โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ/เปิดที่มาพระสมเด็จเหม็น หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง วัตถุมงคลชื่อดังเพชรบุรี

หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ  [email protected]

 

เปิดที่มาพระสมเด็จเหม็น

หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง

วัตถุมงคลชื่อดังเพชรบุรี

 

“หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม” หรือ “พระครูวินัยวัชรกิจ” อดีตเจ้าอาวาสวัดตาลกง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเลื่องลืออีกรูป
พระเครื่องและวัตถุมงคลที่จัดสร้าง-ปลุกเสกไว้ ล้วนเป็นที่ปรารถนา มีหลายรุ่น ได้รับความนิยมสูง
ครั้งหนึ่งเคยสร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยม คล้ายพระสมเด็จของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เซียนพระและนักสะสมนิยมเรียกขานว่า “พระสมเด็จเหม็น”
เหตุแห่งการสร้างนั้น ด้วยครั้งหนึ่งอุโบสถหลังเก่าของวัดตาลกงมีอายุ 160 กว่าปี มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก หลวงพ่อผิว เจ้าอาวาสขณะนั้นชราภาพมาก จึงให้หลวงพ่ออุ้นรับผิดชอบดำเนินการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น
ภายในอุโบสถหลังเก่านี้ หลวงพ่อตุ้ม อดีตเจ้าอาวาส เคยนิมนต์หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี มาทำผงอิทธิเจ บรรจุได้ 1 โอ่ง ประมาณปี พ.ศ.2447
ต่อมา พ.ศ.2495 หลวงพ่ออุ้นได้นำมาเก็บรักษาไว้ และนำมาผสมกับผงพุทธคุณที่มี แล้วบดผสมข้าวปากบาตรและข้าวก้นบาตร กดพิมพ์ทำเป็นพระผงสมเด็จคะแนนขึ้น
ส่วนหนึ่งนำไปบรรจุในอุโบสถหลังใหม่ และส่วนหนึ่งแจกพุทธศาสนิกชน

พระสมเด็จเหม็น หรือพระสมเด็จพิมพ์คะแนน จำนวนการสร้างประมาณ 84,000 องค์ ผสมผงอิทธิเจ ผงปัทมัง ผงมหาราช ของหลวงพ่ออุ้น ผสมกับผงอิทธิเจของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ บรรจุอยู่ในอุโบสถหลังใหม่ จำนวน 50,000 องค์ แจกออกไปให้บูชาประมาณ 30,000 กว่าองค์
ลักษณะแบ่งได้ดังนี้ มียันต์หลัง ว.ต.ก. (ย่อมาจาก วัดตาลกง) ชัดเจนอยู่ประมาณ 4,000 องค์, มียันต์หลังและคำว่า ว.ต.ก. ไม่ชัดเจนเนื่องจากป้ายสีผึ้งอยู่ประมาณ 30,000 องค์ และมียันต์หลังไม่ชัดเจนเนื่องจากพิมพ์สึกจนเลือนรางประมาณ 50,000 องค์
สำหรับเนื้อที่พิมพ์ยันต์หลังชัดเจน จะมีเนื้อลองพิมพ์เป็นสีแดงอมน้ำตาลประมาณ 500 องค์ เนื้อแก่น้ำมันประมาณ 2,500 องค์
องค์พระทั้งหมดนำมารวมกัน และประกอบพิธีปลุกเสกตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2505 รวมระยะเวลาปลุกเสกนานถึง 8 ปี จึงได้นำออกแจกจ่ายให้สานุศิษย์
เหตุที่เรียกขานกันว่า “พระสมเด็จเหม็น” เนื่องจากองค์พระมีกลิ่นเหม็น เกิดจากข้าวก้นบาตรที่นำไปหมักผสมกับผงต่างๆ เหม็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการหมักนานเพียงใด
หลังจากพระสมเด็จเหม็นนำออกมาแจกจ่าย ปรากฏว่าผู้นำไปอาราธนาพกพาติดตัว ต่างประจักษ์พุทธคุณซึ่งเปี่ยมล้นครบทุกด้าน
ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

พระสมเด็จเหม็น

หลวงพ่ออุ้นเกิดในสกุลอินพรหม เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2459 ที่บ้านหนองหินถ่วง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2479 ที่พัทธสีมาวัดตาลกง มีพระอธิการชัน วัดมาบปลาเค้า เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการผิว วัดตาลกง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการขาววัดอินจำปา เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อยู่จำพรรษาที่วัดตาลกง ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่รับใช้หลวงพ่อผิว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาพุทธาคม
เริ่มจากการอยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญวิทยาคม เมื่อมาอยู่รับใช้ใกล้ชิด เป็นที่โปรดปรานมาก จึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาให้จนหมดสิ้น
จากนั้นเดินทางไปกราบนมัสการหลวงพ่อทองศุข แห่งวัดโตนดหลวง ฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อขอเล่าเรียนวิชา โดยเรียนฝึกวิชากสิณจนเชี่ยวชาญในกสิณ 10 ทั้งได้เรียนตำรับผงเมตตาต่างๆ
หลวงพ่อทองศุขเห็นความมานะพยายาม ประจวบกับหลวงพ่อผิว อดีตเจ้าอาวาสวัดตาลกง มีความคุ้นเคยกันมาก่อนจึงรับท่านไว้เป็นศิษย์ แล้วถ่ายทอดวิชาให้อย่างเต็มที่
ก่อนที่จะมีการศึกษาเล่าเรียน หลวงพ่อทองศุขได้ดูฤกษ์ยามก่อนแล้วนัดกำหนดวันให้เดินทางไปทำพิธียกครู โดยมีขัน 5 ดอกไม้ ธูป เทียน บายศรี ทำพิธีไหว้ครูอย่างเป็นทางการ

สําหรับการเรียนอาคมครั้งนี้ ต้องเดินทางจากวัดตาลกงไปเรียนที่วัดโตนดหลวง ครั้งหนึ่งจะต้องไปพักอยู่วัดโตนดหลวงถึง 15 วัน ไป-กลับอย่างนี้เป็นประจำและยังออกปริวาสกรรมร่วมกับหลวงพ่อทองศุข ขึ้นเขาไปบำเพ็ญเพียรในป่าช้าบ่อยครั้ง
ต่อมาได้พบกับหลวงพ่อจัน วัดมฤคทายวัน ซึ่งเป็นญาติกับหลวงพ่อทองศุข ซึ่งหลวงพ่อจันได้ถ่ายทอดวิชาสะกดชาตรี เป็นวิชาสะกดสัตว์ร้ายให้อยู่กับที่
จากนั้นไปกราบนมัสการพระอธิการชัน วัดมาบปลาเค้า ขอศึกษาเล่าเรียนวิทยาคม
หลวงพ่ออุ้น เป็นตัวอย่างของพระภิกษุที่เคร่งเครัดในพระธรรมวินัย เป็นพระที่ไม่สะสม ไม่ปรุงแต่ง ไม่ยึดติดในลาภสักการะ มีแต่เมตตาสงเคราะห์ช่วยเหลือ
ผลงานการสร้างเสนาสนะสงฆ์ตลอดทั้งถาวรวัตถุต่างๆ ปรากฏเป็นรูปธรรมมากมาย เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ฌาปนสถาน สำนักสงฆ์ โรงเรียน ถนน และอื่นๆ อีกมากมาย
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์และสมณศักดิ์ พ.ศ.2500 เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ.2504 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2522 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูวินัยวัชรกิจ
พ.ศ.2531 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม
ช่วงบั้นปลายชีวิต อาพาธด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ
ต่อมาอาการทรุดหนักและมีความประสงค์จะกลับวัด คณะศิษย์จึงนำมาถึงวัดตาลกง เมื่อคืนวันที่ 30 ตุลาคม 2553
พอถึงเวลา 06.09 น. วันที่ 31 ตุลาคม 2553 ก็มรณภาพไปด้วยอาการสงบ สิริอายุรวม 94 ปี