เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน ยุค ค.ศ.2007-2015 / ความผิดพลาดของสหรัฐในการดำเนินความสัมพันธ์กับไทย

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (10) : ยุค 4 ค.ศ.2007-2015

ในบรรดาคำวิพากษ์วิจารณ์ของ Benjamin Zawacki ต่อความผิดพลาดของสหรัฐในการดำเนินความสัมพันธ์กับไทยท่ามกลางการแย่งชิงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์กับจีนนั้น เขาสงวนถ้อยคำหนักหน่วงรุนแรงที่สุดให้กับความล้มเหลวไม่เป็นท่าของประธานาธิบดีบุชผู้ลูกที่จะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2008 ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทั้งที่กระทรวงการต่างประเทศไทยได้พยายามผลักดันจัดแจงเรื่องนี้อย่างแข็งขัน เพียงเพราะเหตุผลว่าสนามบินหัวหินขาดเครื่องอำนวยความสะดวกในทางขึ้น-ลงของเครื่องบินที่จะรองรับเครื่องบินเจ็ตประจำตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกัน Air Force One ของบุชได้ (BZ, Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China, pp. 220-221, 248)

สำหรับพระองค์ผู้ทรงเป็นพันธมิตรหนึ่งเดียวที่เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในเอเชียอาคเนย์มาตลอดสามชั่วรุ่นคนนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองและทรงเจริญพระชนมายุถึง 81 พระชนมพรรษาแล้วนั้น (BZ, p.107, 197, 221)

การที่ฝ่ายสหรัฐไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาโลจิสติกส์ของการเดินทางระยะเพียง 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ไปหัวหิน หรือระยะทางแค่พอๆ กับจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปเมืองฟิลาเดลเฟีย ย่อมเป็นสัญญาณสะท้อนความกลวงเปล่าและล้มเหลวอย่างลึกซึ้งของประธานาธิบดีบุชผู้ลูกผู้นำสหรัฐ-ซึ่งรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณคนหนึ่งวิจารณ์ว่า

“ไม่เข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์เอาเลย” (BZ, p.191)

ที่มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสากลจนวอกแวกละเลยพื้นที่ยุทธศาสตร์ใจกลางทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่นับวันจะทวีความสำคัญขึ้นทุกทีในการแข่งขันถ่วงทานอำนาจกับจีนต่อไปข้างหน้า

และถึงแม้ประธานาธิบดีโอบามาจะปรับแนวทางแก้ลำจีนตามนโยบายปักหมุดเอเชีย (เจษฎาพัญ, น.374) โดยเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ ถามไถ่พระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าถึงโรงพยาบาลศิริราชเมื่อ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ด้วยความห่วงใยชั่ว 11 วันหลังเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีวาระที่สอง อันเป็นที่ประทับใจอย่างลึกซึ้งของพสกนิกรชาวไทย (https://www.thairath.co.th/content/464188)

แต่โดยภาพรวมแล้วแม้แต่อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐ Ralph Boyce ก็ยอมรับว่า “Too late, too late.” (BZ, p.268)

เนื่องจากท่ามกลางการเปลี่ยนรุ่น (generational shift) ของเกลียวสัมพันธ์ [Military-Monarchy + US Nexus] แต่เดิมและระหว่างที่ตัวสหรัฐเองก็มัวหมกมุ่นอยู่แต่กับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสากลอยู่ช้านาน จนละเลยไม่ชัดเจนว่าจะวางฐานะบทบาทความสำคัญของพันธมิตรหลักในภูมิภาคอย่างไทยไว้ตรงไหนอย่างไร (BZ, pp. 191-193; 248-250) ฝ่ายจีนกลับดำเนินมาตรการรุกทางการทูตและให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยอย่างเต็มที่ เช่น :

– สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีนได้ถวายพระสมัญญานามแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรี” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2004 พระองค์เสด็จฯ เยือนจีน 30 ครั้งระหว่างปี ค.ศ.1981-2010 พระองค์ตรัสและเขียนอักษรจีนได้คล่องแคล่ว

ทางการจีนได้ตั้งสถาบันในพระนามาภิไธยของพระองค์เพื่อรับนักศึกษาไทยและจีนมาศึกษาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานทางเลือกและแพทย์จีนแผนโบราณ และในปี ค.ศ.2009 ชาวจีนได้ลงคะแนนเสียงทางออนไลน์ยกย่องให้สมเด็จพระเทพฯ เป็น “ผู้ทรงสำคัญที่สุดอันดับสองในบรรดาเพื่อนระหว่างประเทศสุดยอดสิบคนของจีน” (เจษฎาพัญ, น.285; BZ, p.192, 249)

– สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงได้รับยกย่องจากทางการจีนให้เป็นทูตวัฒนธรรมของไทยในจีน เสด็จไปเยือนจีนเป็นระยะ เพื่อทรงบรรยายทางวิชาการและทรงแสดงการบรรเลงเครื่องดนตรีกู่เจิ้ง (BZ, p.192, 249)

– รองราชเลขาธิการในพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่เก้าได้กล่าวกับวุฒิสมาชิกอเมริกัน จิม เว็บ ว่าฝ่ายไทยต้องขออภัยสหรัฐด้วยที่เล่นไพ่จีน ทั้งนี้เพราะการรวมศูนย์สนใจที่สหรัฐเคยมีต่อเอเชียอาคเนย์ได้ลดน้อยถอยลงในทศวรรษหลังนี้ และจีนก็ได้กลายเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญกว่าสำหรับไทยมากขึ้นทุกที (BZ, p.250)

– เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไทยที่ทำงานอย่างกว้างขวางในปักกิ่งสมัยรัฐบาลทักษิณอธิบายท่าทีของจีนว่า : “ฝ่ายจีนยกย่องเทิดทูนเจ้านายฝ่ายไทยจริงๆ ยิ่งกว่าที่แสดงต่อรัฐบาลไทยเสียอีก เพราะพวกเขารู้ว่ารัฐบาลมาแล้วเดี๋ยวก็ไป แต่เจ้านายไม่ได้จากไปด้วย ฝ่ายจีนยินดีที่จะจัดงานถวายการต้อนรับเจ้านายของไทยเราเป็นพิเศษ ไม่ว่าเราขออะไรไป ก็จะได้เสมอ” (BZ, p.192)

– เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกล่าวต่อไปว่า ในสายตาของจีนนั้น ที่พวกเขาให้ความเคารพนอบน้อมและเข้าอกเข้าใจเจ้านายของไทย ก็เพราะพวกเขาเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยละม้ายใกล้เคียงกับพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนนั่นเอง แน่นอนว่าไม่ใช่ในเชิงอุดมการณ์ แต่ในแง่ฐานะและอิทธิพล หากยืมคำสรุปของรัฐมนตรีไทยคนหนึ่งมากล่าวก็คือ “พวกจีนเข้าใจเรื่องนี้” (BZ, p.193)

ขณะที่เจ้านายชั้นสูงของไทยบางพระองค์ยังกล่าวกับเอกอัครราชทูตสหรัฐ อีริก จอห์น ว่า “คนรุ่นเราโตขึ้นมาในสงครามเวียดนาม และเข้าใจได้โดยง่ายว่าการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับสหรัฐสำคัญอย่างไรในทางยุทธศาสตร์” (BZ, p.249)

ทว่าโดยภาพรวมแล้ว ข้อสรุปของ Benjamin Zawacki ก็คือ พระบรมวงศานุวงศ์รุ่นถัดไปทรงกำลังทอดสายพระเนตรไปทางตะวันออก (BZ, p.249)

นำไปสู่ข้อสังเกตที่เฉียบแหลมหยั่งลึกยิ่งของเขาว่า หากพิจารณาดูก็จะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่กำลังเกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย (network monarchy – อันเป็นแนวคิดของศาสตราจารย์ Duncan McCargo แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ใน “Network monarchy and legitimacy crises in Thailand”, The Pacific Review, 18 : 4 (2005), 499-519) กล่าวคือ :

“สิ่งที่ทำให้มันถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงก็คือความเชื่อมโยงอย่างไม่อาจแยกออกมาได้กับการเปลี่ยนย้ายที่กำลังเกิดขึ้นแล้วภายในสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย ด้วยการเข้าช่วงใช้รากฐานที่แท้แห่งโครงสร้างอำนาจของราชอาณาจักร – อันเป็นรากฐานที่สหรัฐได้ช่วยสถาปนาขึ้นนั้น – จีนกำลังเข้าแทนที่อเมริกันในประเทศไทยตรงจุดที่สำคัญที่สุด” (BZ, p.191)

กล่าวคือ Benjamin Zawacki เสนอว่าจีนกำลังเบียดขับเข้าแทนที่สหรัฐในเกลียวสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย ที่ซึ่งสหรัฐเคยคงสถานะความสัมพันธ์เสมือนสมาชิกโดยตำแหน่งมาช้านานนั่นเอง (BZ, p.188)