ต่างประเทศ : “500 วัน” ประธานาธิบดีทรัมป์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ฉลองการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกา ครบ “500 วัน” เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ด้วยการทวีตข้อความประกาศความสำเร็จในการดำเนินนโยบายนับตั้งแต่สาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2017

“นี่เป็นวันที่ 500 ที่ผมดำรงตำแหน่ง และเราประสบความสำเร็จมากมาย-หลายคนเชื่อว่ามากกว่า 500 วันแรกของประธานาธิบดีทุกคนที่เคยมีมา…”

ทวีตดังกล่าวของประธานาธิบดีสหรัฐถูกนำมาพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดย ยึดเอาแถลงการณ์ของทำเนียบขาวที่เผยแพร่ออกมาในวันเดียวกันในชื่อว่า “500 วันแห่งความยิ่งใหญ่ของชาวอเมริกัน ภายใต้การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ. ทรัมป์” ที่นับเป็นการแถลงผลงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐ

และคำถามสำคัญก็คือ “ทรัมป์” ทำอะไรบ้างในช่วงเวลา 500 วันที่ผ่านมา

 

นอกจากการต้องตกเป็นเป้าในการสอบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้ง รวมไปถึงการก่อสงครามน้ำลายกับเกาหลีเหนือจนโลกหวาดกลัวจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นแล้ว ในช่วง 500 วันที่ผ่านมาความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่ทรัมป์เรียกว่าเป็น “ความสำเร็จ” หนึ่งในนั้นคืออัตราการว่างงาน

อัตราการว่างงานในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลดลงสู่ระดับ 3.8 เปอร์เซ็นต์ นับว่าอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 และ ในรอบ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมามีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจถึง 3 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงกว่า 200,000 รายนับตั้งแต่ทรัมป์เข้าสู่ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม สื่อสหรัฐวิเคราะห์ว่า นั่นไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จเมื่อข้อมูลจากสำนักสถิติแรงงานระบุว่า ตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจสหรัฐนับเฉพาะในปี 2017 จำนวน 2.1 ล้านตำแหน่งนั้นเป็นการเพิ่มตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นทุกปี โดยปี 2017 นับเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันแล้วที่มีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นในระบบ ราวปีละ 2 ล้านตำแหน่งหรือมากกว่า นั่นหมายความว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานของระบบเศรษฐกิจสหรัฐนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีคนก่อนหน้าอย่างอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ จาก “รายงานดัชนีชีวิตที่ดีกว่า” ของ “โออีซีดี” ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า ชาวอเมริกันให้คะแนนชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองเฉลี่ยอยู่ที่ 6.9 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 6.5 คะแนน และความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ก็ยังคงอยู่ในระดับเดิมในผลสำรวจของโอซีดีล่าสุด

 

แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุด้วยว่าในยุคของทรัมป์ สหรัฐอเมริกามีบทบาทนำในการดำเนินนโยบายที่นำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทว่านั่นก็มีขึ้นหลังจากทรัมป์และคิม จอง อึน ข่มขู่จะถล่มอีกฝ่ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่านั่นจะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือไม่ แต่นั่นกลายเป็นการเปิดเส้นทางการทูตที่นำไปสู่การประชุมระดับผู้นำสูงสุดของสองประเทศครั้งประวัติศาสตร์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ การหารือซึ่งทรัมป์เคยประกาศยกเลิกไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนใจในอีก 1 วันถัดมา

หนึ่งผลงานที่ดูจะเป็นชิ้นเป็นอันมากที่สุดในยุคประธานาธิบดีทรัมป์คือ การจับกุมกลุ่มผู้อพยพผิดกฎหมาย จากข้อมูลของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (ไอซีอี) สหรัฐ มีผู้ถูกจับกุมในช่วงเดือนมกราคม 2017 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2017 จำนวนมากถึง 110,568 ราย เพิ่มขึ้นถึง 42 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2016 โดยในจำนวนนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วจำนวนถึง 92 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังสร้างกำแพงขนาดใหญ่กั้นชายแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก รวมถึงเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายอีกกว่า 60,000 คนในช่วงระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2017 ถึง 30 กันยายน 2017 เพิ่มขึ้นจาก 40,000 รายในช่วงเดียวกันของปี 2016 ด้วย

 

นอกจากเรื่องนโยบายที่พอจะมองเห็นภาพกันบ้าง สื่อสหรัฐยังให้ความสนใจกับ “ตัวเลข” บางอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่ดูจับต้องได้มากกว่า อย่างเช่น โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์นับตั้งแต่รับตำแหน่งจำนวน 3,496 ครั้ง หรือนับเป็นเกือบ 7 ครั้งต่อวัน ในจำนวนนี้มี 224 ทวีตที่กล่าวถึง “ข่าวปลอม” 118 ทวีต กล่าวถึงฮิลลารี่ คลินตัน และอีก 57 ทวีตที่ระบุถึงการสืบสวนกรณีรัสเซียว่าเป็นการ “ล่าแม่มด”

ทรัมป์พบกับผู้นำประเทศจำนวน 94 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการพบกับชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมากที่สุด 7 ครั้ง

250 ครั้งคือจำนวนการต่อสายถึงผู้นำประเทศ โดยเป็นการต่อสายถึงเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ 24 ครั้ง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส 22 ครั้ง และชินโสะ อาเบะ 21 ครั้ง

นอกจากนี้ทรัมป์เดินทางเยือนต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 14 ประเทศ โดยเตรียมเดินทางไปยังแคนาดาในวันที่ 8 มิถุนายน และเตรียมเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อพบกับคิม จอง อึน ในวันที่ 12 มิถุนายน

ขณะที่ตัวเลข 44 คือจำนวนเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ถูกทรัมป์กดดันจนไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ ในจำนวนนี้คือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวอย่างน้อย 30 คน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 12 คน ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงระดับ “รัฐมนตรี” ถึง 3 คน