เมนูข้อมูล : ชาวบ้านเค้า “เดือดร้อน”

ความสำเร็จของการบริหารบ้านเมืองประเทศชาตินั้น ย่อมวัดกันที่ความรู้สึกปลอดภัยไร้กังวล อยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนทั้งประเทศ

แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าการจะให้ทุกคนมีความรู้สึกดีเท่าๆ กัน เหมือนกันหมดนั้นเป็นไปได้ยาก หรือหากจะว่าไปแล้วเป็นไปไม่ได้เลย ด้วยว่าความปรารถนาในสิ่งที่จะทำให้รู้สึกดีของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน

กระนั้นก็ตาม ความรู้สึกดีของคนส่วนใหญ่ย่อมเป็นการตัดสินที่ยอมรับกันได้ว่าคือความสำเร็จของการบริหารบ้านเมือง

ส่วนที่เหลือนั้นเป็นเรื่องของการจัดการในรายละเอียดที่แตกต่างไป

ทว่าทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ความเข้าใจของผู้บริหารกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่จะต้องไปในทางเดียวกัน หรือรับรู้ผลของการบริหารจัดการด้วยความเข้าใจที่เหมือนกัน

การที่ผู้บริหารเข้าใจไปทางหนึ่ง แต่ความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ไปอีกทาง แบบนี้ไม่น่าจะเรียกว่าความสำเร็จของการบริหารได้

อย่างเช่นที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ออกมาแสดงความยินดีปรีดาว่าการบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสูงมาก เพราะอัตราการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีของประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.8 มากที่สุดในรอบ 5 ปี

คนในคณะรัฐมนตรีออกมาแสดงความดีใจกันอย่างพร้อมเพรียงว่า การบริหารด้านเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ

แต่ประชาชนทั่วไป หรือส่วนใหญ่ของประเทศกลับรู้สึกว่าชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่ การทำมาหากินฝืดเคือง สะท้อนให้เห็นอยู่ทั่วไป

หลักฐานที่ชัดเจนของความรู้สึกนี้ ปรากฏในผลโพลที่เพิ่งทำล่าสุดของ 2 สำนักดัง

ทั้งเอแบคและสวนดุสิต

เอแบคโพลสำรวจในเดือนพฤษภาคมนี้เองในเรื่อง “ความเครียดของคนไทย” ว่าเกิดจากเรื่องอะไร

ปรากฏผลออกมาว่า “เครียดเพราะปัญหาปากท้องมากที่สุด”

ร้อยละ 65.64 ตอบว่าเครียดเรื่องสภาพเศรษฐกิจ ร้อยละ 52.29 บอกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 43.48 บอกว่าเป็นเรื่องสุขภาพ

ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจนี้ที่แยกคำตอบตามช่วงวัยพบว่า ความเครียดของคนแต่ละวัย ตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงาน จนถึงวัยชรา พบว่าต่างมีความเครียดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจมาเป็นอันดับ 1 เหมือนๆ กัน

ประสบความทุกข์ใจจากเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องทำ.ห้ราคาสินค้าและบริหารส่อว่าจะสูงขึ้น จนกลายเป็นความกังวล

และปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ร้อยละ 62.85, ไม่มีความสุขเลย ร้อยละ 69.17 และรู้สึกหมดกำลังใจ ร้อยละ 52.69

สำหรับสวนดุสิตโพล ในคำถามที่ว่ารู้สึกกังวลด้านเศรษฐกิจไทยเรื่องใดบ้าง ร้อยละ 74.77 ตอบว่าเรื่องค่าครองชีพสูง ของกินของใช้ราคาแพง น้ำมัน ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา ร้อยละ 31.80 ตอบว่าค้าขายไม่ดี การเงินฝืดเคือง ร้อยละ 24.77 ตอบว่าเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี ต่างชาติไม่กล้าลงทุน ร้อยละ 21.48 ตอบว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้

ร้อยละ 12.38 ตอบว่าเป็นเรื่องการจ้างงาน ตกงาน ปัญหาการว่างงาน

นี่คือภาพสะท้อนของความรู้สึก หรือจะว่าไปก็คือชีวิตจริงของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เป็นประเทศเดียวกันกับที่ “คณะรัฐบาล” ผู้บริหารประเทศกำลังดีอกดีใจ และเฉลิมฉลองกันในผลงานความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งพวกเขายึดถือเอาเป็นความสำเร็จในการบริหารประเทศ

เหมือนไม่มีใครรับรู้ว่านั่นเป็นความสำเร็จที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยิ่งเดือดร้อน

ประเทศแบบที่ความสำเร็จในความคิดของผู้บริหารกลายเป็นความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่

ย่อมยากจะเยียวยา เพราะผู้บริหารไม่เพียงไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา แต่กลับมองเห็นเป็นความน่ายินดีปรีดาที่จะตัองรักษาสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไว้