เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : การพัฒนาเพื่อต่อยอด เป็นสิ่งสำคัญสำหรับงานอนุรักษ์

การเดินทางบนถนนลาดยางในเช้าวันหนึ่งในเดือนกันยายน จากอำเภอเมืองน่าน มุ่งสู่อำเภอสันติสุข น่ารื่นรมย์ อากาศดี มีฝนพรำเล็กน้อย

รถแล่นบนถนนลาดยางคดเคี้ยวพองามไปตามภูเขาที่ไม่สูงนัก สองข้างทางที่ควรมีพืชพรรณเขียวชอุ่ม กลับมีไร่ข้าวโพดปลูกชิดกับริมถนนสลับกับไร่สวนของชาวบ้าน

ที่จุดหมายซึ่งห่างจากอำเภอเมืองน่านไปทางเหนือประมาณประมาณ 45 นาที ที่วัดโป่งคำ อำเภอสันติสุข เราได้พบกับฟักทองเรียงรายอยู่เกือบ 30 ลูก เป็นฟักทองที่รอการขนส่งสู่ระบบโมเดิร์นเทรดที่รู้จักกันดี คือ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต

เรื่องราวของฟักทองทั้งหมดนี้ มีความเป็นมาน่าทึ่งที่เราได้ยินจากปากของพระครูสุจิณ หรือชื่อจริงว่า พระครูสุจิณนันทกิจ พระหนุ่มที่มาฝังตัวอยู่ที่นี่และทำงานพัฒนาจนเป็นแบบอย่างให้เรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ในความหมายใหม่

คงจะต้องเริ่มต้นที่ตัวท่านพระครูสุจิณก่อน

ที่เดิมท่านบวชอยู่ที่วัดในกรุงเทพฯ แต่แล้วท่านก็กลับมาคิดว่า “ที่จริงกรุงเทพฯ หรือน่านบ้านเราก็เหมือนกัน คือหิวก็ต้องกินเหมือนกัน ไม่มีอะไรต่างกัน แล้วเราทำไมต้องมาอยู่กรุงเทพฯ ด้วย จึงตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้าน ที่วัดโป่งคำ”

ตอนนั้นจังหวัดน่านเป็นดินแดนวิกฤต ท่านเล่าว่าผืนป่าเป็นหมื่นๆ ไร่ถูกถางจนเตียนเพื่อทำไร่ข้าวโพด ชาวบ้านพากันถางจนสุดลูกหูลูกตาเพื่อหวังรายได้เป็นกอบเป็นกำ ภาครัฐมีนโยบายให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่วนบริษัทเอกชนก็สนับสนุนเอาสารเคมีมาให้ เอาเมล็ดพันธุ์มาให้ ให้สินเชื่อ ผลผลิตที่ได้ก็ขายให้เอกชน

พอต่อมาข้าวโพดไม่ได้ราคาจึงเป็นหนี้สินกันหลายครอบครัว ป่าก็เสื่อมโทรม ระบบนิเวศก็เสียกันไปหมด มีภัยธรรมชาติรุนแรง น้ำแห้งขอด ผลผลิตจากป่าที่เคยเอามาขายเลี้ยงชีพก็หายาก

ท่านเห็นชาวบ้านโป่งคำยากจนลงจึงต้องรีบนำชาวบ้านคิดกันใหม่

ท่านบอกว่า ชุมชนก็อยู่กันมา 100 ปี ทำไมถึงอยู่กันได้ ถ้าลองไปถามผู้เฒ่าผู้แก่ดูก็จะรู้ว่าเมื่อก่อนนี้ เวลาเจ็บป่วย ชาวบ้านก็บอกว่าก็ไปเอาสมุนไพร ใบนั่น ต้นนั่น รากนี่ มากิน มาต้ม แก้อาการนั้นอาการนี้ สมุนไพรมีเต็มบ้านเต็มป่าไม่ต้องซื้อหา

ท่านถามชาวบ้านว่าแต่ก่อนไม่มีร้านค้า ไม่มีห้างโลตัส ไม่มีตลาด สูเอาเสื้อผ้าที่ไหนมาใส่ ชาวบ้านก็บอกว่าก็ปลูกฝ้ายเอง มามาปั่นมาทอเป็นผ้าเย็บใช้เอง อยากได้สีอะไรก็เอาเปลือกไม้ ใบไม้ สีต่างๆ ตามธรรมชาติ ตามข่วงบ้าน ตามป่ามาย้อมเอา

แล้วท่านถามชาวบ้านอีกว่า แต่ก่อนไม่มีวิทยุ ไม่มีทีวี สูเอาอะไรมาพักผ่อน บันเทิงใจ เขาก็ตอบว่าก็เล่นสะล้อซอปิน ซอ จ๊อยกันไป ม่วนงันกัน ใครก็เล่นก็ซอจ๊อยกันเป็น

ท่านบอกว่าคนสมัยก่อนมีภูมิปัญญาและสามารถพึ่งพาตนเองได้

ถ้าไปเยี่ยมชุมชนในจังหวัดน่าน เราจะยังเห็นชาวบ้านยังตั้งวงเล่นดนตรีกันอย่างสบายใจ

เดี๋ยวนี้พอไร่ข้าวโพดไม่ดี ราคาตก สิ่งแวดล้อมเสียก็ไม่รู้จะกลับไปที่เดิมอย่างไร

ชาวบ้านรู้ปัญหา แต่ท่านบอกว่าต่างจำยอมกับกระแสวัตถุและความสะดวกสบายที่ถาโถมเข้ามา

ท่านพระครูจึงตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนบ้านโป่งคำ” เพื่อแสวงหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชน จะสังเกตว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นไปเพื่อปัจจัย 4 ครบ มีทั้งกลุ่มย้อมผ้าสีธรรมชาติ กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มตีเหล็ก กลุ่มจักสาน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ และยังเพิ่มองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเข้าไปด้วยคือ กลุ่มเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนโป่งคำ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนา กลุ่มเครือข่ายแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

ภายในวัดโป่งคำที่มีอาณาบริเวณกว้าง จะเห็นพืชพรรณหลากหลาย เย็นสบาย อากาศดี วันนั้นท่านพระครูกำลังพูดคุยอยู่กับชาวบ้านที่มาขอยารักษาโรค ท่านบอกว่าเจ้าอาวาสคนก่อนมีวิชาเรื่องการปรุงยาที่ท่านได้เรียนรู้มาและในป่าบริเวณนั้นแต่เดิมทีมีสมุนไพรถึง 400 ชนิด

การปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดได้ทำลายแหล่งสมุนไพรไปมาก

จุดหักเห เกิดจากปัญญา

ท่านบอกว่าเมื่อก่อนท่านเคยเทศน์ให้ชาวบ้านฟัง ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านก็บอกว่าไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ท่านก็เลยได้ปัญญาว่าต้องลงมือทำให้ดู

ปัญญาเกิดขึ้นอีกครั้งว่าหัวใจของการอนุรักษ์อยู่ที่การพัฒนาต่อยอด หมายความว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ จะบอกให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้เพื่ออนุรักษ์ป่า แต่ต้องต่อยอดให้ทำมาหากินได้ ก็จะเป็นการอนุรักษ์ป่าไปในตัว เป็นป่าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติ คือมีไม้นานาพรรณผสมผสานกัน ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยวแบบข้าวโพด

ท่านขอบิณฑบาตที่ 2 ไร่จากที่เกษตรกรใช้ปลูกข้าวโพดมาทดลองปลูกพืชผสมผสาน เลี้ยงสัตว์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผลผลิตที่ออกมาเช่นฟักทอง ท่านก็สืบค้น ติดต่อทำการตลาดให้

เป็นเส้นทางของฟักทองปลอดสารสู่โมเดิร์นเทรดอย่างสวยงาม

ท่านบอกกับเราว่าถ้าสนใจผลิตภัณฑ์ก็เข้าเฟซบุ๊ก แล้วก็ “add” ได้เลย (ลองเข้าไปแล้ว ยังไม่เห็นค่ะ เข้าใจว่ากำลังสร้างหน้าเฟซอยู่)

%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b9%87%e0%b8%8d%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b8%b5-4

อันที่จริงแล้ว ท่านบอกว่าหน้าที่หลักของคนที่เป็นพระคือการอบรมสั่งสอนเรื่องศีลธรรมและจิตใจ แต่ท่านเห็นว่าหากคนยังยากจนอยู่ มีปัญหารุมเร้าเรื่องความเป็นอยู่ ก็ยากที่จะหันเข้าหาทางธรรมได้

ท่านจึงต้องช่วยแก้ตั้งแต่ต้นทาง คือเรื่องทำมาหากิน และเรื่องวิถีชีวิต

ถ้าหากไปที่จังหวัดน่าน และได้ไปเยี่ยมชุมชนหมู่บ้านโป่งคำ ก็จะพบว่าไม่เพียงแต่ฟักทองเท่านั้นที่เป็นผลผลิตทำรายได้ แต่ยังมีผ้าทอย้อมสีธรรมชาติซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ตามความนิยมของคนที่หันเข้าหาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ

ไปเยี่ยนท่านพระครูเสร็จ กลับมากรุงเทพฯ ก็เห็นสัจธรรมว่า พูดไปทำไมมี ไม่มีใครช่วยแก้ปัญหาของชาวบ้านหรอกนอกจากตัวชาวบ้านที่ต้องช่วยกันเองและพระสงฆ์ผู้ใจบริสุทธิ์

และเป็นผู้ใช้ปัญญานำพาให้ชาวบ้าน “เคลื่อน” ไป