คำ ผกา : โลกกลับหัว

คำ ผกา

เวลาที่ใครสักคนพูดว่า “เราต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” นี่มันฟังดูดีมากๆ เลย

และดูเหมือนกับว่าตอนนี้ใครๆ ก็ต้องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำกันหมด

รวมทั้งคนที่มีส่วนในการสร้างความเหลื่อมล้ำ (เหมือนจะงง แต่ไม่งงใช่ไหม?)

เช่น บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัทของเมืองไทยที่ผูกขาดความมั่งคั่งทรัพยากรนานาไว้ในกลุ่มและพรรคพวกของตนเองก็เป็นบริษัทเดียวกับที่เข้าร่วมโครงการสร้างรัฐสวัสดิการ ช่วยเหลือคนจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อคนที่มีส่วนในการสร้างความเหลื่อมล้ำมักเป็นกลุ่มคนที่ได้เข้ามาทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย มันจึงดูแปลกประหลาดอยู่เสมอ

ใครๆ ก็รู้ว่า เราไม่มีการสร้างสังคมเสมอภาคที่ทำให้มนุษย์ทุกคนมีเงินเท่ากันทุกบาททุกสตางค์ในธนาคาร หรือมีที่ดินทำกินเท่ากันหมดทุกคนทุกครัวเรือน (มีแต่เกาหลีเหนือที่เชื่อว่าทำเช่นนี้ได้)

แต่สังคมที่พยายามจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในทุกทางของพลเมืองลดน้อยลงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะรู้ว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลงด้วยสองทาง

ถ้าไม่ด้วยทางของการสร้างรัฐสวัสดิการ ที่เทน้ำหนักไปในแนวทางอุดมการณ์สังคมนิยม

ก็ด้วยทางของเสรีนิยมที่จะทำอย่างไรให้พลเมืองเข้าถึงโอกาสและทรัพยากร เพื่อเพิ่มต้นทุนในการแข่งขันให้ตนเองไปโลดแล่นอยู่ในตลาดเสรีได้

ถามว่าประเทศไทยเลือกแนวทางไหน?

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่? คำตอบคือไม่ เพราะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นเป็นเพียงการสงเคราะห์คนจน และบรรเทาทุกข์ “คนจน” ไปชั่วคราว

บัตรคนจนให้ “ของฟรี” แก่ประชาชนโดยจำกัด อาจทำให้ประหยัดเงินได้เดือนละร้อยสองร้อย แต่นั่นไม่ได้ทำให้ “คนจน” เข้าถึงโอกาสในการเพิ่มต้นทุนในชีวิตของตนเองเพื่อจะแข่งขันในตลาดเสรีใดๆ ได้ ไม่สามารถพัฒนาเป็นการสะสมทุน เพิ่มทุน เพิ่มทักษะในการทำงานใดๆ เลย

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงไม่มีใครเรียกบัตรนี้ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่พากันเรียกว่า “บัตรคนจน”

ก็เพราะมันไม่มีอะไรใกล้เคียงกับสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐสวัสดิการ” เลย

การจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ รัฐต้องใช้ทั้งกลไกการจัดเก็บภาษีและการปฏิรูปที่ดิน เพื่อดึงทรัพยากรจากผู้คนที่มั่งคั่ง ผันมาเป็นงบประมาณเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

และใครๆ ก็รู้อีกนั่นแหละว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตและการติดปีกให้คนจนได้บินกับเขาได้บ้างนั้น รัฐต้องลงทุนกับการศึกษา สาธารณสุข และนโยบายที่อยู่อาศัย

บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล ความมั่นคงสามประการนี้ ที่รัฐสวัสดิการต้องมอบให้กับประชาชน

บ้านคือนโยบาย public housing หรือการเคหะแห่งชาติ ที่สามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัย โดยไม่ต้องเป็นหนี้ตลอดชีวิต

โรงเรียนย่อมไม่ได้หมายถึงโรงเรียนในระบบเท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งที่เรียกว่า “การศึกษา” ทั้งกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่อยู่นอกโรงเรียน สามารถทำให้ประชาชน “เรียน” ได้ตลอดชีวิต ห้องสมุด มิวเซียม โรงเรียนฝึกทักษะอาชีพ กิจกรรมส่งเสริมสติปัญญา รสนิยม สุนทรียศาสตร์

AFP PHOTO / MUNIR UZ ZAMAN

สุดท้าย โรงพยาบาล หมายถึงนโยบายสุขภาพที่ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว หรือต้องไปทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชน จนทำให้เงินส่วนจากกระเป๋าของชนชั้นกลางส่วนหนึ่งถูกย้ายไปไว้ในกระเป๋าของนายทุนเจ้าของบริษัทประกันไปโดยปริยาย

ประเทศไทยอายุใกล้จะร้อยแล้ว สิ่งที่เรียกว่าสวัสดิการของรัฐยังไม่เคยเกิดขึ้น

มีแต่การทำการสงเคราะห์คนจนที่ทำไปก็ทวงบุญคุณไป

แต่ก็นั่นแหละ จะโทษใคร เพราะดูเหมือนคนไทยจะไม่ค่อยได้คิดถึงตนเองในฐานะ “ผู้เสียภาษี” ซึ่งต่อให้เป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่เสียภาษีเงินได้ เราทุกคนก็จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตกับสารพัดสินค้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เราไม่เคยมองว่า ในฐานะคนจ่ายภาษีที่เอาไปทำเป็นงบประมาณบริหารประเทศ จ่ายเงินข้าราชการ (เพื่อให้ข้าราชการบางคนออกด่าประชาชนว่าเป็นพวกคนโง่ได้) จ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการการเมือง ฯลฯ

ในฐานะเจ้าของเงิน เราน่าจะเรียกร้อง ตรวจสอบการใช้เงินของเรา หรือมีสิทธิในการตัดสินใจว่าเงินเหล่านั้นควรใช้อย่างไร?

แต่ก็นั่นแหละ คนไทยคงเป็นคน “ว่าง่าย” เราไม่คุ้นเคยกับแนวคิดเรื่องสิทธิของพลเมือง แต่เราคุ้นเคยกับแนวคิดว่าด้วย “หน้าที่ของพลเมือง”

เราถูกสอนให้กลัวคนใหญ่คนโต เราถูกสอนให้กราบไหว้ข้าราชการ

ข้าราชการชั้นผู้น้อยก็ถูกสอนให้ศิโรราบต่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

นักเรียนก็ถูกสอนให้กลัวครูโดยไม่ต้องมีเหตุผล

ดังนั้น ในฐานะประชาชน คนไทยจึงเคยชินกับการนุ่งเจียม ห่มเจียม ก้มหน้าก้มตา “ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด”

รถติดก็เป็นความผิดของประชาชนด้วยกันเองนี่แหละที่แห่แหนซื้อรถมาขับอะไรกันนักหนาเต็มถนน น้ำท่วม ก็ประชาชนด้วยกันเองนี่แหละทิ้งขยะลงคลอง สร้างบ้านถมที่สูง พื้นที่ป่าไม้ลดลง

ก็คนไทยนี่แหละชอบตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาในเมืองไทยทุกวันนี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับระบบการเมือง รัฐบาล โครงสร้างภาษี สิทธิ หน้าที่ เสรีภาพอะไรเลย เกี่ยวกับความขี้เกียจ ขี้โกงของคนไทยล้วนๆ

ตีอกชกตัวโทษตัวเองเสร็จแล้ว เมื่อมีปัญหาอะไรที่กระทบต่อชีวิตของตนเอง เราจะ “วอนรัฐบาลช่วย”, “วอนนายกฯ เมตตา”

รัฐบาล ราชการ และผู้บริหารประเทศทั้งหลายจึงเป็นประหนึ่ง “พระมาโปรด” ที่ประชาชนอย่างเราทำได้

รอเมื่อไหร่จะทำตามที่เรา “วอน” ไปเสียที

การไม่ตระหนักถึงสถานะของตนเองในฐานะ “พลเมือง” ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ดังนั้น สิ่งที่ต้องได้มาพร้อมๆ กับ “หน้าที่” คือ “สิทธิ” ในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ไม่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตาม “บุพเพสันนิวาส” (ตอนนี้คนก็ลืมเรื่องบุพเพสันนิวาสและอยุธยากันหมดแล้วเนอะ อนิจจัง อนิจจา เราช่างมีความทรงจำสั้นกว่าหางอึ่ง)

หรือเป็นไปตามอำเภอใจของผู้ทำอำนาจในการบริหารประเทศ และสิทธิที่เราใช้เพื่อกำหนดอนาคต ชะตากรรม คุณภาพชีวิตของเราคือ สิทธิในการเลือกและถอดถอนผู้บริหารประเทศนั่นเอง

การไม่ตระหนักถึงความหมายของตนเองนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

แต่หลายกลไกเพื่อการบ่มเพาะอุปนิสัยของพลเมืองไทยนั้นทำงานประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบราวกับวงออเคสตร้าชั้นเยี่ยม ทั้งการศึกษา การใช้สื่อ การใช้ปัญญาชนสาธารณะในการผลิตซ้ำอุดมการณ์เหล่านี้จนมันกลายเป็นความจริง

เมื่อไม่ตระหนักในคุณค่าของความเป็นพลเมือง คนไทยจำนวนมากจึงไม่หวงแหนการเลือกตั้ง (ไม่คิดว่านั่นคือสิทธิของตนที่ต้องรักษา)

แต่ไพล่ไปมีความคิดชาตินิยมแบบประหลาดๆ เช่น จะเป็นจะตายกับเขาพระวิหาร แผ่นดินเรา เซ็นต์เดียวก็ไม่ยอมให้ใครบุกรุก

หรือจะเป็นจะตายกับ ปตท. พลังงาน น้ำมัน คือมีความหวงอะไรทุกอย่างยกเว้นหวงสิทธิของตนเองที่จะเข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายเรื่องพลังงาน หรือความมั่นคงของประเทศ

เมื่อไม่หวงสิทธิ ไม่หวงแหนการเลือกตั้ง สุดท้ายสิ่งที่คนไทยเห็นว่าไม่จำเป็นที่สุดสำหรับชีวิตคือ “ประชาธิปไตย”

พูดอย่างไม่เกรงใจนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหว ชูธงเรื่องประชาธิปไตยในเมืองไทย สำหรับฉัน ถ้าเราไม่สามารถทำให้คนไทยกว่าครึ่งประเทศรักในประชาธิปไตยได้ ประชาธิปไตยก็ยากจะลงหลักปักฐานได้ในประเทศนี้

นักเขียน ศิลปิน ดารา นักร้อง คนทำงานศิลปะทุกแขนง ปัญญาชน อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้นำชุมชน สื่อมวลชน เกือบทั้งหมดของประเทศล้วนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดประชาธิปไตยในสังคมอย่างน่าสะพรึงที่สุด

ที่บอกว่าน่าสะพรึง เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้คิดว่าตนเองเป็นผลผลิตของอุดมการณ์ที่ถูกถักทอก่อร่างขึ้นมาอย่างเป็นระบบ แต่เชื่ออย่างไร้เดียงสาว่า สิ่งที่ตนเองเชื่อนั้นคือสัจธรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น เชื่อว่าโรงเรียนไทยไม่มีพิธีไหว้ครูไม่ได้ นักเรียนไทยไม่ใส่เครื่องแบบไม่ได้ คนการศึกษาต่ำเลือกนักการเมืองเองไม่ได้ เราเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้าไม่ขจัดนักการเมืองขี้โกงออกไปให้หมดแผ่นดินเสียก่อน ประเทศไทยพิเศษกว่าใครๆ ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบประเทศอื่น คนไม่มีศาสนาคือคนเลว ฯลฯ

แล้วความรักในประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เราคงไม่สามารถไปทำโฆษณาชวนเชื่อให้คนรักในประชาธิปไตย

หรือเราคงไม่สามารถไปสร้างหนัง สร้างละคร แต่งเพลงล้างสมองให้คนหันมารักและหวงแหนประชาธิปไตย

เพราะหัวใจของประชาธิปไตยคือการ “ไม่เชื่อ” การ “วิจารณ์” และ “การตรวจสอบ”

ตรงกันข้ามกับระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่ต้องการทำลายความสามารถในการตั้งคำถาม

ความสามารถในการสงสัย

ความสามารถในการใช้ตรรกะและเหตุผลของผู้คน เผด็จการจึงไม่เคยรีรอที่จะทำให้คนลุ่มหลงในตนเองด้วยการทำโฆษณาชวนเชื่อ และการล้างสมองคนด้วยวิธีการต่างๆ

สําหรับฉัน ความรักในประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถรื้อฟื้นต่อม “สงสัย” และรื้อฟื้นความสามารถในการใช้ตรรกะและเหตุผล กลับคืนสู่พลเมืองของประเทศนี้ให้ได้

แต่นับวัน ในชีวิตประจำวันที่ฉันประสบอยู่ทุกวันนี้ ก็ยิ่งพบว่า ระบบตรรกะ ความคิดของเราจะถูกทำให้พังขึ้นเรื่อยๆ

เช่น เราสามารถฟังกลุ่มคนที่มีส่วนในการถ่างขยายความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศด้วยการปล้นสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนทิ้งไป พูดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำได้เป็นวรรคเป็นเวรทุกวี่ทุกวัน โดยไม่รู้สึกถึงความประหลาดพันลึกของมันเลยแม้แต่น้อย

หรือเราสามารถฟังคนที่มีส่วนในการทำลายประชาธิปไตยและการเลือกตั้งพูดเรื่องการ “คืนประชาธิปไตย” ให้ประชาชน เราสามารถฟังคนที่มีส่วนในการบังคับบัญชาการ “กระชับพื้นที่” มีคนตายเป็นร้อย พูดเรื่องจะเป็น “ขี้ข้าประชาชน” หรือมาประกาศจุดยืนหลักการประชาธิปไตย

ในรอบสิบปีที่ผ่านมา คนไทยไม่ได้ถูกปล้นแค่สิทธิในการเลือกตั้ง แต่เราถูกปล้นสติสัมปชัญญะไปด้วย

เลวกลายเป็นดี

ผิดกลายเป็นถูก

กลางคืนกลายเป็นกลางวัน

และเราเกือบจะเชื่อว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก

ระหว่างที่เราเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

และในท่ามกลางสงครามของเรื่องเล่าและการสร้างวาทกรรมใหม่ๆ ให้กับสังคม

สิ่งที่ประชาชนอย่างเราพึงรื้อฟื้นกันขึ้นมาให้จงหนักคือ ความสามารถในการคิด ใคร่ครวญ ตั้งคำถาม

ใช้เหตุผล วิจารณญาณในการอ่าน ฟัง อย่างเข้มข้น

ฟื้นสิ่งเหล่านี้มาได้เราคงได้เป็นพลเมืองที่รู้จักจะหวงสิทธิในการกำกับชะตากรรมของตัวเองขึ้นมาบ้าง

และถึงวันนั้น เราจะได้เข้าใจว่า คนที่จะเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ย่อมไม่ใช่คนหรือคณะบุคคลที่พรากสิทธิพลเมืองของเราไปจากเรา