กูคือกูย แล้วมันคืออะไร?

ตั้งแต่เคยอยู่เขมร สารภาพเรื่องหนึ่งถึงโชคชะตาที่มากำหนดให้ฉันได้พบกับชนกลุ่มน้อยหรือ “ชนกลุ่มเดิม” ตามที่ชาวเขมรเรียกกัน ครั้นเมื่อย้อนช่วงเวลากลับไป อย่างไม่นึกว่าจะมากพอประมาณ ซึ่งบางครั้งก็เดาไม่ออกว่าเป็นเผ่าใด

ตั้งแต่ “ปราว” “กลึง” “จราย” ในรัตนคีรี-มลฑลคีรี, กระวานในโพธิสัตว์ สำเหร่? ชาวกูยในเสียมเรียบที่ฉันไปพบอย่างบังเอิญในป่า

แต่จะเป็นสำเหร่/สำแร หรือกูย? ฉันก็แยกไม่ออกหรอกนะ เพราะมัวแต่ตกตะลึงพรึงเพริดกับสิ่งที่เห็นอยู่เบื้องหน้า

หากไม่ใช่แต่ฉันฝ่ายเดียวหรอก พวกเขาเองก็มีอาการอย่างเดียวกันสำหรับใน “ชั่วนาที” ตะลึงงันแบบนั้นที่ปราศจากบทสนทนา

ช่างเป็นภาวะที่น่าจดจำ

แต่โลกของโซเชียลมีเดียเล็กๆ กลับนำพาฉันกลับมาพบกับชนเชียดกูยอีกครั้ง ในนามของหญิงชาวกูยผู้มีชื่อแบบเขมรว่า-นวน มม

เธอเป็นตัวแทนชนกลุ่มน้อยบ้านปรอแม จว.พระวิเหียร์ผู้กำลังประสบหายนะจากกลุ่มทุนสัมปทานของรัฐที่บุกรุกทำลายผืนป่าระกา ผืนป่าสมบูรณ์และเป็นเหมือนแหล่งอาหารแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ซึ่งเธอและพี่น้องใช้ดำรงชีวิต

แม้จะได้ยินเสียงของมม-หญิงกูยคนแรกในกัมพูชาที่ทำให้ฉันรู้สึกดีใจ

แต่ก็กลับปวดร้าวในเรื่องราวที่รับทราบถึงการเผชิญความยากลำบากอย่างที่ประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของชนเผ่านี้จะมีบันทึก

ทั้งหนักอึ้งและตื้นตัน เมื่อทราบถึงวิถีกูยในกัมพูชาว่าพวกเขายังมีตัวตน กระนั้นก็ลึกไปด้วยความเศร้า

เมื่อทราบว่าพวกเขากำลังเผชิญหน้ากับหายนะอย่างโดดเดี่ยวกว่าครั้งใด

พลันในจิตรำลึกของฉันต่อประวัติศาสตร์ชนเผ่านี้ ก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ตั้งแต่แอ่งอารยธรรมเก่ายุคขอมบริเวณเมืองสันตึกราวศตวรรษที่ 15 ซึ่งมีศูนย์กลางที่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวายโดยพระบาทหรรฌวรมัน (Hashavarman) พระอัยกาทวดในพระบาทชัยวรมันที่ 7

นอกจาก (อาจ) จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชนชาติที่ร่วมสร้างอารยธรรมก่อนสมัยเมืองพระนคร บริเวณแอ่งอารยธรรมกูยตามหลักฐานจารึกเขมรแล้ว เมืองสันตึกซึ่งเก่าแก่และต่อมาได้ถูกเรียกว่า “กำปงส-ออย” และ “กำปง-สวาย” ในกาลต่อมา ก่อนจะกลายเป็นเมืองกำปงทมในปัจจุบัน

ชาวกำปงทมนั้นมีสำเนียง “เหน่อจัด” และ “เหน่อแรง” และมักจะถูกล้อเลียนจนกลายเป็นที่ขบขันในคนสำเนียงเขมรกลาง

ซึ่งไม่แน่ใจว่า ความเหน่อของกำปงทมนี้ มีที่มาจากพื้นเพที่มีบรรพบุรุษเป็น “ชนชาติเดิม” อย่างเผ่ากูยด้วยหรือไม่?

หากพบว่าชนเชียดกูยนี้ได้ตั้งหลักแหล่งเหนือผืนทะเลสาบไปทางตะวันออกมานานแล้ว ไม่เท่านั้น ยังมีหลักฐานที่พบว่า ชนกูยเดิมในกำปงสวายนี้น่าจะนับถือพุทธศาสนาอีกด้วย ซึ่งหลักฐานบ่งชัดถึงความรุ่งเรืองในพุทธศาสนาของชมชนกูย ณ แอ่งอารยธรรมพระขรรค์กำปงสวายก็คือ ตราพระลัญจกรแห่งวัดกำปงสวายที่สลักเป็นรูปดอกบัวและมีอักษรเขมร “กำปงสวาย” กำกับไว้เบื้องล่าง แล ซูซานน์ คาร์เปเลส์ เป็นผู้ค้นพบและทำบันทึกนี้ไว้ใน พ.ศ.2476

ซึ่งคาดการณ์ว่า อิทธิพลพุทธศาสนานี้น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทหรรฌวรมันแล้ว แต่มารุ่งเรืองในยุคชัยวรมันที่ 7

หากแต่อิทธิพลของเขมรที่อาศัยแวดล้อมชุมชนทำให้พวกเขาต้องหันมานับถือพุทธไปด้วย แต่ก็เฉพาะในเชิงพิธีกรรมเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากที่วัดไพรตอตึง อันเป็นเขตที่มีชุมชนกูยอาศัยอยู่หนาแน่นแห่งหนึ่งในเขตกำปงทมซึ่งพบว่า มีกูยที่บวชเป็นพระสงฆ์และมีผู้นำชุมชนที่ทำหน้าที่เหมือนมัคนายก แต่กระนั้นก็ยังพูดภาษากูย

และการบวชนี้ก็เป็นไปเพื่อทำพิธีกรรมต่างๆ เช่น การตาย เป็นต้น มีการนำศพไปเผาสำหรับกรณีที่พอมีฐานะ ส่วนที่ยากไร้จะนำไปฝัง

ลักษณะดังกล่าวนี้ ยังพบว่ามีกระจายไปยังชุมชนกูยอื่นๆ เช่น ที่หมู่บ้านเวียลแวงในเขตโพธิสัตว์และอำเภอสมบูร์ในจังหวัดกระแจะ

นอกจากจะมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับราชธานีที่ยิ่งใหญ่แล้ว อาจจะเป็นเรื่องที่ชวนให้ถกเถียงต่อไปอีกว่า

กลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่ที่ผลิตอาวุธดาบและเครื่องเหล็กซึ่งเป็นเหมือนตัวประแจยึดชั้นหินในการก่อสร้างองค์ปรางค์ปราสาท

นอกจากนี้ ในบันทึกของ เอเตียง อีโมนีเยร์ ในปี พ.ศ.2440 และ 2444 กล่าวถึงกษัตริย์ขอมที่ได้รับความช่วยเหลือจากกูยในการไปจับช้างเผือกในป่าตัวหนึ่ง บ่งชี้ถึงวิถีชนกูยเผ่าเดิมซึ่งมีถิ่นฐานในป่าที่ราบตอนใต้เทือกเขาดงรัก ซึ่งอุดมไปด้วยช้างป่า/ดำไรจำนวนมาก

ตามความเชื่อของกษัตริย์ขอมนั้น ถือว่าช้างเผือกเป็นสัตว์ในเทพพระศิวะ และมีจารึกเขมรหลักหนึ่งกล่าวถึงกษัตริย์ขอมที่ออกไปจับช้างเผือกในป่า โดยความช่วยเหลือจากชาวกูยทำให้พระองค์ได้เชิญชนป่าผู้นั้นมาเป็นอาคันตุกะ ณ พระราชวังส่วนพระองค์ในเมืองนครทม (Angkor?)

ซึ่งต่อมายังได้รับพระราชทานตราพระลัญจกรซึ่งสลักคำว่า “สังขปุระ” อันบ่งถึงฐานะแห่งความเป็นเจ้าเมือง ดังจะเห็นได้จาก “พระยาสังขะบุรี” ผู้เป็นเจ้าเมืองสังขะปุระ/บุรี โดยใน “ตำนานเหล็กและไฟสมัยเมืองพระนคร” (Les ma?tes du fer et du feu dans le royaume d”Angkor) โดย แบร์นาร์ด ดูเปญจ์ (Bernard Dupaigne) ซึ่งอ้างไว้นั้น ระบุว่า สังขะบุรีเป็นเมืองเก่าของไทย (น.57)

ที่นี้ อาจเป็นหลักฐานว่า กูยชนสังขะบุรีจังหวัดสุรินทร์ อาจมีสัมพันธ์กับกูยเขมรล่าง

อย่างน้อยก็ก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 และหลักฐานสำคัญถึงความสัมพันธ์ของกูยที่มีต่อกษัตริย์ขอม โดยมิใช่แต่เป็นข้าทาส แต่เป็นประหนึ่งเหมือนชนชาติผู้ให้การอุปถัมป์ ซึ่งตราพระลัญจกรแบบเดียวกันนี้ ยังมีมาตั้งแต่อดีตคือเมือง (หลวง) กูยซึ่งก็คือเมืองสันตึก/หรือกำปงสวาย

แลเก่าแก่กว่าพระลัญจกรสังขะบุรีเสียอีก

ดังจะเห็นว่านอกจากจะเห็นตราพระลัญจกรแห่งวัดกำปงสวายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาแล้ว ยังมีพระลัญจกรที่เกี่ยวกับตราประจำเมืองอีกด้วย

โดยตราพระลัญจกรของกำปงสวายนี้สลักเป็นรูปหนุมาน ตามตำนานมหากาพย์รามายาณะหรือเรียมเกร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธาตุลม ธาตุน้ำและธาตุไฟที่กษัตริย์ขอมมักทำพิธีบูชาบวงสรวง

และหากตราสัญลักษณ์ดังกล่าวจะบ่งถึงอัตลักษณ์เมืองสันตึกเมืองหลวงกูยแล้ว ก็ชัดเจนถึงความสำคัญของเมืองนี้ที่อุดมไปด้วยแร่เหล็กอันเปรียบเสมือนมหิทธิฤทธาในองค์กษัตริย์ เทวัญ ซึ่งหลักฐานบางอย่างอาจทำให้เชื่อว่า เบื้องหลังของความยิ่งใหญ่แห่งเมืองพระนครและปราสาทหินเหนือทะเลสาบใหญ่นี้ อาจมีที่มาจากบรรพชนชาวกูยแห่งเมืองสันตึก

หรือกำปงสวายนี่เอง

และนี่เองที่ทำให้ฉันรำลึกถึงกูยที่ครั้งหนึ่งฉันเคยไปเยือน และร่วมชมพิธีไหว้ผีประกำพิธีคชศาสตร์การจับช้างของชาวกูยที่จังหวัดสุรินทร์

ครูประกำท่านนี้มีชื่อว่าอะไรฉันก็จำมิได้แล้ว รู้แต่มีศิษย์หนุ่มอยู่คนหนึ่งซึ่งคล้ายจะนุ่งเตี่ยวตามแบบครูประกำ ไม่เพียงแต่การพูดภาษากูย/ส่วยเท่านั้น แต่เขายังแบกเอาบุคลิกเมินเฉยต่อสังคมอื่น ซึ่งทำให้เรายากจะเข้าถึง

บางทีมันอาจจะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของชนเผ่านี้ที่มีส่วนทำให้ไมเคิล-อเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์ยอมทิ้งถิ่นฐานเพื่อมาเล่าเรียนศาสตร์วิชาคชศาสตร์และชนกูย ที่กำลังร่วงโรยและใกล้จะสูญพันธุ์

สำหรับฉัน การพบกับไมเคิล คือความรื่นรมย์ของการได้เห็นส่วนผสมระหว่างมิชชันนารีและนักวิจัยด้านมนุษยวิทยาคนสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ที่เต็มไปด้วยการอุทิศตนพร้อมกับลมหายใจแห่งความอุตสาหะ

และมันคือแบบเดียวกันกับที่ฉันจดจำเมื่อพบกูยขะแมร์ในป่ากัมพูชา นั่นคือ ภาวะแห่งความเงียบงันที่ปราศจากบทสนทนา

แต่เป็นความเงียบเดียวที่น่าหลงใหลในอัตลักษณ์ซึ่งหน้าที่เรียบง่ายและชวนให้จำจด

ซึ่งนั่นเอง ที่ทำให้ฉันตระหนักว่า เด็กหนุ่มคนนั้นได้เป็นส่วนหนึ่งของกูยไปแล้ว เขาฝังตัวศึกษาวิถีชาวกูยตอนบนของเทือกเขาพนมดงรักยาวนานต่อมาอีกกว่าค่อนชีวิต มีจริตและประพฤติความเป็นกูยที่ไม่ต้องการหลักฐานพิสูจน์แห่งชาติพันธุ์และอัตลักษณ์

ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่โถมกัดกลืนความเป็นชาติพันธุ์เก่าแก่ที่ยากจะรักษาวิถีดำรงชีพดั้งเดิมของตนให้รอดพ้นจากอำนาจคุกคามดังเช่นชะตากรรมของพี่น้องกูยแห่งป่าระกาที่กำลังเผชิญชะตากรรม

สำหรับกับกรณีไมเคิลที่ฉันเพิ่งตระหนักว่า บัดนี้ เขาได้สาบสูญไปจากถิ่นที่เคยดำรงความเป็นพรานกูยจับช้างป่า อย่างปราศจากคำบอกเล่าความเป็นไปในเทือกเขาดงรักตอนบนที่เงียบงันมากว่า 2 ทศวรรษ

และสำหรับจิตวิญญาณแห่งการดำรงความเป็นกูยจากป่าผืนดงรักตอนล่าง ซึ่งได้มาถึงยุคสุดท้ายของความพยายามที่จะรักษาจิตวิญญาณแห่งบรรพชนของชาวกูยเขมรต่ำ

บนความยากลำบากของชนเผ่าหนึ่ง

ที่กำลังถูกกลืน