สุจิตต์ วงษ์เทศ/พระอภัยมณี ปี่โซโล่ สุนทรภู่ รู้เพลงดนตรีตะวันตก

วัฒนธรรมตะวันตก เข้าถึงอยุธยาเป็นที่รับรู้ทั่วไปตั้งแต่ก่อนสมัยพระนารายณ์ เห็นได้จากตุ๊กตาดินเผารูปนายฝรั่งกับสุนัขตัวโปรด (ฝีมือช่างอยุธยา) พบในบริเวณเกาะเมืองอยุธยา (จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา อยุธยา)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

พระอภัยมณี ปี่โซโล่

สุนทรภู่ รู้เพลงดนตรีตะวันตก

 

สุนทรภู่รู้เพลงดนตรีตะวันตก และรู้เท่าทันโลกก้าวหน้ายุคนั้น จึงสร้างสรรค์วรรณกรรมล้ำยุค

1.สุนทรภู่มีแนวคิดปัจเจกนิยมแบบตะวันตก ยกย่องความก้าวหน้าในวิชาความรู้ แสดงออกให้เห็นจำนวนมากในวรรณกรรมหลายเรื่องที่เป็นนิราศ

2.สุนทรภู่รู้เท่าทันโลก รู้เพลงดนตรีตะวันตก แล้วกำหนดพระอภัยมณีเป่าปี่แบบโซโล่ เพื่อต่อต้านความรุนแรงจากสงคราม

พระอภัยมณีเป็นวรรณคดีการเมือง ต่อต้านการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจยุโรป ที่กำลังแข่งล่าเมืองขึ้นขยายอำนาจเข้าอุษาคเนย์

3.สุนทรภู่หลังถึงแก่กรรม ดนตรีไทยในพิธีกรรมตามจารีตได้ปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นดนตรีเพื่อฟังแบบตะวันตก แล้วกำหนดเป็นดนตรีไทยแบบฉบับของความเป็นไทย ที่มีเพลงเถาร้องเอื้อนมากลากยาว

 

ปัจเจกนิยม

 

สุนทรภู่ แสดงออกด้วยแนวคิดปัจเจกนิยม เพราะเกิดและเติบโตในตระกูลผู้ดีวังหลัง แวดล้อมด้วยการรับรู้วัฒนธรรมกระฎุมพี นิยมศิลปวัฒนธรรมของผู้ดีฝรั่งยุโรป โดยเฉพาะเพลงดนตรีตะวันตกที่สืบเนื่องจากสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรี

[สุนทรภู่ เกิดในวังหลัง เมื่อต้นแผ่นดิน ร.1 พ.ศ.2329 หรือ 4 ปี หลังสถาปนากรุงเทพฯ]

ปัจเจกนิยม แนวคิดแบบตะวันตกให้ความสำคัญแก่ตัวเอง เป็นอิสระจากข้อผูกมัดทางสังคมแล้วแสดงออกอย่างเสรี

พบมากในงานนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้ง (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ วังหน้า ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ) แสดงความรู้สึกส่วนตัวเป็นสำคัญ ได้แก่ กาพย์ห่อโคลง (เช่น นิราศธารโศก, นิราศธารทองแดง) และบทเห่ (เช่น บทเห่เรือ, บทเห่เรื่องกากี, บทเห่สังวาส และเห่ครวญ)

ก่อนหน้านั้นวรรณกรรมเป็นไปเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนมากได้โครงเรื่องจากชาดก

เจ้าฟ้ากุ้งคุ้นเคยอย่างดีกับชาวตะวันตก จึงมีข้าทาสบริวารเป็นฝรั่งจำนวนหนึ่ง แล้วยังมีบรรดาฝรั่งที่ต้องการพึ่งพาบารมีเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ก็ไม่น้อย จึงพบเอกสารบันทึกว่าวังหน้าเมื่อมีงานฉลองสมโภช ก็เกณฑ์ชาวโปรตุเกสไปร้องรำทำเพลงดนตรีฝรั่งอย่างสนุกสนานรื่นเริง

 

เพลงดนตรีตะวันตก

 

เพลงดนตรีตะวันตกเป็นที่รู้จักแล้วตั้งแต่ยุคต้นอยุธยา เฉพาะกลุ่มคนชั้นนำในราชสำนัก

แต่ต่อมารับรู้กว้างขวาง ราวเรือน พ.ศ.2200 เริ่มมีการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการร้องเพลงเล่นดนตรีแบบตะวันตกในกลุ่มคนแคบๆ แผ่นดินพระนารายณ์ (ครองราชย์ พ.ศ.2199-2231) ล้วนเพลงดนตรีทางคริสต์ศาสนาของชาวคาทอลิก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเผยแผ่ศาสนาคริสต์ มี 2 แห่ง ได้แก่

(1.) วิทยาลัยกลาง ตั้งอยู่ในชุมชนเกาะมหาพราหมณ์ (อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา) และ

(2.) โรงเรียนสำหรับเยาวชน มีสอนร้องเพลงสวดศาสนาคริสต์คาทอลิก (หรือเกรโกเรียน)

เครื่องดนตรีตะวันตกชุดแรกๆ มีบันทึกในเอกสารของชาวยุโรป เช่น ปี่, กลอง, แตร, ออร์แกน และไวโอลิน (มีคันเดียว)

มโหรีฝรั่ง ของชุมชนชาวตะวันตก มีตั้งแต่สมัยอยุธยา สืบเนื่องถึงสมัยธนบุรี

พบหลักฐานในหมายรับสั่งงานสมโภชฉลองรับพระแก้วมรกตจากเวียงจัน พ.ศ.2322 พระเจ้าตากโปรดให้จัดการละเล่นหลากหลาย ใส่เรือทวนน้ำขึ้นไปเล่นรับที่บางธรณี (ปทุมธานี) กับที่วัดอรุณ

มโหรีฝรั่ง เป็นคำเรียกรวมๆ กว้างๆ หมายถึง วงดนตรีฝรั่ง (ensemble) โดยไม่จำกัดเครื่องมือ ซึ่งต่างจากความเข้าใจปัจจุบันว่ามโหรีมีแต่เครื่องสาย (string orchestra)

เหล่านี้จะเป็นสิ่งแวดล้อมทางเพลงดนตรีในสังคมเมืองสมัยต่อไป ส่งผลให้สุนทรภู่รู้คุณภาพเพลงดนตรีในแนวตะวันตก และในภาพรวมส่งผลกระทบถึงดนตรีไทยพิธีกรรม ทำให้ต้องปรับเป็นดนตรีเพื่อฟังตามแบบตะวันตก

 

พระอภัยเป่าปี่ ดนตรีคืออำนาจ

 

ดนตรีเป็นตัวแทนของอำนาจ และ/หรือวิชาความรู้ เพราะวิชาความรู้คืออำนาจ ผู้ใดมีวิชาความรู้ ผู้นั้นมีอำนาจ สิ่งนี้เป็นที่รับรู้ในทางสากล ทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตก

พระอภัยมณีเรียนวิชาดนตรีจนชำนาญเป่าปี่เป็นเลิศ เท่ากับสุนทรภู่แต่งนิทานกลอนเรื่องพระอภัยมณีด้วยสำนึกยกย่อง 2 อย่างว่ามีอำนาจ ได้แก่ (1) เนื้อหาวิชาความรู้ และ (2) ผู้มีวิชาความรู้

ดังแสดงพฤติกรรมของพระอภัยมณีใช้วิชาความรู้แก้ปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงจนนำไปสู่ชัยชนะและมีอำนาจ

สุนทรภู่แสดงออกผ่านพระอภัยมณีด้วยข้อความสำคัญว่าดนตรีมีค่าควรเมืองเหมือนแก้วสารพัดนึก มีกลอนว่า “อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์” จินดา หมายถึง วิชาความรู้ความคิด สมัยก่อนๆ เรียกตำรับตำราวิชาความรู้ว่า “จินดามณี” หมายถึง ความรู้ดังแก้วสารพัดนึก

 

ดนตรีเพื่อฟังแบบฝรั่งตะวันตก

 

เดี่ยวปี่นอก (ปี่นอกโซโล่) โดยพระอภัยมณีของสุนทรภู่ เป็นสัญลักษณ์แบบแผนดนตรีตะวันตก เริ่มมีเหนือดนตรีไทยดั้งเดิม แล้วผลักดันให้เป็นดนตรีเพื่อฟัง (แบบตะวันตก) เรียกดนตรีไทยแบบฉบับสืบจนทุกวันนี้

ก่อนหน้านี้ยังไม่พบหลักฐานว่ามีบรรเลงเดี่ยวด้วยเครื่องดนตรีไทยชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าสมัยอยุธยา หรือสมัยธนบุรี (ถ้าพบต่อไปข้างหน้าก็ต้องทบทวนใหม่)

ดนตรีไทยดั้งเดิมไม่เป็นดนตรีเพื่อฟัง (เหมือนดนตรีตะวันตกที่รู้จักทั่วไป) แต่เป็นเครื่องประโคมบรรเลงในพิธีกรรม แม้บรรเลงกล่อมพระบรรทมเป็นพิธีกรรม

ปี่พาทย์ประโคมการละเล่นโขนและละครเป็นพิธีกรรม เพราะเล่นเรื่องที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน และชาดกสดุดีพุทธบารมี แม้เครื่องสายของไพร่บ้านพลเมืองก็ประกอบการละเล่นเต้นฟ้อนในพิธีกรรมแบบบ้านๆ