ลึกแต่ไม่ลับ : เฉียด 4 ปีบริบูรณ์ “คนการเมือง” กอดคอกันตกงานเพื่อ “กระดูกติดมัน”

จรัญ พงษ์จีน

ฤทธิ์เดชของการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 พ่นพิษได้แสบสันต์มากสำหรับ “นักเลือกตั้งอาชีพ” ต่างพากันตกที่นั่งเสือลำบาก “บุญลงหงส์แปรสภาพเป็นกาไก่” สิริรวมจากวันที่ถูกคว่ำกระดาน กอดคอกันไม่มีงานทำแบบมาราธอน จวนจะครบ 3 ปีอยู่หลัดๆ แล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตาม เดินหลงเข้าเขาวงกตอันคดเคี้ยว พอมีแสงสว่างแลบแปล๊บมาจากปลายอุโมงค์ แม้ยังไกลสุดกู่ อยู่สุดลูกหูลูกตา “คนการเมือง” ต่างพากันอยากไขว่คว้าขอนไม้ไร้ค่านั้น

ระฆังเลือกตั้งยังไม่ทันดัง ต่างพากันเริ่มขยับขับเคลื่อน แสดงเจตจำนงกันออกมาในหลายรูปลักษณ์ “นานาจิตตัง” ทั้งจับขั้ว สลับฟันปลา ฟอร์มรัฐบาลเงา บ้างก็เดินสายประสานสิบทิศเป็นพันธมิตรกันในอนาคต

บางพรรคแสดงอาการเหม็นเขียว มองสารรูป “เพื่อนเลว” ตั้งแต่ไก่ยังไม่ขัน

ฝันจะเป็นโน้นเป็นนั้น ทั้งๆ ที่ขั้นตอน ของการเลือกตั้ง ยังมีอีกยาวนาน หากทุกประการลงตัวตาม “ปฏิทิน” กล่าวคือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ได้ผ่านขั้นตอนออกเสียงประชามติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“กรธ.” จะส่งต่อให้ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) พิจารณา กระบวนการนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ในกรณีพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน จะถือว่า “สนช.” เห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญฯ” จึงส่งร่างฯ ให้ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความ และ “ศาลฯ” ได้มีคำสั่งวินิจฉัยแล้ว ในมาตรา 272 ให้ปรับแก้ไข เกี่ยวกับประเด็นการมีสิทธิร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ที่มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่จะต้องแจ้งไว้ 3 รายชื่อ ว่า “ไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ”

“กรธ.” จึงต้องไปปรับแก้มาตรา 272 ภายใน 15 วัน เพื่อให้ 1. ผู้มีสิทธิเสนอข้อเว้นการเสนอชื่อนายกฯ จากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ คือสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

2. กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้”

เท่ากับว่า “ขั้นตอนแรก” ที่กำลังก้าวข้ามอยู่นี้ รวมเวลาทั้งหมด 45 วัน

จากนั้น “กรธ.” จะสรุปและนำร่างฯ ทั้งฉบับส่งมอบต่อให้นายกฯ เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในกรอบเวลา 30 วัน รวมเป็น 75 วัน

ทรงมีเวลาลงพระปรมาภิไธย 90 วัน หลังจากนั้น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559” จึงสามารถประกาศใช้ได้อย่างสมบูรณ์

“ขั้นตอนที่สอง” กรรมการร่างฯ จะต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ โดย 4 ฉบับต้องพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ คือ 1. กฎหมายเลือกตั้ง 2. กฎหมายวุฒิสมาชิก 3. พ.ร.บ.คณะกรรมการเลือกตั้ง 4. พ.ร.บ.พรรคการเมือง

กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือ “กฎหมายลูก” ทาง “กรธ.” มีกรอบเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน จากนั้นยกระดับเข้าสู่โหมดสุดท้าย คือเขี่ยลูกให้ “กกต.” เพื่อดำเนินการเลือกตั้ง ภายใน 150 วัน

รวมวันเวลาที่นับหนึ่งวันออกเสียงประชามติ คือ 7 สิงหาคม พ.ศ.2559 ถึงกระบวนการสุดท้ายคือโรดแม็ปเลือกตั้ง 500 วันโดยประมาณ ถอดรหัสออกมาเป็นเดือน ราว 16 เดือน เท่ากับศึกเลือกตั้งใหญ่ หากไม่มีสะดุดปังต่อตรงจุดไหน จะลงตัว ปริ่มๆ ธันวาคม พ.ศ.2560

นับว่า เนิ่นนานได้ใจ สำหรับ “คนการเมือง” เพราะเกิดสุญญากาศ กอดคอกันตกงาน ตั้งแต่วัน “ยึดอำนาจ” เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงธันวาคม 2560 เฉียด 4 ปีบริบูรณ์เลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน เมื่อก้าวผ่านไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง ก็ถูกประติมากรรมออกมาดูไม่จืด เกือบจะทุกองคาพยพสำหรับ “คนการเมือง” อาทิ “หมวดสภาผู้แทนราษฎร” ใช้ระบบใหม่ แบบจัดสรรปันส่วนผสม ให้มี ส.ส. 500 คน มาจากแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน เขต 1 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ให้ประชาชนกาเลือกผู้สมัครที่ชื่นชอบ และคะแนนนั้นมีผลเลือกพรรคการเมืองของผู้สมัครคนนั้นด้วย คะแนนทั้งประเทศที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจะนำไปคำนวณเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. ที่พรรคนั้นควรจะมี และนำมาหักลบกับที่นั่ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่พรรคนั้นมี ก็จะได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรค

เป็นการ คุมกำเนิดไม่ให้มีพรรคการเมืองไหนเติบโต หรือมีที่นั่งมากเกินไป

“หมวดวุฒิสมาชิก” ในวาระแรกให้ ส.ว. มี 250 คน มาจากการสรรหาโดย “คสช.” เป็นแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยจำนวนนี้ ล็อกไว้ 6 ที่นั่ง โดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม – ผู้บัญชาการทหารสูงสุด – ผู้บัญชาการทหารบก – ผู้บัญชาการทหารเรือ – ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ที่เวิร์กสะเด็ดยาด สำหรับนักเลือกตั้ง คือ “บทเฉพาะกาล” ที่ระบุไว้ในท้ายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “แม่น้ำ 4 สาย” ได้ “คสช.+รัฐบาล+สนช.+สปท.” ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่

กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้หายตัวไปไหนมีอายุอีกต่อไป ประมาณ 8 เดือน เพื่อชำระสะสางกฎหมายลูกทุกฉบับให้แล้วเสร็จ

ยิ่งปวดตับเข้าไปใหญ่ เมื่อมีการนำคำวินิจฉัย “ศาลรัฐธรรมนูญ” มาถอดรหัสนัย ประเด็นร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมรัฐสภา

แปลเจตนาออกความว่า “รัฐสภา” หมายถึง สภาผู้แทนราษฎร 500 คน กับ วุฒิสภา 250 คน เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 376 เสียง เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี

และในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก เท่ากับ ส.ว. ชุดแรก จำนวน 250 คน จะดำรงอยู่ในอำนาจชนกำแพงหน้าถึงกำแพงหลัง ในวาระ 5 ปี สามารถเลือกนายกฯ 2 สมัย

ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง มีอายุราชการมากกว่าผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ครบเทอมแค่ 4 ปี

เลือกตั้งใหญ่ ไม่ว่าปลาย พ.ศ.2560 หรือต้น 2561 สรุปภาพรวมได้ว่า “คนการเมือง” มีแต่กระดูกติดมันล้วนๆ “เนื้อ-หนัง-ขาหน้า-ขาหลัง” ถูกกินรวบไปหมด

แต่ยังดี “กำขี้ดีกว่ากำตด”