คำ ผกา : ขู่กันจัง

คำ ผกา

นั่งรถทางไกลไปกับเพื่อนจากรุงเทพฯ ไปจันทบุรี (ไม่ได้ไกลมาก) แต่สังเกตเห็นป้ายคำขวัญเตือนให้ขับรถปลอดภัย เต็มไปด้วยถ้อยคำที่เหมือน “ขู่” มากกว่า “เตือน” และมีคำว่า “ตาย” เป็นส่วนผสมหลัก

แล้วจึงถามเพื่อนเพื่อความชัวร์ว่าป้ายอะไรแบบนี้ในต่างประเทศเขาขู่ประชาชนไหมว่า “เฮ้ยย ถ้ามึงเมาแล้วขับนี่ ยมทูตมายืนรอเลยนะ” หรือ “ถ้าขับรถเร็วนี่นรกมารออยู่นะ” อะไรทำนองนี้

ช่วยกันคิดอยู่พักหนึ่งก็ได้คำตอบว่ายังไม่เคยเห็น

เลยอยากตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสังคมไทยชอบขู่กันจัง

ยิ่งอะไรที่มาจากราชการนี่ส่วนใหญ่ออกมาในรูปของการขู่ทั้งสิ้น

การ “ขู่” นั้น ไม่มีใครถูกทำร้าย ไม่มีใครเจ็บตัว การกระทำตามคำขู่ยังไม่เกิดขึ้น แต่หัวใจของการขู่คือการที่คุณไม่จำเป็นต้องลงมือทำ คุณแค่ตอกย้ำให้ผู้ถูกขู่ตระหนักถึงการมีอำนาจของคุณอยู่ทุกขณะจิต

ความโหดร้ายของการขู่อยู่ตรงที่มันบีบหัวใจ มันเหมือนมีคนเอาคำว่า “อำนาจ” มาแนบข้างหัวใจเราตลอดเวลา

ทุกครั้งที่หัวใจเต้น มันก็จะเต้นไปโดนเจ้าตัว “อำนาจ” แล้วหัวใจก็จะสะดุ้งทุกครั้ง

การมีชีวิตอยู่ไปพร้อมกับการที่หัวใจต้องสะดุ้งตลอดเวลานี่ไม่สนุกนะ ฆ่ากันให้ตายให้จบๆ ไปเลยดีกว่า

การก่อการร้ายทั้งหมดในโลกนี้ก็ป่วนประสาทหรือสร้างความกลัวขึ้นมาด้วยการ “ขู่” จากนั้นก็ปั่นความกลัวด้วยการสร้างสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ขึ้นมา นั่นคือ

บางครั้งก็ขู่แต่ไม่ทำ บางครั้งก็ทำแต่ไม่ขู่ บางครั้งก็ทั้งขู่ทั้งทำ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกครั้งที่มีการขู่เกิดขึ้น สิ่งที่คนกลัวที่สุดคือ ไม่รู้การขู่ครั้งนี้ ขู่เฉยๆ หรือเอาจริง แน่นอนว่า มนุษย์มีแนวโน้มว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” เพราะฉะนั้น จะทำตามคำขู่หรือไม่ ฝ่ายที่ถูกขู่ก็ต้องระดมสรรพกำลังมารักษาความปลอดภัยพร้อมกับการสติแตก

และอาจจะพบกว่าท้ายที่สุดไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหนื่อยฟรี สติแตกฟรี

แต่ถามว่าถ้าโดนขู่อีกรอบ ก็ต้องทำเหมือนเดิม

ความสัมพันธ์ของผู้ขู่และผู้ถูกขู่จึงเป็นการเล่นเอาเถิดเจ้าล่อทางอำนาจของทั้งสองฝ่าย

สังคมที่ให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมืองซึ่งหมายถึงความปลอดภัยของพลเมืองภายใต้การคุ้มครองของรัฐย่อมให้ความสำคัญกับการ “ขู่” ในฐานะที่เป็นความรุนแรงและถือเป็นการคุกคาม

แน่นอนว่าถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่ง หากการขู่นั้นมีนัยที่หมายถึงการทำร้ายร่างกาย ทรัพย์สิน หรือการหมายปองชีวิต

แต่ดูเหมือนว่าราชการไทย ทรีตการขู่ของโจรของมาเฟียเป็นอาชญากรรม แต่มองว่าการ “ขู่” ของตนเองนั้นทำไปเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

เขียนถึงตรงนี้ฉันก็นึกขึ้นมาได้ว่า เฮ้ย หรือคนไทยอย่างเราๆ ท่านๆ ชินกับการขู่ หนักกว่าเคยชิน คือ คนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นการขู่เป็นการล้อเล่น พูดเล่น พูดเอาขำ หรือกลบเกลื่อนมันด้วยคำพูดประเภท “คนพูดไม่ทำ คนทำไม่พูด” (แต่ไม่ตระหนักว่าความเจ็บปวดอยู่ตรงที่ ไม่ได้ทำ แต่บีบหัวใจเอาไว้ตลอดนี่แหละ)

ในหลายกรณียังเห็นว่าการขู่หากทำโดยผู้ใหญ่ก็ถือว่าไม่ผิด ผู้ใหญ่มีสิทธิจะขู่ผู้น้อยยังก็ได้ เช่น ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราหลายท่านก็ชอบออกมา “ขู่” เช่น “มีปัญหานัก ยุ่งนัก ก็อย่าต้องเลือกต้งเลือกตั้งมันเลย อยู่กันไปอย่างนี้แหละ ดูสิจะมีใครตายไหม”

นอกจากนี้ หากสังเกตสักนิดจะเห็นว่าประเทศไทยน่าจะมีคำขวัญประเภทที่ขู่กันด้วยความตายมากที่สุด เช่น “เมาแล้วขับ ดับแน่ๆ” หรือ “เอดส์เป็นแล้วไม่หาย ตายลูกเดียว” (สมัยนี้เป็นเอดส์ก็รักษาได้ ไม่ตายแล้ว แต่คำขวัญยังอยู่)

เขียนถึงตรงนี้เลยอยากชักชวนว่า เมื่อต้องขับรถทางไกล อยากให้ลองสังเกตคำขวัญรณรงค์ลดอุบัติเหตุที่ติดตามข้างถนน จะพบการขู่กรรโชกถึงชีวิตจนสะพรึงเยอะมาก

และการขู่แบบเอะอะอะไรก็ “ถึงตาย” นี่เขาก็อ้างกันว่า ทำไปเพราะความปรารถนาดี ไม่อยากให้ใครต้องมาเจ็บมาตาย

คําถามของฉันคือ ความปรารถนาดีสามารถทำให้รูปแบบอื่นที่อ่อนโยนกว่านี้แล้วไม่ต้องเอาความตายความพิการหรือเอาความรักของคนในครอบครัวมาขู่มาแบล็กเมล์กันได้ไหม ใจร้ายจัง คำถามต่อไปคือ ทำไมเราถึงเชื่อว่าถ้าขู่แรงๆ แล้วจะได้ผล คนจะเชื่อฟัง และคำถามต่อไปคือ ทำไมคนไทยหรือผู้มีอำนาจไทย ไม่เชื่อในเรื่องการทำตามกฎ กติกา มารยาท บนฐานของสิทธิพื้นๆ ไม่ใช่ทำตามกฎ กติกา เพราะกลัวตาย? หรือสยดสยองคำขู่

เราพึงปฏิบัติตามกฎหมายเพราะเราเคารพในสิทธิของเพื่อนร่วมสังคม หรือเราควรทำตามกฎหมายเพราะเรากลัวตาย กลัวเจ็บ?

แต่เราไม่ตั้งคำถามต่อเรื่องนี้น้อยมากว่าทำไมส่วนราชการไทยชอบ “ขู่” ประชาชน

นั่นก็เป็นเพราะคนไทยเติบโตมากับการเลี้ยงดูแบบ “ขู่”

พ่อแม่เรา (รวมทั้งฉันด้วย) มักกำกับชีวิตของลูกเต้าให้อยู่ในร่องในรอยด้วยการ “ขู่” มากกว่าจะอธิบายเหตุผล บอกข้อดีข้อเสียจนเรากระจ่างว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ แทนที่จะทำอย่างนั้น

สังคมไทยจึงเป็นสังคมหน่วยราชการต่างสามารถแต่งคำขวัญโดยเอาความตายมาขู่ประชาชนจนกลายเป็น “ธรรมชาติ”

สังคมที่มีผู้หลักผู้ใหญ่สามารถออกมาขู่ออกมาตะคอกประชาชนได้ทุกวันโดยอ้างว่าปรารถนาดี หวังดี

แถมขู่ได้ผลด้วย เพราะมีเครื่องมือที่ให้อำนาจในการจัดการได้ตามคำขู่จริง เช่น มาตรา 44 หรือประกาศของ คสช. ฉบับต่างๆ

การที่เราไม่โดนมาตรา 44 ไปตัดต้นยางที่ปลูกมา 5 ปีทิ้ง หรือการที่หลายๆ คนสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ กลายเป็นความพิเศษ และถูกมองว่ารัฐบาลท่านอุตส่าห์ใจกว้าง ไม่เคยจับใครเข้าคุกสุ่มสี่สุ่มห้าทั้งๆ ที่มีอำนาจเต็ม แถมยังให้พวกที่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับต่างๆ ประกันตัวออกไปตั้งเยอะ

สิ่งที่ควรเป็นสิทธิพื้นฐานกลายเป็นความดีอย่างพิเศษที่ต้องสำนึกในบุญคุณ ขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าวันไหนท่านจะไม่เมตตาแล้วจัดการเราไปตามกฎของท่าน

ในสมัยที่เรายังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (โอ…นั่นคือเหตุการณ์ที่ผ่านมานานจนแทบจำไม่ได้) แม้เราจะถูกอำนาจรัฐ และโดยมากเป็นอำนาจจาก “ราชการ” ขู่ผ่านคำขวัญ หรือการรณรงค์ต่างๆ อยู่เนืองๆ แต่ประชาชนก็สามารถลุกขึ้นมาขู่อำนาจรัฐได้ตลอดเวลา

เช่น ถ้าปีนี้ราคาลำไยไม่ดี จะขนลำไยทั้งจังหวัดมากองไว้หน้าศาลากลาง หรือถ้ารัฐบาลยืนยันจะสร้างเขื่อน คนไทยทั้งประเทศจะออกเดินจากบ้านไปยังจุดสร้างเขื่อน ทำแนวกำแพงมนุษย์ หยุดโครงการให้ได้

หรือถ้ารัฐบาลจะไปไล่ชาวบ้านออกจากป่าโดยอ้างว่าชาวบ้านบุกรุก ชาวบ้านก็อาจขู่ว่าจะยกขบวนมานอนหน้าทำเนียบ จะปิดถนน

และถ้าเรายังจะจำกันได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักอ่อนไหวต่อคำ “ขู่” ของประชาชน แม้จะมีสารพัดเล่ห์กลที่จะไม่ทำตาม หรืออาจมีหนทางไปลักไก่ ไปล็อบบี้ทีหลัง

แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไงก็มีความกลัวต่อการประท้วง การปิดถนน การเดินดื้อแพ่งของประชาชน

ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของอำนาจอีกนั่นแหละ ข้อสังเกตของฉันอาจจะผิดก็ได้ ฉันคิดว่า เราได้เห็นนักการเมืองขู่ประชาชนน้อยกว่าที่จะเห็นข้าราชการขู่ประชาชน

ขณะเดียวกัน เราก็เห็นประชาชนขู่นักการเมืองได้มากกว่าขู่ข้าราชการ

เวลาที่นักการเมืองทำงานดี เราจะบอกว่า “มันทำเพราะมันต้องการคะแนนเสียง” เวลาที่ข้าราชการทำความดี มักจะมีแนวโน้มว่าเราจะต้องพูดว่า “เขาตอบแทนบุญคุณบ้านเมือง และเป็นบุญของประชาชนอย่างเราแล้วที่ข้าราชการท่านอุตส่าห์ทำอะไรดีๆ ให้เรา”

ตอนนี้เรายังไม่มีประชาธิปไตย (มีแค่เก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์กว่าๆ) จะเห็นว่าประชาชนไม่สามารถลุกขึ้นมา ขู่” ใครได้เลย นอกจากขู่ใครไม่ได้แล้ว ยังโดน “ขู่” ทุกวันจนหัวหด สิทธิใดๆ ที่ถูกละเมิดคาหูคาตาก็ได้แต่นั่งมองน้ำตาริน ทำอะไรไม่ได้ ต่อรองไม่ได้ ก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่ง

มีชีวิตที่ถูกกำกับด้วยการ “ขู่”

ที่น่าฉงนคือคนไทยจำนวนมากชอบการปกครองผ่านการขู่

หลงรักการขับเคลื่อนสังคมไปด้วยความกลัวมากกว่าฉันทานุมัติ (เราจึงชอบคำขวัญที่สอนเราว่า ถ้าไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ความตายจะมารอเราอยู่ข้างหน้า)

และกระเหี้ยนกระหืออยากเอาตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งที่สามารถ “ขู่” คนอื่นได้เป็นทอดๆ นั่นก็เท่ากับว่าเราอยู่ในสังคมที่พร้อมจะเห็นหรือปรารถนาจะเห็น “คนอื่น” เป็น “เหยื่อ” หรือเป็น ลูกไก่” ในกำมือแล้วเราเอ็นจอยที่เราสามารถ “บีบ” ก็ได้ “คลาย” ก็ได้ คลายก็ได้รับคำขอบคุณ ถ้าหือขึ้นมาก็บีบเสียหน่อย หือมากก็บีบแน่นๆ

สิ่งที่น่าสะพรึงคือมีคนที่เอ็นจอยการถูกบีบและเชียร์ทุกวันว่า บีบอีกๆๆๆ ยิ่งอำนาจเข้มข้น ยิ่งรู้สึกปลอดภัย

เอาเข้มๆ เอาให้เด็ดขาด อยู่ยาวๆ

อุ๊บบส์