หนุ่มเมืองจันท์ : โค้ชตุ้ม

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ตั้งแต่ทำหลักสูตร ABC กับ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ และ “พี่เน่ง” ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม

ช่วงหนึ่งที่ผมชอบที่สุดคือช่วง ABC TALK

ให้นักเรียนออกมาพูดเรื่องของตัวเองหรือเรื่องอะไรก็ได้

15 นาที

มีโควต้าแค่ 20 คน

ใครยกมือก่อนก็ได้สิทธิ์พูด

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เชื่อไหมครับว่าหลายคนที่ออกมาพูดถึงกับบอกว่าเป็นช่วงเปลี่ยนชีวิตของเขาเลย

เพราะบางคนไม่เคยพูดต่อหน้าคนเป็น 100 คนมาก่อน

การพูดครั้งนี้ถือเป็นการก้าวข้ามผ่าน “คอมฟอร์ตโซน”

ผมชอบช่วงนี้มาก เพราะเรื่องราวของแต่ละคนมีมุมที่น่าสนใจ

บางคนเป็นเรื่องธุรกิจ

บางคนเป็นเรื่องครอบครัว

บางคนเป็นเรื่องอกหัก ลดความอ้วน ฯลฯ

สนุกมากเลยครับ

ยิ่งเป็นการเล่าให้เพื่อนฟัง ทุกคนก็เปิดหมด

ไม่ต้องกลัวเสียฟอร์มอะไร

ผมนั่งฟังมาหลายรุ่น จน ABC TALENT รุ่น 3 มีการปรับแผนใหม่

คนที่ร่วมดูแลหลักสูตรทั้ง “โจ้-ก้า-เมษ์-พี่จิ๋ม” และผม

ทุกคนต้องเป็น “โค้ช” ให้กับน้องๆ

คล้ายๆ กับ “โจอี้ บอย-สิงโต นำโชค-ดา เอ็นโดฟิน-ก้อง สหรัถ” ในรายการ “เดอะ วอยซ์”

นึกเล่นๆ ว่า ถ้าเทียบกับโค้ช 4 คนนี้

ด้วย “วัย” แล้ว

ผมคงหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่จะต้องเสียสละเป็น “พี่ก้อง”

จำใจจริงๆ ครับ

ตอนที่คุยกันว่าจะแบ่งกันเป็น “โค้ช”

ผมไม่มั่นใจในตัวเองเท่าไร

คือ ถ้าเป็น “โค้ช” เรื่องการเขียน…ไม่มีปัญหา

พอมั่นใจว่ามีประสบการณ์มากพอที่จะสอนได้

แต่เรื่อง “พูด”

ไม่ค่อยแน่ใจครับ

แต่ไม่เป็นไร ลองดู

สนุกดี

ผมมีน้องๆ ในสังกัด 5 คน

“แม็กซ์-ปีเตอร์-เมจิ-ต้า-วาวา”

“แม็กซ์-ต้า” พูดเก่งอยู่แล้ว

คนหนึ่งมีประสบการณ์ขายงานกับหน่วยงานต่างๆ เยอะมาก

อีกคนหนึ่งเคยเป็น MC มาก่อน

แต่ “ปีเตอร์-เมจิ-วาวา” อยู่ในระดับ “มือใหม่หัดขับ”

บางคนยกมือเพราะอยากข้าม “คอมฟอร์ตโซน” ให้ได้

ผมเริ่มต้นการเป็น “โค้ช” ด้วยการบอกน้องๆ ทุกคนว่าอย่าเกรงใจ

ถ้ามั่นใจ ก็ลุยเองได้เลย

ไม่ต้องปรึกษาก็ได้

ถือเป็นนวัตกรรมของการเป็น “โค้ช”

“โค้ช” แบบ “ไม่โค้ช”

แต่ถ้าใครคิดว่าผมพอช่วยได้ หรือต้องการความเห็นก็นัดมาได้เลย

โชคดีที่น้องๆ มาปรึกษา

ทำให้ผมได้ประสบการณ์ใหม่ในชีวิต

ต้องขอบคุณจริงๆ

ผมเริ่มต้นด้วยการให้น้องเล่าเรื่องที่อยากเล่า

แต่ละคน เรื่องราวไม่ธรรมดาเลยครับ

รู้สึกดีใจที่ได้ฟัง

จากนั้นผมก็ใช้วิชาสำคัญของอาชีพ “นักข่าว”

นั่นคือ การตั้งคำถาม

เพราะน้องๆ จะเล่าแต่ “เรื่อง”

ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ฯลฯ

ลืมบอกถึง “ความรู้สึก” ในแต่ละช่วงเวลา

แต่การเล่าเรื่องไม่ว่าการเขียนหรือการพูด

“ความรู้สึก” จะทำให้เรื่องที่เล่าน่าสนใจมากขึ้น

ผมเริ่มต้นถามน้องๆ ด้วย “คำถามปลายเปิด”

เช่น น้องบางคนเปลี่ยนชีวิตเมื่อพ่อป่วยหนัก

ผมจะถามเขาว่า ตอนที่รู้ว่าพ่อเข้าโรงพยาบาลรู้สึกอย่างไร

ตอนที่ดูแลพ่อทำอะไรบ้าง

ทุกครั้งที่พยุงพ่อเข้าห้องน้ำคิดอะไร

เขาจะค่อยๆ บอกความรู้สึกลึกๆ ออกมา

“ความรู้สึก” ที่ “ลูก” มีต่อ “พ่อ”

ฟังกี่ครั้งก็ซึ้ง

เพราะเป็น “ประสบการณ์ร่วม” ของทุกคน

จากนั้นก็ตามด้วย “คำถามปลายปิด”

เป็นการถามกึ่งสรุปจากสิ่งที่เขาเล่ามา

เช่น เคยรู้สึกไหมว่าก่อนหน้านี้พ่อจะเข้าใกล้เรา เราจะหนี แต่ตอนนี้เรากลับรู้สึกว่าอยากใกล้ชิดพ่อให้มากที่สุด

เขาจะพยักหน้า

เพราะเป็นความรู้สึกในใจจริงๆ

เพียงแต่ไม่ได้บรรยายออกมาเท่านั้นเอง

แค่นี้เขาก็ได้มุมที่จะเล่าแล้ว

อีกวิชาหนึ่งที่ผมใช้ในการ “โค้ช”

คือ วิชา “นักเขียน”

“หัวใจ” สำคัญของการเขียนคือ “โครงเรื่อง” ครับ

ผมช่วยน้องๆ ปรับโครงเรื่องนิดหน่อย

ไม่ต้องเพิ่มเรื่อง

แค่เรียงลำดับ “ก่อน-หลัง”

เรื่องไหนเล่าก่อน เรื่องไหนเล่าหลัง

“ความรู้สึก” ของคนฟังก็เปลี่ยนแล้ว

ผมเริ่มต้นให้น้องเล่าแบบเต็มที่ ไม่ต้องคำนึงถึงเวลา

จากนั้นใช้งานศิลปะที่ใช้ประจำในการเขียน

นั่นคือ “ศิลปะการตัดทิ้ง”

ตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออก

เพื่อให้ไม่เกิน 15 นาที

อีกเรื่องหนึ่งที่ช่วยน้องๆ คือ การขีดเส้นใต้ว่าเรื่องไหนควรขยี้หรือขยาย

เพราะเวลาแค่ 15 นาที คนฟังจะจำได้ไม่กี่เรื่อง

เลือกเรื่องเด็ดๆ 3-4 เรื่องนี้

แล้วให้เวลามากหน่อย

ขยี้หนักๆ เลย

สุดท้าย เรื่องสำคัญที่สุดคือ “ตอนจบ”

เรื่องอื่นๆ จะเขียนแค่ประเด็นก็ได้

แต่ “ตอนจบ” ขอให้ทุกคนเขียนละเอียดๆ

ระดับท่องจำได้จะดีมาก

เพราะเป็น “ท่อนฮุก” ระดับ “ทิ้งหมัดเข้ามุม”

หลังจากสรุปเรื่องที่พูดแล้ว ผมจะเตือนน้องๆ 2 เรื่อง

เรื่องแรก คือ ทุกคนในห้องเป็นเพื่อนเรา

พูดผิดพลาดไปบ้างไม่เป็นไร

พูดผิดเพื่อนก็ยังเฮเลย

ดังนั้น ไม่ต้องกลัวผิด

เรื่องที่สอง คือ ผมจะนั่งอยู่แถวหน้าๆ

ถ้าตื่นเต้น หรือต้องการกำลังใจ

หันมาทางนี้

ที่นี่พร้อมส่งพลังให้ตลอด

ใครจะรู้ว่าแค่การพูดต่อหน้าเพื่อนๆ 15 นาทีจะสร้างแรงกระเพื่อมในใจของน้องๆ ทุกคน

เพราะมันคือช่วงเวลาที่ได้ทบทวน “อดีต” บางเรื่องอย่างลึกซึ้ง

เหมือนใช้ “แว่นขยาย” มองซ้ำอีกครั้ง

ส่วนผมนั้นการเป็น “โค้ช” ครั้งนี้ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ที่มีค่ามาก

ตอนที่ “โค้ช” ก็ไม่ได้คิดวางแผนเป็นขั้นตอน 1-2-3-4 แบบที่เล่าให้ฟัง

ผมทำตามสัญชาตญาณ

แต่พอเสร็จแล้วก็ลองทบทวนอีกครั้ง

ค่อยๆ ไล่เรียงให้เป็นเรื่องราว

แล้วก็นำมาทำมาหากิน

ได้ต้นฉบับ 1 ชิ้น

คุ้มมากเลยครับ