นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สาธารณสมบัติกับคนชั้นกลางไทย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมกำลังสงสัยว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนดอยในภาคเหนือ กับความชื่นชมที่คนชั้นกลางไทยมีต่อการที่ทหารสถาปนารัฐเผด็จการรวมศูนย์ขึ้นนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

ผมหมายความว่าในทัศนะของคนชั้นกลาง การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อแสวงหากำไรให้ตนเองเป็นธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งมักมองประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก จึงคับแคบ และพร้อมจะทำลายสมบัติส่วนรวมลง เพื่อหากำไรสูงสุดแก่ตนเอง ด้วยเหตุดังนั้น สังคมจะอยู่รอดจากธรรมชาติความเป็นมนุษย์ของตนเองได้ ก็ต้องมีรัฐรวมศูนย์ที่เด็ดขาดเข้มแข็ง

ในเมืองไทยปัจจุบัน ไม่มีใครจะสร้างรัฐรวมศูนย์ที่เด็ดขาดเข้มแข็งอย่างนั้นได้นอกจากทหาร จึงนับว่าน่ายินดีที่ทหารเข้ามายึดอำนาจบ้านเมืองไว้ก่อนที่สมบัติส่วนรวม (ทุกชนิดนอกจากป่า) จะถูกแย่งทึ้งจากความเป็นมนุษย์ของคนไทยจนไม่มีอะไรเหลือเลย

ภาพนักการเมืองพลเรือนที่โกงกินสาธารณสมบัติอย่างมูมมาม สอดรับกับทัศนะที่มีต่อมนุษย์ของคนชั้นกลาง ในขณะเดียวกันก็สอดรับกับข้ออ้างความชอบธรรมของทหารในการเข้ามายึดอำนาจ

แต่ทหารก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ย่อมมีธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากคนอื่น จะปล่อยให้ไปควบคุมดูแลสาธารณสมบัติได้อย่างไร นี่คือเหตุผลที่ต้องเชื่อในมนุษย์พิเศษที่เรียกว่าคนดี คือคนที่อยู่เหนือธรรมชาติของตนเอง ตรงกับความเชื่อในพุทธศาสนาเถรวาทเกี่ยวกับพระอริยบุคคลพอดี และทำให้คนชั้นกลางไทยรับไม่ได้กับการแสดงวิจิกิจฉาต่อความดีของคนที่อ้างตนเองเป็นคนดี รวมทั้งผู้นำคณะรัฐประหารด้วย

ผมคิดว่าคนไทยเคยมีทัศนะต่อธรรมชาติความเป็นมนุษย์ที่สลับซับซ้อนกว่านี้มาก เช่น เชื่อเรื่อง “วาสนา” แต่ละคนมีความโน้มเอียงที่จะมีบุคลิกอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากผลกรรมจากอดีตชาติ

เรื่องอดีตชาติจะมีจริงหรือไม่ก็ยกไว้ก่อนเถิดครับ แต่ที่สำคัญกว่าก็คือคนไทยมองธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ในขณะที่แต่ละบุคลิกภาพ ก็มีศักยภาพที่จะบรรลุความดีก็ได้ ความชั่วก็ได้ ไม่มีใครถูกสาปให้เป็นอะไรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่มาบัดนี้ ธรรมชาติของมนุษย์ในทัศนะของคนไทย โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลาง กลับตื้นเขิน และไร้เดียงสาลงจนกลายเป็นหมาป่าในนิทานอีสป แต่การมองธรรมชาติมนุษย์อย่างตื้นเขินเช่นนี้ ไม่ได้มีกับคนชั้นกลางไทยเพียงกลุ่มเดียว ยังแพร่หลายในหมู่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักด้วย

 

ธรรมชาติมนุษย์ในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุมีผล แต่เห็นแก่ตัวหรือมีประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง หากมีโอกาสย่อมเพิ่มพูนประโยชน์ส่วนตนนั้นในทุกวิถีทาง แม้ความเห็นแก่ตัวนั้นอาจทำร้ายตนเองในระยะยาว ก็มักมองไม่เห็น เพราะมันยาวไกลเกินไป

แต่ว่าความเห็นแก่ตัวอาจใช้เป็น “ศีลธรรม” ได้ด้วย คือเห็นแก่ตัวเกินไปก็จะทำให้เสียประโยชน์ส่วนตนได้ นับตั้งแต่เพื่อนไม่คบ, ถูกปรับหรือจำคุก, หรือตั้งราคาสินค้าแพงเกินไปจนไม่มีใครซื้อ ฯลฯ แต่ความเห็นแก่ตัวมักทำให้มนุษย์ตาบอดต่อผลประโยชน์ในระยะยาวของตนเอง

หนึ่งในผลประโยชน์ระยะยาวที่พูดถึงกันมากคือ “สาธารณสมบัติ” เรามักหาประโยชน์จากสาธารณสมบัติจนเกินกว่าความยั่งยืนของสาธารณสมบัตินั้น ในระยะยาวเราเองก็เจ๊งไปด้วยเพราะสาธารณสมบัติไม่เอื้อต่อการผลิตอีกต่อไป

นิทานที่มักเล่ากันเสมอก็คือ คนเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์แต่ละเจ้า ย่อมอยากได้กำไรสูงสุด จึงมักเพิ่มจำนวนสัตว์ลงไปในฝูงของตน ต่างคนต่างเพิ่มจนกระทั่งทุ่งหญ้านั้นหมดสมรรถภาพจะใช้เลี้ยงสัตว์ได้แม้แต่ครึ่งฝูง ยิ่งมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ คนเลี้ยงสัตว์ก็ซื้อเทคโนโลยีนั้นมาเพิ่มสมรรถภาพของทุ่งหญ้า จนความเสียหายของทุ่งหญ้าลึกลงไปถึงใต้ดิน ยากจะฟื้นฟูกลับมาได้ง่ายๆ ซ้ำต้นทุนของคนเลี้ยงสัตว์ก็สูงขึ้นจนกำไรหดตัวลง

มักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ” (Tragedy of the Commons) ซึ่งไม่ได้เกิดแก่ทุ่งหญ้าเพียงอย่างเดียว แต่เกิดแก่สาธารณสมบัติทุกชนิด เช่น ถนนหนทาง, น้ำ, ทะเลและการประมง, หาดทรายที่ขายนักท่องเที่ยวได้ ฯลฯ

จะระวังไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ได้อย่างไร

ถ้าเริ่มต้นว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ฉลาด (มีเหตุมีผล) แต่เห็นแก่ตัว จะแก้ด้วยวิธีอื่นใดก็ยากหรือเป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้น (เช่น ให้เด็กท่องค่านิยม 12 ประการ ก็คอแห้งเปล่า) นอกจากเอาความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นั่นแหละมาถ่วงดุลกับความโลภของบุคคล นั่นคือทำให้สาธารณสมบัติกลายเป็นสมบัติส่วนบุคคลไปเสีย (ในระดับใดระดับหนึ่ง เช่น ถือครองและสืบทอดมรดกได้ 99 ปี) ผู้ถือครองก็จะหวงแหนและระวังรักษาสมบัตินั้นไว้มิให้เสื่อมโทรมลงได้ ซ้ำอาจจะยอมลงทุนปรับปรุงให้มันมีสมรรถภาพในการผลิตมากขึ้นด้วย

(ขอออกนอกเรื่องตรงนี้หน่อยว่า เขตสัมปทานในเมืองไทย ไม่ว่าเพื่อทำเหมืองหรือทำไม้ ไม่ได้พิสูจน์เลยว่าการถือครองประหนึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวจะทำให้ผู้ถือครองทะนุถนอมสมบัติสาธารณะนั้น ตรงกันข้าม การเป็นเจ้าของป่าสนบนภูเขาในญี่ปุ่นพิสูจน์ว่าเจ้าของดูแลสาธารณสมบัตินั้นอย่างดีเยี่ยม มันต้องอาศัยเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากกระมังที่จะให้เป็นไปตามทฤษฎี)

เคยมีการทดลองทางพฤติกรรมศาสตร์ด้วย เพื่อพิสูจน์ว่ามนุษย์เห็นแก่ตัว และเลือกเอาประโยชน์ส่วนตัวมาก่อนประโยชน์ส่วนรวมเสมอ

ผมคิดว่า หลังจากคนชั้นกลางไทยเลิกยึดถือทัศนะต่อมนุษย์แบบพุทธไทยเสียแล้ว ทัศนะต่อมนุษย์อย่างที่กล่าวนี้แหละที่ครอบงำความคิดของคนชั้นกลางไทยมาก ตรงกับทางวิชาการฝรั่งที่คนชั้นกลางไทยได้ร่ำเรียนมา ทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

แต่ทัศนะต่อมนุษย์ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักดังที่กล่าวนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริงหลายอย่าง เช่น มนุษย์ไม่เคยอยู่ในสิ่งแวดล้อมสมมติอย่างนั้น นั่นคือเป็นปัจเจกบุคคล 100% เต็ม เช่น คนที่ถูกนำมาเพื่อทดลองด้านพฤติกรรมศาสตร์ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่มีโอกาสสื่อสารกัน ไม่มีอะไรร่วมกันเลยสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรืออนาคต เมื่อให้ตัดสินใจ จึงไม่มีใครคิดถึงประโยชน์ของกลุ่มเท่ากับประโยชน์ของตนเอง

ในชีวิตจริงมนุษย์ไม่เคยเดียวดายถึงขนาดนั้นนะครับ แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังยอมขาดทุนเพื่อลูกเมียของตนเอง เพราะที่จริงแล้วการตั้งครอบครัว เป็นการลงทุนที่พอจะมองเห็นได้ว่าโอกาสจะทำกำไรมีน้อยเต็มที แต่ก็เห็นนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและใครต่อใคร พากันลงทุนเรื่องนี้กันไม่ขาด

ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “สาธารณสมบัติ”นั้น ไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่าสำหรับให้ทุกคนฉกชิงกันตามสบายนะครับ “สาธารณสมบัติ” นั้นมีขอบเขตเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทุ่งหญ้า, ทะเล หรือผืนป่า ก็ล้วนมีขอบเขต … ทางการเมืองบ้าง, ทางเทคโนโลยีบ้าง, ทางธรรมชาติบ้าง “สาธารณสมบัติ” ยังมีกฎเกณฑ์ มีแบบปฏิบัติทางสังคม มีการลงทัณฑ์แก่คนที่ละเมิดกฎเกณฑ์ในรูปต่างๆ เมื่อไรที่เราพูดถึง “สาธารณสมบัติ” ย่อมมีชุมชนที่กำกับควบคุมเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรในพื้นที่นั้นเสมอ ฉะนั้น ต้องไม่สับสนระหว่างพื้นที่ว่างเปล่ากับ “สาธารณสมบัติ” เป็นอันขาด

พูดอีกอย่างหนึ่ง พื้นที่ว่างเปล่าก็มีจริงนะครับ โดยเฉพาะในรัฐที่ขยายตัวออกไปครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างใหญ่เป็นผืนต่อกันอย่างรัฐสมัยใหม่ทั่วไป ย่อมผนวกเอาพื้นที่ซึ่งไม่มีชุมชนคอยกำกับดูแลอยู่ด้วย ไม่ว่าจะอยู่บนเขา, บนพื้นราบ, ในทะเล หรือแหล่งน้ำก็ตาม เช่น ถนนมิตรภาพสายเดียว ก็เปิดดงพญาเย็นซึ่งปราศจากชุมชนคอยกำกับดูแลผืนมหึมา ให้แก่ปัจเจกบุคคลเข้าไปบุกเบิกยึดครอง และใช้สาธารณสมบัติเยี่ยงโศกนาฏกรรมไม่รู้จะกี่พันกี่แสนไร่

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ดงพญาเย็นจะเป็น “สาธารณสมบัติ” ไม่ได้ ต้องเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีผู้จับจองตลอดไป เพราะในความเป็นจริง หลังจากเปิดถนนมิตรภาพไม่นาน ก็มีผู้คนอพยพไปจับจองที่ดินเพื่อทำไร่พืชเศรษฐกิจจำนวนมาก รัฐเองต่างหากที่ปล่อยให้การจับจองที่ดินเหล่านั้นเป็นไปอย่างไร้ระเบียบ และท่ามกลางความเสียเปรียบของชาวไร่ เกิดเป็นชุมชนในความอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อระดับต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในฐานะจะสร้างกฎกติกาเพื่อปกป้องดงพญาเย็นในฐานะ “สาธารณสมบัติ” ได้

การเปิดพื้นที่ว่างเปล่า และก็ปล่อยให้มันเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ใครมือยาวสาวได้สาวเอา โดยไม่แปรเปลี่ยนเป็น “สาธารณสมบัติ” ทั้งๆ ที่มีคนเข้าไปใช้ทรัพยากรในพื้นที่นั้นจำนวนมาก เกิดแก่พื้นที่ส่วนอื่นของรัฐไทยอีกมาก จากยอดเขาถึงท้องทะเล

โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติของไทย เกิดขึ้นจากพื้นที่ว่างเปล่าไม่เคยถูกทำให้เป็นสาธารณสมบัติจริง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีชุมชนที่พร้อมจะดูแลปกป้องความยั่งยืนของพื้นที่นั้นตามมา นอกจากไม่สร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดชุมชนแล้ว รัฐยังสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่จะขัดขวางมิให้ชุมชนมีอำนาจในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรอีกด้วย

คนชั้นกลางไทยเชื่อและถูกตอกย้ำให้เชื่อตลอดมาว่า ไม่มีใครสามารถดูแล “สาธารณสมบัติ” ได้ดีเท่ารัฐ ดังนั้นจึงแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของ “สาธารณสมบัติ” ด้วยแก้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้น, ลงโทษหนักขึ้น, เพิ่มอำนาจรัฐให้มากขึ้น และหากยังมี “สาธารณสมบัติ” ส่วนใดที่อยู่ในความปกป้องคุ้มครองของชุมชน ก็พึงแย่งยื้อออกมาจากมือของชุมชน เพื่อให้อยู่ในความรักษาดูแลของรัฐแทน

ผมไม่อยากจะพูดว่าความเชื่อเช่นนี้เป็นความหลงผิดเปล่าๆ เพราะที่จริงแล้ว คนชั้นกลางคือผู้มีอำนาจที่สุดในการกำหนดนโยบายสาธารณะ เมื่อ “สาธารณสมบัติ” อยู่ในมือของรัฐย่อมสะดวกที่จะแปรเปลี่ยนสถานะ “สาธารณสมบัติ” เป็นสมบัติส่วนตัวได้เมื่อจำเป็น อย่าลืมที่กล่าวข้างต้นว่าในความคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก การรักษา “สาธารณสมบัติ” ให้ปลอดภัยและยั่งยืนได้ดีที่สุด คือเปลี่ยนมันเป็นสมบัติส่วนบุคคลเสีย

เราจึงมีที่ดิน ส.ป.ก., ที่ป่าสงวนฯ ซึ่งให้เอกชนเช่าทำประโยชน์, ความคิดเรื่องทะเลหน้าบ้าน, สิทธิเช่าที่ดินจากรัฐได้ 99 ปี, อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กีดกันชาวบ้านจากชายหาดและทางลงทะเล, ที่ดินตั้งภูมิลำเนาของชาวเล กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน, ฯลฯ

ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรัฐประหารที่คนชั้นกลางไทยสนับสนุน จะมาพร้อมกับนโยบายรวมศูนย์เสมอ ในขณะที่ภายใต้ระบอบที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งเปิดโอกาสให้คนกลุ่มอื่นเข้ามาต่อรองได้บ้าง รัฐก็จะหันเข้าหานโยบายกระจายอำนาจ

(ปรุงจากความคิดใน David Bollier, “The truth about the tragedy of the commons,” Evonomics)