คำ ผกา : เกลา – เขลา

คำ ผกา

ต้องเขียนเรื่องการกล่อมเกลาพลเมืองกับการศึกษาอีกแล้วหรือ?

ถามตัวเองหลังจากอ่านข่าวโรงเรียนให้เด็กอนุบาลแต่งชุดทหารมาโรงเรียนอาทิตย์ละวัน ตามที่อ่านข่าวได้ทำอย่างนี้มา 4 ปีแล้ว ไม่ได้เพิ่งมาให้ทำหลังจากที่มีรัฐบาล คสช. เพราะเห็นว่าช่วยจูงใจให้เด็กมีระเบียบวินัยได้

ก่อนจะไปถึงเรื่องให้เด็กอนุบาลแต่งชุดทหาร เรามาคุยเรื่อง การศึกษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือของรัฐในการปกครองพลเมืองดีกว่า

สังคมบุพกาลที่ไม่มีความซับซ้อน ลำพังความแข็งแรงของใครสักคน หรือความสามารถในการหาเนื้อหาปลาที่เก่งกว่าคนอื่นก็อาจเพียงพอที่จะทำให้คนอื่นๆ ในเผ่าหันมาซูฮก เชื่อฟังและยกให้คนคนนั้นเป็นหัวหน้า

แต่เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้นแล้วเกิดมีคนที่หาเนื้อหาปลาได้เก่งเท่าๆ กันก็ต้องมีการแย่งกันเป็นหัวหน้าเกิดขึ้น เมื่อแย่งกันก็อาจมีการต่อสู้กันระหว่างคนเก่งสองคน สู้กันไปมาถามว่าใครจะได้เป็นหัวหน้าก็ต้องเป็นคนสู้จนเอาชนะอีกคนหนึ่งได้

แต่แล้วสังคมก็ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ คนมากขึ้นเรื่องการทำมาหากินไม่ได้มีแค่หาเนื้อหาปลา แต่อาจมีการค้าขาย มีการสร้างเมือง สร้างตลาด สร้างบ้าน ที่ใหญ่โตโอฬารขึ้น พร้อมๆ กับพิธีบวงสรวงสิ่งลี้ลับก็ซับซ้อนตาม

คนที่จะเป็น “หัวหน้า” คนอื่นๆ ได้ คงไม่ใช่แค่แข็งแรง รบเก่ง แต่ต้องมีการบอกว่า สิ่งลี้ลับ หรือ “พระเจ้า” ได้ยอมรับ หรือส่งเขาผู้นั้นมาเป็นหัวหน้าของเราทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ในทางการปกครอง อำนาจจากพละกำลังไม่พอที่จะทำให้คนดำรงความเป็นหัวหน้าคนอื่นๆ ได้ แต่ต้องมีพละกำลังทางวัฒนธรรมมาหนุนนำด้วย

พละกำลังทางวัฒนธรรมนั้นอาจมาจาก ตำนาน นิทาน ความเชื่อ พิธีกรรม จนพัฒนามาเป็นศาสนา และวรรณกรรมที่จะเล่าขานอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และการอัศจรรย์ของคนที่มาเป็นหัวหน้า เช่น ถ้าคนที่ปรากฏตัว จะบันดาลให้มีโค้งรุ้งทอแสงทาบขอบฟ้า หรืออื่นๆ

บางทีเราก็เรียกพลังอำนาจนี้ว่า อำนาจของอุดมการณ์

รัฐก่อนสมัยใหม่ใช้ พิธีกรรม เรื่องเล่า ตำนาน นิทาน ศาสนา เป็นอำนาจทางอุดมการณ์ในการสร้างความชอบธรรมให้แก่คนที่เป็น “หัวหน้า” (ให้คนอื่นๆ ยอมรับว่า ทำไมเราจึงยอมให้คนคนนี้เป็นหัวหน้า หรือมีอำนาจเหนือเราโดยสิ้นเชิง หรือ ทำไมเราจึงต้องเสียภาษีให้แก่คนนี้)

แต่เมื่อเกิดรัฐสมัยใหม่ – เหตุผลของการเกิดรัฐสมัยใหม่นั้นหลากหลายและกำเนิดของรัฐและชาติสมัยใหม่ของแต่ละรัฐและชาติก็ไม่เหมือนกันอีกทั้งไม่พร้อมกัน เช่น ในบางรัฐและชาติเกิดจากการลุกฮือของชาวนามาต่อต้าน “หัวหน้า” ของพวกเขา เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ “พลังทางอุดมการณ์” อันอ่อนแรงลง ทำไมจึงอ่อนแรงลง อาจมาจากความเสื่อมของศาสนจักร อาจมาจากการแพร่กระจายของ “ความรู้” ที่ไปสู่สามัญชนอย่างคาดไม่ถึง และเหตุที่มีการกระจายของความรู้ก็มาจากนวัตกรรมเช่น เทคโนโลยีการพิมพ์ การค้า รถไฟ ฯลฯ ที่ดูเผินๆ แล้ว ไม่มีใครคิดว่ามันจะส่งพลังมาสั่นคลอน “พลังทางอุดมการณ์” ที่เคยเกื้อหนุนความชอบธรรมของอำนาจเก่าได้

บางรัฐสมัยใหม่เกิดจากการต่อต้านเจ้าอาณานิคมเพราะถูกกดขี่ บางรัฐสมัยใหม่เกิดจากการเห็นความเปลี่ยนแปลงในรัฐอื่น เพราะรัฐแบบเก่าเมื่อล้มก็ส่งผลสะเทือนถึงรัฐอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

แต่เอาเถอะ เราจะไม่ลงรายละเอียดในเรื่องนี้ เพราะเราจะกลับมาพูดเรื่อง รัฐสมัยใหม่ก็ต้องการพลังทางอุดมการณ์เช่นกัน

ทว่า พลังทางอุดมการณ์ของรัฐสมัยใหม่ไม่ได้ใช้ นิทาน นิยาย พิธีกรรมทางศาสนา ลัทธิลี้ลับหรือสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้

รากฐานของรัฐสมัยใหม่เกิดจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตระหนักในศักยภาพของปัจเจกบุคคล และการชื่นชมบูชามนุษย์ แต่กระนั้น “ชาติ” ก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมอยู่นั่นเอง มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำอย่างไร จะให้คนตระหนักถึงการมีอยู่ของชาติ รักชาติ และมีชีวิตอยู่เพื่อชาติ เสียสละให้กับชาติหรือพลีชีพให้ชาติ

รัฐสมัยใหม่จึงใช้ “การศึกษา” เป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลา และเป็นพลังทางอุดมการณ์ให้พลเมืองของชาติ ตระหนักถึงการดำรงอยู่ของชาติ เห็นความสำคัญของชาติ รักชาติ

การศึกษานี้กระทำผ่าน ตำราเรียนประวัติศาสตร์ สังคม การจัดการมิวเซียมที่บอกเล่าความเป็นมาของชาติ หน้าที่ของพลเมืองที่มีต่อชาติกระทำผ่านบทบาทของนักเรียนที่เมื่อเข้าโรงเรียนแล้ว โรงเรียนถูกออกแบบให้เป็นแบบจำลองของสังคม มีครูใหญ่ ครูน้อย นักเรียนโต นักเรียนเล็ก มีหัวหน้าห้อง มีการแบ่งงาน ความรับผิดชอบ มีการจำลองสายการบังคับบัญชา การเชื่อฟัง วินัย ฯลฯ

หรือแม้แต่การออกแบบเชิงสถาปัตยกรรม ห้องเรียน อาคารเรียน ก็ล้วนแต่มีนัยของการจำลองการทำงานของอำนาจที่ดำเนินไปในโลกของประเทศชาติที่พวกเขาสังกัดอยู่ นักเรียนในโรงเรียนจึงไม่ได้เรียนแค่วิชา ความรู้ แต่เรียนรู้การมีอยู่ของ “อำนาจ” และการอยู่ภายใต้อำนาจที่ “ถูกต้อง”

บนเส้นทางแห่งความเป็นชาติของทุกชาติบนโลกนี้ล้วนเผชิญกับภาวะวิกฤติของชาติมาแล้วทั้งนั้น

อเมริกาที่บอกว่าทุกคนเท่าเทียมกันก็เคยไม่รวมเอาคนดำ มาเป็นส่วนหนึ่งของ “ชาติ” จนเกิดสงครามกลางเมือง

หรือการไม่รวมเอาอินเดียนแดง ผู้หญิง เกย์ มาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอเมริกันจนเกิดเหตุขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมต่างๆ เกิดขึ้น

ฟาสซิสต์ในเยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐชาติสมัยใหม่ และนำหายนะมาสู่โลกอย่างคาดไม่ถึง ไม่ใช่แค่หายนะสิ มันนำโศกนาฏกรรมมาสู่โลกใบนี้และยังหลอกหลอนชาวโลกมาจนถึงทุกวันนี้เมื่อพูดถึงการสังหารหมู่ชาวยิว หรือลัทธิฟาสซิสต์ ทหารนิยมในญี่ปุ่นที่พาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองจนพังพินาศ

หายนะเหล่านี้นำมาสู่การปะทะ ต่อรอง และแข่งขันกันในการสร้างอุดมการณ์ เพื่อให้ความชอบธรรมต่อการปกครองและอำนาจในสังคมการเมืองที่เรียกว่าชาติและรัฐสมัยใหม่ ตั้งแต่การนิยามว่าชาติคืออะไร และมีใครรวมอยู่ในนั้นบ้าง

โดยทั่วไปแล้ว ชาติ ไม่ได้หมายถึงดินแดน แต่หมายถึง “ประชาชน” ดังนั้น การทำเพื่อชาติคือการทำเพื่อประชาชน ปัญหาที่ผ่านมาคือการนิยมว่าใครคือประชาชนของชาตินั้นบ้าง

ชาติแบบฟาสซิสต์อันตรายมากเพราะนิยามไว้ชัดเจนว่าใครคือ “เรา” ใครคือ “เขา” และคนที่ไม่ใช่ “เรา” นั้นต้องถูก “เคลียร์” ออกไปให้หมดจด เพราะเป็นอุปสรรคแห่งความรุ่งเรืองของชาติ

ฟาสซิสต์เน้นการเชื่อฟังผู้นำอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ต้องการการตั้งคำถาม และเรียกร้องให้พลเมืองพลีชีพให้ชาติโดยปราศจากข้อกังขา ฟาสซิสต์จึงสามารถสร้างนักรบที่ไปทิ้งระเบิดพลีชีพได้ เพราะชาติยิ่งใหญ่กว่าชีวิตของพวกเขาเอง ญี่ปุ่นจึงมีนักรบกามิกาเซ่ที่แสนภูมิใจกับภารกิจของตนและเดินไปหาความตายอย่างองอาจ

การจะสร้างพลเมืองที่พร้อมเดินไปหาความตายเช่นนั้นในนามของการทำเพื่อชาติจึงต้องการระบบการศึกษาที่เน้น “วินัย” ที่หมายถึงการซ้ายหัน ขวาหัน การเดิน การนั่ง การเคลื่อนไหวร่างกายแบบพร้อมเพรียงกัน เน้นการเชื่อฟังอย่างหมดจด และตอกย้ำความ “เหมือน” เพื่อจำลองโลกทัศน์ว่าด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน – รักกัน ไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ตายด้วยกัน

ความเหมือนนี้ส่งผ่าน ทรงผม เสื้อผ้า และนั่นคือที่มาของยูนิฟอร์ม

ระบอบนี้จึงกลัวความแตกต่าง เพราะใครก็ตามที่บังอาจมีเส้นผมที่ยาวกว่าคนอื่นเพียงนิดเดียว หรือมีรองเท้า ถุงเท้าต่างกว่าคนอื่นเพียงนิดเดียว มันหมายถึงการปล่อยให้มีการแสดง “ตัวตน” หรือ “อัตลักษณ์” ส่วนบุคคลออกมาในท่ามกลางของสังคมที่ต้องการ “สำนึกรวมหมู่” และ “อัตลักษณ์รวมหมู่”

ความต่างและความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะมันคือตัวจุดชนวนให้คนได้เรียนรู้ศักยภาพของตนเอง อันจะนำไปสู่การตั้งคำถามต่ออำนาจ

เมื่อตั้งคำถามต่ออำนาจก็ไม่ยอมอยู่ใน “วินัย” เมื่อไม่ยอมอยู่ในวินัย อำนาจก็จะสั่งให้หันหน้า หันหลังตามใจชอบไม่ได้ เมื่อสั่งไม่ได้ อำนาจก็ย่อมไม่ใช่อำนาจอีกต่อไป

ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี ยุโรปทั้งหมด เข็ดขามกับลัทธิฟาสต์ซิสต์ แน่นอนโลกทั้งใบย่อมได้รับบทเรียนนั้นด้วย แต่น่าแปลกใจที่ละอองของความเป็นเผด็จการฟาสซิสต์และทหารนิยมกลับยังคงหอมหวนอยู่ในหลายประเทศ

การให้เด็กอนุบาลแต่งชุดทหารไปโรงเรียนเป็นเรื่องเล็กจะตาย เมื่อเทียบกับความรุ่งโรจน์แห่งทหารนิยมที่ดำรงอยู่คู่สังคมไทยมาตลอดการมีอยู่ของรัฐไทยและวัฒนธรรมฟาสซิสต์ที่ลงหลักปักฐานอยู่ในระบบโรงเรียนไทยอย่างมั่นคงจนแทบจะเป็นรากแก้วของการศึกษาไทยสมัยใหม่ทั้งหมด

สิ่งที่น่ากังวลกว่าการเห็นเด็กอนุบาลแต่งชุดทหารไปโรงเรียนคือ เราพึงตั้งข้อสังเกตว่า บรรดาอีลีตของไทยนั้น พวกเขาไม่เคยส่งลูกหลานของพวกเขาเข้าเรียนโรงเรียนที่มีวัฒนธรรมฟาสซิสต์เลย

ลูกหลานของพวกเข้าเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เรียนโรงเรียนทางเลือก หรือเรียนต่างประเทศ

สมองและจิตใจของลูกหลานของอีลีตไม่ได้ถูกปิดกั้นหรือกักขังให้เบาปัญญาเหมือนลูกหลานสามัญชนที่บ้างก็เลือกได้ บ้างก็เลือกไม่ได้

ต้องส่งลูกหลานของตนไปอยู่ในระบบฟาสซิสต์เพื่อจะเติบโตมาเป็นพลเมืองที่ปรีดากับการต้องจำนนต่ออำนาจและเป็นเกียรติที่ถูกกดขี่

ด้วยหนทางการศึกษาแบบนี้ เราจึงมีอีลีตจากรุ่นสู่รุ่นผู้ไม่เคยต้องถูกฝึกให้จำนนต่ออำนาจแบบเบ็ดเสร็จเพราะพวกเขาคือผู้ใช้อำนาจนั้น กับสามัญชนจากรุ่นสู่รุ่นผู้ถูกปลูกฝังจากระบบการศึกษาให้ภูมิใจกับการได้มีสำนึกจำนนต่ออำนาจและปลอดภัยที่ได้มีอัตลักษณ์รวมหมู่

อีกทั้งยังรู้สึกว่านี่คือเกียรติยศของชีวิต (การได้ตัดผมถูกระเบียบและการใส่เครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยคือความภูมิใจยิ่งในชีวิตนี้)