ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 มิถุนายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเคียงข้างจอ |
เผยแพร่ |
เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์
มหรสพทางปัญญา
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรให้กับ The Boss สถาบันการบริหารและจิตวิทยา ที่มุ่งสร้างผู้นำที่มีศักยภาพขององค์กร ในหัวข้อเรื่องตามชื่อตอนเลยครับ “มหรสพทางปัญญา”
นั่นเป็นชื่อที่เป็นไตเติลเรียกแขก โดยมีหัวข้อรองเพื่อขยายความอีกว่า “ศิลปวัฒนธรรมไทยสู่อนาคตทางธุรกิจ”
ทั้งนี้ เป็นกระแสต่อเนื่องจากกรณีละคร “บุพเพสันนิวาส” มาแรง จน “ความเป็นไทย” มีเรตติ้งพุ่งพรวดขึ้นมากับสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมาอย่างมาก และเกิดกระแส เกิดการทำมาหากินต่อเนื่องในหลายๆ รูปแบบ
และถ้าจะนำของดีที่เรามีอยู่อย่าง “ศิลปวัฒนธรรม” ขึ้นมาสร้างโอกาสทางธุรกิจของเราบ้างจะต้องทำอย่างไร นั่นเป็นที่มาของการจัดสัมมนาในครั้งนี้
ผมไปในนามของเจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีประสบการณ์การสร้างงานมาแล้วมากมาย ซึ่งก็ต้องมีละน่าที่ได้นำเอาเรื่องของ “ศิลปวัฒนธรรม” นี้ มาสร้างโอกาสดังที่ว่าบ้าง
งานนี้ไม่ได้มีผมไปบรรยายคนเดียว แต่ไปในฐานะคนทำงานโดยตรงเพียงคนเดียว ในขณะที่ท่านอื่นนั้นล้วนมาจากสายวิชาการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอารยธรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสพบเจอตัวจริงของท่านหลังจากได้ยินแต่ชื่อและสรรพคุณมานาน
ท่านได้ปูให้เห็นเส้นทางความเป็นมาอย่างต่อเนื่องของศิลปวัฒนธรรมไทยที่มาจากอดีตและต่อมาถึงปัจจุบันอย่างไร รวมทั้งยังได้เล่าถึงความคลี่คลายของการนำ “ต้นทุนที่ซ่อนเร้น” นี้ มาใช้ในความร่วมสมัยได้อย่างไรบ้าง
โดยส่วนตัวผมชอบคำว่า “ต้นทุนที่ซ่อนเร้นนี้” มาก ได้ภาพและมิติที่บอกนัยยะถึงความเป็นจริงของสังคมไทย
นอกจากจะบรรยายเดี่ยวแล้ว ดร.สุเนตรยังได้ร่วมพูดคุยกับ ดร.วิลเลียม เจ. คลอสเนอร์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลมูลนิธิจิม ทอมป์สัน ดร.วิลเลียมมาเล่าให้ฟังถึงว่า จิม ทอมป์สัน ได้นำผ้าไหมไทยมาสร้างให้เป็นสินค้าที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมจนมีชื่อเสียงระดับสากลอย่างไร
ดร.วิลเลียมเล่าว่า ต้นตอของผ้าจิมนี้มาจากแม่บ้านชาวอีสานที่ทอผ้าพื้นถิ่นออกมาได้สวยและมีเอกลักษณ์ จนคุณจิมมองเห็นถึงการนำมาสร้างนวัตกรรมและจัดการให้เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสากลและขายไปทั่วโลก อย่างเช่น ทำไงสีไม่ตก ทำไงให้มีความสม่ำเสมอในการผลิต เป็นต้น
คุณวิลเลียมเล่าว่า แต่ก่อนคนไทยจะบอกว่าถ้ามีลูกสาว ลูกสาวต้องทอผ้าเก่ง ไม่งั้นจะหาสามียาก มิน่าผู้หญิงแถบอีสานถึงตั้งหน้าตั้งตาทอผ้ากันจนเก่งเช่นนี้ อ้อ เป็นอย่างนี้นี่เอง
วิทยากรถัดมาเป็นคนที่ผมคุ้นเคยดี “อ.โก้” ดร.อภิชาต อินทรวิศิษฎ์ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ว่าคุ้นเคยคือ ราว 10 กว่าปีมาแล้ว เราเคยได้ร่วมงานกันมาก่อนในการนำเอาวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่งที่แข็งแรงคืออาหารไทย มาทำเป็นสารคดีเพื่อขายเมืองนอก
ตอนนั้นมี ดร.อภิวัฒน์ วัฒนางกูร เป็นคนควบคุม และก็ขายให้เคเบิลฝรั่งไปหลายช่องเหมือนกัน
นี่เท่ากับว่า เจ เอส แอล รู้จักการสร้างโอกาสทางธุรกิจโดยใช้ของดีของไทยมาก่อนแล้วจริงๆ ตรงตามหัวข้อเรื่องทีเดียวเชียว
อ.โก้ มาบรรยายถึงวัฒนธรรมไทยที่เป็น “ลักษณะไทย” ที่มาจาก “ท่าทาง-ท่วงที-ท่าที” หรือที่เรียกเป็นฝรั่งว่า “Point-Pace-Posture” นั่นก็คือเรื่องของการแสดงออกต่างๆ ที่บ่งบอกเอกลักษณ์แบบคนไทย เช่น การไหว้ การยิ้ม การอ่อนน้อม มีน้ำใจ พูดเสียงเบา เกรงใจ นับถือผู้ใหญ่ เป็นต้น
ซึ่งเรื่องที่ อ.โก้เล่านั้น เราก็เห็นอยู่ทุกวัน แต่เมื่อมาจัดเรียงเป็นหมวดหมู่และขยายความถึงนัยยะทางสังคมอะไรบ้าง ก็ทำให้เราเปิดกะโหลกมากขึ้น มีคำหนึ่งที่ อ.โก้ยกขึ้นมาให้เห็นถึงลักษณะการแสดงออกที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของคนไทยคือ “ถากด้วยคำพูด ขุดด้วยสายตา” ทำให้นึกถึงตัวร้ายในละครไทยขึ้นมาทันควัน
วิทยากรถัดมาเป็นวิทยากรหญิงคนเดียวของงาน และก็คุ้นเคยกันดีกับผมอีก เธอคือ “ดร.โอ๋” ชื่อจริงว่า ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในช่วงของ ดร.โอ๋นั้นแพรวพราวและมีเสน่ห์อย่างยิ่ง ด้วยเธอนำเอาประสบการณ์ด้านการทำวิทยานิพนธ์เพื่อสอบด๊อกเตอร์ในเรื่องของ “ลิเกไทย” มาเล่าให้ฟัง และไม่เพียงใช้สอบ แต่ยังได้นำมาจัดการแสดงจริงในภายหลังในแนวร่วมสมัยอีกด้วย
ดร.โอ๋จะพูดสลับกับการร้อง เอื้อน ทั้งลิเก ลูกทุ่ง เพลงไทยสากล เพลงสากล เพราะเธอมีความสามารถด้านการร้องสูง
ที่สนุกคือการแชร์ประสบการณ์ทั้งการแสดง และการทำงานให้ฟัง มีเรื่องหนึ่งที่เรียกเสียงหัวเราะได้ลั่นห้อง เมื่อเธอเล่าถึงตอนที่แสดงละครเวที เธอรับบทเป็นคุณหญิงกีรติ ในเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ซึ่งในฉากหนึ่งที่เป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง คุณหญิงต้องพูดกับนพพรว่า
“ความรักของเธอเกิดขึ้นที่นั่น และตายที่นั่น แต่ของอีกคนกำลังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ”
แต่ ดร.โอ๋ที่กำลังสวมบทบาทคุณหญิงผู้ระทมทุกข์ ก็ได้พูดผิดเป็นว่า
“…แต่ของอีกคนกำลังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะ…แดกตับ”
โอ๊ะ โอ๋ จาก “แตกดับ” ที่ดูธรรมะนิดๆ กลายเป็น “แดกตับ” ที่กลายเป็นปอบเสียฉิบ
วิทยากรอีกท่าน เป็นด๊อกเตอร์เช่นกัน สังเกตไหมครับว่าที่เล่ามาล้วนแต่เป็นด๊อกเตอร์ ทั้งนั้น มีผมคนเดียวที่สูงสุดก็แค่ปริญญาโท แถมกว่าจะจบก็เลือดตาแทบกระเด็น วิทยากรที่ว่านี้คือ ดร.รัฐ ธนาดิเรก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกลยุทธ์ ซึ่งโดยส่วนตัวผมว่าดีมากเลยที่ปิดท้ายด้วยเนื้อหาแบบนี้
เพราะบางทีเราเคยเข้าฟังสัมมนาแล้วก็รับรู้ได้ถึงเนื้อหาสาระที่อัดแน่นและมีประโยชน์ แต่บางทีมันคิดไม่ออกว่าจะเอาไปปรับใช้ในการทำงานจริงได้อย่างไร ดร.รัฐนี่แหละที่เป็นคนทำหน้าที่นี้ให้กับผู้ร่วมงานวันนั้น
ดร.รัฐจะนำเนื้อหาจากที่วิทยากรทุกท่านได้บรรยายมาสรุปประเด็นหลัก และเชื่อมโยงกันให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่จับต้องได้
โอ้โฮ…โป๊ะเชะมากเลย ว่าไหม
ส่วนผมน่ะหรือ บรรยายเรื่องอะไร ก็อย่างที่บอกว่าไม่ได้มาในสายวิชาการ แต่มาในสายของการทำงาน จึงได้นำเอาตัวอย่างงานของเจ เอส แอล ที่ใช้แนวคิดอย่างนี้มาแสดงให้ดู รวมทั้งยกตัวอย่างงานชิ้นอื่นๆ ของธุรกิจบันเทิงให้เห็นด้วย ไม่ว่าละครทีวี ภาพยนตร์ เพลง หรือการแสดงโชว์
ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตอนที่เราคิดสร้างรายการเหล่านี้ขึ้นมา เราก็ไม่ทันได้นึกหรอกว่ามันเชื่อมโยงมาจากเรื่องของศิลปวัฒนธรรม แต่เมื่อนึกย้อนไปถึงที่มาก็สามารถตอบโจทย์ตรงนั้นได้ว่า…เออ จริง
วัฒนธรรมที่ผมเอ่ยถึง ไม่ได้หมายถึงวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมแบบภาพวาด ลายไทย อาหารไทย ชุดไทย ทำนองนั้น แต่หมายถึงวัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิต พฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิดที่บอกถึงความเป็นสังคมไทย อย่างเช่น
มหรสพแบบชาวบ้านที่ได้รับความนิยมอย่างมากคืองานวัด ที่จะมีหนังกลางแปลง มีวิกลิเกให้ครอบครัวได้มาปูเสื่อดูการแสดงด้วยกันอย่างมีความสุข ก็ได้กลายมาเป็นรายการ “วิก 07” ที่นำละครเวทีมาไว้ในทีวี ซึ่งนักแสดงชื่อดังล้วนผ่านเวทีวิก 07 นี้มาแล้วทั้งสิ้น
หรือความฝังใจจากการที่เด็กฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องในอดีตด้วยดวงตาแห่งความสุข พร้อมภาพจินตนาการไปถึงเรื่องที่เล่านั่น ซึ่งเป็นความอบอุ่นแบบสังคมไทย ก็พลิกแพลงมาเป็นรายการ “จันทร์กะพริบ” ที่คนดังในวงการบันเทิงจะมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวในชีวิตพร้อมด้วยภาพจำลองเหตุการณ์สดๆ บนเวที
จากอุปนิสัยรักความสนุก ชอบความสรวลเสเฮฮา จนเกิดเป็นการเล่นตลกแบบคาเฟ่ที่เคยเฟื่องฟู ก็ได้แปลงโฉมเป็นตลกปัญญาชนออกทางทีวีที่ชื่อ “ยุทธการขยับเหงือก”
หรือความบันเทิงที่เป็นแมสมากๆ อย่างวงดนตรีลูกทุ่ง ที่มีทั้งเสียงเพลง หางเครื่อง ตลกประจำคณะ ก็ได้เป็นต้นน้ำของรายการ “กิ๊กดู๋สงครามเพลงเงาเสียง” ที่มีการร้องเพลง และการสร้างเสียงหัวเราะแบบกันเอง เข้าถึงได้ทุกคน
รวมทั้งการนำวัฒนธรรมทางดนตรี อย่างบทเพลงสุนทราภรณ์ที่ถือว่าเป็นมรดกของชาติให้มีการสืบทอดเผยแพร่ไปยังคนรุ่นใหม่ ด้วยการสร้างสรรค์ในรูปแบบของละครเวที ในชื่อชุด “สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ที่ประสบผลสำเร็จทั้งการต่อยอดทางวัฒนธรรมและด้านธุรกิจ จนทำมา 6 เรื่องแล้ว
และได้กล่าวแนะนำไปด้วยว่า ไม่ว่าจะนำแง่มุมของศิลปวัฒนธรรมด้านไหนมาใช้ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ แต่ต้องมี content design เข้าไปด้วย เพื่อสร้างสินค้าหรือบริการของเราให้พิเศษ แตกต่าง และเป็นที่น่าสนใจ รวมทั้งการตลาดยุคนี้ต้องมี segmentation ของกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนอีกด้วย
การสัมมนาวันนั้นจบลงด้วยความอิ่มเอมจากอาหารเย็นของครัวจิม ทอมป์สันเอง เรียกว่าอิ่มทั้งความรู้ที่ผมได้รับจากวิทยากรท่านอื่นๆ และอิ่มทั้งรสชาติอาหารแบบไทยๆ เข้ากันดี๊ดีกับเรื่องราวที่คุยกันในวันนั้น