ปริศนาโบราณคดี : ‘บทกวี’ รับใช้ตัวเองหรือเพื่อสังคม? แง่มุมจากงานประชุมกวีอาเซียนที่มาเลเซีย (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทกวี : รับใช้ตัวเองหรือเพื่อสังคม?

ทั้งๆ ที่ร้างราจากวงการกวีไปนานหลายปี (มิใช่เพราะไม่มีใจ แต่ทว่า ติดภารกิจอื่นๆ แสนสาหัสจนแทบไม่สามารถปลีกตัวมาร่ายบทกวีได้เลย) แต่ก็ยังได้รับเกียรติจาก Malaysian Institute of Translation & Books (ITBM), Kuala Lumpur เชิญให้เป็นตัวแทนกวีไทยไปร่วมงานสัมมนา ASEAN Poets Forum และ ASEAN Poetry Recital ในวันที่ 3 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

โดยปีนี้ผู้จัดกำหนดประเด็นหัวข้อสัมมนาว่า “Poetry : for Individual or for the Society?” ฟังดูเผินๆ เหมือนง่าย คล้ายๆ ประเด็นที่ “จิตร ภูมิศักดิ์” เคยตั้งคำถามว่า “Art for Art Sake or Art for Life” แต่เอาเข้าจริงเมื่อนั่งขบคิดแล้วแยบยลยิ่งนัก

ซึ่งดิฉันในนามของ “เพ็ญ ภัคตะ” ได้ร่วมอภิปรายใน session สุดท้าย ราว 20 นาที แลกเปลี่ยนกับเพื่อนกวีอาเซียนในหัวข้อ “The Responsibility of the Poet in Society” พร้อมส่งบทความภาษาอังกฤษไปให้ บรรณาธิการรวมเล่มตีพิมพ์ในสูจิบัตรงานสัมมนา

ในที่นี้จะขอนำเสนอบทความในภาคภาษาไทยให้ทุกท่านได้อ่าน ในลักษณะตัดตอนบางช่วงบางตอนมาดังนี้

ศิลปะเพื่อศิลปะ
หรือศิลปะเพื่อประชาชน?

เคยมีผู้ถกเถียงกันมาก่อนว่า “ศิลปะนั้นเพื่อศิลปะ หรือว่า ศิลปะต้องเพื่อประชาชน?” การถกเถียงหาข้อสรุปเรื่องนี้ บางครั้งก็ไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เพราะหากคำตอบมีเพียงหนึ่งเดียว คือต้องให้เลือกคำตอบใดคำตอบหนึ่ง ก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นความสำคัญของอีกสิ่งหนึ่งไปโดยสิ้นเชิง

ในความเป็นจริงนั้น บทกวีจำเป็นต้องมีพื้นฐานมาจากความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวของผู้ประพันธ์มาก่อน ต่อจากนั้นจึงจะก้าวไปสู่ความเป็นสาธารณะเพื่อสังคมได้

ผู้เขียนกวีแต่ละคน โดยพื้นฐานแล้ว ต้องผ่านประสบการณ์ส่วนบุคคลเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนมาก่อน มีความรู้สึกอ่อนไหวต่อสิ่งรอบข้าง เช่น ความรัก ความชัง ความชั่ว ความดี ความสุข ความทุกข์ ความสมหวัง ความผิดหวัง ย่อมผ่านพบ สุขนาฏกรรม และโศกนาฏกรรม

กล่าวคือ ต้องบ่มเพาะประสบการณ์ชีวิต เคี่ยวกรำอารมณ์อย่างเข้มข้นมาก่อน โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว ล้วนต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานเรื่องความรักมาแล้วทั้งสิ้น

การเขียนบทกวีเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาวไม่ใช่เรื่องที่ผิด หากกวีรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ก็ไม่ควรละอายใจ ไม่ควรอดกลั้นที่จะไม่แสดงออก เพียงเพื่อรู้สึกว่านั่นคือเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องที่เมื่อเผยแพร่แล้วอาจทำให้กวีกลายเป็นคนที่ไร้คุณค่าในสายตาของผู้อ่าน

หากกวีคิดเช่นนั้น ก็ถือว่าเป็นความคิดที่ผิดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะแสดงว่ากวีกำลังหลอกใจตัวเอง และกำลังหลอกผู้อ่าน

กวีไม่เคารพความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง หากเป็นเช่นนี้แล้ว กวีจะมีความเคารพต่อผู้อ่านได้อย่างไร

การเริ่มต้นเขียนกวีในวัยหนุ่มสาว แน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นเรื่องความรัก ความปรารถนา ความพิสวาท

มีบทกวีที่ยิ่งใหญ่ของโลกมากมายที่สะท้อนถึงสิ่งเหล่านี้ออกมาด้วยรักที่ไม่สมหวัง เช่น บทกวีของ คาห์ริล ยิบราน มหากวีเอกชาวเลบานอน

Marc Chagall
ตัวแทนพลเมืองชั้นสองผู้เปลี่ยวเหงา

หรืออาจเปรียบเทียบได้กับงานศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ไม่ใช่บทกวี อาทิ ศิลปินแนว Surrealism ผสม Cubism ชื่อดังก้องโลก Marc Chagall เป็นจิตรกรแนวจินตกวีชาวรัสเซียนที่ต้องใช้ชีวิตแบบพลเมืองชั้น 2 ในประเทศฝรั่งเศส

ศิลปะของเขาทุกชิ้นล้วนแสดงความรู้สึกรันทดสลดหดหู่ กับสภาพชีวิตของคนพลัดถิ่น

งานศิลปะของเขาไม่ต่างไปจากตัวอักษรที่เล่าเรื่องความถวิลหา โหยหวนอดีต ในวัยเยาว์ ความอบอุ่นจากครอบครัวชาวสลาฟ เมืองเล็กๆ ในชนบท ทุ่งหญ้า ดอกไม้ป่า อาหารที่ทำจากฝีมือแม่ งานประเพณีพื้นบ้านที่เขาเคยคลุกคลีแต่ต้องจากมา โดยเฉพาะ “Isabella” หญิงสาวผู้เป็นที่รัก ซึ่งเขาไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนที่ได้หวนคืน

ภาพเขียนของ Chagall มิอาจปฏิเสธได้ว่า เป็นงานศิลปกรรมที่ไร้คุณค่า ในทางตรงข้าม กลับเป็นงานระดับ Masterpiece โลกยกย่องว่าเขาเป็นจิตรกรผู้หนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาจิตรกรทั้งหลายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20

เหตุเพราะแม้เขาจะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวออกมาในงานศิลปะ แต่เนื้อหาที่เรามองว่า “เป็นส่วนตัว” นั้น มันเป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มหนึ่งในสังคมอันอ้างว้างกลางกรุงปารีสด้วยเช่นเดียวกัน

ประชากรในมหานครปารีส ที่เดินสวนทางกันส่วนใหญ่เดินทางอพยพมาจากประเทศ และทวีปต่างๆ แบบร้อยพ่อพันแม่ หลากหลายเชื้อชาติพันธุ์ มีทั้งคนผิวสี แอฟริกัน เอเชียน ยุโรปตะวันออก แต่ทุกคนมีความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน ยามที่พวกเขามองเห็นภาพวาดของ Chagall นั่นคือความสะเทือนใจในความที่เป็นคนต่างด้าว บังเกิดอารมณ์ความถวิลหาบ้านเกิดเมืองนอน Nostalgia เหมือนๆ กัน

ดังนั้น ไม่เพียงแต่ชาวสลาฟ หรือชาวรัสเซียเท่านั้นที่ซาบซึ้งต่องานศิลปะของ Chagall แต่ยังรวมไปถึงผู้อพยพทุกคนที่เป็นอยู่ในปารีส

เห็นได้ว่า จากการที่ Chagall ทำงานศิลปะโดยมีจุดเริ่มต้นจาก Individual เพื่อระบายความในใจของตนเอง มิได้ตั้งใจจะสนองตอบความต้องการของสังคม แต่กลับกลายเป็นงานศิลปะชิ้นที่ยิ่งใหญ่ กินใจ ไม่เสแสร้ง มีอารมณ์ร่วมแห่งความเป็นมนุษยชาติ

แทนใจมนุษย์เล็กๆ ที่มีประสบการณ์เดียวกัน

องค์ประกอบของความเป็นบทกวี
ไม่ใช่แค่เนื้อหา

ดิฉันคิดว่าองค์ประกอบของการเขียนบทกวีที่ดีไม่ได้มาจาก เงื่อนไขของการกำหนดประเภทว่าจะต้องทำเพื่อ Individual หรือว่าเพื่อ Society เสมอไป จริงอยู่ ดูเหมือนว่า หากกวีคนไหนเขียนบทกวีที่มุ่งเน้นเพื่อรับใช้ Society แล้ว จะทำให้กวีผู้นั้นดูยิ่งใหญ่ มีคุณค่ามากกว่ากวีที่เพ้อพร่ำรำพันถึงแต่เรื่องของตัวเอง

เหตุที่องค์ประกอบของการสร้างบทกวีนั้น ไม่ได้อยู่ที่เพียง “เนื้อหา” ที่สื่อสารออกมาเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่าง ดังจะจำแนกได้ดังนี้

1. ความสามารถในการใช้ภาษา สำนวน ลีลา โวหาร ความแม่นยำในฉันทลักษณ์ ความพริ้งพรายในการใช้สัมผัส หมายถึง มีความสามารถในด้าน “วรรณศิลป์” Artistic หรือ “สุนทรียศาสตร์” Aesthetic ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง เป็นศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดศาสตร์หนึ่งสำหรับผู้เขียนกวี รวมทั้งผู้สร้างสรรค์ศิลปะทุกแขนง

2. ความสามารถในการกระตุ้นจินตนาการของผู้อ่านให้เกิดอารมณ์คล้อยตาม ไม่ใช่งานเขียนที่แข็งกระด้าง แห้งแล้ง จืดชืด ไร้ชีวิตชีวา แต่ผู้อ่านต้องสามารถรับอรรถรสจากบทกวีชิ้นนั้นบ้างไม่มากก็น้อย กล่าวให้ง่ายก็คือ “การกระแทกอารมณ์” เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการเขียนบทกวี

3. ความสามารถในการจุดประกาย “ความคิด” ด้าน “พุทธิปัญญา” หรือ ปรัชญาคติ เปิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์ มุมมองแปลกใหม่ให้แก่ผู้อ่าน เมื่อผู้อ่านได้อ่านบทกวีเสร็จแล้ว นอกจากจะได้รับอรรถรสด้านภาษาสำนวนที่สละสลวย และอารมณ์อันสะเทือนใจแล้ว ยังได้รับ “คุณค่า” ในเชิงความคิด ที่จะช่วยให้ผู้อ่านฉุกคิดถึงคุณธรรม มนุษยธรรม อะไรบางอย่างขึ้นมา ไม่ว่างานเขียนชิ้นนั้นตั้งใจจะนำเสนอความเป็น Individual หรือ Society ก็ตามที

ในความเป็นจริงนั้น งานบทกวีที่เริ่มจาก Individual ก็อาจมีคุณค่าในตัวของมันเอง ไม่มากก็น้อย หากไม่ใช่คุณค่าในด้านเนื้อหาการสื่อความคิด ก็อาจมีคุณค่าในด้านอารมณ์ความรู้สึกสะเทือนใจ หรืออาจมีคุณค่าด้านภาษาวรรณศิลป์