ในประเทศ : คสช.ฉุน! เจอเว็บข่าวปลอมเล่นงาน สะท้อนบิ๊ก คสช. อ่อนไหว แต่เสียหายทั้งสังคม

“บรรดาพี่น้องต่างๆ ที่ใช้โซเชียลมีเดีย ขอให้ระมัดระวัง ถ้ามันมีกฎหมายเข้าไปถึงเมื่อไหร่ก็จะเดือดร้อนกันอีก ผมไม่อยากให้มีการลงโทษ แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะถ้าผิดกฎหมายแล้วไม่ทำ ก็จะผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีก ขอให้นึกถึงตรงนี้ด้วย ผมจะพยายามไม่ละเว้นโดยไม่จำเป็นโดยเด็ดขาด ละเว้นไม่ได้ มันผิด ละเว้นถือว่าผิดทันที”

นี่คือคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จ

จุดมุ่งหมายเพื่อตักเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการแชร์ข่าว หลังเพิ่งถูกเพจข่าวปลอมถล่ม สร้างข่าวเท็จขึ้นมาเรียกเรตติ้ง เนื้อหาสร้างผลลบต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลอย่างมาก

ร้อนจนนายตำรวจระดับสูงต้องใช้กลไกการเจรจา รีบเข้าไปขอตัวและจับกุมขณะผู้ต้องหาอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมาดำเนินคดี

จึงเป็นสาเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาพูดและระบุว่าพร้อมที่จะใช้กฎหมายจัดการทันทีนั่นเอง

 

แต่มากกว่านั้น วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ยังเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวโลกโซเชียลเข้ากับการเลือกตั้งซึ่งกำลังถูกจับตาในขณะนี้โดยระบุว่า

“ถ้ายังมีปัญหาส่วนนั้นส่วนนี้ ยังมีความขัดแย้งแบบนี้ หรือด่ากันไปว่ากันมา บิดเบือนกันอยู่แบบนี้ ซึ่งนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะเลือกตั้งกันไหวหรือไม่ เป็นเรื่องของสื่อโซเชียล เลือกได้ไม่ได้ไม่ใช่เรื่องของตน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

การที่นายกรัฐมนตรีซึ่งกำลังถูกกดดันจากนานาประเทศและในประเทศเองว่าให้เดินตามโรดแม็ปในการคืนอำนาจให้ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังครองอำนาจมานานเข้าสู่ปีที่ 5 เชื่อมโยงความเคลื่อนไหวของสื่อโซเชียล โดยพูดไปทำนองว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกตั้งที่กำหนดอนาคตของประเทศนั้น นี่คือตรรกะที่แสดงให้เห็นว่าสื่อโซเชียลนั้นสำคัญเพียงใด

ต้องยอมรับว่ารัฐบาล คสช. ซึ่งเป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมาจากการยึดอำนาจ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลต่อการวิจารณ์ตรวจสอบในระบบมาก ความอ่อนไหวทางการเมืองจึงเป็นเรื่องของสังคม เมื่อพื้นที่ทางการเมืองในโลกจริงถูกปิด ด้วยกฎการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือกรณีกลุ่มประชาชนที่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งก็ยังถูกดำเนินการจับกุมส่งดำเนินคดีจำนวนมาก ความเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลจึงดุเดือด เพราะเป็นพื้นที่เดียวที่เหลือ

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา นับว่า คสช. มีพยายามเข้าไปควบคุมสื่อโซเชียลพอสมควร

ยกตัวอย่างการปิดเฟซบุ๊กภายในระยะเวลาอันสั้นไม่นานหลังการยึดอำนาจ ซึ่งข้าราชการในระดับสูงตอนนั้นยอมรับเองว่าได้รับคำสั่งให้ปิด แต่ก็ต้องเปิดภายในเวลาอันรวดเร็ว

หรือกรณีการนำเสนอแนวคิดเรื่อง Single Gateway ที่สุดท้ายรัฐบาลก็ยอมถอย เพราะถูกคัดค้านอย่างหนัก

ที่เป็นรูปธรรม เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เปิดโอกาสให้เกิดการฟ้องร้องเอาผิดในสื่อโซเชียลภายหลังขึ้นอย่างมาก

 

แต่ไม่ว่าจะมีความพยายามควบคุมอย่างเข้มข้นเพียงใดก็มิอาจต้านทานกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โลกยุคโลกาภิวัตน์เพิ่มอำนาจให้ประชาชนในด้านการสื่อสาร ประชาชนไม่ได้รับข่าวสารด้านสังคม การเมืองจากสื่อหลักเช่นหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์อย่างเดียวอีกต่อไป

Social Media อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ยังให้อำนาจประชาชนทุกคนที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต นำเสนอเรื่องราวข้อคิดทางการเมือง สังคมของตัวเองได้ นั่นหมายความว่าการผูกขาดหรือการพยายามผูกขาดการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ไม่อาจเป็นไปได้อีกแล้ว

แต่อีกด้านหนึ่ง การที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ทำลายล้างสื่อเก่าอย่างเห็นได้ชัด ระเบียบของสื่อใหม่ได้อนุญาตให้ใครก็ตาม สามารถที่จะทำเว็บไซต์เป็นสื่อได้ ใครมีประเด็นหรือการนำเสนอที่โดนใจกว่าก็ได้รับการแชร์ต่ออย่างรวดเร็ว

นี่จึงเป็นที่มาของการตั้งเพจปลอม ซึ่งเกิดขึ้นเยอะมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

จะเห็นได้จากสำนักข่าวหลักที่ต้องลงทุนลงแรงฟ้องร้องดำเนินคดีกับเพจดังกล่าว ซึ่งมักใช้วิธีการเต้าข่าวขึ้นมาเอง พาดหัวด้วยประเด็นที่หวือหวา น่าคลิกเข้าไปอ่าน

ส่วนใหญ่เว็บปลอมพวกนี้จะใช้ประเด็นทางสองแพร่งของจริยธรรม ซึ่งทำให้ผู้อ่านอยากรู้อยากเห็น อยากแชร์ต่อ อยากวิจารณ์ ยั่วล้อไปกับสังคม

ส่วนใหญ่มักเป็นแง่มุมด้านร้าย ทั้งยังมีเทคนิคการเลือกภาพให้ดูสมจริง ไม่ปิดบังเซ็นเซอร์แต่อย่างใด

ช่วงแรกไม่มีใครรู้ทัน เพจข่าวแบบนี้ก็ได้รับการแชร์ต่ออย่างมาก แต่ในปัจจุบันแม้มีคนรู้เท่าทันบ้างแล้ว แต่เพจข่าวในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ได้เบาลง กรณีล่าสุดคือการนำเสนอข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ฟิวส์ขาด ด่ากราดประชาชน ไล่ให้ไปเติมน้ำแทนน้ำมัน โดยช่วงขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่น้ำมันกำลังขึ้นราคาพอดี ก็ทำให้มีประชาชนแชร์ไปด่าต่อจำนวนมาก

จากเว็บปลอมกระบวนการผลิตแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แต่กระทบกับรัฐบาลอย่างหนัก จนโฆษกรัฐบาลต้องออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง

ด้าน พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ต้องเดินทางไปกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อเข้าพบนายเซา ซก คา รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการหน่วยรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนของกัมพูชา เพื่อติดตามจับกุมตัวนายรัตนะ เฮง อายุ 21 ปี ผู้ต้องหา “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ตามหมายจับศาลอาญาที่ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 มาพูดคุยและทำความเข้าใจ

โดยนายรัตนะ เฮง ยินยอมเดินทางพร้อมกับ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์มายังประเทศไทยเพื่อเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ปอท. ต่อไป

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ตรวจสอบเบื้องต้นระบุว่า พบว่านายรัตนะจบการศึกษาด้านไอทีและทำงานด้านการค้าอัญมณี รวมถึงบิตคอยน์ซึ่งเป็นสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าได้มีการโพสต์ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับรัฐบาลไทยและนายกรัฐมนตรีถึงสามครั้ง ซึ่งผู้ต้องหาได้ลงทะเบียนเปิดเว็บไซต์ โดยพบหลักฐานได้รับเงินค่าโฆษณาจากการไลก์และแชร์ รวมถึงบทสนทนาขอให้รีบปิดข่าว หลังพบว่าทางการไทยจะดำเนินการเอาผิดอย่างจริงจัง

ส่วนข้อสงสัยที่ว่าการกระทำดังกล่าวมีผู้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะข่าวดังกล่าวดูเหมือนเป็นการดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์ จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พบว่าเพจข่าวปลอมดังกล่าวทำขึ้นเพื่อการหารายได้จากการไลก์และแชร์

 

โดยเมื่อลองเข้าไปที่เว็บดังกล่าว ก็จะพบข่าวปลอมเป็นจำนวนมาก ใช้เทคนิคการพาดหัวข่าวให้หวือหวาน่าคลิก เป็นข่าวที่แต่งขึ้นมาไม่เป็นความจริง เช่น ข่าวต่อคิวกันกินน้ำจากส้วม ข่าวปล่อยหมากัดเด็ก โดยใช้ภาพหน้าเด็กที่บาดเจ็บอย่างหนักเรียกความสงสาร ข่าวหลานขอตังค์ตาแล้วไม่ให้จึงคว้าที่เจียมาเจียปากและตาจนแหว่ง เป็นต้น

เมื่อตามไปดูต้นทางการเผยแพร่ใน Social Media ก็จะพบว่ามีการใช้เพจ facebook ที่ชื่อว่า “Piore Zi” คอยแชร์ข่าวปลอม ที่น่าตกใจคือมีคนกดไลก์ติดตามกว่าครึ่งแสน และทุกโพสต์ที่แชร์ข่าวมีคนกดไลก์นับหมื่นนับพันครั้ง นอกจากนี้ยังมีการตั้งเพจเป็นเพจชื่อไทย และลอกเลียนโลโก้ของสำนักข่าวของไทยคอยช่วยแชร์ต่ออีกด้วย

ต้องยอมรับว่าคนที่เขียนข่าวดังกล่าวมีความเข้าใจอารมณ์ของโลกออนไลน์พอสมควร โดยเฉพาะเข้าใจอารมณ์ของคนไทย จึงเลือกหยิบเรื่องราวต่างๆ มาปั้นแต่งขึ้น เช่น กรณีน้ำมัน หรือกรณีข่าวบิ๊กตู่ เป็นต้น

 

ต่อจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังจับกุมคนไทยอีก 6 คน ซึ่งเข้าใจผิดแชร์ข่าวดังกล่าวออกไป ซึ่งทุกคนก็ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเพราะประเด็นทางการเมืองใดๆ แต่แชร์เพราะหลงเชื่อตามข่าว เช่นเดียวกับผู้ต้องหาชาวกัมพูชาซึ่งถูกจับ ก็ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่ทำขึ้นมาเพราะต้องการยอดคลิกและรายได้จากการโฆษณา

อันที่จริงเรื่องนี้หากไม่พุ่งเป้ามองด้วยประเด็นทางการเมืองและความมั่นคงของรัฐบาลอย่างเดียว ต้องยอมรับว่านี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์เพราะในสหรัฐเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีการตั้งข้อสงสัยว่าการสร้างข่าวปลอมจำนวนมากเกิดขึ้นกับพลเมือง จนมีผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะปัญหาการบิดเบือนข่าวในโลกออนไลน์มันเป็นเรื่องความเสียหายของทั้งสังคม ดังนั้น ไม่ว่าจะมีเป้าหมายทางการเมืองของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เบื้องต้นคือต้องรู้เท่าทันข่าวปลอมต่างๆ และต้องปฏิเสธและร่วมกันต่อต้านข่าวปลอม

ไม่ว่าผลของข่าวปลอมนั้นจะส่งผลดีกับจุดยืนทางการเมืองแค่ไหนก็ตาม