ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 มิถุนายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
ผู้เขียน | ชนัดดา ชินะโยธิน [email protected] |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต ฟรานซิสกู วาช ปาตตู ฉลอง 500 ปีสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าไทย-โปรตุเกส (1)
วันนี้เราหลบความวุ่นวายจากถนนเจริญกรุงเข้าสู่ตรอกกัปตันบุช อันเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลแห่งแรกในประเทศไทย ชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับสยามเมื่อปี ค.ศ.1511 ก็คือโปรตุเกส
และ ค.ศ.1518 ไทยและโปรตุเกสได้ตกลงทำสนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีฉบับแรก
สถานกงสุลโปรตุเกสซึ่งเป็นสถานกงสุลแห่งแรกในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ภายหลังได้รับการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสำนักงานของสถานทูตโปรตุเกสและทำเนียบทูต
หลังจากที่มีชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาของประเทศไทยมากขึ้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 จึงพระราชทานที่ดินในตรอกกัปตันบุชให้แก่พระราชินีมาเรียแห่งโปรตุเกส เพื่อสร้างเป็นที่พำนักสำหรับกงสุลโปรตุเกสสมัยนั้น
และให้เป็นศูนย์กลางแก่ชาวโปรตุเกสในประเทศไทย ได้มีการปรับปรุงอาคารหลังนี้และต่อเติมเรื่อยมาด้วยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ต่อมาได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี ค.ศ.1984
ปัจจุบันเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ฟรานซิสกู วาช ปาตตู (His Excellency Mr. Francisco de Assis Morais e Cunha Vaz Patto) มาประจำประเทศไทยเข้าสู่ปีที่สามแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ.2015 และให้เกียรติมาสนทนาในคอลัมน์ “คุยกับทูต” ฉบับเดือนมีนาคม และกุมภาพันธ์ ค.ศ.2016 มาแล้วด้วย
“ในโอกาสที่ ค.ศ.2018 เป็นวาระครบรอบ 500 ปีสนธิสัญญามิตรภาพและการค้า (Pact of Friendship and Trade) ฉบับเเรก ระหว่างโปรตุเกสและสยาม เราจึงเตรียมการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ เพราะเป็นช่วงที่ทูตคณะแรกจากโปรตุเกสเดินทางมาถึงอยุธยา คือกลางปี ค.ศ.1518”
สำหรับโปรตุเกส การเข้ามาดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ทางการค้า โดยมีสินค้าที่เป็นที่ต้องการ มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องอาหาร และสามารถเกื้อหนุนอำนาจทางการค้าและการรบทางทะเลแก่โปรตุเกสได้
สยามเป็นหนึ่งในเมืองท่าค้าขายที่โปรตุเกสสนใจที่จะดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย เนื่องจากสยามมีเมืองท่าทางด้านตะวันตกฝั่งทะเลอันดามัน อันจะเชื่อมโยงไปสู่การทำการค้ากับพะโค และอินเดีย คือ เมืองตะนาวศรี จังซีลอน (ภูเก็ต) ตรัง และไทรบุรี ส่วนเมืองท่าทางตะวันออกฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ปัตตานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี และปราณบุรี
“อย่างไรก็ตาม เราได้จัดงานเฉลิมฉลอง 500 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและโปรตุเกสไปแล้วเมื่อปี ค.ศ.2011 ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีกับประเทศตะวันตก”
ท่านทูตฟรานซิสกู วาช ปาตตู กล่าว
เนื่องจากโปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามายังสยามตั้งแต่ ค.ศ.1511 การดำเนินความสัมพันธ์กับโปรตุเกสจึงส่งผลให้มีการติดต่อค้าขาย การเผยแผ่ศาสนา การอพยพของชาวโปรตุเกสเพื่อมาตั้งถิ่นฐานยังกรุงศรีอยุธยา
ดังที่ปรากฏชุมชนของชาวโปรตุเกสในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นอกจากนี้แล้ว โปรตุเกสยังส่งผ่านความรู้ทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมอันหลากหลายแก่สยาม กลายเป็นมรดกตกทอดในความรู้ทางภูมิศาสตร์ แผนที่ เทคโนโลยีการเดินเรือ การผลิตอาวุธสงคราม วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
รวมไปถึงแรงบันดาลใจการสร้างป้อม กำแพงเมือง และสถาปัตยกรรม อันเกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมสยาม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของสยาม
และยังปรากฏร่องรอยอย่างชัดเจนในรูปของโบราณสถาน ลักษณะทางสถาปัตยกรรม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อปี ค.ศ.1518 ดูอาร์ตึ โกแอลยู (Duarte Coelho) ราชทูตของกษัตริย์แห่งโปรตุเกส His Majesty Dom Manuel I เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อยืนยันข้อตกลงสันติภาพกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และเสนอข้อตกลงด้านการค้าระหว่างสยามกับโปรตุเกส
ก่อนหน้านี้คณะทูตโปรตุเกสที่เดินทางมาเยือนกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี ค.ศ.1511 ได้หารือกันเรื่องสนธิสัญญาสันติภาพนี้แล้ว ส่วนข้อตกลงทางการค้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับอาวุธปืน กระสุนปืน และปืนใหญ่ของโปรตุเกสนั้น พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทรงมอบสิทธิพิเศษทางการค้าแก่ชาวโปรตุเกส และให้ความช่วยเหลือชาวโปรตุเกสในการตั้งถิ่นฐานในหลายพื้นที่ของราชอาณาจักร รวมทั้งให้เสรีภาพทางศาสนา
เป็นผลให้ทั้งสองประเทศทำความตกลงกันในสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าฉบับแรกระหว่างราชอาณาจักรสยามกับประเทศตะวันตก
“ปีนี้เราจึงจัดพิธีเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 500 ปีสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าไทย-โปรตุเกส เริ่มจากการที่ผมไปบรรยายเรื่อง กว่า 500 ปีแห่งมิตรภาพที่ยั่งยืน (Uma Amizade Duradoura : Over 500 Years of Enduring Friendship) ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นการเสนอภาพรวมของเหตุการณ์ที่นำไปสู่สนธิสัญญามิตรภาพและการค้าเมื่อปี ค.ศ.1518 ทั้งนี้ จากความสัมพันธ์อันสงบสุขและมิตรภาพอันยืนยงของเรา ได้ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ การค้า และวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศเป็นอย่างมาก”
“สำหรับพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการนั้นจัดขึ้นในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ อันเป็นงานเลี้ยงฉลองวันชาติแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย โดยมีผู้แทนรัฐบาลไทย คณะทูตานุทูต ผู้นำด้านวัฒนธรรมและธุรกิจ ตลอดจนบุคคลในวงสังคมไทยและชุมชนโปรตุเกสเข้าร่วมงาน ในโอกาสนี้จะมีการแลกเปลี่ยนจดหมายอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของโปรตุเกสและไทยด้วย”
“กิจกรรมต่อมาในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ เป็นการเสนอผลงานทางดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์โดยนักดนตรีชาวโปรตุเกสชื่อดังระดับโลก คูดริกู ลีเอา (Rodrigo Leão) ชุด OS PORTUGUESES – THE PORTUGUESE ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย การแสดงนี้ประกอบด้วยการแต่งเพลงที่ร้องในภาษาโปรตุเกส ควบคู่ไปกับเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สำหรับสารคดีทางทีวีเจ็ดตอน ในชุด โปรตุเกส-ภาพทางสังคม อันเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสังคมโปรตุเกสในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา”
“นักวิจารณ์อธิบายว่า เพลงของ Leão เปรียบเสมือนกับการถ่ายทำภาพยนตร์อย่างมีแบบแผนและสุนทรีย์ Leão เคยร่วมทำเพลงประกอบภาพยนตร์และสารคดี นอกจากนี้ ยังแต่งเพลงให้ผู้กำกับฯ Wim Wenders ใน Lisbon Story (1994) และเป็นผู้ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Butler (2013) ของ Lee Daniels ที่นำแสดงโดย Forest Whitaker”
กิจกรรมสำคัญอื่นๆ ในโอกาสพิเศษดังกล่าวมีทุกเดือนตลอดปีนี้ ซึ่งจะกล่าวในบทต่อไป
ท่านทูตฟรานซิสกู วาช ปาตตู กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 500 ปีแห่งสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าไทย-โปรตุเกสฉบับแรกในปีนี้ว่า
“นอกจากจะเป็นการรำลึกถึงช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่แล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันมาอย่างยาวนานระหว่างไทย-โปรตุเกส และเป็นโอกาสที่จะเปิดตัวพันธมิตรใหม่ๆ”
“รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ที่อาจนำไปสู่การทำงานร่วมกันข้ามวัฒนธรรมระหว่างประเทศ คือโปรตุเกสและไทยได้ดียิ่งขึ้นต่อไป”