อนุช อาภาภิรม : ประชาธิปไตยโลกเข้าขั้นวิกฤติ!

วิกฤติประชาธิปไตย (7)

ความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจ 2008

วิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ 2008 เป็นจุดพลิกผันของภูมิรัฐศาสตร์โลก ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างระเบียบโลก นโยบายและการปฏิบัติของชนชั้นนำโลก จนถึงความรู้สึกนึกคิด ความคาดหวังและการเคลื่อนไหวของประชาชน บ้างว่าถึงขั้นส่งผลต่ออารยธรรมอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมเอง

วิกฤติอันทรงพลังนี้ ยังได้รับแรงเสริมจากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ยาวนาน และขยายวงออกไปทุกที

เกิดเป็นสงครามที่ไม่ได้สมมาตร และสงครามพันทางที่ไม่รู้ว่าจะจบลงวันใด

ลุกลามเป็นการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับแกนจีน-รัสเซีย

เกิดการแข่งขันพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างสูงอย่างน่าหวาดกลัว

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงเสริมจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เป็นแบบ “การทำลายเชิงสร้างสรรค์” อย่างไม่หยุดยั้ง

การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ มีด้านดีในการรักษาอารยธรรมอุตสาหกรรมในระบบทุน

แต่ก็มีผลลบในการทำลายการจัดระเบียบและระบบเก่าอย่างไม่ปรานี

วิกฤติเศรษฐกิจกับวิกฤติระเบียบโลก

ประเทศที่เป็นศูนย์กลางในการจัดระเบียบโลกไม่ควรจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ขนาดอย่างเช่นที่เกิดในปี 2008 เพราะว่ามันทำให้ศูนย์กลางอ่อนแอ ไม่สามารถรักษาระเบียบโลกเหมือนเดิมไว้ได้

สหรัฐและตะวันตกจัดระเบียบโลกด้วยเครื่องมือสามอย่างใหญ่ได้แก่

(ก) ลัทธิทหารและลัทธิครองความเป็นใหญ่หรือจักรวรรดินิยมที่เรียกชื่อให้น่ารังเกียจน้อยลงว่า “อำนาจแข็ง”

(ข) การควบคุมตลาด การค้าและการเงินการลงทุนของโลกโดยการเข้าไปมีบทบาทสูงในสถาบันการเงินการค้าโลก มีธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เป็นต้น และซ้ำเติมด้วยการใช้แซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจเพื่อให้ได้ผลทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่ตนต้องการ

อำนาจส่วนนี้บางคนเห็นว่าเป็นอำนาจอ่อน แต่จำนวนไม่น้อยจัดอยู่ในอำนาจแข็งเหมือนกัน เพราะความขัดแย้งและการกดดันทางเศรษฐกิจก็นำไปสู่สงครามรุนแรงได้ คือสงครามเศรษฐกิจและสงครามการค้าที่ตั้งเค้าทะมึนอยู่ขณะนี้

(ค) กลไกทางอุดมการณ์และค่านิยม ที่สำคัญได้แก่ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมนุษยธรรม เป็นต้น อำนาจส่วนนี้เห็นกันว่าเป็นอำนาจอ่อน อยู่ในขั้นการจูงใจให้คล้อยตาม แต่ในทางปฏิบัติ อำนาจทางค่านิยมอุดมการณ์นี้ กลับมีความรุนแรงที่หยั่งรากลึกไปกว่าอำนาจทางวัตถุเสียอีก

เช่นกล่าวกันว่า การสังหารและทรมานผู้ก่อการร้าย ไม่ได้ช่วยทำลายลัทธิก่อการร้ายลง

ต้องไปต่อสู้กับลัทธิก่อการร้ายในสมองของผู้คน

ตราบใดที่ลัทธินี้ยังดำรงอยู่และสามารถปลูกฝังลงในสมองของผู้คนได้ ก็จะสามารถระดมคนเข้าร่วมขบวนการก่อการร้ายได้ไม่รู้จบ

AFP PHOTO ISSOUF SANOGO / AFP PHOTO / ISSOUF SANOGO

นอกจากนี้ยังพบว่า ค่านิยมความเชื่อหลายอย่าง ได้แก่ เรื่องชาติ ผิวสี เชื้อชาติ ศาสนา ไปจนถึงเพศภาวะ เมื่อได้บ่มเพาะจนถึงขนาดแล้ว สามารถสร้างเป็นม่านของการเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่ง กลายเป็นม่านเหล็ก สร้างความเกลียดชังระหว่างกันได้อย่างรุนแรง

ซึ่งสหรัฐ-ตะวันตกก็ได้ใช้กลไกนี้อย่างช่ำชอง

เช่น ในภูมิภาคตะวันออกกลาง สร้างกลุ่มเคร่งศาสนาต่อสู้กับกลุ่มโลกวิสัย

สนับสนุนกลุ่มถือนิกายซุนหนี่สู้กับกลุ่มถือนิกายชีอะฮ์

ไปจนถึงการสนับสนุนชนเผ่าต่างๆ ให้เป็นอริกัน

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อำนาจ กลไกทั้งสามของสหรัฐและตะวันตกก็อ่อนแอลงอย่างทั่วด้าน

ซ้ำขณะนั้นกำลังติดหล่มสงครามใหญ่ในอิรักที่ไม่รู้ว่าจะหลุดพ้นได้อย่างไรและเมื่อใด จำต้องขยายความร่วมมือไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ในกลุ่ม 20 เพื่อช่วยกันแก้ไขวิกฤตินี้

โดยประธานาธิบดีบุชผู้ลูกเป็นผู้จัดการประชุมเอง ซึ่งเท่ากับยอมรับระเบียบโลกหลายขั้วตามความเป็นจริง แต่จริงแล้วไม่ต้องการเช่นนั้น ยังคงต้องการโลกขั้วเดียวที่ตนเองเป็นใหญ่อยู่

และนั่นแหละคือปัญหา เพราะว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ที่บรรลุนิติภาวะ ไม่ได้หวาดเกรงสหรัฐและตะวันตกเหมือนเดิม

ต้องการดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-การเมืองในจังหวะก้าวของตนเอง ไม่ใช่จากคำสั่งของมหาอำนาจ

วิกฤติประชาธิปไตยตะวันตก

วิกฤติประชาธิปไตยตะวันตก กล่าวสรุปได้ว่าเกิดจากเหตุปัจจัยสามประการ ได้แก่ ความเสื่อมถอยในตัวเองที่ก่อตัวตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ข้ออ้างในการจูงใจประเทศอื่นให้ยอมรับอ่อนพลัง และการท้าทายจากภายนอกที่สำคัญจากจีน

1) ความเสื่อมถอยในตัวเองของประชาธิปไตยตะวันตกนี้ปรากฏแต่เริ่มต้น เนื่องจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง

เช่น การปฏิวัติอเมริกาในครึ่งหลังศตวรรษที่ 18 ที่ชูคำขวัญ “ชีวิต อิสรภาพ และการแสวงหาความสุข (หรือทรัพย์)” ก็ยังคงมีทาสต่อไปอีกเป็นเวลานาน

และสตรีอเมริกันต้องต่อสู้เป็นร้อยปี กว่าจะได้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ปี 1914)

หรือการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ตามหลังมาไม่นาน มีคำขวัญ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ที่มีการประหารชีวิตชนชั้นสูงจำนวนมาก ไม่นานก็วกกลับสู่ระบอบราชาธิปไตยในสมัยพระเจ้านโปเลียน

การที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่ได้ถูกปฏิบัติเต็มที่ เพราะว่ามันมีด้านที่เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางชนชั้นของชนชั้นนายทุนด้วย ที่สำคัญมีสามประการ ได้แก่

ก) การต่อสู้กับระบบสังคมก่อนทุน มีระบบฟิวดัล เป็นต้น คำขวัญและคำสัญญาต่างๆ เป็นเพียงกลไกในการปลุกระดมผู้คนขึ้นมาต่อสู้

ข) การต่อสู้เพื่อสร้างจักรวรรดิ อ้างว่าเป็นภาระคนขาวเพื่อนำความศิวิไลซ์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมมาสู่โลก ซึ่งแท้จริงคละคลุ้งด้วยคาวเลือดและกลิ่นดินปืน

ค) การต่อสู้เพื่อจำกัดสิทธิผลประโยชน์ของลูกจ้างคนงานให้เหลือน้อยที่สุด พอเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ ทำให้ทรัพย์สินมากระจุกตัวอยู่ในมือเศรษฐีจำนวนน้อยอย่างที่เป็นอยู่

จากการที่ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนักเช่นนี้ นับวันจึงมีความเสื่อมถอยและถูกคัดค้านมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายครองความเป็นใหญ่หรือลัทธิจักรวรรดิที่ก่อความโกลาหลและสงครามไปทั่ว

หนทางแก้ไขคือสหรัฐและตะวันตกต้องละทิ้งประชาธิปไตยในฐานะเป็นเครื่องมือ หันมายึดมั่นประชาธิปไตยในฐานะเป็นอุดมการณ์ร่วมกันของมนุษย์ ก็จะทำให้หลักปฏิบัติของเสรีประชาธิปไตย ได้แก่การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยเป็นสามส่วน การมีพรรคการเมืองสองหรือหลายพรรคผลัดกันหรือร่วมกันปกครองประเทศ การเลือกตั้งทั่วไป การปกครองของกฎหมาย เสรีภาพ ความเสมอภาค มีความเข้มแข็งขึ้น

แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อเกิดวิกฤติในระบบ ชนชั้นนำของสหรัฐและตะวันตกนิยมแก้ปัญหาโดยการพยายามรักษาสถานะเดิมหรือระเบียบโลกเก่าไว้ด้วยการทำระบบให้ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

จนถึงขั้นสร้างรัฐเร้นลึกที่ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ในกรณีวิกฤติเศรษฐกิจล่าสุด รัฐบาลสหรัฐก็พยายามรักษาสถาบันการเงินและบรรษัทใหญ่ไว้ เพราะว่า “มันใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม” ก่อความไม่พอใจในหมู่ประชาชนที่มีมาตรฐานการครองชีพที่ลดลง หนี้สินที่เพิ่มขึ้น เกิดภาวะประชาธิปไตยเป็นพิษในสหรัฐและตะวันตกเอง

2) ข้ออ้างที่หมดพลัง เดิมมีการอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วประเทศจะเจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจเติบโต สงบร่มเย็นเหมือนประเทศร่ำรวย

แต่ในขณะนี้ปรากฏว่าในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตก กลับมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเกิดความแตกแยกระส่ำระสายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ชนชั้นกลางล้มละลาย คนหนุ่มสาวจำนวนมากหันมานิยมแนวคิดทางสังคมนิยม เป็นต้น

3) การท้าทายจากจีน การท้าทายจากประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญจากจีนทำให้วิกฤติเสรีประชาธิปไตยร้ายแรงขึ้นอีกมาก เป็นที่สังเกตว่าจีนได้โหมการท้าทายประชาธิปไตยตะวันตกหนักขึ้น ตามความรุ่งเรืองและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตน

ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 19 ในเดือนตุลาคม 2017 ที่มีการตระเตรียมให้สี จิ้น ผิง สืบทอดอำนาจต่อไปได้ยาวนาน การสรรเสริญข้อดีของระบอบปักกิ่งและการท้าทายประชาธิปไตยตะวันตกก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น

การท้าทายจากจีนจัดได้เป็นหลายชุดด้วยกัน

ชุดแรกโจมตีประชาธิปไตยโดยทั่วไปว่าก่อความโกลาหลและวิกฤติแก่ประเทศที่นำไปปฏิบัติ ทั้งยังชี้ว่า การเลือกตั้งก็นำไปสู่เผด็จการได้อย่างกรณีของฮิตเลอร์ในเยอรมนี และมุสโสลินีในอิตาลี เป็นต้น

ชุดต่อมาโจมตีการปฏิบัติต่อประเทศต่างๆ ของสหรัฐและตะวันตกที่อ้างประชาธิปไตย ว่าชอบหักหลังทางการเมือง จิกตีประเทศอื่นเปลี่ยนนโยบายเป็นว่าเล่น และไม่ให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น

ชุดสุดท้าย ยกตัวอย่างว่า ประเทศที่ปฏิบัติประชาธิปไตยแบบตะวันตกอย่างเช่นอินเดีย เศรษฐกิจไม่รุ่งเรืองเหมือนจีน

อย่างไรก็ตาม การโจมตีท้าทายของจีนก็มีลักษณะเฉพาะ นำไปปฏิบัติในประเทศอื่นได้ยาก เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก มักต้านทานแรงกดดันแทรกแซงและการแซงก์ชั่นจากสหรัฐและตะวันตกไม่ได้

ทั้งยังไม่ผ่าน “การปลดปล่อย” ที่มีการขุดรากซากเดนสังคมเก่า และทำลายหน่ออ่อนของทุนนิยมเป็นเวลาหลายสิบปีเหมือนในจีน

ส่วนประเทศที่ใหญ่อย่างเช่นอินเดีย ก็มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และภาษาเป็นอันมาก ไม่ได้มีประชากรที่มีเอกภาพทางเชื้อชาติและลัทธิความเชื่อเหมือนจีน นอกจากนี้จีนเองก็ยังอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง การจะมีรายได้ต่อหัวใกล้กับประชากรสหรัฐยังต้องเดินทางอีกยาวไกล

REUTERS/Kenzaburo Fukuhara/Pool/File Photo

พลังของประชาธิปไตย

พลังของประชาธิปไตยในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่การมีนักปราชญ์ที่โดดเด่นจำนวนมากในยุโรปและอเมริกาได้ช่วยกันสร้างแนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาในยุคแสงสว่างทางปัญญา (ตั้งแต่ครึ่งหลังศตวรรษที่ 18) และไม่ได้อยู่ที่ผู้นำตะวันตกจำนวนมากที่ยังประกาศว่าประชาธิปไตยและมนุษยธรรมคือหลักการและค่านิยมที่เป็นแกนกลางของอารยธรรมตะวันตก เพราะว่าในทางเป็นจริงมันถูกปฏิบัติอย่างครึ่งๆ กลางๆ หรือไม่ถึงครึ่ง

พลังประชาธิปไตยในปัจจุบันอยู่ที่การเคลื่อนไหวของพลเมืองรากหญ้าที่ได้มีความตื่นตัวทางการเมืองทั่วโลก พลเมืองรากหญ้าเหล่านี้ โดยธรรมชาติและถ้าเลือกได้ ต้องการประชาธิปไตยที่มีหลักการสำคัญ ได้แก่ สิทธิการปกครองตนเองโดยเฉพาะในระดับชุมชนท้องถิ่น, การมีส่วนร่วมในการบริหารปกครองประเทศในรูปแบบต่างๆ, การปกครองของกฎหมายที่ผดุงความเป็นธรรมและความยั่งยืน, หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของการปกครอง สันติภาพ และความร่วมมือกัน

พลังประชาธิปไตยของพลเมืองรากหญ้าดังกล่าว ขณะนี้ปรากฏภาพเหมือนอยู่ในความแตกแยกแบ่งเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และสีเสื้อต่างๆ

ความสับสนงุนงง ไม่สามารถเข้าใจความเป็นไปของสถานการณ์ที่ชักใยและทำให้ซับซ้อนเกินจำเป็น

การขาดผู้นำที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

มีความอ่อนแอเนื่องจากความมั่งคั่ง อำนาจและข่าวสารรวมศูนย์อยู่ในหมู่ผู้ปกครองเพียงหยิบมือเดียว แต่ในท่ามกลางความอ่อนแอของพลเมืองรากหญ้านี้ ชนชั้นนำโลกก็มีความอ่อนแอมากเช่นกัน ไม่สามารถนำพาโลกให้พ้นวิกฤติรอบด้าน

ทั้งไม่สามารถปฏิบัติให้บรรลุผลตามที่ให้สัญญาไว้แก่ประชาชนได้ ทำให้ทั้งโลกตกอยู่ในความล่อแหลมอย่างยิ่ง

วิกฤติและโอกาสของประชาธิปไตย

จากการตรวจวัดของหลายสถาบัน พบว่าในปัจจุบันประชาธิปไตยของโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ที่สำคัญคือตัวแบบหลักได้แก่เสรีประชาธิปไตยของตะวันตกได้เสื่อมถอยไป พร้อมกับความลดลงของอิทธิพลทางเศรษฐกิจ-การทหาร-การเมือง วิกฤติดังกล่าวมีด้านที่ก่อปัญหาร้ายแรง ได้แก่ เปิดทางให้แก่ระบอบปกครองแบบรวบอำนาจรุ่งเรืองขึ้น กดขี่ปราบปรามประชาชน แต่ก็มีด้านที่เป็นโอกาส ได้แก่ การเปิดให้ประเทศต่างๆ สามารถพัฒนาประชาธิปไตยของตนไปตามจังหวะก้าวและลักษณะเฉพาะของตนสร้างความหลากหลายทางประชาธิปไตยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในสถานการณ์เช่นนี้ ชาติต่างๆ ควรต้องยอมรับว่าไม่มีประเทศใดที่เป็นอุดมคติจนเป็นตัวแบบให้ประเทศอื่นทั่วโลกต้องปฏิบัติตาม ทุกประเทศมีจุดอ่อนข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข มุ่งหน้าทำอุดมการณ์และคำสัญญาที่ให้แก่สังคมให้กลายเป็นจริง สร้างความหลากหลายของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นหลักการของประชาธิปไตยอีกอย่างหนึ่ง

อย่าให้หนทางประชาธิปไตยเงียบเหงา เพราะว่ามันมีอันตรายมาก เนื่องจากเป็นการทอดทิ้งพลเมืองรากหญ้าจำนวนมากไว้เบื้องหลัง

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงหนทางประชาธิปไตยในตุรกีและอิหร่าน