีดลงที่อวัยวะภายในของวาฬ รู้สึกอึ้งและช็อกกับปริมาณขยะในท้องวาฬ จากประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับสัตว์ทะเลหายากมา 5 ปี เคยมีกรณีวาฬน้ำลึกที่กินขยะเข้าไปครั้งนั้นมีน้ำหนัก 1-2 กิโลกรัม แต่ครั้งนี้ถือว่ามากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยเจอมา

“เรารู้แน่แล้วว่าวาฬกินพลาสติก เราก็เสียใจนะ ทุกทีที่มันป่วยโอกาสรอดน้อยอยู่แล้ว แล้วยิ่งกินขยะพวกนี้อีก มันก็ยิ่งทำให้โอกาสรอดมันน้อยไปอีก แค่ป่วยอย่างเดียวอาจจะมีอัตรารอดเพิ่มขึ้นมา”

“เราไม่สามารถลดสาเหตุที่เกิดจากคนได้ เราก็รู้สึกเสียใจแหละที่เหมือนว่าคนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เค้าแย่และตาย การกินขยะก่อนตายมันทรมานมากอยู่แล้ว อาหารไม่ย่อยคนเรายังท้องอืดปวดท้องเลย อันนี้คือไม่ย่อยและเป็นพลาสติกที่เหนียวแล้วเป็นมาหลายวัน เค้าน่าจะปวดมาก ทรมานมากก่อนเสีย”

“ถ้าการตายของวาฬตัวนี้จะทำให้คนมีจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราก็ว่ามันเป็นการทำบุญให้เค้าอย่างหนึ่ง เพราะมันประจักษ์เลยว่าขยะพวกนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้วาฬตาย และทำให้มันป่วยอย่างทรมานก่อนตาย”

หมออุ๋ยบอกผ่านบีบีซีไทย

 

ถ้าคำสัมภาษณ์ของ “หมออุ๋ย” เสียงเตือนของ “ดร.ธรณ์” ข่าวพาดหัวของ “บางกอกโพสต์” และสื่ออื่นๆ ช่วยกันโหมประโคมกระแสการตายของ “วาฬ” ให้ผู้คนได้รับรู้อย่างกว้างขวาง ถูกกระแสอื่นๆ กลืนหายไป นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

รัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดควรเร่งฉวยจังหวะนี้ หยิบปัญหาขยะขึ้นมาปลุกจิตสำนึกคนทั้งประเทศ ร่วมกันลด เลิกและควบคุมบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

หากรัฐบาลประยุทธ์ทำจนบรรลุผล นี่จะเป็นอีกหนทางช่วยเรียกคืนความนิยมศรัทธา