เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ว่าด้วยผลกรรม 3 ระดับ

จับเข่าคุยเกี่ยวกับเรื่องกรรมมาหลายคราแล้ว (จนเข่าด้านแล้วมั้ง) ยังไม่จบ ยังมีเรื่องที่จะต้องย้ำเป็นพิเศษคือ กรรมเป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

ไม่ใช่เรื่องตายตัวที่ถูกกำหนดมาโดยอำนาจสูงสุดใดๆ

เราทำกรรมเอง ดีหรือชั่ว เราเป็นผู้ทำขึ้นมา แล้วเราก็แก้ไขเองได้ เรื่องของกรรมเป็น “อัตโนลิขิต” (ตัวเองเป็นผู้ลิขิตผู้สร้าง) ไม่ใช่ “เทวลิขิต” (เทพสร้าง) หรือ “พรหมลิขิต” (พรหมสร้าง)

พูดให้เห็นง่ายๆ เราอยากเป็นด๊อกเตอร์ (ด๊อกเตอร์ปริญญาเอก มิใช่ด๊อกเตอร์นวด) ใครทำให้ เราทำเองทั้งนั้น เราต้องขยันหมั่นเพียรเรียนหนังสือ ไต่เต้าขึ้นไปจากประถม มัธยม มหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี โท แล้วก็ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ใครทำให้ เราทำเอง คร่ำเคร่งเรียนแทบเป็นแทบตาย กว่าจะได้ปริญญามา

ทั้งหมดนี้คือกฎแห่งกรรม กฎแห่งการกระทำ ที่เราสร้างเอง คนอื่นมีส่วนเพียงช่วยอุดหนุนภายนอกเท่านั้น

อีกสักตัวอย่างหนึ่ง มหาโจรชื่อดัง ถูกประกาศจับตาย หนีหัวซุกหัวซุน ในที่สุดถูกจับได้ ศาลพิพากษาประหารชีวิต เพราะไปก่อกรรมทำเข็ญไว้มากมายหลายคดี

ก่อนตายโอดครวญว่า สังคมโหดร้ายต่อเขา บังคับให้เขาเป็นโจร

หนังสือพิมพ์รายงานข่าวอย่างละเอียดว่า มหาโจรคนนี้เดิมเป็นเด็กยากจน ไปหลงรักลูกสาวคหบดี เมื่อถูกกีดกันก็ฉุดลูกสาวเขา ถูกตำรวจจับฐานพรากผู้เยาว์

ตอนหลังคนรักที่ว่ารักกันแทบจะกลืนก็เปลี่ยนใจบอกว่าถูกข่มขู่ข่มขืน ออกจากคุกแค้นมาก เอาระเบิดไปถล่มคนรักตายเรียบพร้อมครอบครัว ตั้งแต่นั้นมาก็กลายเป็นไอ้มหาโจรปล้นฆ่า ข่มขืนไม่รู้ว่ากี่ศพต่อกี่ศพ ผลที่สุดถูกจับถูกพิพากษาประหารชีวิตดังกล่าว เขาว่าเขาถูกบังคับให้เป็นโจร

ความจริงเขากลายเป็นโจรก็เพราะการกระทำของเขาเอง สังคมมิได้บังคับให้เขาเป็น คนที่อยู่ในสังคมเช่นเดียวกับเขา และถูกเอารัดเอาเปรียบพอๆ กัน หรือมากกว่าเขาก็มีไม่น้อย ทำไมเขาไม่เป็นโจรล่ะ

นี่แหละครับที่พระท่านว่า คนเราจะเป็นอะไรก็เพราะ “กรรม” (การกระทำ) ของตนเอง อย่างนี้ไม่เรียกว่า “อัตโนลิขิต” แล้วจะให้เรียกว่าอะไร

เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปตามนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะสัก 99.9 เปอร์เซ็นต์อะไรทำนองนั้น ส่วนที่เหลือก็เผื่อไว้ให้ “เงื่อนไข” อื่นเข้ามาแทรกบ้าง

อย่างไรก็ตาม ผลดีผลชั่วของกรรมนั้น ควรพิจารณาถึง 3 ระดับ จึงจะเข้าใจชัดคือ

1. ผลดีผลชั่วระดับสังคม สังคมเราถือสิ่งใดว่าดีหรือไม่ดี สิ่งนั้นแหละเรียกว่าดีชั่วระดับสังคม เช่น ในสังคมวัตถุนิยมอย่างปัจจุบัน เราถือว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ความร่ำรวย เป็นสิ่งที่ดี ตรงข้ามจากนี้ว่าเป็นสิ่งไม่ดีหรือสิ่งที่ชั่ว พอใครพูดว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ก็นึกแล่นไปถึงสิ่งเหล่านี้ “อ้อ ทำดีต้องได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขและความรวย ทำชั่วต้องได้ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ทุกข์และความจน”

ครั้นเห็นใครทำดีไม่ได้เลื่อนยศสักที หรือยิ่งทำดีก็ยิ่งจนลงๆ ก็ชักจะไขว้เขวแล้วว่า “เอ ทำดีทำไมไม่ได้ดี” หรือเห็นคนทำชั่ว (โกง เห็นชัดๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ) แต่กลับได้เลื่อนยศ และรวยเห็นทันตา ก็งงว่า “เอ ไอ้หมอนี่ทำชั่วเห็นชัดๆ ทำไมได้ดี”

จึงขอเรียน (ความจริงไม่ต้องเรียน เพราะค่าเทอมแพง ขอพูดเลย) ว่าความจน ความรวย ลาภเสื่อมลาภ ยศเสื่อมยศ สรรเสริญนินทา สุขทุกข์ มิใช่ผลโดยตรงของกรรมดีกรรมชั่วดอกครับ ถ้ามันจะเป็นผลก็ขอให้ถือว่าเป็นเพียง “ผลพลอยได้”

ทำดีก็รวยได้ ทำชั่วก็รวยได้เช่นกัน ทำดีก็จนได้ ทำชั่วก็จนได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ควรถือเอามาเป็นผลโดยตรงของกรรมดีกรรมชั่ว

2. ผลดีผลชั่วระดับบุคลิกภาพและอุปนิสัย กรรมที่ทำลงไป ทำให้เกิดผลในการสร้างเสริมลักษณะนิสัย ปรุงแต่งลักษณะความประพฤติ การแสดงออกต่างๆ ด้านดี เช่น ความมีเมตตาอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่อิจฉาริษยา ไม่อาฆาตพยาบาท ด้านชั่ว เช่น ใจแคบ มุ่งร้าย วู่วาม ก้าวร้าว

สิ่งเหล่านี้ มิใช่อยู่ๆ เป็นขึ้นมาเอง หากเป็นผลของการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนหล่อหลอมเป็นอุปนิสัยใจคอของคนคนนั้น

3. ผลดีผลชั่วระดับพื้นของจิต กรรมที่ทำลงไปแต่ละครั้งเป็นการสั่งสมคุณภาพของจิต พูดอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการ “ประทับลงไปในจิต” จนกลายเป็น “พื้น” ของจิต จิตนั้นเหมือนผ้าขาว การกระทำแต่ละครั้งดุจเอาสีแต้มลงไปที่ผืนผ้า ทำดีทีก็ดุจเอาสีขาวแต้มลงที ทำชั่วทีก็ดุจเอาสีดำแต้มลงที อะไรทำนองนั้น

ทุกครั้งที่เราด่าหรือนินทาคนอื่นเราได้สร้างเชื้อแห่งความไม่ดี ซึ่งทางศาสนาเรียกว่า “กิเลส” หรือ “อาสวะ” ขึ้นในใจ ทำให้สภาพจิตตกต่ำ มัวหมอง หากทำเช่นนี้บ่อยๆ จิตจะหยาบกระด้างขึ้น มีคุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ

ตรงกันข้าม ถ้าเราทำแต่สิ่งที่ดีงาม เช่น คิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือคนอื่น ทำบุญทำทานอยู่เสมอ พลังฝ่ายดีจะสะสมในจิตใจเป็นพื้นของจิต สร้างคุณภาพและสมรรถภาพที่ดีแก่จิต

สรุปให้เข้าใจง่ายก็คือ การทำดีหรือทำชั่วแต่ละครั้งนั้น มีส่วนช่วยให้พื้นของจิตละเอียดหรือหยาบขึ้นได้ ความละเอียดประณีตและความหยาบกระด้างของจิตมิใช่อยู่ๆ จะเป็นขึ้นมาเอง ย่อมมีการสะสมการกระทำ (กรรม) ต่อเนื่องมาเป็นลำดับจนกลายเป็นการกระทำที่ปกติ

อาแปะคนหนึ่งเชือดคอเป็ดทุกเช้า เพราะแกมีอาชีพทำก๋วยเตี๋ยวเป็ดขาย แกกระทำเช่นนี้ทุกเช้าจนชิน ไม่รู้สึกขวยเขิ เหนียมอายแต่อย่างใด

สภาพจิตของอาแปะแกหยาบกระด้าง ไม่มีหิริโอตตัปปะแม้แต่น้อย

เมื่อครั้งเชือดคอเป็ดตัวแรกในชีวิต แกมือไม้สั่น จิตใจกล้าๆ กลัวๆ แต่พอเชือดตัวที่สองที่สามที่สี่… ความรู้สึกเช่นนั้นค่อยๆ หายไป จนกระทั่งไม่เป็นเรื่องผิดแต่ประการใด นี้แสดงว่าผลของการกระทำนั้นทำให้จิตใจหยาบกระด้างขึ้น

อาตี๋อีกคนมีอาชีพขายลูกน้ำ เดิมทีก็ไม่คิดอะไร ต่อมาได้อ่านหนังสือธรรมะและได้คุยกับผู้รู้ และผู้รู้นั้นก็มาเยี่ยมที่ร้านบ่อยๆ ทำให้เกิดความละอายว่าตนมีอาชีพเบียดเบียนสัตว์ จึงเลิกขายลูกน้ำ ดัดแปลงร้านให้เป็นร้านขายหนังสือธรรมะในเวลาต่อมา

ไม่ต้องบอกก็ได้ว่า สภาพจิตของอาตี๋คนนี้ เริ่มละเอียดประณีตขึ้น เพราะเป็นผลของการกระทำดี (สนทนาธรรม, พิมพ์หนังสือธรรมะเผยแพร่…)

สรุปว่า ผลดีผลชั่วระดับสังคม ไม่ควรถือเป็นผลโดยตรงของกรรมดี กรรมชั่ว ผลดีผลชั่วระดับบุคลิกภาพและอุปนิสัย กับผลดีผลชั่วระดับพื้นของจิตเท่านั้น ที่จัดว่าเป็นผลของกรรมดีกรรมชั่ว ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หมายเอาดีชั่วสองระดับนี้ ทำดีแล้วอุปนิสัยและบุคลิกดีขึ้น พื้นจิตใจสะอาดประณีตขึ้น ทำชั่วแล้วอุปนิสัยและบุคลิกเลวลง พื้นจิตใจสกปรกหยาบกระด้างขึ้น

ผลของกรรมเห็นจะจะอย่างนี้แหละสีกาเอ๋ย