ธุรกิจพอดีคำ : “มีลูกยาก ทำอย่างไร”

เมื่อคุณอายุย่าง 35 ปี เข้าสู่วัยกลางคนแบบผม

คุณอาจจะมีประสบการณ์คล้ายๆ กันบ้าง

เพื่อนๆ ที่เติบโตมาด้วยกันส่วนใหญ่ก็ “แต่งงาน” เป็นที่เรียบร้อย

บทสนทนาที่เรามักจะมีกันในโลกยุคที่ชาย-หญิงทำงานกันอย่างเท่าเทียม

ก็คือ “เมื่อไรจะมีลูก”

คำถามที่แสดงถึงความใคร่รู้ สงสัย ปนเป็นห่วง ของบรรดาเพื่อนๆ

ที่บางครั้งทำให้เพื่อนที่เป็นฝ่ายถูกถาม

“อึกอัก” ไม่รู้จะตอบอย่างไร

ผมชอบคำตอบของเพื่อนคนหนึ่งที่เคยได้ยิน

“เดี๋ยวกูมีคืนนี้ มึงจะมาดูมั้ย”

ช่างเด็ดเดี่ยว และติดเรตเสียนี่

แต่ก็ได้ผลชะงัด คนถามมักจะยิ้มแหยๆ

ประมาณว่ารู้ตัวว่า “มึงด่ากูว่าเสือกมาเลยละกัน”

แล้วก็หาทางเลี่ยงเปลี่ยนเรื่องคุยไปแบบไม่ให้เสียน้ำใจ

ที่จริงแล้ว ในยุคสมัยนี้ต้องยอมรับว่า “ชายหญิงมีลูกยากขึ้น”

จะด้วยวัยที่มากขึ้น ไม่เจริญพันธุ์เท่าที่ควร

หรือความเครียดจากการทำงานของทั้งสองฝ่าย

ปัญหานี้ก็ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริง

และต้องการ “ทางแก้ไข”

ที่จริงแล้วมีเทคโนโลยีทางการแพทย์มากมายที่สามารถช่วยการแก้ปัญหามีบุตรยาก

วิธีหนึ่งคือ “การฉีดเชื้อ”

อธิบายง่ายๆ ก็คือ คุณหมอจะคัดน้ำเชื้อคุณภาพดีของฝ่ายชาย

แล้วฉีดเข้าไปในรังไข่ฝ่ายหญิง

ประมาณว่า นับวันให้เสร็จสรรพ

หญิงสาวไข่ตกปุ๊บ

“เชื้อ” ของฝ่ายชายก็เข้าไปปฏิสนธิได้ปั๊บ

วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้กันในหมู่เพื่อนๆ ของผมที่มีบุตรยาก

เพราะราคาไม่แพง ไม่ต้องวุ่นวายเตรียมอะไรมาก

แต่ก็เช่นกัน ในเชิงสถิติ จะได้ผลเพียง 10-15% เท่านั้นเอง

นั่นหมายถึง ทำกระบวนการนี้ 10 ครั้ง จะมีโอกาสติดเพียง 1 ครั้งเท่านั้น

ที่เล่ามาถึงตรงนี้ ก็อยากจะมีคำถามแนวสมมุติให้ทุกท่านได้ลองขบคิดสักนิด

ถ้าท่านมีเพื่อนสนิทหนึ่งคนที่อยากมีบุตรมาก

เขาได้ผ่านกระบวนการนี้ “หนึ่งครั้ง” แล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

เกิดความเครียดว่า วิธีนี้ดูท่าจะไม่เวิร์ก หรือว่าปัญหาที่เขามีอาจจะแก้ไขไม่ได้ด้วยวิธีนี้

คิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ นานา

คุณจะมีคำแนะนำเขาว่าอย่างไรบ้าง

ถ้าพูดถึงธุรกิจที่มี “ความเสี่ยงสูง” แต่ “ผลตอบแทนก็สูง” เช่นกัน

ก็คงไม่พ้นธุรกิจนี้ครับ

“การสำรวจและผลิตน้ำมัน” ที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Shell หรือ Esso ทำกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี

ให้ลองนึกภาพนะครับ

น้ำมันดิบเนี่ย อยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 3-4 กิโลเมตร

มนุษย์เรายังไม่เคยมีใคร “ดำดิน” ลงไปดูได้เลยที่ความลึกระดับนั้น

แม้เทคโนโลยีปัจจุบันเท่าที่มี ในการ “สำรวจ” ว่าน้ำมันดิบอยู่ตรงไหน

พอถึงเวลาที่ “เจาะหลุม” ลงไปที่ใต้ดินจริง

กลับพบว่า เจาะไป 10 หลุม จะเจอจังๆ ก็สัก 1 หรือ 2 หลุมเท่านั้นเอง

เป็นเรื่องปกติของ “อุตสาหกรรม” นี้ครับ

เจาะหลุมน้ำมันลงไปหนึ่งหลุม ราคาก็ตกตั้งแต่หลักร้อยล้านถึงพันล้านบาท แล้วแต่ความยากของธรณีวิทยา

สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า “อุตสาหกรรม” นี้ชินชากับความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ

การเจาะหลุมลงไป คิดว่าจะเจอ แต่ไม่เจอน้ำมันดิบนั้น

ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเป็นเรื่องที่ต้องมาตำหนิกัน

ก็สถิติมันบอกว่า เจาะสำรวจไปสิบหลุม เจอแค่หลุมเดียว

แต่ถ้าเจอจริงๆ ก็คุ้มแสนคุ้ม ผลิตน้ำมันออกมาขายได้หลายหมื่นหลายแสนล้านบาทต่อปี

อุตสาหกรรมนี้จึงมอง “ความล้มเหลว” เป็นข้อมูล

“ความล้มเหลว” ในการเจาะไม่เจอ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม

สำหรับวางแผนการเจาะหลุมต่อๆ ไป

เป็น “หนทาง” ให้เข้าใกล้ความสำเร็จเข้าไปเรื่อยๆ

ขอเพียงอย่า “ขี้กลัว” หยุดเจาะหลุมไปตั้งแต่หลุมแรก หลุมที่สอง

เจาะไปสักเจ็ดหรือแปดหลุมก็มักจะเจอ ให้ “ร่ำรวย” กันอย่างที่เห็น

ความรู้ทางสถิติดีๆ นี่เอง

ในวงการการลงทุนทางด้าน “นวัตกรรม” นั้น

มีสิ่งหนึ่งที่เขาเรียกกันว่า “เวนเจอร์ แคปปิตอล (Venture Capital)”

บริษัทที่ลงทุนกับ “สตาร์ตอัพ” เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกใบนี้

บริษัทอย่าง Google หรือ Facebook ก็เติบโตมาจากเงินก้อนแรกๆ จาก Venture Capital เหล่านี้

อย่างที่เราทราบกันดี ของใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

ล้วนต้องผ่าน “ความล้มเหลว” มาก่อน

โทมัส อัลวา เอดิสัน ก็ล้มเหลวเป็นพันๆ ครั้ง ก่อนจะประดิษฐ์หลอดไฟได้สำเร็จ

เช็กสเปียร์ก็แต่งบทประพันธ์เอาไว้นับร้อยๆ เรื่อง แต่ที่โด่งดังก็มีไม่ถึง “สิบเรื่อง” ดี

การลงทุนในรูปแบบ Venture Capital ก็เช่นกัน

เขาลงทุนกับ “บริษัทเกิดใหม่ (Start-up)” ซึ่งเมืองไทยอาจจะพูดแล้วดูเท่ดี

แต่ที่จริงลงทุนไปสิบบริษัท จะเจ๊งสักเก้าบริษัท สำเร็จสักหนึ่งบริษัท

แต่ถ้าบริษัทที่สำเร็จคือบริษัทอย่าง Google หรือ Facebook แค่นั้นก็พอแล้วที่จะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ

การลงทุนแบบนี้จึงต้อง “บริหารความเสี่ยง” คือ ต้องลงทุนหลายๆ ตัวพร้อมๆ กัน

แต่ละตัวไม่ต้องลงทุนเยอะในตอนแรก ตัวไหนมีทีท่าไปได้ดี ก็ให้เงินเพิ่ม

ตัวไหนที่ดูจะไปไม่รอด ก็หยุดการลงทุน

นักลงทุน Venture Capital เชื่อว่า หากคุณอยากลงทุนกับอนาคตแล้ว

คุณจะต้อง “ผิด” แน่นอน เพราะอนาคตนั้นคาดเดายาก

จะมามัวกลัวกับ “ความผิดพลาด” นั้น ก็คงจะไม่ได้ลงทุนกันพอดี ย่ำอยู่กับที่

ถ้าโอกาสสำเร็จน้อย แบบลงสิบบริษัท ได้สักหนึ่งบริษัท

จะหาบริษัทสำเร็จนั้นให้เจอ คุณก็ต้องลงทุนเป็นสิบบริษัท

ถ้า “ทัศนคติ” คือ ผิดพลาดไม่ได้

คุณก็จะไม่ “สำเร็จ” เช่นกัน

กลับมาที่เพื่อนรักผู้มีบุตรยาก และกำลังเครียด

“แกลองเอาหนังสือการลงทุนแบบ Venture Capital ไปอ่านก่อนมั้ย”

ล้มเหลวเก้าครั้ง สำเร็จเพียงหนึ่งครั้ง

ก็คุ้มแสนคุ้ม