ล้านนาคำเมือง : ปฏิทินล้านนา

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ปะติทินล้านนา” แปลว่า “ปฏิทินล้านนา”

 

ความเป็นมาของความเชื่อและศรัทธาในสังคมล้านนามีวิวัฒนาการ ก่อนที่คนล้านนาจะหันมานับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด คนล้านนาเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ เชื่อเรื่องวิญญาณ นับถือผี บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่าสามารถปกป้องคุ้มครองผู้คนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข

เวลาคนล้านนาจะประกอบกิจกรรมใด จึงยึดถือในสิ่งที่เป็นสิริมงคล เชื่อในฤกษ์ยามเป็นหลัก วันไหนวันดี วันไหนไม่ดี วันไหน ยามใด ข้างขึ้นหรือแรม เดือนอะไร ทั้งหมดนี้เป็นสำเหนียกของคนล้านนาโบราณเสมอมา

กระทั่งทุกวันนี้คนล้านนาแท้ๆ ก็ยังมีวัตรปฏิบัติคล้ายกับคนโบราณ แม้ว่าจะไม่เคร่งครัดเท่า

คนล้านนาแท้ๆ มักจะรู้ว่าวันไหนเป็น “วันเสีย” วันนั้นๆ เป็นวันที่มี “กำลังวัน” ร้ายสูงสุด เป็นวันแรงทางลบ จึงเป็นวันที่ไม่เหมาะสำหรับกระทำการมงคลใดๆ ที่ท่องๆ กันเป็นอาขยานจนถึงทุกวันนี้ได้แก่

เกี๋ยง ห้า เก้า เสียอาทิตย์กับจันทร์

ยี่ หก สิบ เสียอังคารวันเดียว

สาม เจ็ด สิบเอ็ด เสียเสาร์กับพฤหัส

สี่ แปด สิบสอง เสียศุกร์กับพุธ

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในสังคมเป็นรายละเอียดลงไปอีก เช่น

วันนำโชคขึ้นอยู่กับวันทางจันทรคติ ข้างขึ้น ข้างแรม จะส่งผลดี-ร้ายต่อผู้คนต่างกัน เช่น

วัน 1 ค่ำ ช้างแก้วขึ้นสู่โรงธรรม เป็นวันดี

วัน 6 ค่ำ ลงสะเปาไปค้า เป็นวันดี

วัน 12 ค่ำ บ่มีดีสักอย่าง เป็นวันไม่ดี

วัน 14 ค่ำ ศัตรูปองฆ่า เป็นวันไม่ดี เป็นต้น

ยังมี “วันจม” “วันฟู” อีก เช่น ในเดือนเกี๋ยงหรือเดือนอ้าย วันจันทร์เป็นวันฟู วันศุกร์เป็นวันจม เดือนสาม วันพุธเป็นวันฟู วันอาทิตย์ เป็นวันจม

แถมยังมี “ยาม” ให้ถือฤกษ์อีก ทำนอง วันอาทิตย์ยามเช้า ไม่ดี ใกล้เที่ยงดีมาก บ่ายไม่ดี สำหรับวันอังคาร เช้ากับสายดีมาก เที่ยงกับบ่ายไม่ดี เย็นดีมาก พอถึงย่ำค่ำกลับไม่ดี อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้น เวลาคนล้านนาโบราณจะสร้างบ้าน ออกรถ ตั้งศาลเจ้าที่ ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน บวช ลาสิกขา จะเอาสัตว์มาเลี้ยงในบ้าน ล้วนต้องคำนึงถึงเดือนอะไร วันไหน ยามไหน กี่โมง จึงจะเป็นสิริมงคล ซึ่งอาจจะเรียกได้เป็นโหราศาสตร์ล้านนา

การดูฤกษ์ยามนั้นมีรายละเอียดมากเกินกว่าที่คนธรรมดาจะจดจำ

คนล้านนาจึงพึ่งพาปฏิทินล้านนาเพื่อดูวันดี ยามดี และหากยังสงสัยอะไรมากกว่านั้น คนล้านนาจะมี “อาจารย์” ซึ่งอาจจะเป็นผู้เคยผ่านการบวชเรียน หรือปราชญ์ผู้รู้ประจำชุมชนเอาไว้ให้ปรึกษาเสมอ