ปฏิรูปตำรวจยังหลงทาง? ทำไมชอบกวาดล้างอาชญากรรม ? (ทำ)แล้วประชาชนได้อะไร ?

“การปฏิรูปตำรวจถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน ก่อนการยึดอำนาจก็มีความเคลื่อนไหวจากคณะกรรมการหลายชุด หลายคณะ แม้จะมีแผนมีบทสรุปออกมาแต่ก็ยังไม่เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง”

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ผู้เกาะติดการปฏิรูปตำรวจมาอย่างใกล้ชิด

ให้นิยามถึงความยังไม่ได้เขยิบไปไหนในการปฏิรูปสีกากี

: กางไทม์ไลน์ ปฏิรูปตำรวจยุค คสช.

พ.ต.อ.วิรุตม์กางไทม์ไลน์กล่าวว่า ที่เห็นข้อเสนอเป็นรูปธรรมคือยุคสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เริ่มมีความชัดเจนในเรื่องการปฏิรูป โดยมีมติที่สำคัญว่าให้มีการโอนหน่วยงานของตำรวจ 11 หน่วยไปให้กระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค, ป่าไม้, ทางหลวง, จราจร ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการอะไร

พอมาถึงช่วงของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปก็ไม่ได้มีการสานต่อ ทั้งๆ ที่มีหน้าที่รับมติของ สปช.ไปดำเนินการ

จากนั้นเข้าสู่ยุคการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ตามมาตรา 260 โดยมีการตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ตอนแรกทุกคนก็คิดว่าจะมีความหวัง

แต่พอเห็นหน้าตาของคณะกรรมการที่มีตำรวจและอดีตตำรวจเข้าไปนั่งอยู่จำนวนมากในชุดทำงานชุดนี้ ก็มองเห็นว่าไม่มีทางที่จะเกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริงได้

เพราะว่ามี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ความสัมพันธ์-ความผูกพันบุคคลและองค์กร ก็เป็นไปตามคาด ผลออกมาอย่างที่เห็นว่าไม่มีความชัดเจนอะไร

บทสรุปก็ไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อประชาชน เป็นเรื่องของการบริหารหน่วยงานภายใน เป็นเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง กระทั่งพยายามในการบิดเบือนประเด็นการปฏิรูป เช่นบอกว่าจะต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งเรื่องนี้ถ้าเรามองจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของการปฏิรูป นี่คือ “อาชญากรรม” ที่จะต้องจัดการโดยผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบัน แม้จะไม่ใช่ยุคแห่งการปฏิรูปก็ไม่สมควรจะมี ก็เอามาปะปนกับเรื่องการปฏิรูป

ยุค คสช. อีกสิ่งที่เราได้เห็นคือเรื่องของ “พนักงานสอบสวน” ที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือยุบรวมพนักงานสอบสวน ก็กลายเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ไม่มีชำนาญการ ซึ่งถ้าในที่สุดอนาคตมีการเสนอกลับไปเป็นเหมือนเดิม

ก็เปรียบเสมือนการพายเรือออกจากคลอง ก็ยังไปไม่ถึงไหน!

: พนักงานสอบสวนกับการปฏิรูปสำคัญอย่างไร?

พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญคือจะทําอย่างไรให้งานสอบสวนและให้งานของตำรวจทั้งระบบ “มีความเป็นอิสระในการที่จะทำหน้าที่ตามกฎหมาย” ทุกวันนี้ตำรวจยังต้องฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตามชั้นยศต่างๆ ตามสายบังคับบัญชาแบบทหาร

ปัญหาตำรวจประเทศเรามาจากการจัดโครงสร้างองค์กรที่ผิดไปจากลักษณะของงาน การมียศ-การบังคับบัญชาแบบทหารเขามีเอาไว้วางแผนต่อสู้ข้าศึกศัตรู เขาต้องทำงานเป็นหน่วย

แต่ตำรวจโดยเนื้องานทั่วไปจะต้องทำงานเป็นบุคคล เว้นแต่ส่วนของกำลังควบคุมฝูงชน-งานพิเศษต่างๆ ต้องทำงานเป็นหน่วย แต่โดยหน้าที่ปกติในการป้องกันอาชญากรรม ตำรวจทำงานเป็นบุคคล เมื่อเจออะไรผิดก็ต้องจับ โดยไม่ต้องมานั่งรอฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

กลับกลายเป็นว่าทุกวันนี้สมมุติเจ้าหน้าที่เมื่อไปเจอบ่อน เจอตู้ม้าก็ต้องโทร.ไปถามเจ้านาย ว่าแหล่งนี้เป็นของใคร คดีรถนี้ คดีนั้น เป็นของใคร มันไม่ควรจะต้องมีกรณีแบบนี้

ประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลกเขาจะให้ตำรวจทำหน้าที่เหมือนภูมิคุ้มกันโรค เป็นเม็ดโลหิตขาวที่จะจับสิ่งแปลกปลอมโดยอัตโนมัติ แต่ตำรวจประเทศเรา ในข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่ามีความอ่อนแอ

ที่สำคัญ ทุกวันนี้การสอบสวนคดีส่วนใหญ่ถูกผูกขาดอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก

เราจะเห็นว่ามีผู้บังคับบัญชาหลายคน หลายกรณี ไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้นๆ แต่มีอำนาจเรียกสำนวนไปดู สามารถสั่งคดีได้ (โดยที่ไม่มีปรากฏหลักฐานการสั่ง)

เราจะได้ยินเสมอเวลามีคดี จะมีตำรวจนายพลยศใหญ่ๆ ไปสั่งคดี งานสอบสวนถือเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง การจะจับแพะหรือการสั่งไม่ฟ้อง หรือคดีถูกยกฟ้อง เป็นเรื่องสำคัญ

ตำรวจเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรม หากปราศจากอิสระในการทำหน้าที่ตามกฎหมายก็จะมีปัญหา

: ประชาชนยังรู้สึกว่าเรื่องปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องไกลตัว?

ต้องเข้าใจว่าเรื่องของตำรวจเกี่ยวข้องกับทุกคน อย่างที่เราประสบพบเจอความไม่สงบเรียบร้อย ความไม่เป็นระเบียบ มันเกิดจากปัญหาตำรวจทั้งสิ้น บ้านเมืองเราต้องอยู่ด้วยกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่มีโทษทางอาญามีอยู่หลายพันฉบับ หลายกรณี ถ้าไม่มีคนตาย ไม่มีคนเดือดร้อนก็จะไม่ถูกพูดถึง พอมีปัญหาใดๆ ขึ้นก็จะมีการระดมกวาดล้างทีหนึ่ง ออกแอ๊กชั่นกันเต็มที่ ทั้งที่ปัญหาคงอยู่ตลอด

ผมมองว่าประเทศที่ดี สังคมที่ดีจะต้องไม่มีการกวาดล้าง เพราะว่ามันจะต้องสะอาดอยู่เสมอ การที่มีการกวาดล้างอยู่ตลอด แสดงว่าคุณปล่อยปละละเลยหมักหมมปัญหาแล้วค่อยมากวาดล้างเหมือนตลาดเน่า ตลาดที่ดีต้องทำความสะอาดประจำวัน

องค์กรตำรวจก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนเองก็ไม่ควรจะไปหลงประเด็นเรื่องของการกวาดล้าง วันใดถ้ามีการกวาดล้าง สิ่งที่ต้องทำคือถามหาผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบว่าใครมาทำให้สกปรก

แต่บ้านเรา เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น คดีถ้ามีสินค้าปลอมแล้วมีผู้เสียชีวิต ในต่างประเทศผู้ที่มาทำหน้าที่ต้องถูกปลดออกจากหน้าที่ไปแล้วว่าไม่รักษากฎหมาย ไม่ป้องกันจับกุม แต่ของเราพอมีคนตายจะมองตำรวจเป็นพระเอกในการทำหน้าที่ด้วยซ้ำไป

นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาความไม่เรียบร้อย ปัญหารถติด ปัญหาเถ้าแก่จอดรถหน้าร้านเราก็เห็นประจำ ทำไมจอดในที่ห้ามจอดได้ทั้งที่มีกฎหมาย หรือปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในหน้าที่

ความไม่เป็นธรรมต่างๆ มันเกี่ยวข้องกับตำรวจ ซึ่งประชาชนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

: หัวใจของการปฏิรูปตำรวจ

ตํารวจควรขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องมีการกระจายอำนาจให้มากที่สุด ถ้าเราจะตั้งใจแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ทุกปัญหามีทางออก แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจแก้ปัญหา ทุกทางออกก็มีปัญหา เราจะต้องมาตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจว่าจริงใจในการปฏิรูปหรือยัง?

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า เขาไม่เห็นว่าบางเรื่องมันเป็นปัญหา เพราะว่า “ผู้มีอำนาจทั้งหลายเขาไม่เคยได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาตำรวจ”

ผมมองว่าคนที่จะปฏิรูปตำรวจได้ดีได้ไม่ใช่ตำรวจ แต่ต้องเป็นคนที่เคยเป็นผู้ต้องหาหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม เคยถูกรังแกเป็นแพะ-แกะต่างๆ ผมมองว่าเขาจะรู้ดีว่าจุดอ่อนคืออะไร ต้องเลิกคิดว่าตำรวจรู้เรื่องตำรวจต้องให้ตำรวจปฏิรูปกันเอง เป็นเรื่องที่หลงประเด็น เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน

เราต้องไม่ให้ตำรวจมีอำนาจตัดสินใจในคณะปฏิรูป อาจจะมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลก็พอ เพราะที่ผ่านมาอาจมีการรายงานข้อมูลไม่ตรงความจริง สิ่งหนึ่งที่ได้ยินตลอดคือ ตำรวจขาดแคลน ในช่วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมาได้ยินเรื่องตำรวจขาดแคลนมาตลอด

แต่เรากลับเห็นตำรวจในสำนักงานของตำรวจชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากแล้วไม่ได้ทำหน้าที่ของตำรวจ!

: ชุดทำงานปฏิรูปของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” มีความหวังหรือไม่?

ผมมองว่าชุดของท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ ยังพอมีหวังในการปฏิรูป ผมพูดเสมอว่าถ้าเราเดินทางจากหัวลำโพงไปเชียงใหม่โดยรถไฟ ชุดทำงานของ พล.อ.บุญสร้างอาจจะเดินทางไปแค่ดอนเมือง แล้วชุดของท่านมีชัยขยับไปถึงอยุธยา ถ้าประชาชนเข้าใจและช่วยส่งเสียงให้รถไฟขบวนนี้ไปได้ไกลที่สุด อย่างน้อยๆ ไปถึงนครสวรรค์ก็ยังดี

แล้วถ้าพอมีเลือกตั้ง อาจจะขยับไปถึงลำปาง แต่ถ้าประชาชนไม่ส่งเสียงอะไรเลย ไม่เรียกร้องเรื่องปฏิรูปตำรวจเลย หรือถูกทำให้เข้าใจว่าทุกวันนี้ดีอยู่แล้ว ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงใดๆ

ผมอยากย้ำว่าเรื่องการปฏิรูปตำรวจเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ซึ่งประชาชนล้วนเดือดร้อนในความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

: รัฐบาลเลือกตั้งกับรัฐบาลพิเศษ เราฝากความหวังปฏิรูปไว้กับใครได้?

ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นรัฐบาล และมีเสียงเด็ดขาดไหม จากที่ผมได้มีโอกาสไปเสวนาร่วมกับพรรคการเมืองต่างๆ ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรดำเนินการเรื่องกระจายอำนาจตำรวจไปสู่จังหวัด จัดให้เป็นตำรวจจังหวัด ลดความมียศของตำรวจ ทุกพรรคเห็นตรงกัน ตราบใดที่ยังมีชั้นยศ และคนเล็กคนน้อยเดินสวนกัน กับคนใหญ่กว่าที่มีหน้าที่ขอขั้นเงินเดือนให้ หรือสามารถสั่งลงโทษวินัยได้หรือโยกย้ายเราได้ก็ไม่เป็นอิสระ

ฉะนั้น ท่านมีชัยต้องนำประเด็นเหล่านี้ไปคิด เรื่องของความเป็นอิสระ ผมมองว่าต้องมีคณะกรรมการดูแลการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุดนี้ หรือตำรวจภาคก็ไม่ควรจะมี สิ้นเปลือง เพราะกระทรวงมหาดไทยก็ไม่เห็นมีภาค จากกระทรวงก็สามารถสั่งตรงไปที่จังหวัดเลย มันต้องมีหลักประกันไม่ให้ใครมาสั่งโยกย้ายได้ง่ายๆ ทำองค์กรตำรวจให้เหมือนอัยการ ต้องอิสระอย่างแท้จริง!

แล้วคำว่า “อิสระ” ต้องอิสระจากความกลัว ไม่ใช่สอบสวนไปแล้วกลัวไป หรือสอบสวนแล้วต้องหนี เราก็เคยได้ยินว่ามีพนักงานสอบสวนสอบคดีเสร็จแล้วขอลี้ภัย นี่แปลว่าคุณก็ไม่เป็นอิสระ อิสระต่อมาคือ “ไม่อยาก” หากใครเอาสิ่งของเอาอะไรมาหลอกล่อคุณ คุณก็ยอมทำให้

สุดท้ายผมมองว่าการสอบสวนต้องมีการบันทึกภาพและเสียงในการสอบปากคำบุคคล เพราะสมัยนี้เทคโนโลยีมันง่าย และมีระบบบันทึกภาพอัตโนมัติ

การสอบสวนต้องบังคับให้กระทำในห้องสอบเท่านั้น บางทีเราจะได้ยินบ่อยมาก ว่าคำให้การที่เขาพูดไม่ได้จด หรือบางทีพนักงานสอบสวนไปจดในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด เราจะได้ยินอยู่เสมอ

พนักงานสอบสวนจึงต้องเป็นอิสระ เพื่ออนาคตคดีที่สั่งไม่ฟ้อง หรือคดีถูกยกฟ้องต้องไม่เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันเรามีคดีที่ศาลยกฟ้องสูงถึงร้อยละ 40

โจทย์สำคัญคือ เราจะทำอย่างไรที่จะควบคุมให้มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ได้และมีการทำให้ตำรวจทำงานด้วยความมีมาตรฐานแบบสากล