กรองกระแส/สถานการณ์การเมือง อิทธิพลต่อโรดแม็ป ‘เลือกตั้ง’ ฐานใหม่ และฐานเก่า

กรองกระแส

 

สถานการณ์การเมือง

อิทธิพลต่อโรดแม็ป ‘เลือกตั้ง’

ฐานใหม่ และฐานเก่า

 

ไม่ว่าการตระเตรียมในเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าการตระเตรียมในเรื่อง “พรรคการเมือง” ของ คสช. ล้วนเกิดขึ้นและดำรงอยู่บนพื้นฐานของ “ข้อมูล” เก่า

เป็นข้อมูลจากก่อนรัฐประหาร 2549 เป็นข้อมูลจากก่อนรัฐประหาร 2557

การสถาปนารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็เป้าหมายอย่างเดียวกันกับที่ก่อรูปขึ้นก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

นั่นก็คือ การทำลาย “พรรคไทยรักไทย”

บังเอิญที่ไม่สามารถทำลายพรรคไทยรักไทยได้อย่างสิ้นเชิงแม้จะมีการยุบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 แต่ก็อวตารมาเป็นพรรคพลังประชาชนและกำชัยชนะจากการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 และแม้จะมีการยุบพรรคพลังประชาชนในเดือนธันวาคม 2551 แต่ก็อวตารมาเป็นพรรคเพื่อไทยและกำชัยชนะจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554

จึงต้องก่อสถานการณ์แบบเดียวกับก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และขยายผลไปสู่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

แต่หลังจากรัฐประหารแล้วก็ยังใช้ “สมมุติฐาน” และฐาน “ข้อมูลเก่า” อยู่อย่างไม่แปรเปลี่ยน

ฉะนั้น ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามโรดแม็ปล่าสุดก็ยังมีโอกาสที่จะพลิกผัน แปรเปลี่ยน และไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้

 

ความคิดอย่างไร

ที่เป็นฐานข้อมูลเก่า

 

ในเมื่อเป้าหมายของการทำลายล้างคือพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน อันอวตารมาเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ฐานข้อมูลจึงยังเป็นฐานข้อมูลอันผูกติดกับ “ทักษิณ ยิ่งลักษณ์”

ประสบการณ์ของการเลือกตั้งจึงยังเป็นประสบการณ์ จากเมื่อเดือนมกราคม 2544 จากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 จากเมื่อเดือนธันวาคม 2550 และจากเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

เป็นความพยายามเรียนรู้จาก “ความพ่ายแพ้” เพื่อแปรเป็น “ชัยชนะ”

กระบวนการในการยกร่างและสถาปนารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ว่ามอบหมายให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่ามอบหมายให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จึงอยู่บนฐานทางความคิดและความเชื่อนี้

เป้าหมายคือ ต้องการให้พรรคใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง

กระบวนการคือ พยายามเตะถ่วง หน่วง ยื้อ วันเวลาของการเลือกตั้งให้ยาวนานออกไปมากที่สุด กระทั่งไม่ต้องการให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าเลือกตั้งก็แพ้ ขณะเดียวกันเป้าหมายของพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นก็เพื่อจะดูดดึงเอาอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย

ทำอย่างไรให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็นพรรคต่ำกว่า 100 ให้จงได้

 

สถานะเพื่อไทย

มิใช่เป้านิ่งการเมือง

 

หากติดตามบทบาทของพรรคเพื่อไทยในฐานะซึ่งเป็นอวตารแห่งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน เหมือนกับดำรงอยู่อย่างนิ่ง ยอมรับต่อการรุกไล่อันมาจาก คสช.

แต่ในความเป็นจริงพรรคเพื่อไทยงอก่องอขิงหรือไม่

หากติดตามท่าทีของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่กรณีประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 จะเห็นได้ว่าพรรคเพื่อไทยดำเนินการทั้งต่อต้านและร่วมมือ ยิ่งเมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศและบังคับใช้ พรรคเพื่อไทยยิ่งแสดงจุดยืนของตนเด่นชัด

การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยประกาศความพร้อมในการเป็นฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยก็คือ ทำอย่างไรให้ได้ ส.ส.มากกว่า 200 คนขึ้น เพื่อที่จะไปร่วมมือกับพรรคพันธมิตรสกัดมิให้การได้นายกรัฐมนตรีคนนอกเป็นไปอย่างง่ายดาย

หรือหากไม่สามารถสกัดขัดขวางนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยราบรื่น

การจะบรรลุยุทธศาสตร์นี้ หมายความว่าพรรคเพื่อไทยมิได้ดำเนินการอย่างโดดเดี่ยว ตรงกันข้าม พรรคเพื่อไทยจะต้องมีพันธมิตรในแนวร่วมของตนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และหากยิ่งสามารถรักษาปริมาณ ส.ส. ของตนให้อยู่อันดับ 1 ในบรรดาพรรคการเมืองด้วยกัน นั่นหมายถึง สถานะของพรรคเพื่อไทยจะเป็นเหมือนแท่งแม่เหล็กมหึมา

เท่ากับขยายปริมาณของพันธมิตรในแนวร่วมได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

 

อะไรคือปัจจัย

ฐานข้อมูลใหม่

 

ปัจจัยอันเป็นข้อมูลใหม่ในทางการเมืองมีรากฐานมาจากสถานการณ์ในห้วงเวลา 10 ปีภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

นั่นก็คือ ผลึกทางความคิดของประชาชนต่อผลดีผลเสียของ “รัฐประหาร”

นั่นก็คือ พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะสามารถแปรบทเรียนและประสบการณ์จากก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาเป็นปัจจัยและก่อผลสะเทือนในทางการเมืองอย่างไร

นั่นก็คือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการเติบใหญ่ของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับผลสะเทือนจาก “ทศวรรษที่สูญหาย”

ปัจจัยใหม่ๆ เหล่านี้กำลังปะทะเข้ากับปัจจัยเก่าที่สะสมมาจากการเมืองยุคเก่า

หากแต่ละพรรค แต่ละกลุ่มการเมืองไม่ทำความเข้าใจต่อฐานข้อมูลใหม่ในทางการเมือง และจมนิ่งอยู่กับฐานข้อมูลเก่าอย่างตายตัว ก็จะส่งผลต่อความพ่ายแพ้มากกว่าจะต่อความสำเร็จในทางการเมือง