วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ตัวพิมพ์กับยุคฟองสบู่ (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

 

ตัวพิมพ์กับยุคฟองสบู่ (1)

 

มีคำกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอล ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 ของตะวันตก ยิ่งใหญ่พอๆ กับการประดิษฐ์ตัวพิมพ์และแท่นพิมพ์ของกูเทนแบร์ก ซึ่งส่งผลสะเทือนอย่างมหาศาลให้แก่โลก ในแง่ของตัวพิมพ์ เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งการออกแบบ การผลิต การส่ง การขาย และวิธีใช้ตัวพิมพ์

เทคโนโลยีนี้ได้ปลดปล่อยตัวพิมพ์ออกจากข้อจำกัดด้านการผลิต

การออกแบบและสร้างตัวพิมพ์กลายเป็นของง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะหรือเงินทุนสูง

และไม่ได้ผูกติดกับช่างเรียงหรือเครื่องเรียงอีกต่อไป

ตัวพิมพ์กลายเป็นดิจิตอลในยุคเดสก์ท็อปพับลิชชิ่ง (Desktop Publishing) เพราะเกิดขึ้นโดยบริษัทแอปเปิ้ลแมคอินทอช หรืออาจจะเรียกว่ายุคโพสต์สคริปต์ (Postscript) ซึ่งเป็นระบบที่รวมเอาทั้งตัวอักษรและภาพเข้าด้วยกัน และพิมพ์ออกมาด้วยปริ๊นเตอร์ขนาดเล็กที่มีความละเอียดสูง อันเป็นผลงานของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ชื่ออโดบี

 

เราอาจยกกรณีที่ตัวพิมพ์ยุคนี้เริ่มถูกเรียกว่า “ฟอนต์” มาเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่าการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลนั้นมีผลกระทบต่อตัวพิมพ์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สุด นั่นคือ เข้าไปเปลี่ยนคำจำกัดความของตัวพิมพ์

อันที่จริง ฟอนต์ (font) เป็นคำเก่าที่ใช้เรียกชุดของตัวตะกั่วที่ประกอบด้วยอักษร อันได้แก่ พยัญชนะ สระ ตัวเลข และเครื่องหมายพิเศษครบทั้งชุด ที่สำคัญคือมีขนาดที่แน่นอน เช่น ฝรั่งเศสขนาด 12 พอยต์ กับฝรั่งเศสขนาด 19 พอยต์ ถือว่าเป็นคนละฟอนต์กัน

แต่ในยุคนี้ ฟอนต์หมายถึงตัวพิมพ์ ซึ่งก็คือข้อมูลที่เกิดจากการถ่ายทอดแบบตัวพิมพ์แต่ละแบบ แล้วบันทึกไว้ในรูปของชุดคำสั่ง ชุดคำสั่งที่ว่านี้จะทำให้การแปรรูป เปลี่ยนขนาด และแสดงผลหน้าจอของตัวพิมพ์

นอกจากนั้น ยังสามารถเรียกตัวพิมพ์ให้มาทำงานร่วมกับโปรแกรมและระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้ด้วย

ในฟอนต์ที่เขียนด้วยโพสต์สคริปต์ แบบตัวพิมพ์จะถูกบันทึกไว้ในรูปของเส้นเอาต์ไลน์ และประมวลผลด้วยค่าของจุดตัดและเวกเตอร์ การสร้างตัวพิมพ์ยุคนี้จึงใช้เพียงปากกา กระดาษ ไม่ต้องใช้ฝีมือในการแกะตัวพิมพ์แบบยุคตัวตะกั่ว และไม่ต้องใช้ฝีมือในการวาดตัวอักษรแบบยุคโฟโต้ไทป์เซ็ตติ้ง

คนทั่วไปสามารถสร้างตัวพิมพ์ได้ อาศัยเพียงซอฟต์แวร์ไม่กี่อันก็สามารถเนรมิตตัวพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง

เป็นการปลดปล่อยตัวพิมพ์ออกจากสภาพเดิม แบบตัวพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เป็นการสร้างตัวพิมพ์ใหม่ ดัดแปลงรูปทรงตัวพิมพ์เก่า และผสมผสานสไตล์ต่างๆ เข้าด้วยกัน

ทั้งหมดนี้กลายเป็นเรื่องง่ายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่สำคัญ คุณภาพและความสวยงามของตัวพิมพ์ กลายเป็นสิ่งที่ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง

ในด้านการผลิต สิ่งนี้มีอิทธิพลสะเทือนวงการ ตัวตะกั่วและระบบโฟโต้ไทป์เซ็ตติ้งถูกมองว่าเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล บริษัทตัวพิมพ์แบบดั้งเดิม ทั้งที่มีขนาดใหญ่และกลาง เช่น Monotype หรือ ITC ต้องหยุดการเติบโตหรือไม่ก็ต้องหาทางอื่นๆ ในการเอาตัวรอด

การที่ผู้ใช้หรือนักออกแบบตัวพิมพ์รุ่นใหม่สามารถควบคุมกระบวนการผลิตตัวพิมพ์ได้โดยลำพัง ทำให้มีความคาดหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในวงการตัวพิมพ์ เช่น หลังจากระบบเดสก์ท็อปพับลิชชิ่งขยายตัวออกไป เกิดความเชื่อว่าอำนาจจะถูกเปลี่ยนมาอยู่ในมือของบริษัทซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์

นอกจากนั้น ยังเชื่อว่าผู้ที่ผลิตตัวพิมพ์อย่างเดียวและมีขนาดเล็ก เช่น Bitstream, Fontshop และ Emigre จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

 

ขณะเดียวกันในช่วง 2530 สังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกกันว่า “ฟองสบู่”

ซึ่งหมายถึงยุคที่ราคาสินทรัพย์แพงกว่าที่ควรจะเป็น

ภาวะฟองสบู่อาจจะเริ่มต้นเมื่อเศรษฐกิจเติบโตก่อนหน้านั้น แต่เกิดจริงๆ ในปี พ.ศ.2533

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดนโยบายให้เปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งเป็นการให้อำนาจแก่ธนาคารพาณิชย์ หรือยกเลิกการควบคุมเงินตราระหว่างประเทศที่มีมาก่อนหน้านั้น

หลังจากที่เปิดเสรีทางการเงิน ธนาคารสามารถปล่อยกู้ต่อได้มากหรือหลายๆ รอบ เมื่อทำกันมากเกินไป ก็ถูกเอาไปลงทุนในตลาดหุ้น หรือซื้อตึกและบ้านเพื่อการเก็งกำไร

สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือ ต่างชาติเข้ามาลงทุนและผลที่ตามมาคือ การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งไหลเข้ามาและออกไปจากประเทศ

ผลที่ตามมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นและธุรกิจภาคการเงินเติบโตอย่างรวดเร็ว

ยุคนี้เริ่มด้วยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเริ่มนโยบาย “ทำสนามรบให้เป็นตลาดการค้า” ต่อมาถูกทหารทำการรัฐประหาร และตามมาด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬหรือการโค่นล้มรัฐบาลทหารในปี พ.ศ.2535

หลังจากนั้นเศรษฐกิจยังเติบโตเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดผลด้านร้ายคือภาวะ “ฟองสบู่แตก” หรือที่เรียกกันว่า “ยุคต้มยำกุ้ง” เมื่อ พ.ศ.2540

แต่ในช่วงนั้น ทุกคนพากันต้อนรับภาวะฟองสบู่กันทั่วหน้า เพราะเชื่อกันว่าเศรษฐกิจกำลังสดใส และไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถรวยอย่างง่ายๆ ดังคำกล่าวที่ว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น”

นอกจากนั้น ยังเป็นยุคเบ่งบานของข้อมูลข่าวสาร สื่อทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ เฉพาะสื่อที่ทำการประชาสัมพันธ์ของทั้งภาครัฐและเอกชนมีมูลค่าทางธุรกิจเพิ่มขึ้นมหาศาล ทั้งประเทศมีบิลลิ่งประชาสัมพันธ์ปีละหลายหมื่นล้านบาท

ฟองสบู่จึงเป็นยุคที่บริษัทโฆษณาขนาดใหญ่และเล็ก รวมทั้งสำนักงานออกแบบหลายแห่งเติบโต สำนักพิมพ์และโรงพิมพ์เพิ่มจำนวนและรับงานทั้งภายในและจากนอกประเทศ

ตัวพิมพ์ระบบดิจิตอลเข้ามาไทยในช่วงนี้ และสนองความต้องการข้างต้นได้พอดี