สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เรียนสุข สนุกสอน กับ sQip ตอนจบ / เมื่อเธอคือผู้ให้

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เรื่องราวของกระบวนการพัฒนาโรงเรียนด้วยเครื่องมือคุณภาพ 5 ตัว คือ Q-coach Q-Goal Q-plc Q-info และ Q-network ดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย แต่ไม่ใช่ฉากจบของโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (School Quality Improvement Program) หรือชื่อย่อ sQip

เพราะโครงการและตัวละครที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยังคงต้องเดินหน้าต่อไป อย่างน้อยจนกว่าจะจบโครงการ 2 ปี นับแต่ลงมือปฏิบัติการ 1 เมษายน 2560

เพื่อหาคำตอบร่วมกันถึงผลหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามหมุดหมายที่ตั้งไว้ โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข ภายใต้บรรยากาศ เรียนสุข สนุกสอน เพียงไร ก่อนที่จะขยายผลให้โรงเรียนอื่นๆ นำเอาระบบหรือโมเดล sQip ไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและขาดโอกาสทางการศึกษา

แนวทางการขยายผลให้ต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืนต้องทำอะไร อย่างไร ทั้งโรงเรียนเดิมในโครงการ 200 แห่งและโรงเรียนใหม่ในอนาคต

คำตอบสะท้อนจากเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการระดับโหนด หัวข้อ “โรงเรียนเป็นฐาน กระบวนการเป็นทุน หนุนนำต่อเนื่อง” ช่วงสุดท้าย ทรงวิทย์ นิลเทียน หัวหน้า Q-coach โหนด 5 กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา กล่าวสรุปพร้อมภาพบนจอ เป้าหมายของการก้าวต่อไป สิ่งที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนก็คือ

 

1.Q-Goal เป็นเป้าหมายของโรงเรียนที่ชัดเจน-เด็ก

2. Q-Plc ที่พัฒนาจากต้นกล้า—ด้วยแกร่ง ด้วยเครื่องมือ I S (จะใช้เงินจากที่ สพฐ. อุดหนุนโรงเรียนละ 9,000 บาท)

3. Q-Network ที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยเรื่อง 4 กระบวนการหลัก

4. Q-Info เป็นฐานข้อมูลในการบริหารและการจัดการเรียนรู้ของครู

5. ครูแกนนำในแต่ละโรงเรียนเพิ่มขึ้นจาก 3-6-12-ฯลฯ

6. เรื่องเล่าเร้าพลังของครูที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงตัวนักเรียนในโรงเรียนเพิ่มขึ้น

ขณะที่วันแรก อมรวิชช์ นาครทรรพ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณฺ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าคณะวิจัยติดตามโครงการเสนอหลักคิดและความรู้สำคัญในงาน sQip ระยะที่ 2 เรื่องใหญ่คือ การช่วยกันพัฒนาระบบ กระบวนการและวิธีการไปสู่เป้าหมาย หรือ Q-goal ตามบริบทโรงเรียนที่มีความชัดเจน รับรองผลได้ในระดับที่น่าพอใจ พัฒนาตนเองต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างยั่งยืน

“ระบบ กระบวนการ วิธีการเกี่ยวกับหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ การวัดผล ประเมินผล การดูแลผู้เรียน การพัฒนาครู ไปจนถึงการบริหารจัดการโรงเรียน เพียงแต่เราจะทำให้สิ่งเหล่านี้ชัดเจนขึ้น ทำซ้ำได้ ขยายผลได้ และฝังอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานที่เข้มแข็งของโรงเรียน”

ครูอมรวิชช์ย้ำ

 

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะบ้างเล็กๆ น้อยๆ ถึงประเด็นที่ได้พบในเวที ผมเทียบเคียงระหว่างกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญากับโมเดล sQip ว่า เพาะพันธุ์ปัญญาเน้นโครงงานฐานวิจัย ให้เด็กทำวิจัย เรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ความเป็นเหตุเป็นผล ครูปรับความคิด พฤติกรรมมารับฟัง กระตุ้น ถามคือสอน บันทึกความคิด มีครูแกนนำ ศูนย์พี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษา

SQip เน้นที่ระบบสร้างกระบวนการพัฒนาโรงเรียนต่อเนื่อง โดยใช้ 5 Q ที่ส่งผลถึงกันและกันเป็นเครื่องมือ มี Q-coach เป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยง มีครูแกนนำปฏิบัติการช่วยผู้บริหารโรงเรียน ทั้งสองโมเดลล้วนมุ่งเน้นให้วิชาชีวิต ทุกคนกำลังทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการศึกษาและทางสังคมครั้งใหญ่

“วัฒนธรรมอำนาจ วัฒนธรรมสั่งการจากเบื้องบน เปลี่ยนจากแนวดิ่งมาสู่แนวราบ เรียนสุข สนุกสอน ไม่น่ายาก เพียง ผอ. ลดใช้อำนาจกับครู ครูลดใช้อำนาจกับนักเรียน ลดพื้นที่แห่งความกลัว เปลี่ยนเป็นพื้นที่แห่งความรัก ความเมตตา ความอบอุ่น เป็นกันเอง สอนแบบสั่ง มาเป็นแบบ PLC สุมหัวร่วมกัน แลกเปลี่ยน ผิดถูกไม่ว่า ขอเพียงให้คิด ให้ถาม ครูคอยป้อนคำถาม ยั่วยุให้เด็กคิดเองและหาคำตอบแข่งกัน ทำให้กล้าแสดงออก สนุกสนาน แค่นี้ก็สุขแล้ว ห้องเรียนเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่แห่งความสุข ทุกห้องมีแต่รอยยิ้ม น้ำตาแห่งความปลาบปลื้ม ห่วงหาอาทร กัลยาณมิตร เพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง ประคองกันไป”

“ยิ่งได้ฟังครูท่านหนึ่งเล่าว่า ผู้อำนวยการสอนผม ทำอะไรต้องทำด้วยใจ เป็นครูไม่ใช่แค่ในชั่วโมงสอน แต่เป็นครูตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยให้เด็กเรียนรู้ความจริงในสังคมให้ได้”

ผมเก็บคำครูมาย้ำต่อตัว

 

ครับ ตลอดห้วงเวลาปีกว่า ย่างเข้าปีที่สองของโครงการ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ว่าด้วยระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่ปรึกษาโครงการ นักวิชาการ หัวหน้าโค้ช ผู้บริหาร สถานศึกษา ครู และนักเรียนจาก 10 โรงเรียน กว่า 80 คน ได้พูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงรูปธรรม ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน

ผศ.ดร.ณัฏฐภรณ์ หลาวทอง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมวิจัยติดตามผลบันทึก ว่า พบการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดกับนักเรียน ประกอบด้วย พฤติกรรมด้านการเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และเจตคติต่อโรงเรียน

พฤติกรรมด้านการเรียน นักเรียนอยากมาโรงเรียน เข้าเรียน ไม่มาสายหรือขาดเรียน มีความรับผิดชอบในการส่งงานและทำการบ้าน มีส่วนร่วมในการเรียน กล้าแสดงออก กล้าตั้งคำถาม แสดงความคิดเห็น ตอบคำถาม แสวงหาความรู้นอกห้องเรียน ผลการเรียนเพิ่มขึ้น

ความสัมพันธุ์ระหว่างครูกับนักเรียน มีความศรัทธาในตัวครู มีครูในดวงใจ ไว้ใจ กล้าปรึกษาปัญหาอื่นนอกจากการเรียนกับครู อยากทักทายเข้าพบครู รู้สึกได้รับการเอาใจใส่จากครู ช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนลดลง

ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน สนิทสนมระหว่างเพื่อนในห้องเรียนมากขึ้น มีกิจกรรมในชั้นเรียนระหว่างกันมากขึ้น พูดคุยซักถามบทเรียน เพื่อนสอนเพื่อน ช่วยกันเรียนจนเกิดความสามัคคี การทะเลาะวิวาทลดลง เจตคติต่อโรงเรียนเป็นไปในทิศทางบวก รู้สึกผูกพันกับการเรียนและโรงเรียน มีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ ไม่เครียดในการมาเรียน

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับผลการศึกษาของโครงการ Timss และ Pisa 2015 ที่พบว่า บรรยากาศของโรงเรียน ความปลอดภัยในโรงเรียน การจัดการเรียนการสอน ความสัมพันธ์กับครู การใฝ่เรียนรู้ และเจตคติของนักเรียน มีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเด็ก

 

เธอวิเคราะห์สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากปัจจัย ทั้งผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และตัวนักเรียน

“ผู้บริหารเปิดโอกาสรับฟังและเชื่อมั่นในศักยภาพครู ดึงให้ครูร่วมคิดในการทำงานของโรงเรียน มีอิสระในการทำงาน ลดทอนวัฒนธรรมอำนาจทั้งในระดับโรงเรียนและชั้นเรียน การมีสัมพันธภาพของนักเรียน ครู และผู้บริหารที่ดีขึ้น เรียนรู้ พูดคุย รับฟังและเคารพในความคิดของแต่ละฝ่าย”

ติดตามความมุ่งมั่น เสียสละ ทุ่มเทของพวกเขาทุกคนในกระบวนการ sQip ได้ฟังสุ้มเสียงทั้งของนักเรียน ครู ผู้บริหาร และโค้ชแล้ว ผมมีความหวังว่าโมเดลโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง จะเดินหน้าขยายผลต่อไปอย่างมีทิศทาง

โรงเรียนแหล่งเรียนรู้อย่างมีความสุข เรียนสุข สนุกสอน จะเพิ่มปริมาณและคุณภาพมากขึ้นๆ จาก 200 เป็น 400 เป็น 800 เป็น 1,200 จนถึงหลายพันโรง จะใช้เวลาอีกปีก็ตาม ไม่สำคัญ ขอให้เริ่มตั้งแต่วันนี้ เพราะความสุขเกิดขึ้นทันที เมื่อเราได้ลงมือทำเพื่อผู้อื่น เราเป็นผู้ให้

โดยเฉพาะให้โดยไม่หวังผลตอบแทน