แพทย์ พิจิตร : ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการทำรัฐประหารทั้งสิ้นกี่ครั้ง? (1)

เมื่อเวลาผ่านมาถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2559 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็จะมีอายุครบ 40 ปี มีหลายสิ่งหลายอย่างในช่วง 40-50 ปีนี้ที่น่ากล่าวถึง

เรื่องแรกคือ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง

ท่านเป็นนักวิชาการที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป มีตำแหน่ง ศาสตราจารย์ และจบปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้รอบรู้และมีประสบการณ์ทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม อายุเข้าเลข “แปด” แล้ว แต่ยังแข็งแรง

ผู้เขียนต้องหาทางรีบสัมภาษณ์ท่านในลักษณะของ “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” จะจริงจะเท็จอย่างไร อย่างน้อยก็ต้องขอเก็บเป็นข้อมูลไว้ก่อนในฐานะที่เป็น “บันทึกความทรงจำ” ของปูชนียบุคคลระดับท่าน

เรื่องที่ผู้เขียนได้รับฟังจากท่านมีหลายเรื่อง แต่ขอนำเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ “6 ตุลา” มาเล่าสู่กันฟังก่อน เพราะสอดคล้องกับช่วงเวลา

 

ท่านตั้งคำถามให้พวกเราตอบว่า “ในวันที่ 6 ตุลาฯ มีรัฐประหารทั้งหมดกี่ครั้ง?”

เมื่อถามเป็นเชิงปริมาณมา ก็คงต้องตอบเป็นเชิงปริมาณไป

และแน่นอนว่าเมื่อตั้งคำถามมาแบบนี้ การจะตอบว่า “1 ครั้ง” ย่อมไม่น่าจะใช่คำตอบที่ถูกต้อง

พวกเราบางคนจึงตอบไปว่า “2 ครั้ง”

และแน่นอนว่า เมื่อมีคนตอบ “2 ครั้ง” แล้ว คนต่อไปก็ย่อมต้องเลือกตอบ “3 ครั้ง”

ผู้เขียนก็ตอบ “3 ครั้ง” แต่เป็นการตอบในใจ เพราะในขณะที่ตอบเชิงปริมาณไปในใจว่า “3 ครั้ง” เพราะต้องการเป็นทางเลือกให้กับคนที่ตอบ “2 ครั้ง” อันหมายความว่า ใครคนใดคนหนึ่งในพวกเราย่อมจะต้องตอบถูก

ยกเว้นเสียว่า “6 ตุลาฯ” จะมีการทำรัฐประหารทั้งสิ้นถึง “4 ครั้ง” ซึ่งผู้เขียนก็จินตนาการลำบากว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร

ขนาดตอบไปแค่ “3 ครั้ง” ยังไม่กล้าตอบออกเสียงเลย เพราะต้องนึกถึงลำดับตัวละครและกลุ่มการเมืองในขณะนั้นว่า จะมี “ใคร” ทำรัฐประหารซ้อนกันไปมาได้ถึง “3 ครั้ง”

ที่แน่ๆ ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ อย่างน้อยต้องมีตัวละครหลัก 2 ตัว

หนึ่ง ตัวที่เป็นรัฐบาลที่จะต้องถูกทำรัฐประหาร

และ สอง ตัวที่ทำรัฐประหารล้มรัฐบาล ซึ่งถ้าเห็นตัวละครแค่ 2 ตัว ก็หมายความว่า น่าจะมีรัฐประหารแค่ครั้งเดียว

แต่ถ้ามีมากกว่า 1 ครั้ง และตัวละครที่เป็นรัฐบาลไม่สามารถกลับมามีอำนาจได้ ก็แปลว่า จะต้องมีตัวละครตัวที่สาม

และตัวที่สามนี่แหละที่ทำรัฐประหารซ้อนตัวละครตัวที่สอง แต่มันก็ลงเอยด้วยรัฐประหาร 2 ครั้งเท่านั้น

ถ้ามีรัฐประหาร 3 ครั้ง ก็เป็นไปได้ว่า หลังจากที่ตัวละครตัวที่สามทำรัฐประหารซ้อนตัวละครตัวที่สอง

และตัวละครตัวที่สองสามารถแก้เกมยึดอำนาจกลับมาได้ หรือไม่ก็จะต้องมีตัวละครตัวที่สี่!

 

แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะเสียสติสับสนกับการคิดย้อนกลับไปในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ท่านผู้ใหญ่ผู้นั้นท่านก็เฉลยออกมาเสียก่อนว่า ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการทำรัฐประหารในเชิงปริมาณรวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง!

ท่านเล่าให้ฟังว่า “จริงๆ วันนั้นมีปฏิวัติสามครั้ง คนปฏิวัติครั้งแรกคือสมัคร (สุนทรเวช/ผู้เขียน) กับพันเอก…(ขอสงวนชื่อและนามสกุล/ผู้เขียน) ไปจี้ให้อาจารย์เสนีย์ลาออก พออาจารย์เสนีย์เซ็นลาออกแล้วกำลังเดินออกมาเจอกับ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ กำลังจะเดินขึ้นมารายงานนายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม (พลเรือเอกสงัดได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2519 โดยขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรักษาการผู้บัญชาการกองทัพเรืออยู่แล้ว/ผู้เขียน) ว่ามันเกิดอย่างนี้ๆๆ นะ นายกฯ จะเอายังไงก็ว่ามา

สมัครกับพันเอก…ก็บอก ไม่มีแล้วนายกฯ น่ะ เขาลาออกแล้ว ป่วยการที่จะทำอย่างนี้ต่อไป ต้องปฏิวัติ และกำลังหาหัวหน้าอยู่ ยูเอาไหมล่ะ? ซึ่งสงัดก็ต้องเอา ดีกว่าไม่เอา สมัครก็เลยต้องยอมรับ พากันไปถนนเสือป่า ไปประกาศ

ตอนประกาศก็มีสองช่วง

ช่วงหนึ่งต้องเอาผู้หลักผู้ใหญ่ทางทหารเข้ามาสนับสนุนให้หมด ก็รวบรวมได้ 22 คน

ช่วงที่สองก็ต้องเอาพวก…มาป้องกัน protection มา mobilize กองกำลังขึ้นมารักษาบ้านเมือง และคณะปฏิวัติ พอช่วงเช้าก็หาไม่ได้ มีแต่ทหารเรือ ก็เอาทหารชั้นผู้ใหญ่ประชุมกันอยู่ ก็มีพันโทสองคนมาจี้ด้วยปืนพก พวกนั้นก็บอก มึงเป็นแค่พันโทพันเอกมาจี้ผู้ใหญ่ได้ไง

พวกนั้นก็บอกไม่สำคัญครับ ตอนนี้ปฏิวัติแล้ว”

 

ฟังความจาก “คำบอกเล่า” ของท่านข้างต้น ผู้เขียนลำดับความได้ว่า

ตัวละครที่หนึ่งคือ รัฐบาลซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี

ตัวละครที่สองที่เริ่มทำรัฐประหารครั้งที่หนึ่งในวันนั้นคือ คุณสมัคร สุนทรเวช และพันเอก…

ซึ่งแน่นอนว่า ข้างหลังคุณสมัครและพันเอก…จะต้องมีตัวละครเอกที่ซ่อนอยู่แน่นอน

แต่หลังจากคุณสมัครและพันเอกท่านนั้นได้จี้ให้ ม.ร.ว.เสนีย์เซ็นหนังสือลาออก และบังเอิญมาป๊ะกับพลเรือเอกสงัดที่มารายงานเหตุการณ์ตามหน้าที่ของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่มีต่อนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อคุณสมัครป๊ะกับพลเรือเอกสงัด คุณสมัครเลยบอกไปว่า ไม่มีนายกรัฐมนตรีแล้ว เลยเชื้อเชิญให้พลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้าคณะไปเสียเลย

ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่า การเชื้อเชิญของคุณสมัครและพันเอก…ท่านนั้น น่าจะเป็นการพูดไปตามสถานการณ์มากกว่าที่จะเป็นเรื่องจริง

เรื่องจริงที่ว่านี้ก็คือ คุณสมัครและพันเอก…ท่านนั้นน่าจะมี “หัวหน้า” คณะอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า คุณสมัครแกกล้าออกตัวมาจี้นายกรัฐมนตรี

คำถามคือ เราจะนับ “พลเรือเอกสงัด” เป็นตัวละครตัวที่สามหรือไม่?

 

ซึ่งตาม “คำบอกเล่า” ดูเหมือนว่าไม่ได้จะมาทำรัฐประหาร แต่มารายงานสถานการณ์ แต่ก็น่าคิดว่า แล้วทำไมคุณสมัครต้องเชื้อเชิญให้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารของคุณสมัครและพันเอก…นั่น?

และก็น่าคิดว่า ทำไมพลเรือเอกสงัดมารายงานเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่แสนจะไล่เลี่ยกับฤกษ์ผานาทีที่คุณสมัครตัดสินใจจี้นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช?

แต่ที่แน่ๆ คือ คงไม่มีใครเชื่อว่า คุณสมัครทำรัฐประหารตามลำพังกับพันเอกท่านนั้น และไม่มี “หัวหน้า”

ผู้เขียนเห็นว่า คุณสมัครจำต้องเลยตามเลย (และรักษาตัวให้รอด) มากกว่า เมื่อต้องเผชิญหน้ากับพลเรือเอกสงัดในขณะนั้น

แล้วคุณสมัครไม่คิดหรือว่า พลเรือเอกสงัดอาจจะไม่เล่นด้วย แล้วจับกุมคุณสมัครในฐานะกบฏ

ยกเว้นว่าคุณสมัครรู้ระแคะระคายมาบ้างแล้วว่า พลเรือเอกสงัดอาจจะกำลังคิดทำรัฐประหารอยู่ด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญคือ คุณสมัครอธิบายอย่างไรกับพลเรือเอกสงัดในกรณีที่ ม.ร.ว.เสนีย์ท่านลาออก…ตัดสินใจลาออกเอง?

หรือคุณสมัครบอกไปว่า เขากับพันเอกนั้นได้จี้ให้ออก เพราะด้วยความเป็นห่วงบ้านเมือง เพราะรัฐบาลคุมสถานการณ์ไม่อยู่แล้ว?!

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพลเรือเอกสงัดจะตอบรับ ซึ่งตาม “คำบอกเล่า” กล่าวว่า “ซึ่งสงัดก็ต้องเอา ดีกว่าไม่เอา” และ “สมัครก็เลยต้องยอมรับ” แต่เมื่อต้องหาผู้คุมกำลังมารักษาบ้านเมือง ปรากฏว่ามีแต่ทหารเรือ ซึ่งก็เป็นกองกำลังที่พลเรือเอกสงัดสามารถสั่งการระดมกำลังได้ แต่ในทางยุทธศาสตร์ ถือว่ายังใช้ไม่ได้

ที่จริง พลเรือเอกสงัดน่าจะได้เรียนบทเรียนสมัยที่ท่านร่วมในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันในช่วงระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน พ.ศ.2492 ในขณะนั้นท่านยังมียศ นาวาโท เป็นผู้บังคับบัญชาเรือรบหลวงสุราษฎร์ธานี ท่านเป็นผู้ยิงปืนจากเรือไปยังรถถังของฝ่ายรัฐบาลจนเสียหาย หลังเหตุการณ์ได้ถูกควบคุมตัวและถูกคุมขังเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคนอื่นๆ ที่สนามกีฬาแห่งชาติด้วย นั่นคือ การก่อการยึดอำนาจจะสำเร็จได้ยากหากไม่มีกองทัพบกเป็นกำลังหลัก

เมื่อทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นพวกทำรัฐประหารชุดแรกที่เชื่อมต่อกับคุณสมัครและพันเอก…โดยบังเอิญกำลังประชุมหารือในเรื่องกำลังพลอยู่นั้น ก็มีนายทหารกองทัพบกยศพันโทสองคนมาจี้นายทหารผู้ใหญ่ด้วยปืนพก

“พวกนั้นก็บอก มึงเป็นแค่พันโทพันเอกมาจี้ผู้ใหญ่ได้ไง พวกนั้นก็บอกไม่สำคัญครับ ตอนนี้ปฏิวัติแล้ว”

ก็ทหารบกเสียอย่าง จะไปกลัวอะไรกับทัพอื่น และนายทหารยศพันโทสองท่านนี่แหละที่เป็นตัวละครที่สี่ ถ้าพลเรือเอกสงัดเป็นตัวละครที่สาม แต่ถ้าพลเรือเอกสงัดไม่ได้เป็นตัวละครที่สาม สองพันโทนี่ก็ต้องเป็นตัวละครที่สาม และถือเป็นการทำรัฐประหารครั้งที่สอง ยึดอำนาจที่คุณสมัครและพันเอก…นั้นยึดมาจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์มาได้แค่ไม่กี่อึดใจ ก็ต้องจากไปอยู่ในมือ “หัวหน้าชั่วคราว” คือ พลเรือเอกสงัด และอำนาจนี้ก็ไปพักค้างคืนอยู่กับพลเรือเอกสงัดคืนหนึ่ง!

ใครคือสองพันโททหารบกผู้ทระนงนั้น!