เทศมองไทย : วันทะเลโลก กับวาฬนำร่องที่จะนะ

วันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยกำหนดให้เป็น “วันทะเลโลก” ถือเป็นวันเพื่อรณรงค์ให้เห็นความสำคัญและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งมีคุณและคุณค่ามหาศาลต่อการดำรงชีวิตของประชาคมทั่วทั้งโลก

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นแม่งาน กำหนดคำขวัญของปีนี้ออกมาแล้วว่า “ทะเลดี ชีวีมีสุข” ล้อไปกับคำขวัญวันทะเลโลกสากลว่า “คลีน ดิ โอเชียน” พร้อมกำหนดกิจกรรมหลายๆ อย่างออกมา ทั้งเพื่อสร้างเสริมความรู้และเพื่อลดปัญหาสำคัญที่เป็นปัญหาใหญ่หลวงในระดับโลกไปแล้ว นั่นคือปัญหาขยะทะเล

น่าเศร้าที่ว่า เพียงไม่ถึงสัปดาห์ก่อนหน้าวันทะเลโลก วันสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล อุทาหรณ์สำคัญในเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย และกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

 

นั่นคือกรณีที่ชาวบ้านพบวาฬตัวหนึ่งว่ายหลงเข้ามาในคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ในสภาพย่ำแย่เต็มทีเมื่อ 28 พฤษภาคม ก่อนที่จะตายลงในอีก 5 วันต่อมา แม้ว่าทาง ทช. จะระดมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ก็ตามที

สื่อสำคัญๆ ในระดับโลกหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นการ์เดียนของอังกฤษ หรือนิตยสารไทม์ และวอชิงตันโพสต์ของสหรัฐอเมริกา เรื่อยไปจนถึงเอเอฟพีและรอยเตอร์นำเสนอเรื่องนี้กันถ้วนหน้า ในฐานะเป็น “เหตุการณ์ตัวอย่างสำคัญล่าสุด” ของการที่มนุษย์บังคับให้สัตว์ทะเลใช้ชีวิตอยู่กับขยะมหาศาลในมหาสมุทร แล้วตกตายอย่างน่าสลดใจ

อเล็กซ์ ฮอร์ตัน แห่งวอชิงตันโพสต์ รายงานเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดเมื่อ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งความพยายาม “แข่งกับเวลา” เพื่อยื้อชีวิตของวาฬนำร่องเพศผู้ตัวนี้ กับสภาพน่าเศร้าที่มันต้องตายลง “อย่างช้าๆ” ในที่สุด

ฮอร์ตันบอกว่า ทีมเจ้าหน้าที่พยายามผูกทุ่นเพื่อพยุงตัววาฬไม่ให้จมน้ำตาย ขณะสัตวแพทย์ให้ความช่วยเหลือประคับประคองชีวิตของวาฬโชคร้ายตัวนี้ บอกด้วยว่าระหว่างนั้นมัน “อ้วก” เอาถุงพลาสติกออกมา 5 ใบ

เมื่อผ่าพิสูจน์สาเหตุการตายในภายหลัง เจ้าหน้าที่พบว่าภายในท้องของวาฬเคราะห์ร้ายตัวนี้มีขยะพลาสติกอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นถุงขยะสีดำ 80 ใบและสีขาวอีกก้อนใหญ่ รวมน้ำหนักได้ถึง 8 กิโลกรัม (17 ปอนด์)

มากขนาดทำให้ห้องผ่าพิสูจน์ขนาดใหญ่เต็มไปด้วยถุงขยะ จนเจ้าหน้าที่แทบไม่มีที่ยืน

ข้อสันนิษฐานของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขยะพลาสติกที่มันกินเข้าไปเหล่านี้คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้วาฬนำร่องตัวนี้เสียชีวิต เพราะทะลักเข้าไปอยู่ในระบบย่อยอาหารของมันแล้วกลายเป็นตัวป้องกันการย่อยอาหาร ทำให้มันกลายเป็นวาฬป่วยและเสียชีวิตลงในที่สุด

 

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการชีววิทยาทางทะเล ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกกับเอเอฟพีชนิดตรงไปตรงมาว่า อย่าว่าแต่วาฬเลย ถ้าเป็นคุณแล้วมีถุงพลาสติก 80 ใบอยู่ในท้อง คุณก็ตาย

นักวิชาการเห็นตรงกันว่า วาฬนำร่องตัวนี้หลงเข้าใจว่าถุงขยะพลาสติกที่ลอยไปมาอยู่บนผิวน้ำเป็นอาหารที่กินได้ เลยกินเข้าไป แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วอาหารหลักของวาฬนำร่องทั้งหลายก็คือหมึก ตั้งแต่หมึกกล้วย หมึกกระดอง หมึกยักษ์ แต่ในกรณีที่หาปลาหมึกยากก็อาศัยปลาเล็กๆ เป็นอาหารได้เหมือนกัน

ข้อมูลที่น่าสนใจจากปากของอาจารย์ธรณ์ก็คือ ในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลอย่างน้อย 300 ตัวตายลงเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไปเหมือนกับวาฬตัวนี้ นอกเหนือจากวาฬนำร่องที่ตกเป็นเหยื่อขยะพลาสติกในทะเลน่านน้ำของไทยแล้ว ยังมีเต่าทะเล และโลมาอีกด้วย

 

วาฬนำร่องตัวนี้เป็นตัวอย่างล่าสุด เพราะก่อนหน้านี้มีวาฬอีกหลายตัวตายลงในสภาพเดียวกัน เมื่อเดือนเมษายน วาฬสเปิร์มขึ้นมาเกยหาดตายที่สเปน ภายในท้องพบขยะพลาสติกถึง 60 ปอนด์ ก่อนหน้านั้นในปี 2016 วาฬสเปิร์มที่เกยหาดตายกว่า 30 ตัวในยุโรปก็พบขยะจำนวนมากในท้อง มีทั้งอวน ฝาครอบเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนตะกร้าพลาสติกอยู่ในตัวพวกมัน

ข้อมูลของวอชิงตันโพสต์ระบุว่า งานศึกษาวิจัยล่าสุดเมื่อปี 2014 แสดงให้เห็นว่าขยะมากกว่า 5 ล้านล้านชิ้นถูกทิ้งลงสู่ท้องทะเล ในจำนวนนั้นเป็นขยะพลาสติกใหญ่น้อยถูกปล่อยให้ล่องลอยไปมาบนผิวน้ำอยู่เป็นจำนวนมหาศาล คำนวณน้ำหนักรวมได้มากถึงเกือบ 270,000 ตัน

ที่สำคัญก็คือ อย่าได้คิดว่าขยะพลาสติกในทะเลจะเป็นอันตรายแต่เฉพาะกับสัตว์ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เท่านั้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่าจากการสำรวจตัวอย่างน้ำในประเทศต่างๆ กว่าสิบประเทศ พบว่า 83 เปอร์เซ็นต์ของน้ำตัวอย่าง มีเส้นใยพลาสติกขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายขยะพลาสติกในน้ำปนเปื้อนอยู่

ถ้าเรายังใช้พลาสติก ทิ้งพลาสติกกันอย่างไม่ระมัดระวังเช่นนี้ต่อไป ไม่ช้าไม่นานขยะพลาสติกเหล่านั้นก็จะตกมาถึงท้องเราในที่สุด

แล้วเราจะได้รู้กันว่า การ “ตายอย่างช้าๆ” นั้นเป็นอย่างไร!