มุกดา สุวรรณชาติ : รวมพลัง(ขวา)หลังฝนตก…หวังชนะเลือกตั้ง

มุกดา สุวรรณชาติ

พันธมิตร-กปปส. และ รปช.

กลุ่มอำนาจเก่าใช้การชุมนุมมวลชนและการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 โค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ทิ้ง แล้วก็ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งร่างเองและกำหนดการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วใช้เวลาไม่นาน

ในปลายปี 2550 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคนอมินีของกลุ่มอำนาจเก่าแพ้พรรคที่ถูกยุบทั้งๆ ที่พรรครัฐบาลเก่าจากการเลือกตั้งถูกมัดมือชก ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นร้อย แต่ยังได้เสียงเกือบครึ่งสภา ดังนั้น จึงสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้อีกครั้ง

ทำให้อำนาจเก่าต้องสั่งให้มีการเคลื่อนไหวของม็อบพันธมิตรฯ ครั้งใหม่ในกลางปี 2551 ยาวนานถึงปลายปี ต้องยึดทำเนียบรัฐบาล เร่งเกมด้วยการยึดสนามบินและปิดเกมด้วยตุลาการภิวัฒน์ยุบพรรค ปลดนายกฯ

แม้สามารถเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในค่ายทหาร แต่การปกครองของรัฐบาลประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทำต่อไปได้ไม่นานก็มีกลุ่มเสื้อแดงเกิดขึ้นมาค้านอำนาจ และขอให้ยุบสภา ตัดสินด้วยการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ถูกปราบด้วยกำลังทหารติดอาวุธมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

ความแตกแยกของคนในประเทศกระจายไปทั่วแผ่นดิน ทำให้เกิดแรงกดดันให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 ผลการเลือกตั้งกลุ่มอำนาจเก่าก็ยังคงแพ้ พรรคที่ถูกยุบ แม้จะเปลี่ยนชื่อใหม่กี่ครั้งกี่หนคนก็ยังเลือก แถมได้คะแนนมากกว่าเก่าเกินครึ่งสภา

เลือกตั้งแพ้คนไม่ยอมแพ้ ปี 2556 ถึงต้นปี 2557 จึงมีการปลุกม็อบขึ้นมาอีกครั้ง

แต่คราวนี้เข้มกว่าเดิม เพราะนี่คือ กปปส. มีชื่อเต็มว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้นำการประท้วงและมีอดีต ส.ส.พรรค ปชป. ร่วมเป็นแกนนำ 8 คน

ประกาศว่าจะจัดตั้งสภาประชาชนที่มิได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อควบคุมการปฏิรูปการเมือง ได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์การ รวมถึงพรรค ปชป. กลุ่มพันธมิตรฯ สหภาพแรงงานของรัฐ และกลุ่มนิยมทหาร

แม้จะปิดกรุงเทพฯ แต่ กปปส. ก็ทำไม่สำเร็จ จึงต้องตามด้วยตุลาการภิวัฒน์ปลดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังไม่จบ สุดท้ายก็ต้องใช้การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

กปปส.และคณะรัฐประหาร คสช. จึงเป็นผลผลิตต่อเนื่องของกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งจะต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสายฝนหลังฤดูแล้ง รธน.ประชาธิปไตยครึ่งใบ ฉบับ 2560 เมื่อจะเลือกตั้งก็ต้องมีพรรคการเมือง ทหารจึงต้องตั้งพรรค ส่วนแกนนำ กปปส. และพันธมิตรฯ ก็ตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ถือเป็นพรรคฝ่ายขวา ตามจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยน

 

ไม่ใช่การตระบัดสัตย์ แต่ต้องทำตามแผน

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก คืนความสุขให้ประชาชนมา 4 ปี จนถึงวันนี้แรงกดดันเริ่มเข้มข้นขึ้นและคงจะต้องมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่เลื่อนมา 3 ครั้ง คราวนี้น่าจะเป็นจริงเสียทีคือเดือนกุมภาพันธ์ 2562

นั่นหมายความว่าหลังรัฐประหาร คสช. ครองอำนาจได้ถึง 5 ปี แต่ตามธรรมเนียมของการรัฐประหารก็จะต้องมีการสืบทอดอำนาจทั้งเพื่อการปฏิรูป การป้องกันตัว และการอะไรอีกหลายอย่าง

แต่จะทำอย่างไรจึงจะได้รับการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาแพ้ทุกครั้ง

จึงต้องร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้เปรียบในทางการเมืองและการเลือกตั้ง เป็นเรื่องปกติที่สุดการตั้ง ส.ว. 250 คนเพื่อตุนคะแนนเสียงไว้สำหรับเลือกนายกฯ เพิ่มความได้เปรียบ แบบวิ่ง 100 เมตร วิ่งไปก่อน 30 เมตร ใครจะไปวิ่งแข่งได้

จากนั้นยังมีวิธีการใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งจะทำให้คะแนนของพรรคใหญ่ไม่สามารถมีได้มากเหมือนเก่าเพราะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อนับคะแนนทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ยุทธศาสตร์ใหญ่ถูกกำหนดได้ ยุทธศาสตร์รองลงไปก็กำหนดตามมา

สิ่งที่บ่งชี้ว่าจะมีเลือกตั้งแน่คือ กลุ่มแกนนำ กปปส. ที่เคยปิดล้อมและต่อต้านการเลือกตั้งปี 2557 บัดนี้หันกลับมาตั้งพรรค แปลงกายมาเป็นคนอยากเลือกตั้ง

ในที่สุดพรรค กปปส. ก็เกิดขึ้นจริง ทีมวิเคราะห์เคยประเมินว่าใครๆ ก็ตั้งพรรค กปปส. ได้ ยกเว้นสุเทพ

ถือว่าวิเคราะห์ผิด เพราะแม้สุเทพบอกว่าไม่ออกหน้า โดยเอาคนที่อยู่ข้างหลังอย่าง…เอนก…ออกหน้า แต่อาหารที่จะออกมาวางบนโต๊ะ สุเทพคือคนปรุงอาหารอยู่ในครัว

ยินดีต้อนรับพรรครวมพลังประชาชาติไทยมาสู่โรดแม็ปที่ 3 การร่วมกันเลือกตั้งย่อมดีกว่าขัดขวาง ขนาดพรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 จะยกเลิก ร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังยอมมาเลือกตั้ง ทหารที่ฉีก รธน. ก็ตั้งพรรค หนุนพรรค มาเตรียมเลือกตั้ง

แล้วพรรคแบบ กปปส. ที่นิยม รธน.ฉบับนี้จะไม่ร่วมได้อย่างไร สุเทพมิได้ตระบัดสัตย์ แต่ทำตามเกมการเมือง ตามแผนที่เปลี่ยนเล็กน้อย

 

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)
มีโอกาสได้ ส.ส.

วันนี้ภาพของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ จากมือปรองดองที่หวังจะประสานกลุ่มต่างๆ ก็กลับปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นถึงบทบาทที่ไม่มีใครรู้เมื่อครั้งที่มีม็อบ กปปส. การออกจาก ปชป. มาอยู่กับอดีตเลขาธิการอย่าง เสธ.หนั่น มองแล้วยังกลางๆ แต่วันนี้ พอมาออกหน้าแทนอดีตเลขาฯ สุเทพ ก็เลี้ยวขวาทันที

เอนกแบ่งพรรคการเมืองขณะนี้ว่าเป็นพรรคทหาร พรรคทุนสามานย์ และพรรคคนอยากทำงานการเมือง ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองหลายคนก็วิเคราะห์คล้ายๆ กัน โดยมองว่ายุคนี้

จะมีพรรคทหารจริงเพียง 1 พรรค แต่มีพรรคบริวารที่สนับสนุน 2-3 พรรค

ส่วนพรรคทุนสามานย์ ปัจจุบันน่าจะมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ 2-3 แห่งสนับสนุนอยู่ และยังมีกลุ่มทุนที่ทำมาหากินอยู่บนหลังชาวนามาหลายทศวรรษเป็นผู้สนับสนุนสำคัญ

พรรคคนอยากทำงานการเมือง นี่คงเป็นภาษาสุภาพ ที่จริงแล้วเป็นผู้ที่อยากแสวงหาอำนาจ บางคนก็หวังเงินทอนในการเลือกตั้ง นี่คือการตั้งกลุ่มตั้งพรรคขึ้นมาต่อรองหวังร่วมมือกับผู้มีอำนาจ

90 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ อยู่ในพรรคใหม่

กลุ่มพรรคเกิดใหม่ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการเล่นการเมืองซึ่งหวังว่าจะได้ร่วมรัฐบาลผสม และจะออกแรงเชียร์ตัวแทนของ คสช.

แต่พลังของกลุ่มนี้จะเป็นผลต้องเกิดจากการผสมผสานและรวมเสียงหลายพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งทุกพรรคก็ไม่ได้หวังว่าจะมีเสียง ส.ส. ที่ผ่านการเลือกตั้งหลายสิบหรือเป็นร้อยเสียง แต่หวังคะแนนรวมจากทั่วประเทศและไปเก็บจํานวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งอาจจะได้ 3 คน 5 คน 10 คน 15 คนก็แล้วแต่ความสามารถ และไปเก็บประโยชน์จากการตกลงทางการเมือง

ถ้าเป็นพรรคที่มีคนหนุนหลัง …ข้อตกลงทางการเมืองเขาทำกันอย่างไร

หัวข้อหลักในการตกลงทางการเมือง คือทีมนี้มีใครเป็นหัวหน้า ทีมงานมีจำนวนคนเท่าไรที่มีชื่อเสียงมีโอกาสจะทำคะแนนได้มากแค่ไหน จะสร้างกระแสชูใครเป็นนายกฯ

ระหว่างเลือกตั้งใครรับผิดชอบเรื่องเงินค่าใช้จ่าย จะใช้เท่าใด ส่งคนลงกี่เขต อัตราส่วนของค่าใช้จ่ายต่อเขตเป็นอย่างไร ระหว่างหาเสียงจ่ายเท่าไร (สำหรับเลือกตั้งครั้งนี้มีโบนัสตามคะแนนที่ได้จริง)

หลังเลือกตั้งใครจะได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใครจะได้ร่วมรัฐบาล

แต่ในความเป็นจริงจะมีเพียงบางพรรคเท่านั้นที่ได้คะแนนสูงพอที่จะได้ ส.ส.เป็นกลุ่ม

ขณะนี้ที่มองเห็นก็คือ

1. พรรคอนาคตใหม่ เพราะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงมีอุดมการณ์เปิดตัวชัดเจน พอออกสตาร์ตก็วิ่งเลนซ้ายตลอด

2. พรรคประชาชาติ ที่มีฐานเสียงหนาแน่นที่ 3 จังหวัดภาคใต้

3. พรรคที่เปิดตัวใหม่อย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) วิ่งขวาตลอด

 

เสียงสนับสนุนพรรค รปช. คือใคร

คือคนที่มีแนวคิดการเมืองแบบขวา

รปช. แม้จะฟังแล้วยังงงๆ ว่าเป็นพรรค กปปส. หรือไม่ เพราะบางทีก็บอกว่าเป็นเสียงเรียกร้องให้ชาว กปปส.ออกมาร่วมกัน บางทีก็บอกว่าไม่ใช่ เพราะ กปปส. จบไปแล้ว อาจเป็นเพราะกังวลว่าบทบาทเก่าจะทำให้คนทั่วไปไม่พอใจก็เลยไม่อยากบอกว่าเป็นพรรค กปปส. แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังอยากได้คะแนนของคนที่นิยม กปปส. งานนี้ถ้าจะให้อร่อยต้องกินทั้งน้ำแกงและปลาไหล

พรรครวมพลังประชาชาติไทยมีแนวทางการเมืองแบบ กปปส.แน่ๆ แถมยังดึงแกนนำจากกลุ่มพันธมิตรฯ มาร่วม หวังจะกวาดคะแนนเสียงมวลชนฝ่ายขวาทั้งขวาแบบโบราณและสมัยใหม่ รวมทั้งขวานักวิชาการ เพราะเมื่อคิดถึงมวลมหาประชาชนและคนที่เคยออกมาต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็หวังว่าน่าจะได้คะแนนเป็นล้าน

ยิ่งถ้ามองว่าคนที่โหวตผ่านรัฐธรรมนูญ 16 ล้านคนจะมาเป็นแรงหนุน พรรคนี้อาจมีความหวังว่าจะได้คะแนนเสียง 5-7 ล้านคะแนนก็เป็นได้

ดังนั้น อาจได้ ส.ส. 70-100 คน จึงเกิดการคึกคักกันเต็มที่ ถ้าเป็นแบบนั้นใครที่อยู่ใน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 1-50 ก็มีโอกาสได้เป็น ส.ส. ค่อนข้างแน่

 

แต่….แต่…แต่สถานการณ์การเลือกตั้งคือการแข่งขัน ถ้าคน 16 ล้านคนที่มาโหวตรับรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่อาจรู้เรื่อง รธน. แต่ก็ยอมรับเพื่อให้มีการเลือกตั้ง เพราะหวังว่าเลือกแล้วประเทศจะดีขึ้น อำนาจของ คสช. จะลดลง เศรษฐกิจจะดีขึ้น ถึงเวลาเลือกพวกเขาอาจจะเลือกพรรคต่างๆ ที่ตัวเองชอบ กลุ่มคนที่ออกมาร่วมกับ กปปส. มาจากพรรค ปชป. เท่าไร ถึงเวลาลงคะแนนอาจยังคงลงให้ ปชป.

ในช่วงหลังม็อบปิดกรุงเทพฯ คนเหล่านี้หายไปเกือบหมด อย่าพูดเป็นหลักแสน แค่หลักหมื่นก็ไม่มี

ถ้าคนเหล่านี้มีความเห็นว่าแกนนำทำไม่ถูกในช่วงหลังและไม่ร่วมแล้วหรือมองเห็นผลเสียไม่ยอมรับกับพฤติกรรมต่างๆ พวกเขายังจะลงคะแนนให้อยู่หรือ

 

คะแนนเสียงพรรค รปช. มาจากไหน

บางคนเห็นตัวคุณสุเทพ จึงคิดว่าน่าจะมาจากภาคใต้เป็นหลัก แต่พื้นที่ภาคใต้ปัจจุบันก็ยังครอบคลุมด้วยอิทธิพลที่เหนือกว่าของพรรค ปชป.

ส่วน 3 จังหวัดภาคใต้ก็ยังเป็นของพรรคประชาชาติ ดูจากการที่ไม่มีศิษย์เก่า กปปส. เดินออกจากพรรค ปชป. มาสมัครสู้ตายร่วมกับสุเทพ ทำให้คนทั่วไปคาดว่า พรรค รปช. จะไม่ได้ ส.ส.เขตในภาคใต้เลยแม้แต่คนเดียว

เหนือและอีสานเพื่อไทยก็ยังเข้มแข็ง ถัดจากเพื่อไทยก็ยังมีภูมิใจไทยและมีประชาธิปัตย์ในบางเขต คะแนนที่จะหลุดมาถึงพรรคที่มีแนวทางแบบ กปปส. คงจะยากมาก

ภาคกลางจัดเป็นเขตแย่งชิงทั้งชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย เพื่อไทย ปชป. และพรรคใหม่หลายพรรค

ดังนั้น กรุงเทพฯ และปริมณฑลก็จะกลายเป็นเขตต่อสู้หลักของ รปช.

แต่กรุงเทพฯ คือพื้นที่เก่าของ ปชป. และเพื่อไทย แถมวันนี้มีอนาคตใหม่มาแย่งคะแนนด้วย

เขตปริมณฑล เพื่อไทยก็เคยกวาดเกือบหมด

การเก็บคะแนนของ รปช. จึงไม่ง่าย แต่คาดว่าจำนวน ส.ส. ที่เอนกจะหาได้ น่าจะมากกว่าสมัยเป็นพรรคมหาชนอย่างน้อยเท่าตัว

 

ในที่สุดก็จะได้วัดความนิยมว่าประชาชนจะยังชื่นชมแนวทางปฏิรูปแบบ กปปส. มากเท่าใด ดูได้จากคะแนนเสียงของพรรค รปช. แม้จะนำนโยบายกลางๆ ที่ไม่มีแนวขวาจัด โชว์ออกมาแต่คนก็พอรู้อยู่ แม้ว่าจะเอาสุเทพ เทือกสุบรรณ มาหลั่งน้ำตาแล้วไปหลบอยู่เบื้องหลังเอนก เหล่าธรรมทัศน์

อย่าประมาทพรรคที่มี คสช. หนุนหลัง อาจทำคะแนนได้ไม่น้อย

แต่เกมนี้อาจพลิกนาทีสุดท้ายหลังเลือกตั้งเมื่อนับจำนวน ส.ส. แล้ว เพราะ รปช. เข้าได้ทั้ง ปชป. และพรรคทหาร…

อำนาจแปรเปลี่ยนได้ตลอดตามกระแสการเมือง แต่สุดท้ายแล้วฝ่ายขวาจะตั้งรัฐบาลได้ ต้องมีทั้ง ส.ว.+พรรคทหาร+พรรคขวาทั้งหมด