วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์/ตัวพิมพ์กับยุคฟองสบู่ (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

ตัวพิมพ์กับยุคฟองสบู่ (จบ)

 

ในช่วง พ.ศ.2520-2540 สังคมไทยไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าลิขสิทธิ์มากนัก ส่วนข้อกำหนดทางกฎหมายยังคลุมเครือ พูดอีกอย่าง กฎหมายลิขสิทธิ์นั้นมีอยู่ แต่ยังไม่ถูกใช้อย่างจริงจัง

เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ เช่น ยา อาหาร เพลง และวรรณกรรม คือผู้ใช้ยังไม่มีสำนึกเรื่องการสร้างสรรค์ทางปัญญา และตลาดยังไม่ยอมรับมูลค่าของสิ่งนี้ ที่สำคัญ ยังไม่มีการตกลงกันในเรื่องวิธีการใช้ รวมทั้งวิธีการจัดจำหน่ายและมาตรฐานราคา

ในฐานะที่ถูกก๊อบปี้ได้ง่าย ตัวพิมพ์ในรูปซอฟต์แวร์จึงถูกเผยแพร่ออกไปได้อย่างไม่จำกัด แต่สิ่งใหม่ ซึ่งหมายถึงเพอร์ซันแนลคอมพิวเตอร์ได้เข้ามา และความคิดใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว

ในขณะนั้นคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องไม่มีภาษาไทยเวอร์ชั่นที่เป็นทางการ เมื่อเป็นที่ต้องการมาก บางคนจึงพยายามสร้างขึ้นมา บริษัทฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์พยายามเปิดตลาดนี้ และในขณะเดียวกัน บางคนก็พยายามทำด้วยตนเอง

มีทั้งแบบมีหลักวิชาและเรียนรู้เอง ในระดับมืออาชีพ หรือบริษัทที่ขายคอมพิวเตอร์ ตัวพิมพ์ถูกใช้เป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าที่เริ่มใช้คอมพิวเตอร์และปริ๊นเตอร์

พูดอีกอย่างคือ เป็น “ฟรีฟอนต์” หรือสินค้าพ่วงที่แถมไปกับสินค้าจริง

ในระดับมือสมัครเล่น ผู้ใช้ซึ่งมีเป้าหมายเบื้องต้นคือ “อยากทำ” ทั้งเพื่อเอาไว้ใช้เองและเพื่อการศึกษา สำหรับยุคนั้น กลุ่มนี้คือนักเลงคอมพิวเตอร์หรือแฮ็กเกอร์ (hacker) ซึ่งอาจจะเป็นปัจเจกชน บริษัทออกแบบ หรือโรงพิมพ์ขนาดเล็ก อาจจะออกแบบตัวใหม่หรือลอกเลียนตัวเก่าก็ได้

ในยุคแรก การจะเลือกระบบปฏิบัติการใด ยังเป็นเรื่องที่สับสนและไม่ตรงกัน

กำธร สถิรกุล เขียนไว้ใน ลายสือไทย 700 ปี ฉบับปรับปรุง (พ.ศ.2530) ว่า

“คอมพิวเตอร์เป็นของฝรั่ง การพูดกับเครื่องก็ต้องใช้ภาษาฝรั่งหรืออักษรโรมัน เมื่อเราต้องการพูดกับเครื่องด้วยอักษรไทย จึงต้องปรับปรุงอักษรไทยเพื่อใช้กับไมโครคอมพิวเตอร์” เขาได้เขียนถึง ไทยเบสิค (Thai Basic) ของปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาแพทยศาสตร์ปีสุดท้ายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อจากนั้น จึงมี ราชวิถีเวิร์ด และ ซียูไรเตอร์ หรือเวิร์ดจุฬา ซึ่งเขียนโดยนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โปรแกรมเหล่านี้ทำให้ผู้ใช้พีซีมีอำนาจในการกำหนดฟอนต์มากขึ้น แน่นอน หลายคนอาจจะใช้มันในแบบเดียวกับอาลักษณ์ พนักงานพิมพ์ดีด และช่างเรียง แต่บางคนพยายามมากกว่านั้น คือสร้างตัวพิมพ์ภาษาไทยขึ้นมาด้วยตนเอง

 

ดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ใช้กลุ่มหนึ่งมีสปิริตแบบ “นักเลงคอมพิวเตอร์” กำเนิดและพัฒนาการของตัวพิมพ์ของเจเอสฟอนต์ เป็นตัวอย่างของสปิริตนี้ นายแพทย์ภานุทัต เตชะเสน หรือหมอจิมมี่ จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สร้างโปรแกรมที่ใช้ภาษาไทย เช่น Orchid และ Thaiwin เขาเริ่มงานนี้ตั้งแต่ยังเรียนแพทย์อยู่มหาวิทยาลัยปี 2 เมื่อเรียนจบกลายเป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพ และได้ร่วมงานกับบริษัทซอฟต์แวร์ของโลก

ช่วงก่อนปี พ.ศ.2535 หรือก่อนที่ไมโครซอฟท์จะออกวินโดวส์ 3.1 เขาได้เริ่มนำระบบภาษาไทย รวมทั้งตัวพิมพ์ภาษาไทย เช่น เจเอสฟอนต์ ออกจำหน่าย และในเวลาต่อมาก็ได้ยกผลงานเหล่านี้ให้เป็นสมบัติสาธารณะ

ตัวพิมพ์ชุดนี้มีหลายสิบแบบ ซึ่งส่วนมากเป็นฝีมือของภานุทัตและช่างเขียนป้ายของโรงหนังในเชียงใหม่ มีจุดเด่นตรงที่เอาตัวละครหรือดารายอดนิยมสมัยนั้นมาตั้งเป็นชื่อ เช่น ตัวที่คล้ายพาดหัวของไทยรัฐ คือ เจเอส โกโบริ, ตัวที่คล้ายลายมือ คือ เจเอส ตูมตาม และตัวที่คล้ายอักษรจีนคือ เจเอส ชอลิ่วเฮียง

 

ราวปี 2528 คอมพิวเตอร์แมคอินทอชและโพสต์สคริปต์ฟอนต์ของอะโดบีถูกนำเข้ามา ตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดแรกซึ่งเป็นชื่อจังหวัดต่างๆ ได้ออกมา แต่เนื่องจากไม่ละเอียดมากพอ จึงไม่เหมาะสำหรับตลาดสิ่งพิมพ์หรือระบบเดสก์ท็อปพับลิชชิ่ง

เรื่องที่เล่าโดยนักออกแบบชื่อมานพ ศรีสมพร เป็นตัวอย่างของสปิริตแบบ “นักเลงคอมพิวเตอร์” ของฝ่ายแมคอินทอช มานพเป็นนักออกแบบตัวพิมพ์มาตั้งแต่ยุคตัวขูดและยุคโฟโต้ไทป์เซ็ตติ้ง เขาเล่าว่าการหันมาใช้คอมพิวเตอร์เริ่มจากความสนใจส่วนตัว เช่น เมื่อแมคอินทอชเข้ามา เขาได้ไปขอซื้อด้วยตนเองที่ตึกของสหวิริยา โอเอ

หลังจากที่บริษัททราบเรื่อง จึงขอให้เขาช่วยสร้างตัวพิมพ์ชุดใหม่ขึ้นมา ราวปี พ.ศ.2530 เขาได้ใช้โปรแกรม FontoGrapher 2.4 สร้างตัวพิมพ์แบบโพสต์สคริปต์ชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วย มานพแมค เพชรรัตน์ ทองลาน และธนบุรี

 

อีกตัวอย่างของสปิริตแบบนี้คือบริษัทเดียร์บุ๊ค ซึ่งมีจุดเด่นคือ เกิดจากนักออกแบบกราฟิกดีไซน์ ซึ่งได้แก่ สุรพล เวสารัชเวศย์ และปริญญา โรจน์อารยานนท์ และเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ตัวพิมพ์หลายแบบ ผลงานของเขา เช่น ดีบี นารายณ์, ดีบี ฟองน้ำ และดีบี ไทยเท็กซ์ เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว

แบบที่เด่นที่สุดคือ ดีบี เอราวัณ ซึ่งคล้ายคลึงกับ Futura Extra Bold ถือเป็นตัวพิมพ์ที่มีความหนาและน้ำหนักมากที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา ส่วนดีบี นารายณ์เป็นการนำเอาฝรั่งเศส หรือ ฝ.ศ. มาปรับปรุง ส่วนดีบี ฟองน้ำ มีแนวทางเดียวกับของอีเอซี ทอมไลท์ คือ มีเส้นและรูปทรงที่เป็นแบบเรขาคณิตมากขึ้น

 

ตัวพิมพ์ดิจิตอลแบบอื่นๆ ก็เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน เช่นชุดพีเอสแอล ของบริษัท พีเอสแอล สมาร์ทเลตเตอร์ และชวนพิมพ์ อันเป็นผลงานของเชาวน์ ศรสงคราม ตั้งแต่เมื่อเขายังเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา และมีลักษณะคล้าย Helvetica

ในเวลาต่อมาเขาได้ออกแบบศิริชนะ ร่วมกับวันชัย ศิริชนะ ซึ่งให้โวตร้าและไลโนโทรนิกส์เป็นผู้ผลิต ตัวนี้ถูกนำไปใช้สำหรับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและนิตยสารในเครือ ซึ่งนับเป็นสื่อมวลชนรายแรกๆ ที่เริ่มใช้ระบบเดสก์ท็อปพับลิชชิ่ง

อย่างไรก็ตาม ที่นิยมใช้มากคือที่ถูกถอดแบบมาจากตัวพิมพ์ไทยยุคตัวตะกั่ว และเป็นผลงานของอีเอซี คอมพิวต์กราฟิกและกราฟิโก ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตตัวพิมพ์ยุคโฟโต้ไทป์เซ็ตติ้ง

ทั้งหมดเป็นตัวพิมพ์ในยุคฟองสบู่ เกิดขึ้นเมื่อลิขสิทธิ์ยังไม่ชัดเจน และด้วยสปิริตแบบนักเลงคอมพิวเตอร์