“จตุคามรามเทพ” มาจากเทพพิทักษ์เกาะลังกา ที่ชื่อ “ขัตตรคาม” และ “รามเทพ” ไม่ใช่องค์แสงสุริยเทพ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

กระแส “จตุคามรามเทพ” กลับมาเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่ได้มี “ร่างประทับ” (เธอไม่เรียกตนเองว่า “ร่างทรง” แต่ถ้ามองจากสายตาคนนอกอย่างผมแล้ว ก็เห็นคล้ายกับอีกหลายคนว่า มันก็ทำนองเดียวกันนั่นแหละครับ) ขององค์จตุคามรามเทพ ในปางต่างๆ ออกมาไลฟ์ถ่ายทอดสดองค์จตุคามรามเทพลงประทับทางโซเชียลมีเดีย

แถมการไลฟ์ประทับองค์จตุคามรามเทพในปางต่างๆ ที่ว่า ยังเป็นที่ฮือฮาเสียจนขนาดที่มีรายการโทรทัศน์เชิญไปสัมภาษณ์ แล้วก็ไม่ได้สัมภาษณ์กันเปล่าๆ เปลี้ยๆ เพราะมีการลงประทับองค์พระศรีธรรมาโศกราช ที่คุณองค์ประทับอ้างว่าเป็นปางหนึ่งขององค์จตุคามรามเทพ หรือองค์แสงสุริยเทพกันให้ดูทางรายการอีกด้วย

ถึงแม้ผมไม่แน่ใจนักว่า องค์แสงสุริยเทพดังกล่าวหมายถึงเทพเจ้าพระองค์ไหน?

แต่ก็พอจะเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างพระศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์ในตำนานของเมืองนครศรีธรรมราช และจตุคามรามเทพ ที่ก็มีที่มามาจากเมืองนครศรีธรรมราชเช่นกันนี่เอง

 

ชื่อ “จตุคาม” และ “รามเทพ” เอามาจากชื่อที่ประดับอยู่บนแผ่นป้ายตรงรูปปั้นทวารบาล 2 องค์ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดชั้นบันได ภายในวิหารพระม้า ตรงทางเข้าไปในลานขององค์พระธาตุ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นครศรีธรรมราช

โดยในส่วนของ “จตุคาม” นั้นคงจะเป็นคำที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “ขัตตุคาม” ในแผ่นป้ายที่ว่า

วิหารพระม้าแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้ง และแผ่นป้ายนี้ก็อาจจะเป็นของที่บูรณะขึ้นใหม่ หรือทำขึ้นใหม่ในการบูรณะคราวใดคราวหนึ่งเช่นกัน

ตัวรูปปั้นทวารบาลเองก็ไม่มีหลักฐานว่าเป็นของเก่า อย่างน้อยในลายพระหัตถ์ (จดหมาย) ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีตอบสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ซึ่งถูกนำมารวมกันแล้วตีพิมพ์ออกมาในชื่อ “สาส์นสมเด็จ”) ที่พูดถึงของตกแต่งภายในวิหารนี้ ก็ไม่พูดถึงรูปปั้นทวารบาลนี้เลย

แต่ในจดหมายฉบับเดียวกันนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ตรัสถึงว่า ทางวัดเคยมีการขุดตรวจลงไปพบว่ามีชั้นบันไดลึกลงไปอีก หมายความว่า ชั้นบันไดที่เห็นในปัจจุบันนี้ (รวมถึงรูปปั้นทวารบาล ที่มีป้ายระบุชื่อว่า ขัตตุคาม กับรามเทพ) เป็นของทำขึ้นใหม่ (จดหมายลงวันที่ 15 มิถุนายน 2476 แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว)

แน่นอนว่า ป้ายชื่อ “ขัตตุคาม” และ “รามเทพ” ก็ควรที่จะเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ในคราวบูรณะ และจัดทำบันไดขึ้นใหม่ในคราวเดียวกันนั้นเอง

 

ที่น่าสนใจกว่าตัวรูปปั้นทวารบาลที่ทำขึ้นใหม่นั้น ก็คือรูปทวารบาลที่แกะสลักอยู่บนบานประตู ที่เชื่อมจากวิหารพระม้าเข้าไปสู่ลานขององค์พระธาตุ (คือตรงที่มีรูปปั้นทวารบาล พร้อมป้ายชื่อใหม่ตั้งอยู่) เพราะเป็นรูปที่ดูแล้วแปลไม่ออกกันว่าคือเทพเจ้าองค์ใดแน่? เนื่องจากมีรูปร่างลักษณะและสิ่งของที่ทรงเอาไว้ในพระหัตถ์ ผิดแปลกไปจากเทพเจ้าองค์อื่นๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป

แถมเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสด็จไปถึงนั้น ก็เป็นบานประตูใหม่ ที่ทำขึ้นแทนบานเดิมที่โดนไฟไหม้ไปจนเกลี้ยงแล้ว ดังนั้น จึงอาจจะเป็นรูปของเทพเจ้าสลักออกมาไม่เหมือนของเดิมก็ได้ และต่อให้สลักเหมือนตามแบบดั้งเดิม ก็เป็นเทพเจ้าที่ไม่ใคร่จะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงได้วินิจฉัยในชั้นแรกว่าเป็นรูปพรหมสัททาสิทธิ์ (พระพรหมองค์หนึ่งตามความเชื่อของคนในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรืออาจจะเก่าแก่ไปถึงยุคอยุธยา ที่มีรูปอยู่ในสมุดภาพพระเทวรูปที่เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4) ก่อนที่จะเปลี่ยนพระทัยว่า อาจเป็นรูปพระอวโลกิเตศวร

แต่ที่จริงแล้ว คงจะไม่ใช่ทั้งพรหมสัททาสิทธิ์ และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทั้งนั้นแหละครับ เพราะดูจะไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับองค์พระธาตุเลย ที่น่าสนใจและควรจะคำนึงถึงมากกว่าก็คือ ชื่อขัตตุคาม (หรือจตุคาม ตามที่นิยมเรียกกันในชั้นหลัง) กับรามเทพ นั่นเอง เพราะอยู่ๆ ใครจะมาทำป้ายชื่อให้รูปปั้นทวารบาลทั้งสองข้างนี้ทำไม?

ดังนั้น ชื่อ “ขัตตุคาม” และ “รามเทพ” บนแผ่นป้ายดังกล่าว จึงอาจจะเป็นชื่อเดิมที่ชาวนครศรีธรรมราชเคยใช้เรียกทวารบาลที่สลักอยู่บนบานประตูไม้เดิม ซึ่งโดนไฟไหม้ไปแล้วเสียมากกว่า เพียงแต่พอเวลาผ่านไปนานเข้า คติก็ค่อยเลือนไป จนเมื่อมีผู้ทำรูปปั้นทวารบาลขึ้นมาใหม่ ก็เข้าใจผิดกันไปว่า คือชื่อของรูปปั้นทวารบาลใหม่นี้ไปมันเสียอย่างนั้น

 

และก็เป็นเพราะการลืมเลือนคติความเชื่อดั้งเดิมทำนองอย่างนี้เอง ที่ทำให้รูปจตุคามรามเทพที่ทำขึ้นมาบูชากัน จนเป็นที่นิยมกันไปทั้งเมืองเมื่อสิบปีนิดๆ ที่ผ่านมานี้ เลียนแบบท่าโพสรูปพระโพธิสัตว์ในศิลปะศรีวิชัย

ก็เจ้ารูปปั้นทวารบาลนี้ก็เลียนแบบรูปลักษณะมาจากศิลปะศรีวิชัยมาก่อนแล้ว กล่าวคือ ถ้าพูดแบบเคร่งครัดที่สุดทวารบาลพวกนี้นั่งท่ามหาราชลีลา คือการนั่งชันเข่าข้างเดียว ส่วนจตุคามรามเทพฉบับพกพาติดตัวนิยมทำท่าลลิตาสนะ คือการนั่งห้อยเท้าลงมาจากที่นั่งข้างหนึ่ง แต่ก็คล้ายๆ กันนั่นแหละ เพราะเป็นท่าที่นิยมในพุทธมหายาน และตันตระ ไม่นิยมในเถรวาทพอๆ กัน แถมยังถูกจับเอามารวมร่างเป็นองค์เดียวกันมันเสียอย่างนั้นอีกต่างหาก

“จตุคาม” และ “รามเทพ” เป็นคำเรียกที่เพี้ยนมาจาก “ขัตตรคาม” และ “รามเทพ” (ชื่อหลังไม่เพี้ยน) ซึ่งเป็น 2 ใน 4 เทพผู้คุ้มครองเกาะศรีลังกา

มีหลักฐานว่าคนในอุษาคเนย์รู้จักความเชื่อนี้ของลังกาจากหนังสือโบราณอย่างชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานพระพุทธสิงหงค์ ตอนที่พระร่วงทรงสนทนากับกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชว่า ทำไมถึงไม่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มา

แล้วกษัตริย์นครศรีธรรมราชตอบว่า เอามาไม่ได้เพราะ “ลังกามีเทพ 4 องค์ คือ ขัตตุคามเทพ (ออกเสียงแบบบาลี ที่จริงก็คือขัตตรคาม ที่เพี้ยนมาเป็นจตุคาม) รามเทพ สุมนเทพ ลักขณเทพ” (ที่จริงมีการเอ่ยชื่อขัตตรคาม กับรามเทพ มาเป็นพยานในโองการดำน้ำ ลุยเพลิง ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวงด้วย)

ขัตตรคาม ในลังกาก็คือ พระขันทกุมาร (บ้างก็เรียก สกันทะ กรรติเกยะ หรือมุลุกัน ซึ่งก็คือองค์เดียวกัน คือเทพแห่งสงคราม ผู้เป็นบุตรชายของพระอิศวร) ส่วนรามเทพ ก็คือพระนารายณ์ หรือพระวิษณุนั่นแหละ

 

ถ้าดูจากหลักฐานทางโบราณคดี ไม่ใช่ในแง่ของความเชื่อ หรือศรัทธาส่วนบุคคลแล้ว จตุคาม รามเทพ จึงเป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงอะไรที่เกี่ยวกับเกาะศรีลังกานั่นแหละครับ

ยิ่งเมื่อพุทธศาสนาของไทยยกย่องพุทธแบบลังกาวงศ์ คือพุทธศาสนาของเกาะศรีลังกา ให้เป็นครู แถมองค์พระธาตุที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนี่ ทั้งคติ และรูปแบบศิลปะ รวมไปถึงตำนาน และอะไรต่อมิอะไรอีกหลากหลายประการนั้น ต่างก็บ่งชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลจากลังกาแทบจะทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าจะเอาทั้งขัตตรคาม และรามเทพ มาใช้เป็นเทพผู้ปกปักพระธาตุก็ไม่เห็นจะแปลก

ส่วนการที่รับมาเฉพาะขัตตรคาม และรามเทพ แต่ไม่ปรากฏพระนามของเทพผู้พิทักษ์เกาะลังกาอีกสององค์นั้นก็เป็นที่เข้าใจได้

เพราะสุมนเทพนั้นเป็นเทพผู้ปกปักเขาสุมณกูฏ บนเกาะศรีลังกา ที่มีรอยพระพุทธบาทอยู่ข้างบนยอด ในขณะที่นครศรีธรรมราชนั้นทำพระมหาธาตุไม่ได้ทำรอยพระพุทธบาท

ส่วนลักขณเทพ หรือนาถเทพ ที่บ้างก็ว่าคือ พระอวโลกิเตศวร หรือเทพีปัตตินิ (และเอาเข้าจริงคติเก่าสุดน่าจะเป็นพิเภก น้องชายทศกัณฐ์) ในเกาะลังกานี่ก็ยังสรุปได้ไม่ชัดว่าจะเป็นใครแน่

แต่จะเป็นใครก็ตาม บรรดาเทพผู้ปกปักเกาะลังกาทั้ง 4 พระองค์นี้ ก็ควรจะเป็น “ผีผู้ใหญ่” ในเกาะศรีลังกามาก่อน แล้วค่อยถูกเอาจับบวชให้เป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ แต่ให้มาปกปักรักษาศาสนาพุทธ

พูดง่ายๆ ว่า “จตุคามรามเทพ” เป็นคติ “ผี” บนเกาะลังกา ที่ถูกจับบวชให้เป็นเทพเจ้า “พราหมณ์” แล้วมอบหมายหน้าที่ให้คอยปกปักรักษา “พุทธ” ศาสนา ที่ถูกส่งทอดมายังนครศรีธรรมราช (รวมถึงอยุธยา และล้านนา ดังปรากฏชื่อในเอกสารโบราณ)

จากนั้นคติดังกล่าวก็ค่อยๆ ลบเลือนไปพร้อมๆ กับการเลอะเลือน จนในที่สุดทั้ง “ขัตตุคาม” และ “รามเทพ” ก็ถูกรวมเข้าเป็นร่างเดียวกัน ตามอย่างที่มักจะเข้าใจกันในปัจจุบัน แถมยังถูกพัฒนาความเชื่อว่าเต็มไปด้วยปางต่างๆ อีกมากนั่นเอง