ทราย เจริญปุระ : ฉันเป็นบ้า

จริงๆ ฉันไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่ เวลาโดนใครสรุปอาการของฉันให้สั้นๆ ง่ายๆ ว่าเป็นบ้า

เพราะบางทีตัวฉันเองก็สรุปเอาเร็วๆ แบบนี้อยู่บ่อยๆ เวลาขี้เกียจจะอธิบายยาวๆ หรือมีใครมาตั้งแง่ใส่ว่าคิดมากไปหรือเปล่า กินยาเยอะๆ ไม่กลัวเหรอ ฯลฯ

ฉันก็จะตอบไปเลยว่าฉันเป็นบ้า พร้อมทำตาขวางสำทับไปนิดๆ พอให้รู้สึกว่าถ้ายังขืนตอแยต่อ ฉันอาจลุกมาอาละวาดใส่คนถามได้ ไม่ว่าจะทางกายหรือทางวาจา

จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องดีหรือถูกต้องหรอก กับการกระทำแบบนี้ของฉัน

เพราะมันมีแต่จะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนถูกเข้าใจผิด ว่าเป็นบ้าเป็นบอไปทั้งที่ไม่ใช่ แล้วก็ใช่ว่าความแกร่ง (หรือความบ้าๆ บอๆ) ในการเอาตัวรอดของแต่ละคนจะมีเท่ากัน หน้าที่การงานหรือสังคมคนรอบตัวก็เปิดกว้างหรือปิดทึบแตกต่างกันออกไปอีก จะให้ทุกคนตัดบทสนทนาว่าเออ–กูเป็นบ้าไปกับทุกสถานการณ์เช่นฉันคงเป็นไปไม่ได้

แต่ฉันก็รู้สึกว่าเราต้องร้ายเสียบ้าง จะเร็วจะช้าเราก็ต้องสู้กลับ จะมานั่งตรอมตรมหม่นหมอง กินน้ำตาตัวเองไปทั้งปีทั้งชาติคงจะไม่ได้ ในเมื่อดีไปก็เท่านั้น คนเขาไม่ได้แยแส ร้ายเสียบ้างพอให้โลกจดจำก็สนุกดี

“ฉันได้พบทั้งอิสรภาพ และความปลอดภัยในความบ้าของฉัน อิสรภาพแห่งความโดดเดี่ยวและความปลอดภัยจากการเป็นที่เข้าใจ เพราะผู้ซึ่งเข้าใจเราจะเอาบางสิ่งบางอย่างในตัวเราเป็นทาส”*

แต่ก็มักจะมีคนนึกไปเอง ว่าถ้าด่าฉันเป็นการส่วนตัวว่าฉันบ้าแล้วฉันจะเจ็บปวดทุรนทุรายร้องไห้แงๆ แบบที่ฉันเพิ่งโดนมาล่าสุด ในข้อความส่งท้ายยุติความสัมพันธ์

ว่าเรื่องทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะความบ้า ไร้หัวใจ ไร้มนุษยธรรม ไม่แยแสชะตากรรมเพื่อนมนุษย์ (ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึงฉันเป็นคาลิกูลา หรืออีวาน เดอะ เทอริเบิลอะไรแบบนั้นดู)

จะว่าสงสารก็สงสารเหมือนกันนะ

ไม่ใช่สงสารตัวเองนี่หรอก

แต่สงสารคนที่เขาคิดว่าฉันใช้ความบ้า สติสตังค์ไม่สมประกอบมาเป็นเหตุให้ร้างลากันไป

ฉันอาจจะบ้า แต่ฉันก็รับผิดชอบตัวเองและสังคมด้วยการหาหมอ กินยาสม่ำเสมอ นั่งตรองถึงที่มาและสาเหตุ

เพราะฉันรู้ตัวว่าบ้า

เพราะยอมรับมันได้

เพราะรู้ว่าอะไรคือที่มาของความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนนี้

ฉันจึงยอมรับได้อย่างสนิทใจ

และตัดเธอผู้เป็นสาเหตุไปจากชีวิต

โดยที่เธอไม่ได้มองตัวเองบ้าง

แต่ก็สะดวกดีนะ โทษคนอื่นว่าบ้าเสียแล้วก็คงสบายใจได้ ว่าในโลกอันหมุนไปตามปกติของเธอนั้นคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

แค่ไม่มีฉันอีกต่อไปแล้วก็เท่านั้นเอง

“ความคิดนี้แปลกแยกสำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคมของเขา แม้กระทั่งคนบ้าเองก็ไม่ยอมรับเมื่อแรกเริ่ม จนไปพบความรักในโลกใหม่ในฝัน ซึ่งพบความรักในทุกสิ่ง – ในพืช ในสัตว์ ในทะเล ในผู้คน เขาฉงนเพราะคนจากโลกของเขาเองนั้น จะ “รักได้ก็ด้วยความเจ็บปวด และผ่านความเจ็บปวดเท่านั้น” แต่ต่อมา เขายอมรับว่า รักแท้มีได้โดยไม่ต้องเจ็บปวด คนบ้ารู้ว่าสังคมที่เสื่อมทรามเช่นสังคมของเขาเองนั้น จะไม่อาจพบความรักชนิดนั้นได้”*

“The Mad Man” – รวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับคนบ้า โดย คาลิล ยิบราน, หลู่ซวิ่น, นิโคลัย โกกอล และ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี แปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม เดือนมีนาคม, 2559

*ข้อความจากในหนังสือ