เหี้ย ทำไมจึงเป็นคำหยาบ? | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
จิตรกรรมฝาผนัง จุลปทุมชาดก ที่วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นฉาก พระยาเหี้ยช่วยพระปทุมกุมาร

ถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะเพิ่งมีมติเห็นว่า คำว่า “เหี้ย” นั้นไม่ได้เป็นคำหยาบคายสักเท่าไหร่ สามารถจะพูดออกอากาศได้ (ถ้าไม่ได้ใช้บ่อยนัก)

แต่ใน “สัพพะ พะจะนะ พาสาไท” ซึ่งก็คือพจนานุกรมภาษาไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ที่เรียบเรียงขึ้นโดยสังฆราชปัลเลอกัวซ์ แล้วตีพิมพ์ออกมาเมื่อ พ.ศ.2397 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นก็มีศัพท์คำว่า “อ้ายหน้าเหี้ย” ระบุอยู่ในนั้นด้วย

สังฆราชปัลเลอกัวซ์ท่านได้ให้ความหมายศัพท์คำนี้เอาไว้ว่า “You have a face of a large lizard (abusive expression).” ซึ่งอาจจะแปลออกมาเป็นภาษาไทยตรงตัวได้ว่า “คุณมีใบหน้าเหมือนตัวเหี้ย (สำนวนแสดงการดูถูก)” (ในข้อเขียนชิ้นนี้จำเป็นต้องเขียนคำว่าเหี้ยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งผมก็หวังใจว่า กสทช. จะคงมาตรฐานเดิมว่าไม่ใช่คำหยาบจนต้องถูกเซ็นเซอร์)

ดังนั้น สังฆราชปัลเลอกัวซ์ท่านจึงอาจจะคิดเห็นไม่ต้องตรงกับ กสทช. สักเท่าไหร่

แต่เอาเข้าจริงแล้ว คนในสมัยนั้นก็ดูจะไม่ได้รังเกียจรังงอนอะไรกับน้องเหี้ยกันมากนัก เพราะอย่างน้อยก็มีความรับรู้เรื่อง “โคธชาดก” อันเป็นนิทานชาดกที่เล่าว่า พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นเหี้ย แล้วนำมาเขียนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ในอาคาร อย่างเช่นที่วัดเปาโรหิตย์ ย่านบางยี่ขัน ที่ก็วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั่นแหละ

(แถมภาพชาดกตอนนี้ยังมีที่วัดเครือวัลย์วรวิหาร กรุงธนบุรี ที่วาดในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย)

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่น่าสนใจทีเดียวนะครับว่าทำไมสังคมไทย อย่างน้อยตั้งแต่ในยุครัชกาลที่ 4 จึงมีการใช้คำว่า “เหี้ย” เป็นคำดูถูก?

 

ที่มิวเซียมท้องถิ่น วัดเขาไม้เดน ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ มีรูปตุ๊กตาสำริดรูปตัวเหี้ย อายุราว 2,500 ปีมาแล้วจัดแสดงอยู่ โดยเจ้าตุ๊กตาตัวนี้ได้มาจากแหล่งโบราณคดีบ้านเขาบ่อพลับ ต.ม่วงหัก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาไม้เดนที่ตั้งของมิวเซียมวัดเขาไม้เดน ไปราว 5 กิโลเมตร

น่าสนใจก็ที่ตุ๊กตารูปเหี้ยตัวนี้ทำจาก “สำริด” ซึ่งเป็นโลหะมีค่า โดยเฉพาะเมื่อเป็นของที่ทำขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นสินทรัพย์อันมีค่ายิ่งไปใหญ่

ดังนั้น เหี้ยสำริดตัวนี้จึงไม่ใช่ตุ๊กตาของเด็กเล่นธรรมดาที่ไหน แต่อาจจะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จำพวกพิธีกรรมขอฝน

ร่องรอยของการใช้ตุ๊กตาใน “พิธีขอฝน” ยังมีอยู่ในพระราชพิธี “พรุณศาสตร์” เดือนเก้า เพราะในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี 12 เดือน ของรัชกาลที่ 5 มีกล่าวถึงการขุดสระน้ำ ที่กลางสระมีรูปพระอินทร์ พระยาปลาช่อน และบริวารสิบรูป

โดยพระองค์ทรงเอ่ยถึงเฉพาะแค่กบ เต่า ปู และปลา (ส่วนจะมีตัวอะไรอีกบ้าง พระองค์ไม่ได้ทรงบอกเอาไว้ เนื่องด้วยทรงมีพระราชดำริว่า พระราชพิธีนี้ “เร่อร่าหยาบคาย” จึงทรงไม่กล่าวถึงให้มากความ)

เฉพาะรูปพระยาปลาช่อน ถูกผูกเรื่องเข้ากับนิทานวาริชชาดก และตำนานพระคันธารราษฎร์ขอฝนไว้ด้วย

ส่วนรูปสัตว์อื่นที่เหลือจะสังเกตได้ว่า ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับน้ำและความอุดมสมบูรณ์ โดยอาจเป็นได้ทั้งสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

 

น่าสนใจก็ตรงที่ พระราชพิธีพรุณศาสตร์ ถูกเข้าใจว่าเป็นกิจอย่างพราหมณ์มาแต่เดิม อาจเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธ์มาแต่ชมพูทวีป เพราะในพิธีมีการตั้งเทวรูป สวดอ้อนวอนบูชา เวทที่ร่ายในพิธีมีกล่าวในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (ที่น่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ว่า “บริกรรมอิศรเวท” เข้าใจว่าหมายถึงเวทบูชาพระอิศวร ซึ่งไม่ใช่เทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับฟ้าฝนโดยตรง แต่สัมพันธ์กับกลุ่มพราหมณ์ที่เข้ามาในสยามตั้งแต่ยุคอยุธยาเป็นอย่างมาก เพราะพราหมณ์เหล่านี้เกือบทั้งหมดน่าจะมาจากอินเดียใต้ ที่นับถือพระอิศวรเป็นใหญ่

ตำราพระราชพิธีพราหมณ์ สมัยรัตนโกสินทร์ เท่าที่เหลือตรวจสอบได้ไม่มีที่ใช้ในพระราชพิธีพรุณศาสตร์โดยตรง ส่วนใหญ่เป็นคาถาบูชาพระอิศวรและเทพเจ้าองค์อื่นๆ พระราชพิธีพรุณศาสตร์จึงไม่น่าจะเป็นพิธีพราหมณ์มาแต่เดิม เพราะไม่มีเวทสำหรับร่ายกำกับอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาแต่ชมพูทวีปเลยสักนิด

ส่วนที่เก่าแก่ที่สุดในพระราชพิธีที่ว่า จึงเป็นส่วนของการขุดสระตั้งตุ๊กตารูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ แถมมีเกยตั้งอยู่บนขอบสระสำหรับตั้งรูปตุ๊กตาปั้นเมฆ (คือรูปมนุษย์แก้ผ้าล่อนจ้อน และโชว์ไอ้จ้อน) ทั้งชาย-หญิงอีกต่างหาก

พิธีกรรมอย่างนี้จึงควรที่จะเป็นพิธีในศาสนาผี สุวรรณภูมิ แต่ดั้งเดิมมากกว่านะครับ ไม่ใช่ทั้งพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์ แต่ที่เห็นแล้วชวนให้คิดว่าเป็นพราหมณ์นั่น เพิ่งจะมาประกอบเข้าไปใหม่ในสมัยหลัง

ดังนั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมดั้งเดิมของศาสนาผี ก็คือรูปมนุษย์ล่อนจ้อน ที่เรียกว่า “ตุ๊กตาปั้นเมฆ” และก็บรรดาตุ๊กตาสัตว์ทั้งหลายที่ใช้ในพิธี ซึ่งเมื่อพิจารณาดูจากเงื่อนไขต่างๆ ทั้งจากตำนานและหลักฐานรูปประติมากรรมแล้ว ก็มีแนวโน้มที่เป็นไปได้ว่า อาจจะมีรูปตัวเหี้ย ตะกวด จระเข้ หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดอื่น ที่เคยถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก่อนรวมอยู่ในนั้นด้วย

 

ชาวกูยหลายท้องที่ เช่น ที่หมู่บ้านบ้านตรึม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ถือว่าตะกวดเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามไม่ให้ทำร้าย

ซ้ำยังมีพิธีเซ่นสรวงบูชาตะกวดเสียด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับหลักฐานบนหน้ากลองมโหระทึก ที่มีรูปขบวนแห่สัตว์จำพวกตัวเหี้ยหรือตะกวดเป็นพยานสำคัญ ดังนั้น ในศาสนาผีดั้งเดิมของสุวรรณภูมิ จึงมีการนับถือสัตว์จำพวกเหี้ยและตะกวด เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์แน่

เพียงแต่ในปัจจุบันนั้นกลับกลายเป็นไม่ค่อยจะศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว

และจึงน่าสนใจว่า “เหี้ย” ได้กลายสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้ายในสังคมไทย จนกระทั่งกลายเป็นคำว่า “เหี้ย” คำวิเศษณ์ที่ใช้สำหรับขยายได้ทั้งคำนาม คำสรรพนาม แม้แต่คำกริยา ที่ใช้สำหรับเป็นคำต่อว่าที่หยาบคายไปในที่สุดได้อย่างไร?

คำอธิบายที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยครั้งคือมักจะอ้างว่า ในสมัยโบราณ คนไทยนิยมปลูกเรือนอยู่ริมน้ำ โดยประเพณีแล้วยังนิยมเลี้ยงสัตว์ไว้ที่ใต้ถุนของเรือน ทั้งสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่ดีของขโมยในคราบของ “เหี้ย” ที่จะมาลักเอาสัตว์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะสัตว์ปีกจำพวกเป็ดไก่ แล้วลากลงไปกินกันให้อิ่มเปรมในน้ำ

ผมสงสัยว่า คนไทยที่ว่าน่าจะหมายถึงคนภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะโดยปกติแล้วคำอธิบายถึงความเป็นไทยใดๆ ก็ตามมักยึดเอาคนกรุงเทพฯ (ที่สืบสายอำนาจทางการเมือง และมรดกทางวัฒนธรรมมาจากอยุธยาอีกทอดหนึ่ง) เป็นศูนย์กลาง ไม่สนใจชาวมลายู คนอีสาน แม้กระทั่งชาวดอยที่ไม่ได้ปลูกเรือนอยู่ริมน้ำเสียบ้างเลย

ถ้าเป็นอย่างนั้นคำอธิบายที่ว่านี้ก็ใช้ได้เฉพาะในภาคกลางของประเทศไทย

 

อันที่จริงแล้วผมก็ไม่แน่ใจนักว่า คำอธิบายดังกล่าวสามารถเชื่อถือได้ทั้งหมดหรือไม่?

เพราะสัตว์ประเภทอื่นๆ อย่างจระเข้ เสือไฟ แมวดาว ฯลฯ ก็น่าจะก่อความเสียหายแก่สัตว์เลี้ยง หรือการปศุสัตว์ของชุมชนริมน้ำในสมัยก่อนได้ไม่แพ้กัน

นี่ยังไม่นับรวมสัตว์จำพวกอื่นๆ ที่ก่อความเสียหายโดยตรงกับการเกษตรกรรมกระแสหลักอย่างการเพาะปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็นแมลงอย่างพวกตั๊กแตน หนูนาที่มีจำนวนมากเกินไปในบางแห่ง เป็นต้น

เราไม่เคยพบตัวอย่างของการนำชื่อสัตว์มาใช้เป็นคำต่อว่า หรือสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้ายในสังคมไท หรือที่จริงแล้วควรจะกล่าวว่าสังคมริมน้ำในอุษาคเนย์เสียมากกว่า

ในทางตรงกันข้าม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในหลายแห่งยังทราบเสียด้วยซ้ำว่า เหี้ยเป็นนักเก็บกวาดชั้นยอดเพราะกินทั้งซากเน่าและสัตว์เป็น บางแห่งยังอ้างเสียด้วยซ้ำว่า ถ้าที่ไหนมีเหี้ย จะไม่มีทั้งหนูนาและงูเห่า เพราะเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติ

สัตว์ประเภทอื่นที่ใกล้ชิดกันอยู่ในวงศาคณาญาติของเหี้ย อย่างตัวแลนของอีสาน และตะกวด (อันที่จริงแล้วชาวกัมพูชาเรียก “เหี้ย” ว่า “ตรอกรวด” หรือตะกวดในเสียงอย่างไทยๆ ดังนั้น ในสมัยก่อนที่วิชาชีววิทยาอย่างโลกตะวันตกนั้น ผู้คนแถวๆ นี้เขาก็เรียกเจ้าสัตว์เหล่านี้ด้วยคำที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาษา แต่ก็หมายถึงเจ้าเหี้ยตัวเดียวกันนั่นแหละ) ยิ่งมีตำนาน และบทบาทในวัฒนธรรมที่น่าสนใจของคนบางกลุ่ม

ในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา มีนิทานเล่าว่า ตะกวดตัวหนึ่งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจนบรรลุธรรม และได้มาเกิดใหม่เป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงกัมพูชา

น่าสนใจว่า เขมรเขาก็เป็นชาวน้ำ ไม่ต่างอะไรกับชาวไทยภาคกลาง ถ้าเขาจะรังเกียจที่ตะกวดซึ่งเป็นญาติสนิทกับเหี้ย ก็คงไม่ยกให้เป็นต้นตระกูลกษัตริย์ของพวกเขาหรอกครับ

แต่ก็เป็นเรื่องของพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชานี่แหละที่สำคัญ เพราะในพงศาวดารเขมรฉบับแปลไทยนี่เอง ที่มีวงเล็บถึงข้อความเอาไว้ในทำนองว่า เพราะชาวเขมรมีบรรพบุรุษเป็นตะกวดที่มีลิ้นสองแฉก ดังนั้น จึงเป็นพวกที่คบไม่ได้

(ความตรงนี้น่าสนใจนะครับ เพราะถ้าเหี้ยหรือตะกวดเป็นคำดูถูกอย่างที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์ท่านบันทึกไว้ ก็ดูจะไม่ใช่คำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนัก จนอย่างน้อยพงศาวดารฉบับนี้ก็ถึงกับต้องขยายความว่า ที่ชาวเขมรคบไม่ได้เพราะบรรพบุรุษมีลิ้นสองแฉก ไม่ใช่เพราะเป็นที่ตัวของตะกวดหรือเหี้ยเอง)

แน่นอนว่าในฉบับภาษาเขมร ไม่ได้มีคอมเมนต์อย่างนี้ไว้ต่อว่าชนชาติของตนเอง

เป็นคนแปลออกมาเป็นภาษาไทยนี่แหละ ที่ไปใส่วงเล็บขยายความเพิ่มเอาไว้

และคนแปลก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนายพลตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์)

ซึ่งก็คือพ่อบังเกิดเกล้าของอดีตท่านผู้นำของประเทศไทย อย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์รั้งบังเหียนท่านผู้นำของประเทศ ตรงกับ พ.ศ.2500-2506 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเกิดกรณีพิพาทกับประเทศกัมพูชา

โดยเฉพาะกรณีการขึ้นศาลโลกเพื่อตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร และก็เป็นในช่วงเวลาดังกล่าวนี่เองที่มีการนำเอาพงศาวดารกัมพูชามาใช้โจมตี และว่าร้ายประเทศกัมพูชาผ่านทางวิทยุกระจายเสียงกับสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ

โดยมีหัวหอกคนสำคัญคือ “นายหนหวย” หรือนายศิลปชัย ชาญเฉลิม แน่นอนว่า กรณีปฐมกษัตริย์ชาวเขมรเป็นตะกวด (คำเขมรที่แปลว่าเหี้ย) ก็ถูกยกขึ้นมาใช้ด้วย

จนสุดท้าย “เหี้ย” ก็ถูกเน้นย้ำว่าเป็นสิ่งไม่ดีไม่งาม (โดยเฉพาะเมื่อมีคำดูถูกเดิมอย่าง อ้ายหน้าเหี้ย มาเก่าก่อนแล้ว) และกลายเป็นคำหยาบคายที่ใช้สำหรับการด่าทอที่แพร่หลายไปในที่สุด

เอาเข้าจริงแล้ว “เหี้ย” จึงไม่เคยตกเป็นจำเลยของสังคมด้วยข้อหา “ลากไก่ลงน้ำ” มาก่อนหรอกนะครับ

เผลอๆ พวกมันอาจจะเพิ่งมาเป็นเหยื่อของความ “คลั่งชาติ” ในยุคสมัยของลัทธิเผด็จการท่านผู้นำครองเมืองเลยด้วยซ้ำไป