ว่าด้วยปณิธานกถา : เสถียร โพธินันทะ

หลังเขียนหนังสือ “ปรัชญามหายาน” จบสิ้น เสถียร โพธินันทะ เขียนในปณิธานกถา อันเป็นความคิดในห้วงสุดท้ายของหนังสือ เน้นอย่างหนักแน่นว่า

ปกรณ์เชื่อว่า “ปรัชญามหายาน” อันข้าพเจ้ารจนาก็ได้จบสำเร็จแล้วด้วยดี

บัณฑิตผู้ใคร่ต่อการศึกษาพึงเลือกเฟ้นเอาประโยชน์เถิด บุญใดอันเกิดแล้วจากกรรมแม้นี้ของข้าพเจ้า ขออานุภาพแห่งบุญนั้น สรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกธาตุทั้งสิ้นพึงมีตนถึงซึ่งความเกษมเถิด

อนึ่ง ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้ปราศจากโรคาพาธแลอุปัทวะอันตรายทั้งผอง

ประสบแต่ความเย็นใจในกาลทุกเมื่อเทียว ข้าพเจ้าพึงซ่องเสพแต่กัลยาณมิตร มีความยินดีเลื่อมใสการปฏิบัติตามโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ยังตนห่างไกลจากอกุศลธรรมทั้งปวงในทุกๆ ภพด้วย

ธรรมจักษุพึงปรากฏแก่ข้าพเจ้าโดยพลัน ก็ในกาลใดแลที่พระทศพลผู้มีนามธัยว่า “เมตไตรย” อุบัติขึ้นแล้วในโลก ขอข้าพเจ้าพึงได้โอกาสเป็นอุปัฏฐากแห่งพระตถาคตพระองค์นั้น

ผลอันอุดมเลิศใดซึ่งบัณฑิตปรารถนา กล่าวคือ อรหัตถผล ข้าพเจ้าพึงบรรลุซึ่งผลนั้น

ขอฝนจงตกต้องตามฤดูกาล นำเมทนีดลไปสู่ความฉ่ำชื่น

อนึ่ง ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้ประกาศซึ่งธรรมของพระโลกนาถทุกๆ ภพ ขอพระพุทธศาสนาอันแสดงสันติวรบทแก่นิพรสัตว์ จุ่งดำรงสถิตเสถียรอยู่ในโลกตลอดชั่วกัปเทอญ ลงท้ายด้วยคำ “ลัทธิมัตถุ”

หากอ่านระหว่าง “ปณิธานกถา” ประสานเข้ากับ “บทวิจารณ์” ก็จะมีความเข้าใจในเจตนาการของเสถียร โพธินันทะ ในการเขียนหนังสือ “ปรัชญามหายาน”

ก็จะยิ่งเข้าใจใน “ตัวตน” แห่งเสถียร โพธินันทะ

น่าอัศจรรย์ในความกว้างขวางของพระพุทธศาสนานี้นักหนา ไม่ว่าจะเป็นลัทธิปรัชญาศาสนาอะไรในโลกที่สำคัญๆ เป็นต้องหาได้ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หลักธรรมอันใดที่ลัทธิศาสนาปรัชญาอื่นๆ ที่อ้างว่าสำคัญและดีที่สุดก็ปรากฏว่ามีอยู่ในพระพุทธศาสนาสิ้น

เสถียร โพธินันทะ เป็นเช่นนี้ตั้งแต่เริ่มพบและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนามีทุกสิ่งที่ถูกต้องกับจริตนิสัยของมนุษย์ ลัทธิศาสนาอื่นมักไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่งเสมอ ส่วนพระพุทธศาสนานั้นครอบเอาศาสนาปรัชญาอื่นๆ ไว้หมด

นับว่าเป็น “ศาสนาสากล” ได้อย่างจริงแท้

นี่คือความเป็นจริงของเสถียร โพธินันทะ สมดัง “ปณิธานกถา” อันแจ้งไว้ในท้ายหนังสือและก็ดำเนินไปด้วยความเชื่อบนพื้นฐานของการศึกษาและทำความเข้าใจในพระพุทธศาสนา

ขอให้อ่านจาก “บทวิจารณ์” ท้ายเล่มต่อไป

จึงมีผู้มองพระพุทธศาสนาได้ทุกแง่แล้วแต่จิตใจนิยมของผู้นั้น เช่น มองพระพุทธศาสนาว่าเป็นเผด็จการก็ถูกในมุมหนึ่ง มองพระพุทธศาสนาว่าเป็นเสรีประชาธิปไตยรีพับลิกก็ถูกอีก

มองพระพุทธศาสนาเป็นโซเชียลิสต์ สังคมนิยมก็ถูกเหมือนกัน

มองพระพุทธศาสนาเป็นฝ่ายจิตนิยมก็มีส่วนความจริง มองพระพุทธศาสนาเป็นฝ่ายวัตถุนิยมก็มีส่วนเป็นอยู่บ้าง ฯลฯ

ฉะนี้ นี่กล่าวโดยพระพุทธศาสนาซึ่งได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงจนเกิดมีมหายาน สาวกวานขึ้นแล้ว

แต่ตัวความจริงของพระพุทธศาสนานั้นมิได้เป็นอะไรทั้งนั้นนอกจากเป็น “สัจธรรม” ชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้สุขเกษมศานติ์ ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย แก่สรรพสัตว์

พระพุทธศาสนามหายานนั้นได้อนุโลมแก้ไขการปฏิบัติให้กลมกลืนกันได้กับลัทธิธรรมเนียม อุปนิสัย ความต้องการของประชาชน จนบางครั้งกลายเป็นการหละหลวมและเสียหาย แต่ก็มีผลในทางจูงประชาชนมาเลื่อมใสได้มาก

มหายานต้องการแผ่ศาสนาให้ปริมาณของพุทธศาสนิกชนเพิ่มมากๆ ถือว่าเป็นการช่วยคนให้หันมาสู่แสงสว่าง แม้จะละสิกขาบทบางข้อบ้าง ก็ต้องละ ขอให้ประชาชนมานับถือพระรัตนตรัยก็แล้วกัน

ซึ่งเป็นเจตนาดี

อุดมคติของมหายานนั้นบริสุทธิ์เพื่อมหาชนจริงๆ แต่จำเนียรกาลต่อมาผู้ปฏิบัติที่ไม่สามารถยึดอุดมคตินั้นได้ หรือยึดถืออุดมคติอย่างผิดพลาด

ปฏิบัติไปตามกิเลสมากกว่าตามอุดมคติ

จึงทำความเสียหาย เลื่อนเปื้อน เป็นสัทธรรมปฏิรูปขึ้น ง่ายกว่าการปฏิบัติตามคติของสาวกยาน ข้อที่ฝ่ายมหายานกล่าวว่าสาวกยานใจแคบ เอาตัวรอดแต่ผู้เดียวก็ไม่จริง