วิกฤติประชาธิปไตย : “ประเทศกำลังพัฒนา” และ “ประเทศพัฒนาน้อยกว่า” กับหนทาง “ประชาธิปไตย”

วิกฤติประชาธิปไตย (6)

ประเทศตลาดเกิดใหม่กับหนทางประชาธิปไตย

ชื่อเรียก “ประเทศกำลังพัฒนา” และ “ประเทศพัฒนาน้อยกว่า” ถูกเปลี่ยนเป็น “ประเทศตลาดเกิดใหม่” ในทศวรรษ 1980

เป็นการเปลี่ยนที่น่าสนใจของความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางและชายขอบและกึ่งชายขอบ และมีผลต่อหนทางประชาธิปไตยในโลกด้วย

การตั้งชื่อกลุ่มประเทศในโลกเป็นชื่อต่างๆ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากองค์การระดับโลก ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ กลุ่มธนาคารโลก เป็นต้น

อีกส่วนหนึ่งมาจากนักวิชาการตามสถาบันการศึกษา สำนักคิดและองค์กรต่างๆ ที่เกือบทั้งหมดอยู่ในอิทธิพลตะวันตก

การตั้งชื่อเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของความเข้าใจว่าระเบียบโลกปัจจุบันเป็นอย่างไร จะได้สามารถจัดระเบียบโลกให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ หรือเพื่อหาลู่ทางของการลงทุน ขยายกิจการและกำไรอย่างไร

สำหรับชื่อ “ประเทศตลาดเกิดใหม่” นี้ นักวิชาการคนหนึ่งในกลุ่มธนาคารโลกเป็นผู้คิดขึ้นในปี 1981 เป็นการตั้งชื่อได้อย่างเหมาะเจาะกับสถานการณ์

นั่นคือด้านหนึ่งมันเกิดในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐและตะวันตกอยู่ในช่วงภาวะชะงักและเงินเฟ้อพร้อมกัน การว่างงานก็สูง

สืบเนื่องจากเหตุปัจจัยใหญ่สองประการได้แก่ การที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นมาก จากความเข้มแข็งของกลุ่มโอเปคและการปฏิวัติในอิหร่าน และค่าใช้จ่ายในสงครามเวียดนามมหาศาล ทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่ได้เป็นแหล่งลงทุนที่ให้ผลประโยชน์มากเหมือนเดิม

อีกด้านหนึ่งเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาน้อยกว่าหลายประเทศ มีจีนเป็นต้น ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสงามสำหรับนักลงทุนประเทศพัฒนาแล้วที่จะขยายกิจการของตน สร้างโรงงานใหม่ และแหล่งรายได้ใหม่ในประเทศเหล่านี้ที่มีอยู่ทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังจะเกิดการป้อนกลับ

กล่าวคือ ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายที่ได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของประเทศพัฒนาแล้ว สามารถขยายการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานและการจัดการของตน และเข้าร่วมหรือรับเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก ซึ่งในระยะยาวทำให้จีดีพีของประเทศเหล่านี้ขยายตัว

ซึ่งหมายความว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ยังจะเป็นพื้นที่เหมาะแก่การลงทุนต่อไปอีกนาน

เหล่านี้ทำให้ศัพท์ “ประเทศตลาดเกิดใหม่” หรือ “เศรษฐกิจเกิดใหม่” เป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง

มีสถาบันการเงินที่ศึกษาสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เป็นการเฉพาะ เป็นต้น

ความหมายของประเทศตลาดเกิดใหม่ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน มีความหมายทั่วไปดังนี้คือ

1) เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวในระดับต่ำถึงปานกลาง

2) เป็นประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่าน คือเปลี่ยนผ่านจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ไปสู่ประเทศตลาดที่พัฒนาแล้ว มีรายละเอียด เช่น ประเทศยุโรปตะวันออกและประเทศที่เคยร่วมสหภาพโซเวียตเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบปิด ไปสู่เศรษฐกิจแบบเปิดหรือตลาดเสรี หรือหลายประเทศมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ทำให้การปฏิบัติทางเศรษฐกิจเข้มแข็งและรับผิดชอบมากขึ้น รวมทั้งการมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพในตลาดทุน และมีการปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ทำให้สกุลเงินของตนมีเสถียรภาพ ผู้ที่ชี้นำและช่วยเหลือในกระบวนการปฏิรูปนี้ได้แก่ประเทศผู้ให้กู้หรือให้ความช่วยเหลือ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ

3) เป็นประเทศที่มีการลงทุนสูง ทั้งการลงทุนจากในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งแสดงถึงความมั่นใจของนักลงทุนในเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่

ในปัจจุบันมีหลายสถาบันการเงินที่ทำการจำแนกว่าประเทศใดอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ ไอเอ็มเอฟ มอร์แกน สแตนลีย์ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ กลุ่มบริษัทการลงทุนรัสเซลล์ และดัชนีดาวโจนส์ เป็นต้น

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทุกสำนักจัดอยู่ในประเทศตลาดเกิดใหม่ ประเทศอื่นที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น บราซิล ชิลี จีน ฮังการี อินโดนีเซีย อินเดีย รัสเซีย เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และตุรกี เป็นต้น

บางสถาบันจัดเกาหลีใต้ ไต้หวันอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วย

ตามการจำแนกนี้ประเทศในโลกมีสามกลุ่ม ได้แก่ ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ระดับบน ประเทศตลาดเกิดใหม่อยู่ระดับกลาง และประเทศชายขอบอยู่ระดับล่าง

ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่นกรีซอาจถูกลดฐานะเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ และประเทศตลาดชายขอบก็สามารถเลื่อนฐานะเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ เช่นในกรณีกาตาร์

หนทางประชาธิปไตยที่คดเคี้ยวในประเทศตลาดเกิดใหม่

ตามความคาดหวังและความต้องการของสหรัฐและตะวันตก ประเทศตลาดเกิดใหม่ควรจะได้ปฏิบัติตนดังนี้คือ

ก) สนับสนุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งรวมทั้งโครงสร้างการเงินโลกที่มีดอลลาร์สหรัฐและยูโรของสหภาพยุโรป เป็นหลักของเงินทุนสำรองและการค้าระหว่างประเทศ

ข) ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินตามแนวทางของบรรษัทตะวันตกและกลุ่มธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ

ค) เปิดประเทศและให้หลักประกันสำหรับการลงทุนจากกลุ่มทุนโลก

ง) พัฒนาสถาบันเศรษฐกิจ-การเมืองให้เป็นแบบตะวันตกมากขึ้นโดยลำดับ แสดงออกสำคัญที่มีนโยบายที่ไม่ขัด และถ้าเอื้อต่อผลประโยชน์ของสหรัฐและตะวันตกด้วยยิ่งดี

ประเทศใดที่ปฏิบัติตามนี้ก็ถือว่าใช้ได้ และเป็นประชาธิปไตย อยู่ในกลุ่มมิตร

ตัวอย่างเช่น ซาอุดีอาระเบีย ที่ตกลงซื้อขายน้ำมันของตนในสกุลเงินดอลลาร์ และนำเงินดอลลาร์มาซื้อพันธบัตรของสหรัฐ ช่วยให้สหรัฐสามารถจับจ่ายได้สบายมือขึ้น ทั้งยังเป็นลูกค้าซื้ออาวุธที่ดี มีนโยบายที่เอื้อประโยชน์กันและกัน มีการต่อต้านอิทธิพลของอิหร่าน เป็นต้น

เหล่านี้ก็อยู่ในกลุ่มมิตร และกำลังพัฒนาประชาธิปไตย เช่น การยินยอมให้สตรีขับรถยนต์ได้

แต่ไม่ใช่ว่าประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นจะมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นเช่นนี้ เพราะว่าประเทศตลาดเกิดใหม่มีสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ลักษณะทางวัฒนธรรมและอารยธรรม ไปจนถึงสถานการณ์และการนำในประเทศนั้นๆ ต่างกันไป

หลายประเทศมีความเก่าแก่ เช่น จีน อิหร่านหรือเปอร์เซีย รัสเซีย ตุรกี เคยรุ่งเรือง เป็นจักรวรรดิใหญ่ย่อมมีทางเดินของตน

ประเทศที่กล่าวมานี้ในขณะนี้ถูกถือเป็นคู่แข่งเกือบทั้งหมดของสหรัฐ

ยกเว้นตุรกีที่เป็นสมาชิกองค์การนาโต้ แต่ก็ขยับมาอยู่ชายขอบมากขึ้นทุกที

ประชาธิปไตยในช่วงโลกาภิวัตน์

ประชาธิปไตยในช่วงโลกาภิวัตน์ โดยใช้ตะวันตกเป็นศูนย์กลาง สามารถแยกได้เป็นสามช่วงอย่างคร่าวๆ

ช่วงแรก ในทศวรรษ 1980 เป็นการเริ่มต้นใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือรุกทางการเมือง เกิดกระแสประชาธิปไตยแผ่ไปทั่วโลก มีเหตุการณ์เคลื่อนไหวประชาธิปไตยสำคัญ ได้แก่ กรณีเทียนอันเหมินในจีน และการทลายกำแพงเบอร์ลิน (ทั้งสองกรณีเกิดประจวบกันในปี 1989)

ช่วงที่สอง ในทศวรรษ 1990 ประชาธิปไตยขึ้นสู่กระแสสูง สหรัฐ-นาโต้ก่อสงครามและการเข้าแทรกแซงในหลายที่ในข้ออ้างประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม ได้แก่ การทำสงครามครั้งที่หนึ่ง (1990) การทำสงครามบอสเนีย (1995) สงครามโคโซโว (1999) การรุกเข้าไปในยุโรปตะวันออกและประเทศที่เคยร่วมสหภาพโซเวียต

ช่วงที่สาม ในทศวรรษ 2000 ถึงปัจจุบัน เป็น “ประชาธิปไตยขาลง” จากเหตุใหญ่สองประการ ได้แก่ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (เริ่ม 2001) และวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ทำให้อำนาจและอิทธิพลของสหรัฐ-นาโต้ลดลงมาก

เกิดการเฟื่องฟูขึ้นของกลุ่มบริกส์ (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ที่ไม่ได้ถือเสรีประชาธิปไตยและปรัชญาแสงสว่างทางปัญญาแบบตะวันตก

ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 สหรัฐ-นาโต้พบความยากลำบากมากขึ้นในการใช้สงครามและการรุกคืบโดยใช้เครื่องมือประชาธิปไตย

การสนับสนุนการก่อรัฐประหารที่เรียกว่า “การปฏิวัติสี” เช่น ในประเทศจอร์เจีย (2003) ยูเครน (2004) คีร์กีซสถาน (2005) ได้ผลได้อย่างจำกัดและไม่ยั่งยืน

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายกับวิกฤติประชาธิปไตยโลก

มีนักวิชาการบางคนชี้ว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในศตวรรษที่ 21 มีความแตกต่างจากสงครามอื่นที่สหรัฐเคยทำมาในอดีต

กล่าวว่านับแต่หลังเหตุการณ์วินาศกรรมกันยายน 2001 มา สงครามที่อเมริกาก่อขึ้นเป็นเพื่อการครอบงำมากยิ่งกว่าเสรีภาพ

สหรัฐทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายโดยไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการสร้างสถาบันทางการเมืองซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับเสรีภาพทางประชาธิปไตย

ความหวาดกลัวลัทธิก่อการร้ายทำให้ละเลยต่อการปกครองที่ดี ซึ่งถึงที่สุดแล้วเป็นการสนับสนุนพวกก่อการร้ายเสียเอง

การไม่สนใจเสรีภาพต่างแดนยังมีผลต่อเสรีภาพภายในประเทศด้วย การอ้างเรื่องการสร้าง “ชายแดนที่มั่นคง” ของประธานาธิบดีและพลพรรค ได้ใช้เป็นข้ออ้างทางลัทธิเชื้อชาติและความรุนแรงภายในประเทศ เพื่อปกป้องคนผิวขาว

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายทำให้สถาบันประธานาธิบดีสหรัฐกลายเป็นภัยคุกคาม ไม่ใช่ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกและโอบามาได้ขยายอำนาจฝ่ายบริหารไปเป็นอันมาก ผสานกับปฏิบัติการปิดลับและเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่น โดรนสังหาร ได้จับกุมคุมขังและสังหารผู้คนไปนับร้อย รวมทั้งประชาชนอเมริกันจำนวนมาก โดยที่สาธารณชนไม่ได้ล่วงรู้ ทั้งมีการจับและทรมานเชลยในคุกทหาร เช่น อะบู กราอิบ ในอิรัก และอ่าวกวนตานาโมในคิวบา

ประธานาธิบดีบุชได้สร้างกระทรวงความมั่นคงปิตุภูมิที่มีขนาดใหญ่ ขยายการสอดส่องประชาชนโดยเฉพาะ ผ่านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และสนับสนุนการแปรกำลังตำรวจตามเมืองต่างๆ ให้เป็นแบบทหาร

โอบามาได้คุกคามเสรีภาพของสื่อด้วยการลงโทษผู้แฉข่าวลับของรัฐบาลอย่างรุนแรง (เช่น แบรดลีย์ แมนนิง เป็นต้น)

รวมทั้งนักข่าวที่รายงานข่าวเหล่านี้ด้วย โดยรวมรัฐบาลถอนการบังคับใช้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดให้มีการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันทางกฎหมาย การมีที่อยู่อาศัย การจ้างงานและการศึกษา

สงครามหลังเหตุการณ์วินาศกรรมขยายความขัดแย้งในสหรัฐอย่างรุนแรง ทำให้ประธานาธิบดีไม่สามารถเรียกร้องการเสียสละในการสงครามจากประชาชนอเมริกันได้เหมือนในอดีต

ทั้งมีนโยบายที่ผิดพลาด มองข้ามความสำคัญของความเป็นเอกภาพ การสร้างสรรค์ และการพัฒนาตนเอง เช่น การออกพันธบัตรสงคราม หรือการเก็บภาษี คนรวยเพิ่มขึ้น แต่กลับลดภาษีคนรวย ขยายช่องว่างทางสังคม

ในขณะนี้ คำว่าเสรีภาพ ความเสียสละ และประชาธิปไตย กลายเป็นคำที่กลวงโบ๋

เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ขยายสงครามในอัฟกานิสถาน แทบไม่ได้กล่าวถึงเสรีภาพหรือประชาธิปไตยเลย

ในการปราศรัยครั้งหนึ่ง ทรัมป์เอ่ยถึงเสรีภาพและประชาธิปไตยเพียงครั้งเดียว แต่ใช้คำว่า “โจมตี” 8 ครั้ง “มีชัย” 6 ครั้ง “ชัยชนะ” 4 ครั้ง

แต่ว่ามันเป็นชัยชนะเพื่อใคร และชนะอะไร ในเมื่อสหรัฐกำลังทำสงครามเพื่อทำลายประชาธิปไตยของตนเอง (ดูบทความของ Jeremi Suri ชื่อ How 9/11 triggered democracy”s decline ใน The Washington Post, 11.11.2017 เจเรมี สุรี เป็นศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์และรัฐกิจ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาชื่อ The Impossible Presidency : The Rise and Fall of America”s Highest Office เผยแพร่ครั้งแรกปี 2017)

ดังนั้น กล่าวตามนิทานอีสปได้ว่า เมื่อแม่ปูเดินไม่ตรง ก็ไม่ควรเตือนลูกปูให้เดินตรงๆ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงวิกฤติเศรษฐกิจกับวิกฤติประชาธิปไตย และตัวอย่างหนทางประชาธิปไตยในตุรกี