ในประเทศ/รถไฟ สายประชารัฐ

ในประเทศ

 

รถไฟ

สายประชารัฐ

 

เว็บสำนวนไทย

ให้ความหมายสำนวน “รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ”

ว่า ผู้ชายเจ้าชู้มักมีภรรยามาก

ตัวอย่างของการใช้สำนวนนี้ เช่น

– จำไว้นะลูก พวกรถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ ส่วนใหญ่ก็เจ้าชู้มีเมียหลายคนกันทั้งนั้น

– เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจแล้วนะที่เจ้าชู้ อาชีพอื่นยิ่งกว่านี้อีก

เหตุที่มีคำพูดเปรียบว่าผู้ชายที่ทำอาชีพเหล่านี้เป็นคนเจ้าชู้ ไว้ใจได้ยากนั้น

ก็เพราะโดยหน้าที่ต้องเดินทาง หรือโยกย้ายสถานที่ทำงานตลอด ไม่อยู่ประจำนั่นเอง

แล้วมาเกี่ยวอะไรกับรถไฟสายประชารัฐ

 

เมื่อเวลา 15.05 น. วันที่ 11 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปยังสถานีรถไฟชุมแสง จ.นครสวรรค์

เพื่อขึ้นรถไฟจากสถานีชุมแสง ไปสถานีนครสวรรค์ อ.เมือง ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ รวม 20 สถานี ระยะทาง 145 กิโลเมตร วงเงิน 21,688 ล้านบาท

โครงการดังกล่าวดำเนินการเพื่อเร่งยกระดับการคมนาคมและบริการโลจิสติกส์สู่พื้นที่ภาคเหนือ และตรวจการพัฒนาบึงบอระเพ็ด

ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ้ง มูดดี้มาตลอดสัปดาห์ที่แล้ว

มาสัปดาห์นี้ อารมณ์กลับดีเป็นพิเศษ

ปล่อยมุขเข้าใส่ประชาชนที่มารอต้อนรับตามสถานีและที่ยืนรอริมแนวทางรถไฟตลอดเวลา

เช่น ป้องปากตะโกนบอกประชาชนว่า

“อย่าลืมไปเลือกตั้งด้วย เลือกให้ดีแล้วกัน วันหน้าคงมาทักแบบนี้ไม่ได้ เพราะรถไฟจะมีความเร็วสูงขึ้น”

หรือ

“บางคนพูดว่านายกฯ ทำให้ของแพง เช่น ทุเรียน มังคุด คนไทยไม่ได้กินของดี แล้วจะเอาอย่างไร ถูกว่าทั้งขึ้นทั้งล่อง ดังนั้น ขอให้เกษตรกรหาตัวเองให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะต้องพึ่งคนอื่นไปทั้งหมด สำหรับเจ้าหน้าที่ราชการก็ต้องช่วยกันเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม ยอมรับว่านโยบายหลายอย่างยังไม่ถึงประชาชน ต้องสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลประชาชน เรื่องใดที่ปรากฏทางโซเชียลถ้าเป็นเรื่องจริงก็โอเค ถ้าไม่จริงก็อาจจะงอนบ้าง”

หรือ

“ขอย้ำว่านายกฯ ไม่ได้ทำเพื่อการเมือง แต่ทำตามความต้องการประชาชน จึงต้องหารือกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น งบประมาณทุกอย่างต้องมีที่มาและรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในปี 2562 ไว้แล้วให้ทุกกลุ่มจังหวัดได้เงินใกล้เคียงกันเกือบทั้งประเทศ (จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ถามประชาชนว่า) อย่างนี้ดีหรือไม่ จะต้องเลือกใครพรรคไหนหรือไม่ ตอนนี้ขนาดยังไม่ได้เลือกใครก็ได้งบประมาณ”

หรือ

“การปฏิรูป ต้องเริ่มจากหนึ่ง จะให้ใช้กฎหมายบังคับไม่ได้ รัฐบาลนี้ไม่มุ่งหวังจะบังคับ แต่ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย ผมอยู่ใต้กฎหมายเหมือนทุกคน อย่าคิดว่ามีอำนาจมหาศาล คดีมากมายรอผมอยู่ เพราะเข้ามาแล้วถอยหลังไม่ได้ หลายคนบอกรักนายกฯ แต่ก็อยากเลือกตั้ง

ถึงเวลาเลือกตั้งก็เลือกให้ดี พร้อมกันแล้วหรือยัง การเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อย่างแน่นอน”

 

ดูเหมือนว่า บนรถไฟสายประชารัฐนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ย้ำเรื่องเลือกตั้ง และย้ำถึงโรดแม็ปที่การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

เป็นเสมือน “สัญญา” ของชายชาติทหาร พูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น

ไม่ใช่ชายเจ้าชู้หลายใจ ไว้ใจได้ยาก

นี่จึงเป็นการคาดหวังว่า “ทหาร” คงไม่ถูกเหมารวมเป็นเหล่า “รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ”

 

น่าสังเกตว่า การตอกย้ำ “วันเลือกตั้ง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปตามเดิมนั้น

มีขึ้นก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ระหว่างวันที่ 20-25 มิถุนายนนี้

ซึ่งแน่นอน คงมีการสอบถามเรื่องวันเลือกตั้งแน่

พล.อ.ประยุทธ์จึงตอกย้ำเรื่องนี้กับคนในประเทศ และคงจะนำไปแจ้งกับต่างประเทศเช่นกัน

เพื่อให้ความมั่นใจ “การเลือกตั้ง” เกิดขึ้นแน่

อย่างไรก็ตาม ถามว่า คำถามจะยังคงมีอยู่หรือไม่

ก็น่าจะมีต่อไป

ด้วยเหตุว่า แม้จะมี “กำหนดระยะเวลาการเลือกตั้ง” ชัดเจนแล้วก็จริง

แต่เมื่อหันไปพิจารณาขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการไปให้ถึงวันดังกล่าว กลับยังติดขัด “ล็อก” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเกือบทุกขั้นตอน

จนทำให้นักการเมืองไม่หายระแวง

เพราะยังไม่ได้เปิดล็อกเปิดกว้างให้

แม้แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เองก็ยังยอมรับ

โดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ระบุว่าจะเตรียมหารือกับรัฐบาลถึงประเด็นที่เป็นอุปสรรคปัญหาต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง

เช่น เรื่องการหาสมาชิก ที่ยังทำไม่ได้

การที่พรรคไม่สามารถจัดประชุมพรรคได้

ทำให้ไม่สามารถเดินหน้า “ไพรมารีโหวต” ในการเลือกตั้งครั้งแรกได้

โดย กกต. จะขอคำตอบจะให้ทำหรือไม่ทำไพรมารีโหวต โดยให้เป็นดุลพินิจของรัฐบาลที่จะพิจารณา

รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะกระทำก่อนกฎหมายมีผลบังคับไม่ได้

ดังนั้น การให้ คสช. ใช้มาตรา 44 เพื่อให้ กกต. แบ่งเขตได้ก่อน อาจเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหา

หากรัฐบาลและ คสช. ไม่ทำอะไร การเดินไปข้างหน้าก็ทำไม่ได้

และนี่จึงนำมาสู่ความหวาดระแวง

คือแม้จะมีการประกาศช่วงเวลาเลือกตั้ง แต่จะมีประโยชน์อะไร เมื่อไม่สามารถเดินไปได้

เพราะติด “ล็อก” ของ คสช. ที่วางไว้

 

ภาวะประดักประเดิดนี้เอง นำไปสู่ความไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งจริงหรือไม่

ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตว่านี้เป็น “เกม” ถ่วงเวลา ที่ถูกวางไว้เพื่อให้พรรคส่วนใหญ่ตกอยู่ในความไม่พร้อม

และอาจจะเพลี่ยงพล้ำให้กับพรรคการเมือง “มีเส้น” นั่นคือสามารถเคลื่อนไหว เตรียมตัวได้อย่างเงียบๆ โดยรัฐบาลและ คสช. จะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

แต่ตรงกันข้าม กับการจับผิดอย่างเข้มงวดกับพรรคที่ไม่ได้อยู่ข้างตน

จึงทำให้พรรคคู่แข่งขยับเขยื้อนอะไรไม่ได้เลย

ซึ่งนี่จะเป็นการได้เปรียบของฟากฝั่งรัฐบาลและ คสช. อย่างโจ่งแจ้ง

 

จึงนำไปสู่การเปรียบเปรยว่า รัฐบาลและ คสช. เหมือนอยู่บนขบวนรถไฟสายประชารัฐ

ที่วิ่งเรียบ อุดมสมบูรณ์ ด้วยเสบียงกรัง

มีการมองลึกไปถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 กว่า 3 ล้านล้านบาทนั้น ได้ถูกออกแบบไว้เพื่อเอื้อต่อผู้ใช้งบฯ เป็นอย่างดี

และนี่เอง ที่ได้นำไปสู่ “แรงดูด” ทางการเมือง ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

นอกเหนือจาก “ประโยชน์” ในแง่ทุน และการมีกลไกภาครัฐรองรับแล้ว

ล่าสุด พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึง “กลยุทธ์การดูด” ที่ถูกนำมาใช้ก็คือ คนที่มีคดีติดตัว จะถูกนำเอาเรื่องคดีดังกล่าวมาบีบ

หรือให้ความหวังว่าหากไปอยู่กับเขา เขาช่วยได้

ทำให้คนที่มีคดีก็อดที่จะหวั่นไหวไม่ได้

เพราะเหมือนคนที่ลอยคออยู่กลางแม่น้ำ เมื่อมีขอนไม้อะไรลอยมาก็ต้องคว้าไว้ก่อน

หรืออย่างการประชุม ครม.สัญจร ที่หอประชุมอาคารอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์

นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์จะพบปะประชาชนและผู้นำท้องถิ่นแล้ว

ปรากฏว่ายังมีการเชิญอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของหลายพรรคการเมือง อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (พิจิตร-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-อุทัยธานี) และภาคกลางตอนบน เช่น จ.ลพบุรี จ.สิงห์บุรี และ จ.ชัยนาท เข้าร่วมด้วย

อาทิ นายทายาท เกียรติชูศักดิ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคเพื่อไทย นายอนันต์ ผลอำนวย อดีต ส.ส.กำแพงเพชร พรรคเพื่อไทย นางผ่องศรี ธาราภูมิ อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคประชาธิปัตย์ นายสำราญ ศรีแปงวงค์ อดีต ส.ส.กำแพงเพชร พรรคประชาธิปัตย์ นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาธิปัตย์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา นายนพดล พลเสน อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา นายอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท พรรคไทยรักไทย นางมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย นายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคชาติไทยพัฒนา นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท พรรคชาติไทย และนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.

ภาวะมากหน้าหลายตานี้ แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ว่านักการเมืองเหล่านี้ยินยอมพร้อมใจขึ้นขบวนรถไฟสายประชารัฐไปเรียบร้อยแล้ว

แต่ก็ถือเป็น “ส่งสัญญาณ” ถึงกัน ว่า หากใครอยากจะเดินไปบนเส้นทางการเมืองอย่างราบรื่น

ก็ไม่ควรจะตกขบวนรถไฟนี้

 

พล.อ.ประยุทธ์และคณะยังคงดำเนินกิจกรรมคณะรัฐมนตรีสัญจรต่อไป

และแน่นอน ชุดคำอธิบายก็คงจะเหมือนๆ กัน นั่นคือ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นการบริหารงานตามปกติ

แต่นักการเมืองรู้ดีว่า กิจกรรมเหล่านี้ปูทางไปสู่อะไร

แน่นอน ย่อมเหนือชั้นกว่าเหล่าคนในสำนวน “รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ” หลายเท่านัก

ตอนนี้จึงมีเสียงร่ำลือกันในหมู่คนที่มุ่งหน้าสู่สถานี “พลังประชารัฐ” ว่าตอนนี้มีผู้แสดงเจตจำนงขอร่วมตีตั๋วขึ้นรถไฟแล้ว ในระดับ 100-150 ที่นั่ง

เป็นตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจ

เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ย่อมจะนำไปสู่ความมั่นใจของเจ้าของขบวนรถไฟ ว่าจะถึงสถานีแห่งเป้าหมายอย่างราบรื่น

จริงหรือไม่ อีกไม่นานจะได้พิสูจน์กัน!