สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล (2)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผมเอาแผ่นภาพโมเดลปฏิรูปการศึกษา ยุค พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาฉายซ้ำ เพื่อให้นักการศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนประชาคมผู้สนใจได้เห็นภาพทิศทางการบริหารการศึกษาและร่วมกันติดตามต่อไป

gnfhed

เริ่มตั้งแต่ยุทธศาสตร์แรก หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ในขั้นตอนการปฏิบัติจะพบว่ามีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สพฐ. 1764/2558 คณะ ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ลงนามโดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ 3 คณะ คือ

คณะกรรมการอำนวยการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) เป็นประธาน คณะกรรมการกำหนดกรอบเนื้อหาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธาน และคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธาน

ความคืบหน้าของกระบวนการพัฒนา เวลาผ่านไป 10 เดือน เนื้อหาสาระ หน้าตาจะปรากฏออกมาอย่างไรยังไม่ได้บทสรุป นอกจากมีข่าวว่าจะนำร่องทดลองใช้ในภาคการศึกษา 2560 ไปก่อน จากนั้นค่อยขยายผลต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังเข้ารับหน้าที่ไม่นานได้ประกาศนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อลดเวลาเรียนในห้องเรียนลงเพราะนักเรียนไทยเรียนหนังสือหนักเกินไป จำนวนชั่วโมงต่อปีการศึกษาอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลสัมฤทธิ์กลับตรงกันข้าม การลดจำนวนชั่วโมงเรียนและให้เวลาสำหรับทำกิจกรรม เรียนรู้นอกห้องเรียน น่าจะสอดคล้องกับกระบวนการเรียนยุคใหม่

นโยบายดังกล่าวได้รับการขานรับจากนักการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า นักเรียนได้เวลาเพิ่มมาก็ตาม แต่สำคัญที่ตัวหลักสูตร กับกระบวนการเรียนการสอนของครูและการวัดผล หากไม่ปรับเปลี่ยนยังคง 8 กลุ่มสาระเช่นเดิม แนวทางลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ก็ไม่เกิดประโยชน์เต็มที่

จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ตาม คำสั่งตั้งกรรมการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงเกิดขึ้นตามมา หลังเข็นนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ล่วงหน้าไปแล้วพักใหญ่

ก่อนหน้านี้สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สร 862 /2556 ลงนามโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 14 ตุลาคม 2556 แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ คณะที่ 1 คณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน

คณะที่ 2 คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีศาสตราจารย์ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เป็นประธาน คณะที่ 3 คณะทำงานจัดทำรายละเอียดหลักสูตร กลุ่มความรู้ที่ 1 ภาษาและวรรณกรรม กลุ่มความรู้ที่ 2 วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และกลุ่มคณิตศาสตร์ กลุ่มความรู้ที่ 3 การดำรงชีวิตและโลกของงาน กลุ่มความรู้ที่ 4 สื่อและการสื่อสาร กลุ่มความรู้ที่ 5 สังคมและความเป็นมนุษย์ กลุ่มความรู้ที่ 6 ประเทศไทย อาเซียน ภูมิภาคและโลก กลุ่มบูรณาการโครงสร้างและเนื้อหาของหลักสูตร

ปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ

หลอมรวมบางกลุ่มเข้าด้วยกันและจัดกลุ่มใหม่เป็น 6 กลุ่ม แต่การปฏิรูปหลักสูตรฯ ครั้งนั้นก็ไปไม่ถึงฝั่ง เกิดเหตุรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลเพื่อไทยเป็นไปเสียก่อน

มาต่อยุทธศาสตร์ที่ 2 ดาว์พงษ์ โมเดล การผลิตและพัฒนาครู หรือการปฏิรูปครู ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ แผนงาน โครงการต่างๆ เพื่อรองรับทำอะไรบ้าง เป็นไปตามแผนภาพที่นำเสนอ

น่าคิดว่ายุทธศาสตร์นี้สอดคล้องกับที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเขียนเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะสะท้อนว่าเห็นความจำเป็นต้องปฏิรูปครูเป็นพิเศษ

ดังข้อความที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ หมวด 16 การปฏิรปประเทศ

มาตรา 158 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ให้เกิดผลดังต่อไปนี้ จ.ด้านการศึกษา

(3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู

(4) ปรับปรุงจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวโดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

โครงการอื่นๆ เพื่อรองรับปฏิรูปครู พล.อ.ดาว์พงษ์ บอกว่า 1 ปีที่ผ่านมามีงานสำคัญที่เริ่มไปแล้ว 20 โครงการ เช่น โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ในโรงเรียนสังกัด ศธ. 4,100 โรง ในปี 2559 จะขยายเพิ่ม 10,669 โรง คาดว่าปี 2560 จะครบทุกโรง โครงการคืนครูสู่ห้องเรียนเพื่อแก้ปัญหาขาดครู

โดยจ้างครูเกษียณที่เชี่ยวชาญ 10,000 คน และโครงการผลิตครูเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอีก 4,000 คนต่อปีซึ่งจะสิ้นสุดโครงการปี 2567 ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ครูจะเรียกแหล่งเงินกู้ 4 แห่งมาหารือเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปล่อยกู้ ให้สอดคล้องกับรายได้ของครู

ครับ ต้องติดตามผลกันต่อไปว่าหลังดำเนินมาตรการต่างๆ ที่ว่าแล้ว โมเดลการผลิตและพัฒนาครูที่นำมาใช้จะเป็นอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะกระบวนการเรียนการสอนและจิตวิญญาณความเป็นครู กลับคืนมาหรือไม่