เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน ยุคทักษิณและรัฐประหาร

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (9) : ยุค 4 ค.ศ.2007-2015

ตั้งแต่ปลายยุค 3 คือยุครัฐบาลทักษิณ (ค.ศ.2001-2006) แล้วมาปรากฏชัดในยุค 4 คือยุคหลังทักษิณ (ค.ศ.2007-2015) แห่งสี่ทศวรรษความสัมพันธ์ไทย-จีน ได้เกิดกระบวนการสำคัญยิ่งในการเมืองไทยซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนในลักษณะเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย (epochal change)

นั่นคือการเปลี่ยนแปลงในแกนเกลียวทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำไทย (elite historical nexus) เนื่องจากการเปลี่ยนรุ่นคน (generational shift) และนำไปสู่การหันเหทิศทางต่อระเบียบอำนาจใหม่ในภูมิภาค (change of orientation to a new regional power order)

ซึ่งหนังสือเรื่อง Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China (ค.ศ.2017) ของ Benjamin Zawacki ได้ยึดกุมและชี้ประเด็นนี้ออกมาได้แหลมคมยิ่ง (ขณะที่ไม่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของเจษฎาพัญซึ่งเน้นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ)

ดังที่เขาได้ชี้ให้เห็นมาแล้วว่าในสมัยสงครามเย็น แกนเกลียวทางประวัติศาสตร์ที่รองรับระเบียบอำนาจเผด็จการสลับกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้แก่เกลียวสัมพันธ์ของกองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่วมกับสหรัฐอเมริกา [Military-Monarchy + US Nexus] (BZ, p.35, 78) ซึ่งก่อตัวและยั่งยืนมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ร่วม 40 ปี

Benjamin Zawacki ได้เสนอว่าในช่วงปลายยุค 3 ต่อยุค 4 ของความสัมพันธ์ไทย-จีนนี้เองที่ได้เกิดการเปลี่ยนรุ่น (generational shift) ในหมู่นายทหารไทยกับอเมริกันในภูมิภาคนี้ที่ผูกความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นทั้งโดยรุ่นคนและส่วนตัวมาตั้งแต่เป็นพันธมิตรต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามอินโดจีน (BZ, p.161-168)

นายทหารอเมริกันที่เป็นหัวหน้าหน่วย JUSMAG (Joint U.S. Military Advisory Group) ในเมืองไทยมายาวนานบอกกับ Benjamin Zawacki ว่า 15% ของแกนนำทหารไทยเป็นเพื่อนเกลอของอเมริกันในกองทัพไทย นายทหารไทยเหล่านี้อาจจะออกหัวเซ็งลี้บ้างและพัวพันกับเกมแย่งชิงอำนาจในกองทัพหรือแม้แต่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ

แต่พวกเขาเป็นทหารอาชีพ ฝึกมาดี และเอาจริงเอาจังกับเรื่องความมั่นคงแห่งชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ส่วนใหญ่ (ยกเว้นบางราย เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) ไม่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับจีน หากสนิทกับสหรัฐ และกับทหารอเมริกันที่เคยร่วมฝึกอบรมด้วยกันที่ค่ายลีเวนเวิร์ธ (Fort Leavenworth) ในสหรัฐ และเคียงบ่าเคียงไหล่รบพุ่งกับคอมมิวนิสต์ในสมรภูมิอินโดจีนมา ที่สำคัญนายทหารไทยเหล่านี้ใกล้ชิดกับซีไอเอและสถานทูตสหรัฐในไทยด้วย

ในทางกลับกันทหารอเมริกันที่มาประจำการรบในภูมิภาคนี้จำนวนไม่น้อยก็หลงรักเมืองไทย แต่งงานมีครอบครัวกับหญิงไทย และบ้างก็ตัดสินใจย้ายภูมิลำเนามาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่

แม้พวกที่กลับสหรัฐไปรับราชการทหารต่อหรือย้ายไปทำงานฝ่ายพลเรือนโดยเฉพาะด้านการทูต ก็ยังรักษาความสัมพันธ์และรู้สึกอันดีและลึกซึ้งต่อเมืองไทย เข้าใจถึงผลประโยชน์ร่วมทางยุทธศาสตร์ของสองประเทศ

และพร้อมที่จะทุ่มเทโดยส่วนตัวให้ความสัมพันธ์นี้ยืนยาวสืบไป

ด้วยพื้นฐานพันธมิตรการทหาร-การเมือง-ร่วมรุ่น-ส่วนตัวระหว่างนายทหารสองฝ่ายไทย-อเมริกัน ทำให้นายทหารไทยกล่าวเปรียบเทียบเมื่อปี ค.ศ.2004 ว่า : “เรามีอัธยาศัยไมตรีกับจีน (แต่) เราเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และนั่นจะไม่เปลี่ยนแปลง” (BZ, p.161)

ทว่าถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นจนได้ตามอายุขัย กล่าวคือ ทหารผ่านศึก-มิตรร่วมรบไทย-อเมริกันเหล่านั้นมีอันเกษียณอายุราชการกันไปหมด ถึงปี ค.ศ.2005 ส่วนใหญ่ก็ออกจากราชการกันแล้ว อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อาจนับเป็นนายทหารไทยคนท้ายๆ ที่ร่วมรุ่นประสบการณ์ดังกล่าวนี้

นอกจากนี้ นโยบายปรับดุลความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐและจีนยุครัฐบาลทักษิณก็ส่งผลหนุนเสริมด้วย

เดิมทีมีนายทหารไทยที่ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการ IMET (International Military Education Training Program) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่อเมริกา และได้รับอิทธิพลความเป็นทหารอาชีพ ไม่แทรกแซงยุ่งเกี่ยวการเมือง ยอมรับการนำของรัฐบาลพลเรือนที่ชอบด้วยกฎหมายแบบอเมริกัน

อีกทั้งไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงต่างๆ ในกองทัพไทยได้เร็ว ค่าที่ได้ไปรับความรู้การทหารใหม่ล่าสุดของอเมริกามาถึง 1,700 นายระหว่างปี ค.ศ.1998-2004

แต่ปรากฏว่าพวกเขาถูกลดความสำคัญและช่องทางไต่เต้าลงเมื่อรัฐบาลทักษิณประกาศในปี ค.ศ.2003 ว่านายทหารต้องเรียนจบหลักสูตรโรงเรียนและวิทยาลัยทหารในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ทั้งหมดเท่านั้นจึงจะได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพเหล่าต่างๆ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และปลัดกระทรวงกลาโหม

ผลกระทบของมันในระยะยาวก็คือช่องทางที่ฝ่ายสหรัฐเคยอาศัยเข้าถึงนายทหารระดับสูงของกองทัพไทยผ่าน “ท่อลีเวนเวิร์ธ” (Leavenworth pipeline สายสัมพันธ์ที่เคยฝึกอบรมร่วมกันที่สถาบันในสหรัฐมา) กลับค่อยๆ ตีบตันไป

ขณะเดียวกันจีนก็เปิดช่องรับนายทหารไทยไปฝึกอบรมในวิทยาลัยการทหารจีนโดยออกแบบโครงการสำหรับนายทหารไทยที่จบหลักสูตรโรงเรียนและวิทยาลัยในไทยสมบูรณ์แล้วเท่านั้นมารองรับแบบที่เรียกได้ว่าช้อนไปแทน

การเปลี่ยนรุ่นนายทหารจากยุคสงครามเย็น/ยุคอเมริกันนี้ทำให้ Banjamin Zawacki ประเมินว่ารัฐประหารของ คปค. เมื่อปี ค.ศ.2006 ซึ่งทักษิณกล่าวหาว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” และกลุ่มบุคคลและขบวนการที่อ้างตนอยู่ในเครือข่ายผู้จงรักภักดีอยู่เบื้องหลังนั้นถือเป็น “รัฐประหารแบบอเมริกันครั้งสุดท้าย” (The Last American Coup) ที่นำเกลียวสัมพันธ์เดิมยุคสงครามเย็น [M-M+US Nexus] กลับมาสู่อำนาจอีกครั้งหลังยุครัฐบาลทักษิณ (BZ, pp.180-191)

ทว่าถึงตอนนั้น แม้กองทหารที่มีสมญาว่า “วงศ์เทวัญ” และ “ทหารเสือราชินี” ซึ่งเป็นกำลังหลักในการยึดอำนาจของ คปค. จะเป็นหน่วยกำลังที่สหรัฐมีส่วนอุดหนุนฝึกสร้างขึ้นในสมัยสงครามเย็นก็ตาม แต่ทว่าฝ่ายหลังก็ได้วิวัฒนาการคลี่คลายขยายตัวไปแล้วตามสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศ และแกนนำบางคนก็ไม่ได้ผ่านโครงการ IMET มา เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นต้น (BZ, p.230)

จนนายพันเอกแห่งกองทัพไทยคนหนึ่งซึ่งเรียนจบจากสหรัฐและประจำการอยู่ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร บอกตรงๆ กับเหล่านายพลจัตวาอเมริกันกลุ่มหนึ่งหลังการประชุมสานเสวนาทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-อเมริกันเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2008 และทำเอาบรรดาผู้ฟังถึงแก่ตกตะลึงว่า :

“ฝ่ายไทยมองพลวัตอำนาจในภูมิภาคแบบนี้ : จีนกำลังผงาดขึ้นมา สหรัฐกำลังวอกแวกไปทางอื่น/เสื่อมถอยลง และประเทศไทยก็จะต้องปรับนโยบายของตนไปตามนั้น” (BZ, p.229)

และเมื่อแกนนำในสาย “ทหารเสือราชินี” ขึ้นกุมการนำกองทัพบกต่อเนื่องกันเหนือสาย “วงศ์เทวัญ” ในยุครัฐบาลชุดต่อๆ มาจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเกิดรัฐประหารโดย คสช. ในปี ค.ศ.2014 ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าจุดศูนย์รวมอ้างอิงทางความคิดจิตใจของนายทหารรุ่นใหม่นี้ได้แก่ “พระราชวังและปักกิ่ง” (“palace and Peking”, BZ, p.277) ไม่ใช่สหรัฐอีกต่อไป

หากเลียนแบบสำนวน Benjamin Zawacki ก็อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นเสมือน “รัฐประหารแบบจีนครั้งแรก” (The First Chinese Coup) ของไทย! ในความหมายที่ระเบียบการเมืองหลังรัฐประหารของ คสช. โอบรับตัวแบบทุนนิยมแบบอำนาจนิยมของจีน (The China Model/authoritarian capitalism) ทั้งในแง่สปิริตและสไตล์ที่มุ่งเป้าอยากได้ทั้งการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจ กับ เสถียรภาพทางการเมือง (ในระดับเปลือกนอก) เป็นหลักไปด้วยกัน (BZ, pp.297-299)

ดังที่เจ้าหน้าที่ไทยคนหนึ่งกล่าวกับอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย นาย Ralph Boyce แบบขวานผ่าซากและไม่แยแสหลังรัฐประหารครั้งล่าสุดว่า :

“ยูอยากทำอะไรกับ Cobra Gold (“งูเห่าทอง” ชื่อการฝึกซ้อมรบประจำปีระหว่างไทย-สหรัฐ) ก็เชิญเลย เราน่ะมี Dragon Gold (“มังกรทอง” โดยนัยหมายถึงข้อเสนอซ้อมรบร่วมไทย-จีนจากฝ่ายจีน) อยู่แล้วถ้าเราต้องการมัน” (BZ, p.311)