E-DUANG : กระแส เอา ไม่เอา คสช. จะร้อนแรง แหลมคมยิ่ง

ที่มา : Banrasdr Photo

ภาพของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เมื่ออยู่ในวงล้อมของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีความต่างอย่างเด่นชัด

เมื่อเอ่ยถึง “รัฐธรรมนูญ”

แม้ในสถานการณ์ “ชัตดาวน์” ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษ ภาคม 2557 นายไพบูลย์ นิติตะวัน จะเคยเป่านกหวีดและร่วมขึ้นเวทีปราศรัยกับกปปส.

แต่พลันที่ประกบใกล้กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็สร้างความต่างให้เกิดขึ้น

ทั้งๆที่เคยร่วม”เป่านกหวีด”มาเช่นเดียวกัน

นี่ยังไม่ต้องกล่าวถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ

 

ไม่ว่าบนเวทีเสวนาแห่งใดพลันที่มีการเสนอคำถามต่อ”คสช.”และ ต่อ “รัฐธรรมนูญ” ก็จะเกิดสภาพเหมือนที่เกิดขึ้นบนเวทีคณะรัฐ ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นั่นก็คือ การแยกแตกออกเป็น 2 ขั้ว

ขั้ว 1 ยกย่อง สรรเสริญให้เห็นความเด่นเลิศประเสริฐศรีของ “รัฐธรรมนูญ” และรวมถึงของ “คสช.”

ขั้ว 1 ตั้งข้อสงสัย ไม่แน่ใจ และถึงกับปฏิเสธ

เหมือนท่าทีระหว่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายธนาธร จึงรุ่ง เรืองกิจ ต่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน

ยืนอยู่คนละข้าง ยืนอยู่คนละฝ่าย

ฝ่ายหนึ่ง ต้องการรักษา ต้องการเอามาใช้เป็นเครื่องมือ ฝ่ายหนึ่ง ต้องการแก้ไข และรุนแรงถึงขั้นว่าจำเป็นต้อง “ยกร่าง”ขึ้นใหม่

นี่คือการต่อสู้ในทาง “ความคิด” ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

นี่คือ “กระแส” ที่จะต้องปะทุขึ้นและจะทวีความร้อนแรงเป็นลำดับในสมรภูมิด้าน “การเลือกตั้ง”

 

มีความเป็นไปได้เด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า ประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คือ

1 ท่าทีและความรู้สึกต่อ “รัฐธรรมนูญ”

1 ท่าทีและความรู้สึกต่อ “รัฐประหาร” ไม่ว่าจะเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

1 ในที่สุดก็รวมศูนย์ไปที่ “คสช.”