ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มิถุนายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | รักคนอ่าน |
เผยแพร่ |
สักพักมาแล้วที่ความป่วยไข้ไม่อนุญาตให้ฉันอ่านอะไรได้รวดเดียวจบ
พลิกหน้าผ่าน อ่านบทนำใหม่ มือแช่ค้างที่หน้าต่อไป สายตาจับจ้อง สมองประสมคำออกมาเป็นความหมาย
แล้วอดีตก็ผุดพรายขึ้นแทนถ้อยคำในหนังสือ
“เราเติบโตมากับข้อบังคับที่ว่า ต้องทำให้คนอื่นลำบาก ก่อนที่คนอื่นจะทำให้เราลำบาก”
“เพื่อนคนเก่ง” เล่าถึงความสัมพันธ์ของเด็กผู้หญิงสองคนที่เติบโตมาด้วยกันในชุมชนยากจนชานเมืองเนเปิลส์ช่วงปลายศตวรรษ 1950
ผู้เขียนเจาะลึกลงไปในธรรมชาติแสนซับซ้อนของมิตรภาพประหลาดล้ำซึ่งความดีกับความเลว ความรักกับความชัง ความหวังดีกับการคิดร้ายเปลี่ยนที่ทางกันไปมาในตัวละครเอกทั้งสองตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น
นอกจากนั้น ยังบอกเล่าเรื่องราวชีวิตอันเข้มข้นของผู้คนในชุมชน ที่ต่างมีความลับ ความขัดแย้ง ความอิจฉาริษยา การทรยศหักหลัง และกฎเดียวที่พวกเขารู้จัก
“คือกฎแห่งความรุนแรง”
เด็กผู้หญิงเป็นสัตว์โลกที่ไม่เคยพอใจในตัวเอง
ยิ่งเป็นเด็กผู้หญิงที่เรียนอยู่ในโรงเรียนหญิงล้วน แวดล้อมไปด้วยเพศเดียวกันแต่ต่างสถานะ เป็นรุ่นน้อง เป็นรุ่นพี่ เป็นคนเรียนห้องเดียวกัน
เราจะเรียกใครได้บ้างว่าเป็น “เพื่อน”
การจะเรียกหรือถูกเรียกว่าเพื่อนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ใหญ่มักเข้าใจอย่างฉาบฉวยว่าเพียงนั่งข้างกัน หรือเรียนห้องเดียวกันก็นับว่าเป็นเพื่อนได้แล้ว
มันก็ถูกในแง่หนึ่งถ้ามองตามฐานคิดที่ว่า มนุษย์ทุกคนเป็นเพื่อนกัน เพราะเป็นมนุษย์เหมือนกัน
แต่สัตว์โลกเพศหญิงที่กำลังจะก้าวสู่วัยที่ต้องการความโดดเด่นเหนือฝูง กำลังจะสร้างความน่าจดจำให้แก่ตัวเอง
เพื่อนนั้นต้องนับเป็นอุปกรณ์หรือองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้เราเกิดหรือดับได้อย่างรวดเร็ว
เราไม่ได้วัดกันอย่างเด็กผู้ชายวัด เราไม่ใช่อัลฟ่าเมลที่ระเหยกรุ่นกลิ่นเทสโทสเทอโรน เราคือฝูงผึ้งซึ่งรอเวลาให้นางพญาตายจะได้ขึ้นครองบัลลังก์และพูดอย่างเหนียมอายว่า
เราไม่อยากเลย น่าเบื่อจัง แต่ก็กอดเกี่ยวบัลลังก์นั้นไว้อย่างหวงแหน
วดีย้ายเข้ามาเรียนที่นี่ตอน ม.4 พร้อมกับที่หลายๆ คนย้ายออกไปเรียนที่อื่นเมื่อจบ ม.3 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องพิเศษ เพราะชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนฉันนั้นรับนักเรียนแค่ชั้นละ 3 ห้อง แบ่งตามความถนัดและคะแนน จากนักเรียนมัธยมต้นห้องละกว่าห้าสิบคน จำนวนห้าหกห้อง เหลือห้องละยี่สิบกว่าคนเพียงสามห้อง จำนวนที่หายไปจึงมากกว่าที่เพิ่มเข้ามาอยู่เสมอ
และวดีก็มาแบบนั้น
เดินไปไหนๆ ด้วยความมั่นใจ อกเชิดและไหล่ตรง เพียงเธอคล้อยหลังจะมีเสียงกระซิบกระซาบวิจารณ์ถึงตัวตนของเธอ และเหตุผลที่ทำให้เธอได้เข้าเรียนในจังหวะพิเศษเช่นนี้ บ้างก็ว่าเธอเป็นลูกหลานใครสักคนผู้เปี่ยมอุปการคุณต่อโรงเรียน จนไปสิ้นสุดเสียงกระซิบนั่นว่าเธอก่อคดีมาจากโรงเรียนเก่า และใครสักคนก็จับเธอยัดเข้าโรงเรียนนี้เพื่อเป็นการดัดนิสัย
วดีดูเหมือนไม่สนใจกติกาลับๆ ที่เด็กผู้หญิงสืบทอดกันมา กระดุมเสื้อเธอจะเปิดเกินกว่าที่ควรไปอีกหนึ่งเม็ดเสมอ ม้าหินเย็นๆ ตรงหน้าระเบียงนั้นเธอก็ลงนอนเขลง ร้องเพลงงึมงำในคอ
ผมของวดียาวมาก มากกว่าใครๆ มันเป็นสีน้ำตาลอ่อนประกายทองอย่างที่พวกเราไม่เคยเห็น และเธอก็ดูไม่ใส่ใจกับเรื่องเล็กน้อยพวกนี้ วดีสระผมก่อนมาถึงโรงเรียนแทบทุกเช้า ผมหนาหนักเป็นคลื่นนั้นถูกปล่อยให้หมาดชื้นระแผ่นหลัง เธอไม่รวบ ไม่หวี ไม่เก็บ แต่มาถึงและวางกระเป๋าก่อนลงนั่งเล่นนอนเล่นที่ม้าหินตรงระเบียง รอให้ผมชื้นๆ นั่นค่อยๆ แห้งตามแสงแดดที่จัดขึ้น
และเริ่มถักผมเป็นเปียเดี่ยวยาวๆ เมื่อระฆังเข้าแถวรอบแรกเริ่มดัง
ครูเคยเอ่ยทักสีผมของเธอว่ามันอ่อนจนเกินงามและทั้งห้องก็กลั้นใจฟังรอคำตอบ
วดีบอกว่าผมเธอมันเป็นสีนี้เอง ถ้าอยากให้เข้มก็ต้องย้อม แต่โรงเรียนห้ามย้อมนี่คะ
พวกเราไม่เคยได้ยินใครจะกล้าตอบครูแบบนี้มาก่อน ความจริงแบบเรียบง่ายของมันสะท้อนก้องไปมาในห้องเรียน ปลุกเด็กสาวทุกคนให้ตื่นขึ้น ว่าเราล้วนแตกต่างกัน เราผมสั้น เราผมยาว เราผอมหรืออ้วน เราสูงหรือเตี้ย
อยู่ๆ ความแตกต่างระหว่างพวกเราก็ขยายใหญ่ขึ้น
ไม่มีใครเป็นเหมือนใคร
ไม่มีวัน
ไม่มีทาง
หลังจากนั้นชั้นเรียนของฉันก็ดูผ่อนคลาย ลมพัดผ่าน เราเริ่มทิ้งข้าวของไว้ในชั้นเรียนบ้าง หวีสับหรือถุงผ้าที่ผิดกฎโรงเรียนดูไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไร
เราต่างเป็นคนอีกคนหนึ่ง
หรือไม่เคยได้เป็นใครสักคน
ชีวิตเราถูกกำหนดขึ้นมาตอนนั้น ขึ้นรูปและสลักรายละเอียดบางอย่างที่จะส่งผลต่อแนวคิดของเราต่อไป
วดีคือลิลา
และฉันคือเลนู
คนที่ดูดซับความเป็นตัวเธอบางอย่างมาเป็นของตัวเอง
ไม่นานมานี้ฉันเพิ่งแอบพิมพ์ชื่อของเธอลงไปในช่องค้นหาของโซเชียลมีเดียหนึ่ง ชั่วอึดใจ มันส่งผลลัพธ์กลับมาเป็นรูปผู้หญิงเต็มสาวที่ยิ้มกว้าง แววตาเป็นประกาย มือโอบเด็กเล็กๆ ไว้สองคน
และผมยาวหนาสีน้ำตาลอ่อนนั้นถูกปล่อยระแผ่นหลัง
เป็นคลื่นน้อยๆ เงางาม
เหมือนที่ฉันจำได้เมื่อแรกเห็น
เป็นประกายที่ยังคงอยู่ในใจ แม้จะผ่านเวลาไปกว่ายี่สิบปี
ฉันอ่านเพื่อนคนเก่งเล่มนี้รวดเดียวจบ
พร้อมๆ กับจำอดีตของตัวเองขึ้นมาได้ในเวลาเดียวกัน
“ในปีสุดท้ายของชั้นประถม ความรวยกลายเป็นความหมกมุ่นของเราสองคน เราพูดถึงมันเหมือนในนวนิยายพูดถึงการล่าสมบัติ เราพูดกันว่า พอรวยแล้วเราจะทำโน่นทำนี่ ฟังดูราวกับว่าความรวยซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งในชุมชนของเรา อยู่ในหีบซึ่งพอเปิดออกจะฉายแสงสว่างเรืองรอง รอเพียงให้เราไปพบ ต่อมา ไม่รู้เพราะอะไร สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป และเราก็เริ่มเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับเรื่องเงินทอง เราคิดว่าเรียนเยอะๆ แล้วจะได้เขียนหนังสือ และหนังสือจะทำให้เรารวย ความรวยยังคงเป็นเหรียญทองอร่ามอยู่ในหีบมากมายเหลือคณานับ แต่จะมีได้ก็เพียงแค่เรียนหนังสือแล้วเขียนหนังสือ”
———————————————————————————————————
ข้อความจากในหนังสือ
ลิลาและเลนูคือชื่อตัวละครเอกสองคน