สุจิตต์ วงษ์เทศ / ดนตรีไทย ‘เพื่อฟัง’ แบบฝรั่งตะวันตก เริ่มมีสมัยสุนทรภู่

มโหรีเครื่องใหญ่ ดนตรีไทยแบบฉบับ ที่พัฒนาเป็นดนตรีเพื่อฟังตามแบบตะวันตกตั้งแต่สมัยสุนทรภู่ (ภาพจากหนังสือ ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2482)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ดนตรีไทย ‘เพื่อฟัง’

แบบฝรั่งตะวันตก

เริ่มมีสมัยสุนทรภู่

 

เดี่ยวปี่นอก โดยพระอภัยมณีของสุนทรภู่ เป็นสัญลักษณ์แบบแผนดนตรีตะวันตก เริ่มมีเหนือดนตรีไทยดั้งเดิม แล้วผลักดันให้เป็นดนตรีเพื่อฟัง (แบบตะวันตก) เรียกดนตรีไทยแบบฉบับสืบจนทุกวันนี้

ก่อนหน้านี้ยังไม่พบหลักฐานว่ามีบรรเลงเดี่ยวด้วยเครื่องดนตรีไทยชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าสมัยอยุธยา หรือสมัยธนบุรี (ถ้าพบต่อไปข้างหน้าก็ต้องทบทวนใหม่)

ดนตรีไทยดั้งเดิม ไม่เป็นดนตรีเพื่อฟัง (เหมือนดนตรีตะวันตกที่รู้จักทั่วไป) แต่เป็นเครื่องประโคมบรรเลงในพิธีกรรม แม้บรรเลงกล่อมพระบรรทมเป็นพิธีกรรม

ปี่พาทย์ประโคมการละเล่นโขนและละครเป็นพิธีกรรม เพราะเล่นเรื่องที่มีเนื้อหาสรรเสริญพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน และชาดกสดุดีพุทธบารมี แม้เครื่องสายของไพร่บ้านพลเมืองก็ประกอบการละเล่นเต้นฟ้อนในพิธีกรรมแบบบ้านๆ

 

“ผู้ดี” สร้างแบบฉบับ “ดนตรีไทย” เพื่อความเป็นไทย

 

เพลงดนตรีไทยรับอิทธิพลเพลงดนตรีตะวันตก ราวสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหา แล้วเกิดสิ่งใหม่หลายอย่างเพื่อแสดงอำนาจและบารมีความเป็นเลิศของผู้ดีคนชั้นนำกระฎุมพี แล้วกำหนดให้เป็นแบบฉบับดนตรีเพื่อความเป็นไทย

ดนตรีไทยแบบฉบับมี 3 อย่าง คือ วงปี่พาทย์, วงมโหรี, วงเครื่องสาย ล้วนเป็นดนตรีมีมาแต่เดิมอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงไม่มีดนตรีของลุ่มน้ำอื่น เช่น ลุ่มน้ำปิง, ลุ่มน้ำมูล, ลุ่มน้ำปัตตานี, ฯลฯ

ลักษณะเฉพาะของดนตรีไทยแบบฉบับ ต้องมีเดี่ยว, เพลงเถา, เอื้อน, ประชัน แล้วมีอย่างอื่นๆ ด้วย เช่น ชื่อเพลงขึ้นต้นด้วยชาติพันธุ์, เพลงออกภาษา

 

เดี่ยว

 

บรรเลงเดี่ยว ใช้เครื่องดนตรีจำพวกดำเนินทำนอง (เช่น ระนาด, ฆ้องวง, จะเข้, ซอ) บรรเลงอย่างเดียว

อาจบรรเลงตลอดทั้งเพลงหรือแทรกอยู่ในเพลงหนึ่งเป็นบางตอนก็ได้ และอาจมีเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง, ฉาบ, โหม่ง, โทน, รำมะนา, สองหน้าหรือกลองแขกอย่างใดอย่างหนึ่งบรรเลงไปด้วย

 

เพลงเถา

 

เพลงเถา หมายถึง เพลงที่มีความเร็วต่างกันที่เรียกเป็นชั้นๆ คือ สามชั้น, สองชั้น, ชั้นเดียว

ทยอยในเถา ได้รับยกย่องเป็นเพลงเถาเพลงแรก อาจารย์มนตรี ตราโมท เขียนอธิบายว่ามีขึ้นสมัย ร.5 (จากหนังสือ สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2536)

นับเป็นผลของพัฒนาการจากเพลงทยอย และปี่พาทย์เสภา เพื่ออวดฝีมือความรู้ความสามารถของคีตกวีผู้แต่งเพลงกับนักดนตรีผู้บรรเลง โดยไม่ให้ความสำคัญเนื้อร้อง เพราะต้องการอวดบทบาทของดนตรีเพื่อฟัง

เพลงเถาดำเนินตามปี่พาทย์รับเสภา คือร้องก่อนแล้วดนตรีบรรเลงรับ เรียกร้อง-รับ เป็นลำดับกันไปจนกว่าจะจบเพลง มีอย่างน้อย 3 ท่อน คือ สามชั้น, สองชั้น, ชั้นเดียว

ร้องเพลงดนตรีตามประเพณีก่อนหน้านั้น เรียก ร้องเนื้อเต็ม มโหรีบรรเลงคลอขณะคนร้องขับร้องลำนำพร้อมไปในคราวเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ต่างจากร้องเพลงเถามีร้องแล้วดนตรีรับ

ดนตรีเพื่อฟังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ดีคนชั้นสูงและกระฎุมพี ส่วนสามัญชนคนทั่วไปไม่นิยมฟังร้อง “เอื้อนมากลากยาว” เพราะยืดยาดน่าเบื่อ

 

เอื้อน

 

เอื้อนมากๆ ยาวๆ ในการร้องเพลงเถา เพราะทำนองเพลงที่มีมาก่อน ส่วนมากหรือเกือบหมดเป็นเพลงอัตรา 2 ชั้น เมื่อจะทำเป็นเถาเพื่ออวดลีลาทำนองที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ต้องเอาเพลงอัตรา 2 ชั้นไปปรับแต่งยืดให้ยาวเป็น 3 ชั้น และหดให้สั้นเหลือชั้นเดียว

เพลงที่ประดิษฐ์เป็นเถามุ่ง “เพื่อฟัง” ทำนองเพลงหรืออวดทำนองเพลงเป็นสำคัญที่สุด ไม่ได้อวดเนื้อร้อง และไม่ได้มุ่งหมายให้ฟังเนื้อร้อง จึงไม่ได้แต่งเนื้อร้องให้สอดคล้องกับทำนองเพลง ส่วนเนื้อร้องไปคัดจากวรรณคดีร้อยกรองที่เป็นกลอน มีจำนวนคำและวรรคตามฉันทลักษณ์เป็นแบบแผน แต่จำนวนคำและวรรคไม่ยาวเท่าทำนอง เลยต้องแก้ไขให้เนื้อร้องกับทำนองมีความยาวไปด้วยกันได้โดยเพิ่มเสียงร้องไม่มีถ้อยคำ คือ “เอื้อน” ให้ยาวแทรกเข้าไปเป็นช่วงๆ ที่กำหนด

 

ประชัน

 

เจ้านายและขุนนางข้าราชการผู้มั่งมีด้วยทรัพย์สินและบริวารนิยมมีวงปี่พาทย์ของตนเอง แล้วเริ่มมีประชันขันแข่งฝีมือบรรเลงวงปี่พาทย์

แต่จำกัดอยู่ในหมู่ผู้ดีตามวังเจ้านายกับบ้านขุนนาง

 

เพลงขึ้นชื่อชาติพันธุ์

 

ชื่อเพลงดนตรีไทยขึ้นต้นด้วยชื่อชาติพันธุ์ เริ่มให้ความสำคัญจนนิยมแพร่หลายสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น เขมรพายเรือ, พม่าแทงกบ, มอญดูดาว, ลาวกระทบไม้, ญวนทอดแห, จีนขิมเล็ก, แขกต่อยหม้อ ฯลฯ (ก่อนนี้มีบ้าง แต่จำนวนนับไม่ได้)

ทั้งนี้ เพื่อยกตนข่มท่านแสดงความเป็นอื่นที่ด้อยกว่า แล้วอวดความเป็นสยามที่เหนือกว่า (ขณะเดียวกันสะท้อนลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือญาติของสยามกับเพื่อนบ้านโดยรอบที่ระบุชื่อชาติพันธุ์)

ความเป็นอื่นที่ด้อยกว่า กับความเป็นสยามที่เหนือกว่า ไม่จำเป็นต้องมีจริงในโลก เช่น ฝรั่งไม่ด้อยกว่าสยาม และสยามไม่เหนือกว่าฝรั่ง แต่ในโลกลวงๆ ของสยามแล้ว ความเป็นอื่นต้องด้อยกว่าทั้งนั้น ไม่ว่าในโลกจริงจะเป็นอย่างไร

 

เพลงสิบสองภาษา

 

เพลงสิบสองภาษา แสดงความด้อยกว่าของคนอื่น และเหนือกว่าของสยาม โดยเริ่มต้นด้วยเพลงกราวนอก (ถือเป็นลักษณะไทย) เนื้อร้องแสดงการยกทัพที่มีไทยเป็นแม่ทัพ

เพลงต่อไปมีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่ายกทัพไปจับมอญและชาติพันธุ์อื่นๆ เนื้อเพลงมีลักษณะไทยยกตนข่มท่าน คือเหยียดชาติพันธุ์อื่นๆ ว่าล้าหลังตลกคะนอง, โง่เง่าเต่าตุ่น และบ้านนอก เป็นต้น