เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สามเณรโสปากะ ผู้รอดปากเหยี่ยวปากกาด้วยบุญบารมี

สามเณรอายุ 7 ขวบที่ได้รับพุทธานุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธีพิเศษมีอยู่ 2 รูป คือ สามเณรสุมนกับสามเณรโสปากะ

สามเณรโสปากะไม่มีประวัติในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาหรืออรรถกถาธรรมบทที่พระเณรท่านเรียนกัน แต่มีอยู่ในอรรถกถาแห่งเถรคาถา (ปรมัตถทีปนีภาค 2) จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในแวดวงยุทธจักรดงขมิ้น

พูดถึงตรงนี้ต้องขอขยายความหน่อยนะครับ คือ หลักสูตรการเรียนปริยัติธรรมแผนกบาลีของพระภิกษุสามเณรจะกำหนดให้ใช้หนังสืออรรถกถาธรรมบทตั้งแต่ประโยค 1-2 ถึงประโยค 6 พระเณรท่านก็แปลนิทานธรรมบทจากภาษาบาลีกันแทบทุกวัน จนจำเรื่องราวต่างๆ ได้คล่อง

แม้สึกหาลาเพศออกไปแล้วไม่ค่อยได้หยิบหนังสืออรรถกถาธรรมบทขึ้นมาอ่านก็ยังจำได้ไม่ลืม ไม่ต่างจากจำนิทานอีสป

ประวัติโสปากะพูดขัดแย้งกัน ตอนแรกกล่าวว่าเป็นบุตรสัปเหร่อ จึงได้นามว่าโสปากะ คำ “โสปากะ” คงแปลว่าเผา เช่น เผาศพ (แปลว่าหุง แปลว่าต้มก็ได้ ดังเรามีคำเรียกพ่อครัวว่าพ่อครัวหัวป่าก์ ต่อมาเขียนหดเข้าไปเป็นหัวป่า)

คนเขียนคนเดียวกันนั้นแหละกล่าวต่อว่า อาจารย์บางพวกกล่าวว่า โสปากะเกิดในตระกูลพ่อค้า นามว่า “โสปากะ” สักแต่ว่าตั้งเพื่อสิริมงคลเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับสัปเหร่อ หรือการเผาผีเผาศพแต่อย่างใด แล้วท่านก็บรรยายรายละเอียดว่า

เด็กน้อยโสปากะเกิดได้ 4 เดือนบิดาก็สิ้นชีวิต จึงตกอยู่ในการดูแลของ “จุฬบิดา” (น้องชายพ่อ หรืออา) ไม่บอกว่ากลายเป็นพ่อเลี้ยงหรือว่าเพียงแต่เป็นผู้ดูแลแทนพ่อ พิเคราะห์ดูอาจเป็นพ่อเลี้ยงจริงๆ ก็ได้ เวลาโสปากะทะเลาะกับลูกๆ ของเขา พ่อเลี้ยงจะดุด่าและลงโทษเสมอ

ไม่ว่าหญิงหรือชายมี “เรือพ่วง” ไปแต่งงานใหม่มักจะมีปัญหามีเรื่องระหองระแหงกันในครอบครัว เช่น ลูกคุณมารังแกลูกฉัน หรือลูกคุณรังแกลูกเรา หรือลูกเรารังแกลูกคุณและลูกฉัน ว่ากันให้วุ่น ฮิฮิ

วันหนึ่งพ่อเลี้ยงโกรธจัดจึงนำเด็กชายโสปากะไปป่าช้าเอาเชือกผูกแขนไพล่หลังมัดไว้กับศพทิ้งไว้ด้วยหมายใจจะให้เป็นเหยื่อสุนัขจิ้งจอก

เด็กน้อยเห็นสุนัขจิ้งจอกกำลังมาจึงร้องไห้ด้วยความกลัว

ว่ากันว่าเสียงร้องไห้ของเด็กน้อยผู้น่าสงสารได้ยินไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรวจดูด้วยพระญาณก็ทรงทราบเหตุการณ์โดยตลอด จึงทรงแผ่พระรัศมีไปยังเด็กน้อยตรัสว่า โสปากะไม่ต้องกลัว เธอจงมองดูตถาคต ตถาคตจะช่วยเธอให้รอดดุจปล่อยพระจันทร์จากปากราหูฉะนั้น

ด้วยพุทธานุภาพเชือกที่มัดอยู่ขาดออกโสปากะเป็นอิสระและได้บรรลุโสดาปัตติผล รู้ตัวอีกทีก็มานั่งเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในพระคันธกุฎีแล้ว

ข้างฝ่ายมารดาเมื่อบุตรชายหายไปก็เที่ยวตามหาไปจนทั่ว เมื่อไม่พบจึงเข้าไปพระอารามคิดได้อย่างเดียวว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระญาณหยั่งรู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต พระองค์ย่อมทรงทราบว่าลูกเราอยู่ที่ไหน เราไปกราบทูลขอพึ่งพระมหากรุณาของพระองค์ดีกว่า ไปถึงก็ถวายบังคมแล้วกราบทูลถามถึงบุตรชายของตนเอง

พระพุทธองค์ทรงทราบว่านางมีอุปนิสัยแห่งมรรผล จึงตรัสสอนธรรมว่า

บุตรทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้ บิดาและพี่น้องก็ช่วยไม่ได้

คนเราเมื่อถึงคราวจะตาย ญาติพี่น้องทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้

เท่ากับเตือนว่าบุตรที่สุดแสนรักนั้นเขาก็มีคติหรือทางไปเป็นของเขาเอง เอาเข้าจริงเขาก็ช่วยเหลืออะไรเราไม่ได้ คติหรือทางไปของเราจะเป็นอย่างไร จะไปดีไปร้อยก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง

นางได้ฟังก็ได้คิด คิดตามไปก็ยิ่งเห็นจริงตามจึงได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หารู้ไม่ว่าในขณะนั้นบุตรน้อยของตนก็นั่งฟังพระธรรมเทศนานั้นอยู่ใกล้ๆ นั่นเอง แต่ด้วยอิทธาภิสังขาร (การบันดาลด้วยฤทธิ์) สองแม่ลูกจึงมองไม่เห็นกัน ลูกชายได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

จากนั้นพระพุทธองค์ทรงคลายฤทธิ์สองแม่ลูกจึงเห็นกัน

ถามว่าไฉนเด็กน้อยอายุเพียงขวบก็ได้บรรลุพระอรหัตผล คำตอบก็มีว่าเพราะเด็กน้อยคนนี้ในอดีตกาลอันนานโพ้นได้สร้างบุญบารมีไว้

ในชาติที่กล่าวถึงนั้นโสปากะเกิดในตระกูลพราหมณ์ ออกบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญพรตอยู่บนยอดเขาสูงแห่งหนึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ขณะเขาใกล้จะตายพระพุทธเจ้าสิทธัตถะเสด็จไปโปรดเขา

เขาแต่งอาสนะดอกไม้ถวายให้พระพุทธองค์ประทับ พระพุทธองค์ประทับเหนืออาสนะดอกไม้นั้น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอนิจจตา (ความไม่เที่ยง) ปลดเปลื้องเขาจากความยึดถือผิดๆ ว่าสรรพสิ่ง เที่ยงแท้นิรันดร

เขาเจริญอนิจจสัญญา (ความระลึกว่าไม่เที่ยงแท้)ในใจ จวบจนสิ้นลม ละจากอัตภาพนั้นแล้วไปเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวในสังสารวัฏตลอดกาลยาวนาน ในที่สุดก็บังเกิดเป็นเด็กน้อยโสปากะในกรุงราชคฤห์ดังกล่าวมาแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสถามปัญหา “อะไรเอ่ย” ทำนองปริศนาธรรม เช่น “อะไรเอ่ยชื่อว่าหนึ่ง” โสปากะกราบทูลว่า “สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร” (อาหารชื่อว่าหนึ่ง)

“อะไรชื่อว่าสอง” ตรัสถามอีก

“นามกับรูป ชื่อว่าสอง” โสปากะกราบทูล

จนกระทั่งถึง “อะไรชื่อว่าสิบ” เด็กน้อยอรหันต์ก็กราบทูลได้ทุกข้อ ไม่ได้อย่างไรเล่าครับ ไม่ใช่เด็กน้อยธรรมดาหากเป็นเด็กน้อยอรหันต์นี่ครับ

การมอบปัญหาให้คิดหาคำตอบนี้ คงคล้ายกับที่พุทธนิกายเซนเรียกว่า “โกอาน” (ญี่ปุ่น) หรือ “กงอั้น” (จีน) นั่นเอง เมื่ออรหันต์น้อยโสปากะตอบได้หมดทุกข้อ การอุปสมบทให้เธอเรียกการอุปสมบทนี้ว่า “ปัญหาพยากรณูปสัมปทา” (การอุปสมบทด้วยการตอบปัญหา)

น่าสังเกตว่า โสปากะเธอมิได้ผ่านการบวชเณรก่อน พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทให้ทันทีทันใด ต่างจากกรณีเด็กน้อยสุมนได้บรรพชาเป็นสามเณรก่อน พระพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทอันเรียกว่า “ทายัชชอุปสมัปทา” ให้ แต่โสปากะไม่ต้องบวชเณรก่อน ข้ามขั้นเป็นพระภิกษุเลย และการอุปสมบทของเธอเรียกว่า “ปัญหาพยากรณูปสัมปทา

พระโสปากเถระอดีตเด็กน้อยเกือบจะตกเป็นเหยื่อสุนัขจิ้งจอก เมื่อหวนรำลึกถึงเรื่องราวในอดีตของตน ได้กล่าวคาถาประพันธ์ทำนองอัตชีวประวัติไว้อย่างไพเราะ ขอนำมาลงไว้ตอนท้ายดังนี้ครับ

เราได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่านรชน เป็นอุดมบุรุษ เสด็จจงกรมอยู่ในร่มเงา แห่งพระคันธกุฎี จึงเข้าไปถวายบังคม

เราห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมมือไหว้พระองค์ผู้ปราศจากกิเลส

พระองค์ตรัสถามปัญหาเรารู้ความของปัญหานั้น ไม่สะทกสะท้านวิสัชนาปัญหานั้น

พระองค์ตรัสถามปัญหา เรารู้ความของปัญหานั้น พระองค์ตรัสอนุโมทนาแล้วหันไปตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

โสปากะนี้ใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช ของชาวอังคะและชาวมคธเหล่านั้น นับเป็นลาภของชาวอังคะและชาวมคธ และเป็นลาภของพวกเขาที่ได้ต้อนรับและทำสามีจิกรรม (ความเคารพในรูปแบบอื่นๆ) แก่โสปากะ

พระองค์ตรัสกับเราว่าโสปากะ การวิสัชนาปัญหานี้เป็นการอุปสมบทของเธอ เราอายุเพียง 7 ขวบ ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุมีชีวิตของร่างกายนี้อันเป็นชาติสุดท้าย

พระธรรมอันดีงามของพระพุทธองค์ช่างน่าอัศจรรย์แท้หนอ

หมายเหตุ บทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ พ.ศ.2555