จัตวา กลิ่นสุนทร : ย้อนเวลาเรียบเรียงความทรงจำ ยามย่ำแดนไกลในวัยหนุ่ม ตอนที่ 10

1สัปดาห์ในแอลเอ (L.A.) กับการเดินทางไปยังรัฐใกล้เคียงรวมทั้งลาสเวกัส (Las Vegas) ทำให้พวกเรามีความสุขมากทีเดียว แม้เราจะไม่ได้เข้าพักในโรงแรมหรูหรา แต่ได้รับความอนุเคราะห์จากครอบครัวของเพื่อนรัก และชาวศิลปากรรุ่นน้อง

เป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เรียนจบประติมากรรม ส่วนฝ่ายหญิงเป็นบัณฑิตคณะโบราณคดี พบรักกันจากศิลปากร ตั้งใจเดินทางมาแสวงหาศึกษาต่อจนได้ลงหลักปักฐานยังสหรัฐ เริ่มได้ทำงานปั้นตามถนัด และซื้อบ้านที่ลาสเวกัส (Las Vegas-Nevada) ซึ่งให้เราใช้เป็นที่พักเมื่อครั้งเดินทางเยือนเมืองดังกล่าว

ทั้งสองคนเคยเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านยังเมืองไทย พร้อมจัดธุระบางอย่าง เราได้พบกันก่อนที่วันเวลาจะเปลี่ยนแปลงทำให้ขาดการติดต่อกันไปอย่างถาวร ทั้งๆ ยังระลึกถึงน้องทั้งสองอยู่เสมอ

เคยสอบถามกับ “ศิลปินสองซีกโลก” กมล ทัศนาญชลี ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในสหรัฐ ผู้ชักนำเราได้เชื่อมต่อรู้จักกัน จึงได้รู้ว่าทั้งสองคนกลับมาทำงานในเมืองไทยแล้ว

โดยฝ่ายชายกลับมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในสาขาวิชาที่เขาถนัดจัดเจนเพราะได้ศึกษาจบมาโดยตรง ส่วนฝ่ายหญิงไม่ทราบเช่นเดียวกัน

 

เก็บเรื่องนี้มาเขียนบอกกล่าวเพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าแผ่นดินใหญ่โตในสหรัฐมิได้เป็นสวรรค์ของนักแสวงหาทุกคน ส่วนใหญ่ต้องทำงานหนักต่อสู้เพื่อความอยู่รอด จริงอยู่คนที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพย่อมต้องมีอยู่ บางทีก็ขึ้นอยู่กับโชคด้วยเหมือนกัน

มีความเชื่อว่าบ้านเรายังอบอุ่นน่าอยู่น่าอาศัยไม่น้อยกว่าบ้านเมืองอื่นๆ ถึงแม้เราจะยังไม่เคยได้ชิมลาง “ประชาธิปไตย” กันสักแค่ไหน ประชาชนยังเป็นผู้ถูกปกครอง ไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของ “อำนาจอธิปไตย”

ผู้นำรัฐบาลส่วนมากยังเข้าใจว่าเขาเป็นนายประชาชน ทั้งๆ ที่มาจากการ “ยึดอำนาจ” ไม่ได้มาโดยการเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ยินยอมพร้อมใจให้พวกเขาเข้ามาบริหารประเทศ แต่เมื่อใช้อำนาจปืนบริหารได้สักระยะหนึ่งกลับหลงใหลอำนาจ เสพติดอำนาจไม่ต้องการลง หลอกตัวเองว่าประสบความสำเร็จทั้งๆ ที่มีแต่ความโง่เง่าออกมาให้ประชาชนได้เห็นทุกวัน ทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ไม่ฟังเสียงใครอีกต่อไป?

เมื่อเกิดการผิดพลาดจนผู้คนอดอยากยากจน “เศรษฐกิจ” ของประเทศตกต่ำเกิดความเสียหาย ก็ไม่สามารถถอดถอนเขาออกไปได้ ยังคงดึงดันทำลายประเทศต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินอนาคตของเขาเอง บริหารประเทศแบบกดขี่ข่มขู่เป็น “เผด็จการ” ไม่มีฝ่ายตรวจสอบคัดค้าน แต่ถึงแม้จะท้วงติงอย่างไร ก็ไม่ฟัง ฟังแต่เสียงสนับสนุนประเภทสอพลอเพราะมันหวานระรื่นหู สุดท้ายย่อมจะจบไม่สวยเหมือนดังประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านๆ มา

เคยเปรยกับเพื่อนๆ อาชีพสื่อหนังสือพิมพ์ระหว่างพบปะเลี้ยงข้าวปลาอาหารกันในแอลเอ (L.A.) นานมากแล้วว่า ถ้าหากจะลงหลักปักฐานทำมาหากินในสหรัฐควรทำอาชีพอื่นๆ อย่าไปยึดอาชีพ “หนังสือพิมพ์”

เพราะมันไม่มีทางไปรอด?

 

สืบเนื่องจากว่าเมื่อสักราวร่วม 40 ปี ถ้าไม่นับร้านอาหารแล้วมีการออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยกันมากพอสมควร เนื่องจากในแอลเอ (L.A.) มีคนไทยอาศัยจำนวนมากกว่าในรัฐอื่นๆ และมีธุรกิจของคนไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งสามารถให้การสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในรูปของการลงโฆษณาได้พอสมควร

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น

แต่ยังมีเพื่อนรักบางคนยึดอาชีพผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยประจำสหรัฐอเมริกาอยู่พร้อมๆ กับทำหนังสือพิมพ์ไทยในสหรัฐอยู่ทุกวันนี้ แต่ก็เป็นไปพร้อมๆ กับประกอบอาชีพอื่นด้วย ซึ่งคาดหมายว่าคงมีความจำเป็นต้องต่อสู้เพื่ออนาคตของลูกหลานซึ่งหอบหิ้วไปอยู่ประเทศนั้นทั้งหมด

เพื่อนเหล่านี้ไม่เคยลืมเลือนกัน ยังให้การต้อนรับดูแลครอบครัวของเรายามเยือนสหรัฐ แม้กระทั่งเมื่อเดินทางกลับมาจากรัฐอื่นเพื่อขึ้นเครื่องของการบินไทย (ขณะนั้น เนื่องจากทุกวันนี้ไม่มีบินเส้นทางนี้แล้ว) กลับบ้านยังสนามบินแอลเอ (L.A.)

เนื่องด้วยมีเวลาเหลือเฟือพอจะพาไปรับประทานอาหารยังร้านอาหารไทยไม่ไกลจากสนามบินได้

 

ถึงเวลาเดินทางออกจากลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (Los Angeles, California, USA) สู่เป้าหมายคือเมืองดิ มอยน์ มลรัฐไอโอวา (Des Moines-Iowa) ตามกำหนด

บอกตามตรงว่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อจะใช้เวลาอยู่แอลเอ (L.A.) มากกว่า 1 อาทิตย์ เพราะเริ่มที่จะสนุกสนานสำราญบานใจสะดวกสบายพอสมควร

ขณะเดียวกันยังไม่ได้พบกับเพื่อนพ้องที่ต้องการจะได้พบอีกหลายคน และยังไม่ได้ไปเมืองใกล้เคียงติดต่อกันที่น่าสนใจอีกหลายเมือง

เพราะหนนี้มีเวลาไม่พอให้เดินทางไปถึงยังดินแดนแห่งหุบเหวและหินผา อุทยานแห่งชาติแกรนด์ แคนยอน (Grand Canyon)

ระหว่างนั่งเครื่องจากลอสแองเจลิสสู่สนามบินนานาชาติ “ชิคาโก โอแฮร์” เมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเครื่องไปสู่เมืองต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก กระทั่งสนามบินแห่งนี้แน่นขนัดมาก ทั้งๆ ที่มีขนาดใหญ่มาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำไม่น้อย

อดนึกถึงภาพเก่าๆ เมื่อครั้งพาคุณแม่นั่งรถเข็นเดินจนรอบสนามบินเพื่อต่อเครื่องซึ่งย่อมยุ่งยากมากพอดูกับการเดินทางครั้งแรกเมื่อ 30 กว่าปี

 

ครั้งนี้คณะของเราไม่ยุ่งยากอะไรเนื่องจากเคยเดินทางมาครั้งหนึ่งแม้จะนานมากแล้วก็ตาม แต่เราได้พยายามศึกษาและได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ ขณะเดียวกันโลกของเทคโนโลยีเริ่มจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วถึงแม้จะไม่เทียบเท่าทุกวันนี้ แต่มันก็ช่วยให้สาวน้อยซึ่งกำลังศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษามีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้เรื่องการเดินทางอย่างมาก

เราต้องเปลี่ยนเครื่องภายในประเทศเข้าสู่เมืองดิ มอยน์ ซึ่งใช้เวลาบินไม่ถึงชั่วโมง

สำหรับตัวเองบอกตรงๆ ว่าไม่ค่อยจะรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกับการเดินทางมาคราวก่อน ยกเว้น 2 สาวน้อยซึ่งเพิ่งจะเดินทางมาครั้งแรก แต่เขาเคยได้พบกับน้องของหุ้นส่วนชีวิต และภรรยาชาวลาวอพยพกับผลิตผลมาก่อนขณะเดินทางมาเมืองไทย

หลายอย่างกับสิ่งซึ่งค้างคาใจอยู่ในความรู้สึก เพียงแต่ว่ามันยังไม่ได้ปรากฏชัดแจ้งออกมาเท่านั้น เป็นส่วนหนึ่งทำให้มีอาการเฉยๆ

ขณะเดียวกันบังเอิญเริ่มมองเห็นนิสัยใจคอของฝ่ายหญิงซึ่งเป็นลาวอพยพ (ลูกผสมเวียดนาม) ที่ออกอาการจุ้นจ้านวุ่นวายมาก และละโมบโลภมากจนเห็นได้ชัดขึ้นในทุกๆ ครั้งที่เขาเดินทางสู่เมืองไทยด้วยกิจอันเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์เรื่องทรัพย์สมบัติจากพินัยกรรมของคุณแม่ซึ่งถึงแก่กรรมลง

ที่ยังไม่ชัดเจนจนรับรู้ได้ก็เพราะเขายังได้รับความร่วมมือกับผู้คนทางเมืองไทยพร้อมทั้งบรรดาญาติบางคนที่เหน็บมีดไว้ข้างหลังตลอดเวลาในการพบปะเจรจากับญาติด้วยกันเรื่องผลประโยชน์ ให้ความร่วมมืออยู่ช่วยกันปกปิด

แต่แน่เหลือเกินว่าของเทียมประเภททองไม่แท้นั้นจะปกปิดอย่างไร ในที่สุดมันก็จะลอกออกให้เห็นเนื้อแท้

การเดินทางครั้งนี้จึงพยายามปล่อยไหลไปตามน้ำเพื่อรอให้ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏออกมาเอง ในเวลาเดียวกันต้องรักษามารยาท เก็บอาการเนื่องจากเป็นญาติสนิทของหุ้นส่วนชีวิต ค่อยๆ ปล่อยให้เขาได้รู้แจ้งเห็นจริงเอาเองดีกว่า

 

และดังที่กล่าวว่าการเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นจากคำเชื้อเชิญของคนเมืองไกล เพื่อจะได้เดินทางต่อไปด้วยกิจธุระยังเมืองอื่นๆ ในต่างรัฐอีกอย่างน้อยเป็นอาทิตย์ อันที่จริงก่อนตัดสินใจเดินทาง หุ้นส่วนชีวิตพยายามปฏิเสธอย่างแข็งขันแล้ว สุดท้ายด้วยความเกรงใจแต่สุดทัดทาน เพราะเราเข้าใจว่ามันมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่ครอบครัวของเราได้พยายามช่วยเหลือแบ่งเบาไม่น้อย

เป็นไปตามสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลงกับการต้อนรับจากกลุ่มชาวลาวอพยพในเมืองดิ มอยน์ ไอโอวา เราต้องไปรับเลี้ยงอาหารจากบ้านต่างๆ ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันเป็นส่วนใหญ่

ขณะเดียวกันต้องเตรียมของฝากไปให้กับทุกบ้าน พร้อมเลี้ยงตอบแทนกลับทุกๆ บ้าน

ดูเหมือนว่าเป็นประเพณีของคนลาวอพยพหรืออย่างไรกัน? ทั้งที่เป็นเพียงแค่การรักษาหน้าตา

แต่ในความมืดย่อมต้องมีแสงสว่างเสมอ คือในบรรดาญาติโยมซึ่งเรียกไม่ถูกว่าโยงใยกันมาอย่างไร แต่ชะตาต้องกัน คือเป็นรุ่นเด็กลงมายังพอมีความเข้าใจในหลายสิ่งอย่าง เขาเหล่านี้เคยได้รับการต้อนรับจากครอบครัวของเราอย่างเต็มที่ด้วยความจริงใจขณะเดินทางมาเมืองไทย ได้เสนอตัวเข้ามาพาเที่ยวบ้าง ไปเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรเพื่อทำลายเวลาให้หายเบื่อลงได้บ้าง มิใช่บินมายาวไกลเพียงเพื่อแค่เที่ยวเยี่ยมเยียนทำความรู้จักญาติจากไหนก็ไม่รู้

ก่อนออกเดินทางสู่นครนิวยอร์ก “New York City” (NYC) เมืองใหญ่ที่สุด เจริญก้าวหน้ามากที่สุดของสหรัฐในยามที่ไร้ “ตึกแฝด” สัญลักษณ์คู่เมือง

เพื่อต่อไปยังเมืองอื่นๆ อีกหลายเมือง จนได้เก็บเรื่องราวมาเล่าขานได้นานปี