โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/จะเกษียณ…เตรียมเงินไว้พอแค่ไหน

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง  [email protected]

 

จะเกษียณ…เตรียมเงินไว้พอแค่ไหน

 

ขอเล่าเรื่องของคนใกล้ตัวหน่อยค่ะ

น้องสาวของเพื่อนแต่งงานกับคนญี่ปุ่น

เมื่อสามีของเธอเกษียณ ครอบครัวก็ย้ายมาอยู่จังหวัดภาคเหนือของไทย

คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อในการออมเงินแค่ไหนเป็นที่รู้กัน การย้ายครอบครัวมาอยู่ในประเทศที่ค่าครองชีพต่ำกว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็อยากทำ

และถ้าทำได้ก็นับว่าโชคดี โชคดีที่หนุ่มญี่ปุ่นคนนี้แต่งงานกับภรรยาไทย เขาจึงเห็นเมืองไทยเป็นบ้านแห่งที่สอง

และไม่รีรอที่จะถอนรากจากญี่ปุ่นมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย

เขาพามารดาวัย 90 ปีมาด้วย ไม่นานก็มีผู้ช่วยดูแลคนชราเป็นสาวเหนือที่ผ่านการอบรมมาอย่างดี และจิตใจดีคอยดูแลคุณย่า

คุณย่านั้นสุขภาพดีไม่มีโรคภัย คุณภาพชีวิตของครอบครัวดีมาก เพราะอากาศที่ดีในเขตรอบนอกเมือง อาหารการกินราคาไม่แพง

จนกระทั่งถึงอายุขัยคุณย่าก็เสียชีวิตอย่างสงบ

 

คนเกษียณทุกคนฝันถึงชีวิตแบบนี้มิใช่หรือ การไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน มีคนช่วยเหลือดูแล ได้อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ มีเงินช่วยเหลือตั้งแต่อายุ 60 ขึ้นไป

มีโครงการสร้างสถานสงเคราะห์ ส่วนเอกชนเองก็มีโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นทางการก็มีหลากหลาย แบบที่ไม่เป็นทางการก็มี ตามอัธยาศัยและความมีน้ำใจของคนไทย แบบไทยๆ

สาวโสดผู้หนึ่งอายุ 70 โชคดีที่นายจ้างซึ่งรู้จักกันมานานบอกกับเธอว่า “พี่ทำงานที่นี่ได้ตลอดชีวิต” เธออาศัยอยู่ในคอนโดฯ คนเดียว แม่ค้าขายอาหารเจ้าประจำขอบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของเธอไว้ และบอกว่า “มีอะไรป้าโทร.หาหนูได้ทุกเมื่อ ป้าอยู่คนเดียว เผื่อเป็นอะไรไป เดี๋ยวจะไม่มีคนรู้”

นี่คือน้ำใจแบบไทยๆ ที่ทำให้สังคมคนในวัยเกษียณไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป

 

แต่ก็มีคนเกษียณเป็นจำนวนมากที่มีชีวิตลำบากเพราะไม่ได้เตรียมตัว

เมื่อเร็วๆ นี้มีการสำรวจทางออนไลน์กับคน 16,000 คน ใน 15 ประเทศ ซึ่งขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ผลของการสำรวจบอกว่าประชากรในโลกยังเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยไม่ดีพอ

มีการตั้งคำถาม 3 ข้อเกี่ยวกับเรื่องการเตรียมตัวด้านการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ผลสรุปออกมาว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจเรื่องการเงินเพียงพอ ซึ่งหมายความว่าเมื่อถึงวัยที่ต้องเกษียณชีวิตน่าจะมีปัญหา

คนชั้นกลางในเมืองรู้จักเรื่องการลงทุนและการออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ การสำรวจนี้ทำใน 15 ประเทศ ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นประเทศอะไรบ้าง แต่จากบางตัวอย่างที่เขานำเสนอ น่าจะเป็นการสำรวจในยุโรป อเมริกา และรวมจีนเข้าไปด้วย

หนึ่งในคำถามก็คือ ในการลงทุนไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณนั้น การซื้อหุ้นของบริษัทบริษัทเดียวปลอดภัยกว่าการซื้อกองทุน คุณเห็นว่า “ถูก” “ผิด” หรือ “ไม่ทราบ”

16% ตอบผิด อีก 38% ตอบ “ไม่ทราบ” ในสหรัฐอเมริกา คนที่อยู่ในวัยทำงาน 46% ตอบถูก แต่ในเยอรมนีผู้ตอบถูกมีมากกว่า

คำตอบที่ถูกต้องคือ “ผิด” ซื้อหุ้นบริษัทเดียวย่อมปลอดภัยน้อยกว่าการซื้อกองทุน (ซึ่งผู้จัดการกองทุนนำเงินไปลงทุนในหุ้นต่างๆ) เพราะเหมือนกับสำนวนว่าเอาไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว

คำถามที่เกี่ยวกับเงินเฟ้อ ถามว่า “ทราบไหมว่าหากมีเงินเฟ้อ 2% เงิน 100 ดอลลาร์ของคุณจะซื้อของได้น้อยลง คนส่วนใหญ่ 20% ตอบว่า ไม่ทราบว่าหากเงินเฟ้อสูงขึ้นเขาจะซื้อของได้น้อยลง

ส่วนคำถามที่ว่าอะไรที่คุณเป็นกังวลมากที่สุดในวัยเกษียณ คำตอบที่มาอันดับหนึ่งคือ “การมีสุขภาพเสื่อมโทรมลง” (49%) และต่อมาคือ “กลัวมีเงินไม่พอใช้” (41%) เรื่องความกลัวเป็นอัลไซเมอร์หรือดีเมนเชียก็มีสูงเช่นกันคือ 33% ในจำนวนนี้คนสเปนมีความกังวลสูงที่สุดคือ 53%

คำถามอีกชุดหนึ่งคือ “แนวโน้มของโลกเรื่องอะไรที่จะมากระทบต่อแผนการเกษียณของคุณ” มีการถามคนวัยทำงาน 1,000 คนในแต่ละประเทศ คำตอบที่ได้คือ “การที่รัฐบาลจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนคนวัยเกษียณน้อยลง” เป็นคำตอบที่คนตอบมากที่สุด 38%

คำตอบรองลงมาคือ การที่คนมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น (27%) แสดงว่าเมื่ออายุยืนยาวมากขึ้นก็ต้องใช้เงินมากขึ้น

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ไม่ได้คิดไปถึงเรื่องเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ความเปลี่ยนแปลงในการจ้างงาน จะมีผลต่อการวางแผนเกษียณของตน

มีผู้ตอบว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่และการเข้าสู่ยุคดิจิตอล และกระทบแผนการเกษียณเพียง 12%

 

หัวหน้างานวิจัยบอกว่าเธอค่อนข้างกังวลใจที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและมองไม่เห็นถึงเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนโลกซึ่งกำลังใกล้เข้ามาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าผู้คนไม่รู้จริงๆ หรือพยายามจะปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงพวกนี้

ในเรื่องของการทำงาน คนวัยทำงานทั้งหลายอยู่ในอารมณ์ไม่ยอมรับความจริงว่าพวกเขาจะทำงานอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะบอกว่าขอเกษียณตอนอายุ 65 แต่ผู้ทำวิจัยบอกว่าส่วนใหญ่แล้วมีคนถึง 39% ต้องเกษียณก่อนที่เขาหวังไว้ ซึ่งเหตุผลก็มาจากปัญหาสุขภาพ หรือไม่ก็ตกงาน

ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศจีนจำนวนมาก (20%) บอกว่าเมื่อเกษียณแล้วอยากจะมีหุ่นยนต์เป็นเพื่อน ส่วนอีก 32% บอกว่าอยากจะให้หุ่นยนต์คอยช่วยงาน

คนจีนอยากจะอยู่กับหุ่นยนต์มากกว่าคนอเมริกันเสียอีก ข้อนี้ผู้เขียนพอจะเข้าใจได้ เพราะปัจจุบันนี้จีนค้นคิดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เลยหน้าญี่ปุ่นไปแล้วด้วยซ้ำ ในขณะที่อเมริกามัวแต่เอาเงินไปรบในประเทศอื่น

เดี๋ยวนี้ต่างคนต่างพูดว่าอย่าหวังพึ่งลูกหลาน เก็บเงินเก็บทองให้พอใช้ แล้วพึ่งตัวเองในวัยชราจะดีกว่า เห็นท่าจะจริงนะคะ

ผู้ทำวิจัยชุดนี้ให้ความสำคัญกับความเข้าใจเรื่องการเงินเป็นอย่างมาก คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่าควรจะต้องบรรจุเรื่องการเงินเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา สนับสนุนให้คนมีทัศนคติที่ดีต่อการมีวัยที่สูงขึ้น และหัดบริหารการเงินรวมทั้งการออมเงินเพื่อช่วงเวลาเกษียณอายุตั้งแต่เนิ่นๆ

เจอเพื่อนๆ วัยเกษียณหรือใกล้เกษียณคราวหน้า มาคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเงินกันดีกว่า ภายภาคหน้าจะได้หมดกังวล