ทราย เจริญปุระ : ใน “ฝัน”

ฉันเป็นคนไม่ค่อยฝัน

นึกย้อนไปสมัยแรกรุ่นกว่านี้ก็ไม่เคยมีฝันอะไรที่ติดอยู่ในความทรงจำ จะมีก็แค่ภาพเลอะเลือนชวนสงสัยหลังจากลืมตาตื่น ว่าเมื่อคืนเราคงฝันไป

มีเพียงฝันสุดท้ายในวัยเด็ก เมื่อไปนอนห่างบ้าน ฝันร้ายกาจรุนแรงจนพ่อกับแม่ต้องพาไปกลางสนามหญ้า ตั้งกล้วยหวีหนึ่ง ข้าวสุกหนึ่งถ้วย น้ำสะอาด พร้อมจุดธูปปักไว้ตรงหน้าชามข้าว

ฉันอธิษฐานในใจ ขออย่าได้ฝันอีกเลย

“…ท่ามกลางความมืด ลูกซึ่งผูกไว้กับราวระเบียง จะคลานไปบนระเบียงกว้างเท่าที่ความยาวของผ้าจะเอื้ออำนวย เช่นนั้นถือเป็นค่ำคืนอันปลอดโปร่งโล่งใจสำหรับแม่ แต่หากลูกซึ่งผูกไว้ร้องไห้งอแง แม่จะกังวลจนไม่เป็นอันทำสิ่งใด ฝีเท้าขณะเดินย่ำทำพิธีบนบ้านจะเร่งเร็วขึ้นจนหายใจหอบ ในยามสุดวิสัย บางครั้ง แม่จำต้องหยุดกลางคัน เดินขึ้นมาปลอบลูก แล้วค่อยกลับลงไปทำพิธีใหม่ ส่วนพ่อที่แม่เฝ้ากลัดกลุ้ม ห่วงกังวลจนไม่ยอมหลับยอมนอนถึงเพียงนี้ แท้จริงได้ถูกซามูไรไร้สังกัดฆ่าตายไปนานแล้ว เรื่องเศร้าสะเทือนใจเล่นนี้ ข้าพเจ้าได้ฟังจากแม่ในความฝัน…”*

ความฝันนั้นดูเป็นชั้นบางๆ ที่ลื่นไหลอยู่ระหว่างโลกความจริงและโลกลึกลับหลังเราหลับใหล เป็นเหมือนลาวาเร่าร้อนรอเวลาปะทุออกเมื่อค่ำคืนสงบเงียบมากพอ เป็นเหมือนส่วนผสมของความดำมืดบางอย่างในจิตใจ ทั้งบาปผิดและแรงปรารถนาเร้นลับ ความตายและการเกิดซ้ำ

ความฝันที่ใสสว่างนั้นก็มีแต่จะสะท้อนความดำมืดของชีวิตจริง

“ความฝันสิบราตรี” เป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ถึงความฝันที่เปี่ยมสัญลักษณ์ เปลือกหอยมุก ซามูไร และเสียงร้องของนกเขาชวาดูมีความหมายมากกว่าสิ่งที่มันเป็น

หากคนเราจะเอาจริงเอาจังกับความฝันได้แล้ว เรื่องเล่าทั้งสิบเอ็ดเรื่องนี้คงเป็นขุมทรัพย์ชั้นดีในการขบคิดใคร่ครวญ ว่าความฝันยามค่ำคืนพยายามสื่อสารอะไรกับเรา

มันเตือนว่าเราคือใครใช่หรือไม่ พยายามสะกิดเตือนว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไร หรือเราหลงลืมใครไป สิ่งใดกันที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราและสร้างความฝันเช่นนี้ขึ้นมา

เกือบๆ จะเป็นเรื่องสยองขวัญ แต่ความฝันก็มักจะเป็นเช่นนี้ ไม่มีใครรู้แน่แม้แต่ผู้ฝันเองว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น

เราจะได้เจอคนที่เราคิดคำนึงถึงทุกลมหายใจหรือไม่

เขาจะมาคุยกับเราเช่นไร

หรือจะมีเพียงความมืดมิดและภูตผีของค่ำคืนอันเงียบงัน

หากเรามีเวลาจะฝัน

แม้เพียงราตรีเดียว

“ฝันสิบราตรี” เขียนโดย นัตสึเมะ โซเซกิ แปลโดย น้ำทิพย์ เมธเศรษฐ, ปฐมพร แย้มสุขเสรี, พิมพิชา วานิชศิริโรจน์, สายัณห์ ทิพรส, กัลยาทรรศน์ วงษ์จันทร์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์เจลิท กรกฎาคม, 2559 Official Page : www.facebook.com/JLIT