อภิญญ ตะวันออก : จากถาลาบริวัตรถึงสมโบร์

ฉันเองที่เรียกพิกัดที่ตั้งราชธานีเก่ากัมพูชาตรงสีสันทรหรือสรัยสันธอร์ว่าสะดือแม่น้ำโขง

หากเมื่อล่องเรือทวนแม่น้ำโขงขึ้นไปจรดบริเวณสตึงแตร็ง ณ จุดที่มีแม่น้ำ 3 สายมาบรรจบกันคือ เซกง, เซซาน (สเรปก) และแม่น้ำโขง (แม่กง) ซึ่งเดิมทีเคยมีราชธานีเล็กๆ แห่งหนึ่งนามว่า “ถาลาบริวัตร” ซึ่งปรากฏชื่อมาแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 และก่อนนครเก่าสมโบร์บริเวณฝั่งตรงข้ามฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในคริสต์ศตวรรษที่ 8

ส่วนอิทธิพลสมัยเมืองพระนคร (คริสต์ศตวรรษที่ 13-16) ที่นักสำรวจยุคแรกๆ เหมาโยงว่าเกี่ยวข้องกับถาลาบริวัตรนั้น กับหลักฐานแม่โขงตอนล่าง ณ วัดนครบาจัยในเขตกำปงจาม

ถาลาบริวัตรแปลว่า “ศาลาเมือง” หรือศาลาสรฺ๊ก ในอดีตคือเมืองท่าหน้าด่าน

โดยหลักฐานแรกๆ คือปราสาทพระโคในอิทธิพลลัทธิพราหมณ์ ไม่ระบุยุคเจนละ จัมปา แต่เก่ากว่ายุคเมืองพระนคร

แต่ปัจจุบันชาวบ้านเรียกปราสาทเก่านี้ว่า ปราสาทโบราณ แลปราสาทพระโคนี้ยังถูกเล่ากันเชื่อมโยงตำนานพระโคพระแก้วของสมัยราชธานีลงแวก

ซึ่งหากไม่ลืมคงทราบว่า เมื่อกรุงลงแวกแตกเพราะกองทัพใหญ่จากอยุธยานั้น กษัตริย์เขมรได้หนีภัยล่องเรือขึ้นมาถึงถาลาบริวัตร-สตึงแตร็ง จนกษัตริย์พระองค์หนึ่งถึงแก่สวรรคตเพราะตรอมพระทัย

นั่นคือส่วนที่ถาลาบริวัตร (และสตึงแตร็ง) อันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก่อนกรุงอุดงเมียนจัย และราชธานีพนมเปญ อันเป็นยุคเดียวที่พบหลักฐานว่าอิทธิพลพุทธศาสนาว่าด้วยไตรภูมิพระร่วงนั้น ได้ปรากฏอยู่ในถาลาบริวัตรแล้ว

จะเห็นว่า ถาลาบริวัตรยังรับบริบทวัฒนธรรมถ่ายผ่านจากยุคต่อมาๆ ในหลักฐานชั้นใหม่ลงมา โดยปราสาทถาลาบริวัตรบางแห่งยังปะปนด้วยชื่อเรียกตามแบบภาษาลาวและไทย

อันแสดงถึงการตั้งรกรากของชุมชนทั้งสองกลุ่มนี้ในอดีต อีกการถ่ายผ่านจากลัทธิพราหมณ์แต่โบราณ มาเป็นสังคมพุทธยุคถัดๆ มาก่อนจะกลายเป็นชุมชนถาลาบริวัตรปัจจุบัน ที่คงไว้ด้วยลักษณะความเป็นเมืองเก่า

และให้สังเกตว่า ชุมชนอดีตราชธานีเก่ากัมพูชาหลายๆ เมืองก็คล้ายกับถาลาบริวัตร กล่าวคือ เป็นเมืองเก่าในชั้นโบราณสถานแต่ก็คล้ายจะถูกลืม

แต่แล้วนักโบราณวิทูชาวบารัง 2 คน บรูโน บรูกีเยร์ และจูลีเย็ตต์ ลาครัวซ์ ก็ทำให้สรัยสันธอร์ สมโบร์และกลุ่มเมืองเก่าริมแม่กงทั้งหมด

รวมทั้งถาลาบริวัตรกลับคืนมาสู่ความทรงจำด้วยบันทึก 499 หน้า “De Thala Borivat ? Srei Santhor : Le bassin du M?kong”

 

บริเวณแอ่งอารยธรรมเก่าแม่กงนี้ เดิมถูกสำรวจโดย G. Van Wusthof (1641) ราว 244 ปีต่อมา เอเตียง อีโมนิเยร์ ได้เดินตามรอยเส้นทางนี้ (1885) ตามด้วยอี ลูเนต์ เดอ ลาจองควิเยร์ (1905) ได้ทำการสำรวจไว้ รวมถึงบริเวณเกาะดอนโขงและคอนพะเพ็งตอนใต้ สปป.ลาว

“ถาลาบริวัตร” เริ่มเข้าสู่บริบทความสนใจสมัยการสำรวจโดยอ็องรี ปามงติเยร์ (1927) และยังเป็นบุคคลแรกๆ ที่ทำให้เขตโบราณสถานที่ราบแม่กงส่วนนี้อยู่ในความสนใจ แต่ผู้ที่นำอารยธรรมถาลาบริวัตรมาเปิดเผยในเชิงสาธารณะอย่างจริงจัง คืองานวิจัย “กลุ่มทับหลังถาลาบริวัตร” (Linteaux de Thala Borivat) ของเอ็ม เบนิสติ (1968)

และจบลงด้วย “ถาลาบริวัตรหรือสตึงแตร็ง” ของปอล เลวี : (1970) ที่อ้างว่านี่คือราชธานีเก่าสมัยภววรมันที่ 1 ยุคเดียวกับสมโบร์ไพรกุก

จากนั้น การสำรวจถาลาบริวัตรและเขตโบราณสถานใกล้เคียงทั้งหมดก็หยุดชะงักลงจากภัยสงครามกลางเมือง นานกว่า 40 ปีเลยทีเดียว

กว่าการสำรวจบริเวณแห่งครั้งใหม่จะปรากฏอย่างเป็นหลักฐานอีกครั้งโดยนักสำรวจทั้งสอง

แม้ถึงตอนนี้จะมีนักโบราณวิทูกัมพูชาเริ่มทำงานวิจัยออกมาบ้างอย่างวง โสเธียรา (2011) และเฮง สิพาล (2016) และในปี ค.ศ.1998 ที่นักวิจัยลุ่มน้ำและนักประวัติศาสตร์ชาวต่างชาติเริ่มสำรวจพื้นที่ส่วนนี้

โดยสิ่งที่นักโบราณร่วมสมัยยุคหลังเห็นพ้องร่วมกันคือ ถาลาบริวัตรนั้นมีโครงสร้างประวัติศาสตร์ต่างจากสมัยเมืองพระนครและสมโบร์ไพรกุกดังที่นักสำรวจรุ่นแรกตีความ

ตรงกันข้ามกับอดีตศาลาสรฺ๊กเก่าแก่แห่งนี้ เคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชธานีกัมพูปุระ (สมโบร์) หรืออาณาจักรสรีศตปุระ (วัดภู) อีกด้วย

ใหม่กว่าชั้นนั้นลงมาในการสำรวจยุคหลัง พบว่า ถาลาบริวัตรถูกผูกไว้กับสตึงแตร็ง ชุมชนที่มีบริเวณเขตติดต่อกัน จากหลักฐานปราสาทโบราณ (พระโค) ปราสาทจารึก พระธาตุบาจง หรือพนมธาตุ

และกลุ่มโบราณสถานอย่างพระธาตุบาเดิม, ศาลาเก้าศอก (ศาลาปรามบวนลแวง) และปราสาทตรอเปียงคนา

 

ขอเรียนว่า สองนักโบราณวิทูทั้งบรูโน บรูกีเยร์ และจูลีเย็ตต์ ลาครัวซ์ นั้น ต่างเป็นนักสำรวจที่เคี่ยวกรำทำงานอย่างโชกโชนในการลงพื้นที่ จนอาจจะเรียกได้ว่า ทั่วทั้งกัมพูชานี้อยู่ในมือเธอเขาทั้งสอง

ทั้งบรูโนและจูลีเย็ตต์ดูจะหมดเวลาไปโขกับการสำรวจโบราณสถานดังกล่าว กว่าจะมาถึงถาลาบริวัตร-สรัยสันธอร์ แอ่งอารยธรรมแม่กงอันกระจัดกระจายและปรักพัง ซึ่งถูกวางลำดับความสำคัญไว้ส่วนหลังเมื่อเทียบกับแอ่งอารยธรรมใจกลางประเทศ

ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการสำรวจแหล่งโบราณคดีที่ใช้ต้นทุนการทำงานอย่างอุตสาหะ และนับเป็นบริเวณที่กว้างใหญ่ไพศาลอย่างมาก เมื่อคะเนจากจำนวนกลุ่มปราสาทเล็กปราสาทน้อยที่แยกย่อยออกมาเป็นยุคสมัยต่างๆ

ก่อนหน้านี้ เขาและเธอต่างร่วมกันสำรวจโดยขีดวงตามลำดับภาคส่วนของดินแดนกัมพูชา เช่น ตอนเหนือของทะเลสาบใหญ่ หรือตอนล่างของแนวทิวเขาพนมดงแร็ก ของกลุ่มปราสาทพระวิเหียร์ แอ่งโบราณสถาน จากกลุ่มปราสาทดังกล่าว ลงไปตอนล่างเหนือทะเลสาบใหญ่ทั้งหมด เว้นแต่พนมกุเลนและเขตนครเสียมเรียบ ไปจนที่ราบตอนใต้ตนเลสาบอย่างเขตพระตะบองทั้งหมด และวกไปทางตะวันตก กลุ่มปราสาทบันเตียฉมาร์-ทมอป๊วะอดีตเขตพระตะบอง ปัจจุบันคืออุดรเมียนจัย

กระนั้น พวกเขากำลังจะทำงานที่ยิ่งใหญ่อย่างมุ่งมั่น เชื่อว่าโครงการจากนี้ไป คือจากสรัยสันธอร์ลงไปยังเขตโบราณสถานอดีตศูนย์กลางราชอาณาจักรขอมเก่าก่อนของบริเวณตนเลบาตีในกัมพูชาตอนใต้ บริเวณตาแก้วและไล่แตะลงไปริมสองฝั่งแม่น้ำโขงตอนล่างที่เหลือทั้งหมด

คือเป้าหมายต่อไปในการสำรวจ

 

พลันการรำลึกถึงช่วงปี 1998 ขณะร่วมคณะสำรวจปลาข่า/โลมาอิรวดี (ที่ฉันขอติดตามไปด้วย) โดยเส้นทางจากสตึงแตร็งจรดอำเภอสมโบร์เขตกระแจะและเป็นฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อเดินทางตามลำพัง ฉันได้ข้ามไปยังฝั่งถาลาบริวัตร

ได้พบกลุ่มพระธาตุพนมต่างๆ ที่ปรักหักพัง บางแห่งเหลือเพียงโครงซากอิฐ บางแห่งอยู่ในกลางป่าดงไผ่ ซึ่งบางกลุ่มปราสาทเล็กๆ ที่เรียกว่าพระธาตุหนุ่ม-พระธาตุสาว (เปรียะเธียตโบร๊ะ-เปรียะเธียตสรัย)

ซึ่งการสร้างพระธาตุบริเวณถาลาบริวัตรนี้ มีที่มาของความเชื่อคล้ายกับการสร้างพระปรางค์ในลาวและภาคอีสานของไทย ดังที่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับชื่อและภาษาลาวไทยที่อ้างไว้ข้างต้น

ระหว่างล่องเรือผ่านเกาะกลางแม่โขงนี้ ได้เห็นถึงความน่าตื่นตาตื่นใจของภูมิทัศน์ในพลังของกระแสน้ำที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทั้งในช่วงฤดูแล้งและฤดูน้ำหลาก ความหลากหลายทางชีวภาพพันธุ์พืชและสัตว์นกนานาชนิด

ก่อนหน้านั้น ฉันเคยท่องแม่โขงเหนือคอนพะเพ็งและเขตรอยต่อลาวใต้-สตึงแตร็ง ได้วกขึ้นไปถึงเกาะดอนโขง รวมทั้งบริเวณพื้นที่รอยต่อกัมพูชา-สปป.ลาวที่เต็มไปด้วยชาติพันธุ์ชาวพื้นถิ่น บ้างเรียกกันว่าเขมรป่าดง รวมทั้งชาวถิ่นที่อาศัยลึกเข้าไปในแนวผืนป่าของริมฝั่งแม่น้ำโขง เซซาน เซกง และเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพทางเผ่าพันธุ์มนุษย์ เมื่อไล่แตะลงมาจากสตึงแตร็ง กระแจะ และบางเขตของกำปงจาม

พวกเขาถูกเล่าลือไว้ถึงความเถื่อนอารยธรรมและความดุร้าย ตลอดจนการเป็นแหล่งค้าทาส ณ บริเวณดังกล่าว ดังที่เคยถูกบันทึกไว้โดยนักสำรวจยุคต้น จนราวปี ค.ศ.1897 บาทหลวงฌอง ลาซาร์ด หมอสอนศาสนา ได้เปลี่ยนแปลงชนเผ่าพนองที่มีอุปนิสัยดุร้ายและนับถือผี ให้หันมาเข้ารีตถือคาทอลิกที่หมูบ้านกระดอล (*)

แต่ถาลาบริวัตรที่เยื้องลงมายังฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง บริเวณอำเภอสมโบร์-อดีตเมืองด่านส่วยอากร และค่ายทหารในกองกำลังอารักขาราชอาณาจักรกัมพูชาของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 นี่คือชัยภูมิสำคัญทางการค้าและการขนส่ง จากแม่น้ำโขงตอนใต้ของเวียดนาม (โคชินจีน) ผ่านกัมพูชา สู่ลาวใต้ที่เมืองสตึงแตร็ง โดยทางรถไฟที่คอนพะเพ็ง

ที่จะลืมเสียมิได้ คือจากถาลาบริวัตรตัดผ่านแม่น้ำโขงพาดมายังสมโบร์ นับเป็นจุดที่กระแสธารความสมบูรณ์จากแร่ธาตุนานาที่ถูกพัดพามาจากแม่น้ำเซซาน-เซกง ตามธรรมชาติได้ไหลเอื่อยรวมมายังจุดนี้ นับเนื่องเป็นพันๆ ปีมาแล้ว

ให้อัศจรรย์นักที่พบว่าลึกใต้ผืนน้ำอันเชี่ยวกรากลงไป มีวังแควคุ้งน้อยใหญ่ ที่เหล่าปลาข่าหัวบากหรือโลมาอิรวดี สัตว์น้ำจืดเลี้ยงลูกด้วยนมที่พอหลงเหลือในโลก ได้อาศัยสืบสปีชีส์เผ่าพันธุ์ของตนอยู่ในนทีแห่งนี้

นับเป็นความน่าทึ่งในรอยต่อของถาลาบริวัตร-สมโบร์

ไม่เฉพาะแต่แอ่งอารยธรรมโบราณอันเป็นหลักฐาน เช่น กลุ่มศิลาจารึกและซากปราสาทต่างๆ เท่านั้น ที่นักวิทูสำรวจทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์

แต่แอ่งอารยธรรมดังกล่าว ยังรวมถึงสรรพสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด อาทิ พืชพันธุ์สัตว์ และเผ่าชนมนุษย์ที่ร่วมกันสืบต่อความหลากหลายทางอารยธรรมและชีวภาพร่วมนับเป็นพันๆ ปี เฉกที่ถาลาบริวัตรและสมโบร์ดำรงมา จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง

ซึ่งวงจรชีวภาพดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างไม่หวนกลับ ในทันทีที่เขื่อนเซซานสำเร็จลุล่วง

เหลือไว้แต่คำบันทึกของสมโบร์และถาลาบริวัตรที่จักไม่หวนกลับมาอีก