โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 131 “เอสกิโม” ดิ้นสู้กับจุดเปลี่ยน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“เกร็ก เมอร์เซอร์” บันทึกรายงานวิถีชาวอินุอิต (Inuit) เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกับชาวเอสกิโมในเมืองริโกเล็ต ประเทศแคนาดา ผ่านหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนแห่งอังกฤษ ใช้หัวเรื่องว่า “ทะเล น้ำแข็ง หิมะ ทุกสิ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมของชาวอินูอิต ดิ้นสู้ในท่ามกลางภาวะโลกร้อน”

ริโกเล็ตเป็นเมืองเล็กๆ พื้นที่เพียง 3.6 ตารางกิโลเมตร อยู่ปลายขอบชายฝั่งลาบาร์ดอร์ทางตอนเหนือของแคนาดา ห่างจากเกาะกรีนแลนด์ ขั้วโลกเหนือราวๆ 1 พันกิโลเมตร

ชาวเมืองมีแค่ 300 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเอสกิโม อยู่ในแถบนี้มานานกว่า 8 พันปี

ช่วงหน้าหนาว อุณหภูมิติดลบ 20 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูร้อน อุณหภูมิไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส

เมื่อถึงหน้าหนาว หิมะตกเป็นครั้งแรก ชาวเมืองพากันตื่นเต้นเพราะถือเป็นช่วงหรรษาที่สุด

ชาวเมืองขี่รถสโนว์โมบาย หรือฝูงสุนัขล้อเลื่อน แล่นไปทั่วเมืองที่ปกคลุมไปด้วยหิมะด้วยความสนุกสนาน บางคนตกปลาในหลุมน้ำแข็ง

 

“มาร์ติน ชิวาก” ผู้เดินตามรอยบรรพบุรุษชาวเอสกิโม พยายามสอน “เดน” ลูกชายวัย 8 ขวบให้เรียนรู้วิถีชีวิตซึ่งอยู่บนผืนน้ำแข็งและหิมะเป็นส่วนใหญ่

“ชิวาก” พาลูกชายขึ้นรถสโนว์โมบายเล่นไปตามรอยหิมะ เพื่อล่าสัตว์ในป่าสน ตกปลาและตัดท่อนไม้ไว้ใช้ในหน้าหนาว

ฤดูร้อน ผู้คนต่างสนุกกับการออกไปเก็บลูกเบอร์รี่ ล่าห่านและเป็ดซึ่งเป็นกิจกรรมที่ปฏิบัติมาตั้งแต่โบราณ

ในฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิอุ่นขึ้น หิมะยังปกคลุมอยู่ ชาวเมืองขี่สโนว์โมบายและตกปลาในหลุมน้ำแข็ง เป็นช่วงเทศกาลแข่งสุนัข ล่าแมวน้ำ

ชาวเอสกิโมถือว่าการล่าสัตว์คือวิถีชีวิตชุมชนอันสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะการล่าสัตว์นั้นเป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวเอสกิโมด้วยกัน ทั้งการร่วมล่า ลงมือแล่ชำแหละแบ่งปันเนื้อหนังให้กลุ่มคนล่าไปเก็บไว้ทำอาหารภายในครอบครัว และการพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ

ฉะนั้น การล่าสัตว์ของชาวเอสกิโมจึงไม่ต่างไปจากวิถีชีวิตของชุมชนในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เช่น การลงแขกปลูกข้าวทำนาในชุมชนเอเชียอาคเนย์

เวลานี้ “ชิวาก” กลับรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนริโกเล็ต ดูเหมือนช่วงหรรษาและรื่นรมย์กำลังจะผ่านไปอย่างเห็นได้ชัด

 

ฤดูหนาวในเมืองริโกเล็ต สั้นลงกว่าเดิมราว 6 สัปดาห์

พื้นทะเลปกคลุมด้วยน้ำแข็งหดเล็กกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา

“โรเบิร์ต เวย์” นักอุตุนิยมวิทยาชี้ว่า ช่วงเวลาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 ถึงปี ค.ศ.2015 สภาวะภูมิอากาศเมืองริโกเล็ตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นกังวล

บางปีอุณหภูมิทะลุกว่า 20 องศาเซลเซียส

สถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเป็นมาก่อนบีบบังคับให้ชาวริโกเล็ตต้องปรับตัว

น้ำแข็งและหิมะหดหาย ฤดูกาลเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้

“เดอร์ริก พอตเติล” เป็นชาวอินูอิตอีกคนที่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตตามวิถีบรรพบุรุษ บอกกับ “เมอร์เซอร์” ว่า ทักษะและประสบการณ์ที่ฝึกฝนเรียนรู้จากรุ่นพ่อรุ่นปู่อาจจะใช้ไม่ได้แล้วกับสถานการณ์ปัจจุบัน

พอตเติลซื้ออาหารแช่แข็งจากร้านค้ามากินแทนการออกไปล่าสัตว์หรือตกปลาเพราะง่ายกว่า ปลอดภัยกว่า แม้อาหารแช่แข็งจะมีราคาแพงก็ตาม

วิถีนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอดีต

สมัยก่อนชาวเอสกิโมไม่เคยซื้ออาหารแช่แข็ง

ทุกคนออกไปล่าสัตว์ จับปลา และทางการจะอนุญาตให้ล่าหมีขาวปีละ 2 ตัว

เนื้อหมีขาวและหนังจะแล่เอามาแบ่งปันในชุมช

 

ปัจจุบันภาวะโลกร้อนทำให้พื้นผิวน้ำแข็งเปราะบาง อากาศวิปริตแปรปรวน

การออกไปล่าสัตว์มีความเสี่ยงสูงและอันตรายมากขึ้น จึงต้องซื้ออาหารมาเก็บตุนแทน

ปกติแล้ว เมื่อถึงฤดูหนาว ชาวเอสกิโมจะมีโปรแกรมสอนเด็กๆ ให้เรียนรู้วิถีชีวิตในการล่าสัตว์ การตกปลาในหลุมน้ำแข็งกลางอ่าว แต่บางปีอากาศอุ่น แผ่นน้ำแข็งบางเปราะ

โปรแกรมการเดินทางออกไปล่าสัตว์หรือตกปลาเสี่ยงอันตรายต้องยกเลิกเพราะไม่รู้ว่าแผ่นน้ำแข็งจะแตกหรือละลายเมื่อไหร่

ถ้าขี่สโนว์โมบายหรือล้อเลื่อนผ่านจุดอันตรายดังกล่าว อาจตกลงไปในทะเลที่เย็นยะเยือก โอกาสรอดตายแทบไม่มี

การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศจึงมีผลต่อภูมิปัญญา องค์ความรู้ของชาวเอสกิโมที่สั่งสมมายาวนานอาจถึงกาลเสื่อมสลาย

 

“นี่คือตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงของทะเล น้ำแข็ง และหิมะ มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวเอสกิโม” พอตเติลบอกกับนักเขียนของเดอะ การ์เดียน

ช่วงเวลาในฤดูร้อนของริโกเล็ตซึ่งสั้นกว่าเดิม ยังเกิดปัญหาต่างๆ กระทบต่อชุมชน เช่น ฝูงแมลงวันบุกมารบกวนบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวเอสกิโมมากขึ้น เร็วขึ้น บางปีมาก่อนจะเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิเสียด้วยซ้ำไป

เจ้าหน้าที่ของเมืองริโกเล็ตเล่าว่า ขณะขับรถมองเห็นแมลงวันฝูงใหญ่บินเหนือรถ

“มันเหมือนเมฆดำก้อนใหญ่โผล่หน้ากระจกรถ ต้องใช้น้ำฉีดและกดใบปัดน้ำฝนปัดฝูงแมลงวันออกไป น่าแปลกที่มันโผล่มาในเดือนพฤษภาคม ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนแมลงวันพวกนี้มาปลายๆ เดือนมิถุนายน”

ชาวประมงเมืองริโกเล็ตเห็นสัตว์แปลกตาโผล่ในอ่าวมากขึ้น เช่น นกกาน้ำ ฉลามและเต่าทะเล

สัตว์แปลกๆ เหล่านี้ไม่สามารถอาศัยในแถบขั้วโลกเหนือ แต่เป็นเพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น หรือพูดง่ายๆ เพราะทะเลอุ่นขึ้น ฝูงฉลาม เต่าทะเลและนกน้ำจึงออกมาล่าหาอาหารบริเวณนี้ได้สะดวกขึ้นนั่นเอง

ส่วนฝูงแมวน้ำ ชาวเอสกิโมล่าเพื่อกินเนื้อ หนังแล่มาทำเสื้อคลุมกันน้ำ หาจับได้ยากแล้วเนื่องจากย้ายถิ่นไปอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่า เช่นเดียวกับฝูงกวางแคเรอบู มีจำนวนลดลง

บางปีทะเลริมฝั่งลาบาร์ดอร์เย็นจัดผิดปกติ ชาวประมงนำเรือออกไปจับไม่ได้เพราะน้ำแข็งหนาถึง 8 เมตร ต้องรอถึงเดือนกุมภาพันธ์ ให้น้ำแข็งละลายเสียก่อน

 

ความผิดปกติเช่นนี้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ชาวประมงรู้สึกมึนงง ไม่รู้จะวางแผนการดำรงชีวิตอย่างไร

นักสังคมวิทยาพากันวิตกกังวลว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ชาวเอสกิโมเกิดอาการเครียด ฆ่าตัวตายสูงกว่าเดิม ดูได้จากสถิติจำนวนคนติดเหล้า ยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ กัดกร่อนทำลายวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวเอสกิโม เหมือนเช่นชุมชนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน