ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : จับสึกพระ ไม่ใช่หนทางสู่การปฏิรูปพุทธ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ขณะที่่ข่าวตำรวจจับพุทธะอิสระสึกเป็นนายสุวิทย์ที่ทำลูกศิษย์แค้นจนเจ๊ปองขู่ตบปากเจ้าหน้าที่เป็นที่วุ่นวาย การจับสึกพระผู้ใหญ่ด้วยข้อหาฟอกเงินกลับดำเนินไปโดยมีปฏิกริยาจากลูกศิษย์น้อยมาก ต่อให้ ๓ ราย จะเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเรื่องทั้งหมดจะถึงขั้นถอดสมณศักดิ์พระทั้งสิ้น ๗ รูปก็ตาม

ทั้งที่วัดอ้อน้อยไม่มีความหมายต่อคณะสงฆ์เลย นายสุวิทย์กลับมีศิษย์ผู้มีอิทธิพลที่กล้ากดดันเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยอาจารย์ตัวเองไม่สิ้นสุด ส่วนวัดที่สำคัญอย่างวัดสระเกศ, วัดสัมพันธ์วงศ์ และวัดสามพระยากลับไม่มีปฏิกริยาแบบนี้ แม้บางวัดจะเป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมและบาลีจนมีศิษย์มากมายก็ตาม

แม้การจับสึกจะเกี่ยวข้องกับสามวัดใหญ่อย่างที่กล่าวไป แต่เนื้อในแล้ววัดสระเกศคือวัดที่ได้รับผลกระทบที่สุด เพราะไม่เพียงพระภิกษุผู้ถูกจับจะมาจากวัดนี้สี่ราย การขยายผลของคดียังลุกลามเป็นการสึกเจ้าคุณผู้ช่วยเจ้าอาวาสเพราะพบภาพร่วมเพศกับผู้ชายอีก แม้จะยังไม่พบความเกี่ยวพันกับคดียักยอกเงินก็ตาม

หลังมรณภาพของสมเด็จเกี่ยวผู้ปฏิบัติหน้าที่พระสังฆราชมากว่าสิบปี วัดสระเกศกลายเป็นวัดที่มีแต่เรื่องอื้อฉาวไม่หยุด เจ้าอาวาสท่านก่อนผูกคอตายกลางวัดหลังถูกปลดด้วยข้อหาเรื่องอมเงินพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จเกี่ยว ต่อมาเจ้าอาวาสปัจจุบันก็เผชิญข้อหายักยอกเงินจนถูกจับสึกโดยไม่ให้ประกันตัวสู้ดคี

นอกเหนือจากการเสนอตัวช่วยทำคดีของทนายจากเครือข่าวชาวพุทธอะไรสักอย่าง การจับพระผู้ใหญ่ในวัดที่คนไทยรู้จักทั้งของประเทศแบบนี้ไม่มีชาวพุทธหรือองค์กรพุทธออกมาปกป้องแม้แต่นิดเดียว

คำอธิบายที่ง่ายที่สุดว่าทำไมคนไทยเงียบผิดปกติในคดีจับสึกพระผู้ใหญ่จากสามวัดหลักคือเราแยกแยะระหว่างพระสงฆ์กับพระธรรม แต่ใครๆ ก็รู้ว่าคำอธิบายนี้เป็นกระบวนท่ามาตรฐานที่สังคมไทยใช้เวลาที่เราต้องการกลบเกลื่อนปัญหาเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นปัญหาของบุคคลหรือองค์กรซึ่งเราศรัทธา

แน่นอนว่าไม่มีศาสนาไหนเสื่อมสลายจากความประพฤติของบุคลากร แต่ถ้าศาสนจักรไหนไม่รับผิดชอบต่อพฤติกรรมผู้สอนศาสนาเลย ศาสนจักรนั้นก็ดูปัดความรับผิดชอบไปนิด เพราะในเมื่อนักบวชทางศาสนาปฏิบัติตามคำสอนพระศาสดาไม่ได้ คำถามที่ย่อมเกิดขึ้นคือฤาศาสนาสอนสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้จริงๆ

อันที่จริงคนไทยสัมพันธ์กับพุทธศาสนาทั้งในฐานะหลักธรรมคำสอนและในฐานะอัตลักษณ์ของบุคคล และถึงแม้คำสอนของพระศาสดาจะไม่เกี่ยวกับวัตรปฏิบัติที่ผิดของบุคคล ความผูกพันกับพุทธศาสนาในฐานะอัตลักษณ์ย่อมได้รับผลกระทบในระดับใดระดับหนึ่งจากข่าวประเภทพระโกงหรือประเวณีชาย

ถึงที่สุดแล้ว ความเงียบของคนพุทธต่อข่าวที่พัวพันกับศาสนจักรแยกไม่ออกจากความชินชาต่อข่าวพฤติกรรมนอกรีตของนักบวชในพุทธศาสนาในเวลาที่สำนึกเรื่องความเป็นพุทธร่วมกันในสังคมอ่อนแอลง

พุทธศาสนาในสังคมไทยเหมือนหลายศาสนาในสังคมโลกที่แยกตัวจากชีวิตประจำวัน เราไม่ใช่สังคมที่ศาสนากำกับการกิน, หลับนอน, แต่งกาย ฯลฯ จนเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิต เส้นแบ่งระหว่างศาสนากับชีวิตธรรมดาป็นภาวะปกติของโลกสมัยใหม่ ส่วนการถอยห่างจากศาสนาคือฉากอนาคตที่ไม่มีใครควรตกใจ

เท่าที่ผลการสำรวจเรื่องศาสนาปรากฎ เรากำลังอยู่ในโลกซึ่งจำนวนคนที่ไม่นับถือศาสนามีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประชากรกลุ่มนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในบางประเทศภายในระยะเวลาไม่กี่ปีด้วยซ้ำ ผลก็คือความเฉยชาต่อศาสนาเป็นแนวโน้มใหญ่ของโลกที่ความไม่ยึดมั่นว่าศาสนาคืออัตลักษณ์เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป

พุทธศาสนาในชีวิตจริงของคนไทยอยู่ในพื้นที่เฉพาะอย่างวัดเป็นหลัก แต่นอกธรณีสงฆ์ออกไปแล้ว คนมีปฏิสัมพันธ์กับศาสนาพุทธน้อยจนแทบไม่มีกิจกรรมอะไรหากปราศจากหิ้งพระ, การบังคับให้เด็กสวดมนต์, การไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ , กรอกบัตรประชาชน หรือประกอบพิธีตามความเชื่อและประเพณี

โลกจริงของคนร่วมสมัยคือโรงงาน, คือบริษัท, คือสำนักงาน, คือโซเชียลมีเดีย, คือคอนโด, คือห้องเช่ารายเดือน ฯลฯ ซึ่งจะมีพุทธศาสนาหรือไม่และแค่ไหนนั้นไม่มีผลกระทบกับชีวิตพวกเขาแม้แต่นิดเดียว

โลกสมัยใหม่ไม่มีเงื่อนไขทางสังคมให้ศาสนามีอิทธิพลต่อมนุษย์อีกต่อไป

ความกังวลว่าพุทธศาสนาอยู่ไกลมหาชนทำให้เกิดคำอธิบายว่าพุทธคือพระธรรม แต่มุมมองนี้ลืมความจริงว่าคนทั่วไปไม่อยู่ในวิสัยจะเข้าถึงบรมธรรมได้ทั้งหมด เหตุข้อแรกคือพันธนาการทางเศรษฐกิจทำให้ผู้ไร้ทรัพยากรทำเรื่องนี้ไม่ได้ สองคือธรรมก็เหมือนศาสตร์บริสุทธิ์ทั้งหลายที่ยากจะกลายเป็นกิจมวลชน

พุทธธรรมของเจ้าคุณประยุทธ์อยู่ในชีวิตคนธรรมดาน้อยกว่าพระเครื่องแน่ๆ เช่นเดียวกับคำสอนของพุทธทาสซึ่งคนทั่วไปไม่มีอภิสิทธิ์ที่จะ “นัดสนทนาอย่าเลิกแล้ง” อย่างที่ท่านเขียนไว้ในธรรมโฆษณ์ได้ คำอธิบายว่าพุทธศาสนาคือพระธรรมล้วนๆ จึงเท่ากับการยอมรับโดยปริยายว่าพุทธศาสนาอยู่ไกลจากมวลชน

อันที่จริงมวลชนอาจไม่ได้เหินห่างพุทธศาสนาจาก “ความไม่สามารถเข้าถึง” ทางกายภาพอย่างเดียว เพราะการที่พุทธไทยกลายเป็นคำสอนที่มุ่งแต่เรื่องระดับปัจเจกบุคคลอย่างความสงบหรือ “การหลุดพ้น” ทำให้พุทธจักรตอบปัญหาเรื่องเงื่อนไขสังคมที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ในชีวิตประจำวันน้อยจนต่อไม่ติดกับโลกจริง

ข้อค้นพบของพระศาสดาเรื่องอริยสัจ 4 คือแสงสว่างทางปัญญาที่บางศาสนาไม่มี แต่คำตอบที่พุทธศาสนาในสังคมไทยมีต่อความทุกข์จากความจนหรือการถูกเอาเปรียบกลับเป็น “เราทำบุญมาน้อย”, “ช่วยกันทำความดี” หรือ “อย่าทำเลวแบบเขา” ซึ่งไม่ช่วยอะไรนอกจากให้คำตอบที่ไม่มีเหตุมีผลในชีวิตจริง

จริงอยู่ว่าปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงพุทธธรรมในแง่กายภาพนั้นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือพุทธศาสนาต้องคิดให้มากขึ้นว่าเรื่องการคุยสิ่งที่คนส่วนใหญ่อยากคุย เพราะไม่มีภูมิปัญญาในสังคมไหนที่จะธำรงตัวเองจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างสถาพรได้ หากภูมิปัญญานั้นละเลยที่จะให้คำตอบในเรื่องซึ่งสังคมวิตกกังวล

ขณะที่โลกสมัยใหม่เต็มไปด้วยเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้ศาสนาอ่อนแอลง ศาสนจักรก็ไม่ประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นความสำคัญของศาสนาให้สูงขึ้น

พูดตรงๆ เรากำลังอยู่บนเส้นทางที่พุทธศาสนาคือองค์ประกอบที่เปราะบางที่สุดในอัตลักษณ์ไทย

ภายใต้ข้อจำกัดสองข้อที่กล่าวไป พระสงฆ์ย่อมเป็นหน่วยในพุทธบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากความห่างเหินของมวลชนต่อพุทธศาสนามากที่สุด พระระดับปัจเจกจึงมีความพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอดสูงกว่าพุทธบริษัทส่วนอื่นที่ยังไม่อาจปรับตัวได้ แต่ความอยู่รอดนั้นเป็นประโยชน์ของใครก็สุดแท้แต่กรณี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามปรับตัวของพระสงฆ์ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์หลากหลายตั้งแต่พระเซเลบ, พระทอล์คโชว์, “หลวงปู่” ที่ลูกศิษย์เชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์มาเกิดใหม่, ไหว้พระราหู หรือแม้แต่คำสอนเรื่องการปฏิบัติธรรมหรือภาวนาที่มีแนวทางต่างกันหลายสำนักก็เกิดขึ้นในสถานการณ์นี้ด้วยเช่นกัน

แม้คนมหาศาลจะมองว่า “หลวงปู่เณรคำ” และ “หลวงปู่พุทธะอิสระ” ที่นายวีรพลและนายสุวิทย์สถาปนาตัวเองตั้งแต่อายุ 40 จะเหลวไหลจนไม่ใช่วิถีพุทธ การที่คนแบบนี้มีลูกศิษย์ที่เหนียวแน่นขั้นยอมรับพฤติกรรมผิดกฎหมายหลายเรื่องก็แสดงถึงการปรับตัวของคนในพุทธศาสนาบางประเภทด้วยเหมือนกัน

ปัญหามีอยู่ว่าความพยายามปรับตัวของพระสงฆ์ในการแสวงหามวลชนอาจส่งผลด้านกลับให้เกิดสภาพที่เป็นภัยต่อคณะสงฆ์และสังคมไทยเองในระยะยาว

นักรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใช้คำว่า Balkanizationอธิบายปรากฎการณ์ที่บางภูมิภาคแตกตัวเป็นรัฐขนาดเล็กซึ่งทุกฝ่ายขัดแย้งซึ่งกันและกัน และถ้าทดลองใช้มโนภาพนี้มองพุทธศาสนาในสังคมไทย คนไม่น้อยก็รับรู้พุทธศาสนาผ่านวาทกรรมว่าพุทธของตัวเองและของคนอื่นผิดที่สุดโดยปริยาย

ไม่ว่าสภาพการรับรู้เรื่องพุทธศาสนาแบบแยกย่อยตามศรัทธาที่แตกต่างกันจะเกิดขึ้นโดยความตั้งใจของหรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นคือผู้ศรัทธาในศาสนาจำนวนมากเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าตัวเองเข้าถึง “พุทธแท้” ยิ่งกว่าคนอื่นๆ ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือการมองว่าผู้ที่ศรัทธาในคำสอนและวิถีปฏิบัติอื่นคือพุทธเทียมตลอดเวลา

เว็บบอร์ดพันทิพย์ยุคนึงกลายเป็นเวทีแห่งการทะเลาะว่าวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อไหนช่วยให้หลุดพ้นได้มากกว่ากัน, อาจารย์รูปไหนอ่านพระไตรปิฏกถูกที่สุด, สำนักไหนสอนสมาธิถูกกว่าสำนักอื่น ฯลฯ ซึ่งบางกรณีลุกลามเป็นการตั้งกองกำลังไล่ล่าวัดอื่นอย่างที่พุทธะอิสระกระทำกับวัดปากน้ำและวัดพระธรรมกาย

กระแสตรวจเงินวัดและห้ามพระรับเงินก็เป็นผลผลิตของ Balkanization ในพุทธศาสนายุคนี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อรับรู้พุทธศาสนาผ่านเลนส์ที่เต็มไปด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การจับสึกเจ้าอาวาสวัดใหญ่พร้อมกันก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ธุระของพุทธศาสนิกชนไปหมด คณะสงฆ์ไม่มีบทบาทเจรจาให้รัฐเคารพสิทธิในการประกันผู้ต้องหาจนเกิดการจับสึกกรณีนี้ และไม่ใช่พุทธบริษัททุกคนที่รู้สึกว่าการจับสึกแบบละเมิดสิทธินี้ไม่โอเค

ภายใต้ความพยายามปรับตัวของพระสงฆ์ในระดับปัจเจกท่ามกลางศรัทธาที่ถดถอยในระดับภาพรวม สิ่งที่เกิดขึ้นคือพุทธบริษัทสูญเสียสำนึกเรื่องความเป็นพุทธร่วมกันจนยอมรับว่ารัฐจะละเมิดสงฆ์หรือฆราวาสจากค่ายที่ตัวเองเกลียดอย่างไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบพุทธฐานะและวิถีปฏิบัติของกลุ่มตัวเอง

ในอดีตนั้นมหาเถรสมาคมเคยมีบารมีจนพระผู้ใหญ่เป็นเสมือนฐานันดรที่แตะต้องไม่ได้ในสังคมไทย แต่ภายใต้สำนึกเรื่องความเป็นพุทธที่อ่อนแอลง การจับสึกวิธีนี้เป็นหลักฐานว่ามหาเถรสมาคมบารมีอ่อนไปเยอะ เพราะหาไม่การจับสึกคงไม่ราบรื่นขั้นที่ผู้จับไม่ต้องตอบว่าการสึกทำให้พุทธศาสนาเข้มแข็งอย่างไร

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เป็นไปได้หรือไม่ว่าสำนึกเรื่องความเป็นพุทธที่เจือจางลงจะทำให้รัฐลดบทบาทมหาเถรสมาคมสู่ทิศทางที่คณะสงฆ์และพุทธบริษัทมีความสำคัญน้อยลงกว่าที่ผ่านมา

พุทธธรรมและอัตลักษณ์คือรากฐานของพุทธศาสนาในสังคมไทย คุณไพบูลย์จึงผิดที่อธิบายว่าการจับสึกพระคือการปฏิรูปพุทธศาสนาในที่สุด เพราะผลข้อเดียวของการสึกคือทำให้บุคคลขาดจากความเป็นพระ ส่วนคนส่วนใหญ่จะเข้าหาพุทธธรรมมากขึ้นหรือน้อยลงนั้นไม่เกี่ยวกับการจับสึกแม้แต่นิดเดียว

อันที่จริง การจับสึกโดยอิง “การปฏิรูป” ในกรณีนี้ก็เหมือน “การปฏิรูป” หลายกรณีที่อำนาจรัฐปัจจุบันใช้เป็นข้ออ้างเพื่อทำอะไรตามใจตัวเองเยอะไปหมด หัวใจของการจับสึกลักษณะนี้คือการขจัดบุคลากรในคณะสงฆ์ที่คนบางกลุ่มไม่พอใจ สถานะของพุทธศาสนาหลังจับสึกจึงถดถอยอย่างที่เป็นมาไม่เปลี่ยนแปลง