วิรัตน์ แสงทองคำ : ปตท. อีกแล้ว

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

จังหวะก้าว ปตท. จะถูกจับตามากขึ้น ทั้งบทบาทในสังคมไทยและสังคมธุรกิจโลก ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างบุคลิกอันแปรเปลี่ยน กับประวัติองค์กรซึ่งไม่อาจหลีกหนี

ข้อความข้างบน ผมเคยนำเสนอไว้เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว (จากบทสรุป งานเขียนชุดใหญ่เกี่ยวกับ ปตท. ในมติชนสุดสัปดาห์ ช่วงปี 2555 ประมาณ 15 ตอน) ประหนึ่งคำเตือนและคาดการณ์ดูท่าจะเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นๆ

ขณะเดียวกันคาดว่า ปตท. มีบทเรียนมากขึ้น สามารถเผชิญและขบแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

แม้เรื่องราวเกี่ยวกับ ปตท. ช่างดูวนเวียนไปมา เหมือนเรื่องราว ปตท. ซึ่งผมเองนำเสนอหลายครั้งหลายครา ตามกระแส ตามปรากฏการณ์เฝ้ามององค์กรใหญ่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป หลายมิติมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ย่อมมีบทสรุปให้ภาพที่แตกต่างกันออกไปบ้างตามสมควร

บทสรุปหนึ่งที่ควรสนใจ ปตท. ในช่วงเกือบๆ ทศวรรษที่ผ่านมา กลายเป็นช่วงเวลาที่เนิบช้า พัฒนาการเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเปรียบเทียบประวัติศาสตร์แห่งยุคก้าวกระโดดกว่า 3 ทศวรรษก่อนหน้า ว่าไปแล้วความเป็นไปที่ว่า ย่อมเกี่ยวข้อง ต่อเนื่องจากช่วงนั้น

ปตท. ในช่วงเวลาดังกล่าว ช่วงเวลาเผชิญความท้าทายในมิติมากกว่าเศรษฐกิจและธุรกิจ

ดูเหมือนอยู่ในช่วงปรับฐาน พยายามรักษาระดับความสามารถในการประกอบการไว้ รักษาระดับรายได้อยู่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ส่วนผลกำไรนั้นผันแปรค่อนข้างมาก แต่ผู้คนมักสนใจเป็นพิเศษ เมื่อเวลามีผลกำไรมากกว่า 1 แสนล้านบาท

(โปรดพิจารณา ข้อมูลทางการเงิน (2542-2560) ประกอบ)

 

กิจการพลังงานแห่งชาติ สู่บริษัทตลาดหุ้น

ปตท. มีประวัติศาสตร์นานพอควร กำลังข้ามผ่านจากจุดเริ่มต้นครบรอบ 4 ทศวรรษแล้ว

จากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (29 ธันวาคม 2521) รัฐวิสาหกิจใหม่จัดตั้งขึ้นในสถานการณ์อันยุ่งยาก สังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันถึงสองครั้งในช่วงไม่ถึง 10 ปี

ความเป็นไปในช่วงก่อตั้งค่อนข้างฉุกละหุก ประเทศไทยไม่สามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้เพียงพอกับความต้องการ ทั้งๆ ที่กิจการน้ำมันทั้งหมดเป็นของบริษัทต่างชาติ

ถือเป็นจุดอ้างอิงในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐ

ในฐานะกิจการพลังงาน กับความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงทางสังคมเป็นพิเศษ ได้ใช้เวลานานมากทีเดียว กว่าจะเปลี่ยนมือจากต่างชาติมาอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ ผ่านจากยุ8อาณานิคม จนล่วงเลยช่วงสงครามเวียดนาม

ว่าไปแล้วเป็นไปตามกระแสลมพัดแรงระดับภูมิภาค เกิดก่อนหน้ากรณี ปตท. ไม่นานนัก PERTAMINA แห่งอินโดนีเซียก่อตั้งขึ้นในปี 2511 ตามมาด้วย PETRONAS แห่งมาเลเซีย ในปี 2517

เชื่อว่าเป็น “ชิ้นส่วน” มรดกทางความเชื่อ ส่งทอดต่อเนื่องสู่สาธารณชนในวงกว้างไม่น้อยทีเดียว แม้ว่า ปตท. ได้กลายเป็นบริษัทจำกัด ตามกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ (ปี 2542) และต่อมาก้าวไปอีกขั้นด้วยการเข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย (ปี 2544) แล้วก็ตาม หลายคนไม่ทราบว่า แผนการนั้นมีแรงกดดันมาจากโลกาภิวัตน์ทางการเงิน เกี่ยวเนื่องกับช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540

ขณะที่ความเป็นองค์กรลักษณะพิเศษด้วยอภิสิทธิ์แห่งรัฐซ่อนอยู่ ปตท. ยังคงบทบาทในฐานะผู้จัดหาพลังงาน (น้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติ) ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าสังคมไทย และ ปตท. ในฐานะคู่สัญญาแต่เพียงผู้เดียว รับซื้อปิโตรเลี่ยมในขั้นต้นธารจากผู้รับสัมปทานต่างชาติทุกรายในประเทศไทย

ประสบการณ์กรณี มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลปกครอง (31 สิงหาคม 2549) ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาการแปลงสภาพ ปตท. เป็นบริษัทจำกัด ในช่วง ปตท. กำลังก้าวสู่ยุคการขยายธุรกิจออกไปจากต้นน้ำ กลางน้ำ ไปสู่ปลายน้ำอย่างน่าเกรงขาม

แม้ว่าเป็นช่วงรัฐบาลรัฐประหาร (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 1 ตุลาคม 2549-29 มกราคม 2551) เชื่อกันว่าความโน้มเอียงและเข้าใจแนวคิดมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าใครๆ แต่ไม่สามารถหยุดยั้ง

ผลสรุปแม้ไม่ทำให้ ปตท. เสียศูนย์ แต่ ปตท. ก็ไม่ได้ทุกอย่าง (ต้องคืนทรัพย์สินบางส่วนให้รัฐ)

ขณะแรงกดดันไม่ได้ลดลง มีบางจังหวะ บางสถานการณ์เพิ่มขึ้นเป็นช่วงๆ ทั้งนี้ มักอ้างอิงกับราคาขายปลีกน้ำมัน

อันที่จริง ปตท. เป็นบริษัทจำกัด แม้เข้าตลาดหุ้นแล้ว แต่รัฐบาลโดย กระทรวงการคลัง และ กองทุนของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (รวมกันประมาณ 65% –อ้างอิงจากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ) บทบาทในเชิงนโยบายอย่างกว้างๆ ยังคงกำกับโดยรัฐ ผ่านรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ประสบการณ์ปรากฏการณ์ความเชื่อมโยงทางการเมืองในมิติหนึ่งอย่างน่าสนใจ อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับตลาดหุ้น แม้ผ่านมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว แต่หลายคนไม่ลืม เกี่ยวกับบทสนทนาอย่างออกรส กรณีการจัดสรรหุ้นในช่วงเข้าตลาดหุ้นเอื้อประโยชน์กับผู้ถือหุ้นส่วนน้อยๆ บางส่วน เชื่อว่าเชื่อมโยงกับนักการเมือง

นอกจากนี้ กรรมการบริษัท ปตท. มักมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อาจรวมไปถึงกรณีอดีตผู้บริหารปตท.มักมีบทบาททางการเมือง เมื่อพ้นตำแหน่ง

อีกด้านหนึ่ง ปตท. ในฐานะกิจการในตลาดหุ้น มีความหมายและผลกระทบมากกว่าหลายคนคิด

ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในการเข้าตลาดหุ้น ความหมายที่แท้จริง คือการระดมเงินจากนักลงทุน จากการกระจายหุ้นส่วนน้อยให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 30% ว่าด้วยบทบาทและอิทธิพลนักลงทุนต่างชาติ นอกจากสร้างความเชื่อมั่นระดับโลก มีโอกาสการระดมทุนจากต่างประเทศรูปแบบอื่นๆ ตามมาอีก (ปตท. ได้ระดมทุนผ่านตราสารกับนักลงทุนต่างชาติมาแล้วนับแสนล้านบาท)

ขณะเดียวกันความเป็นไปของ ปตท. ในบางมิติต้องอ้างอิงกฎกติกาตลาดทุนโลก ว่าโดยเฉพาะก็คืออ้างอิงอิทธิพลกลุ่มนักลงทุนตะวันตก เป็นที่เข้าใจกันดีซึ่งบางคนอาจไม่เข้าใจ ก็คือ นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจให้ความสำคัญในประเด็นการบริหารจัดการ โดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐ ใน 2 ประเด็นสำคัญ 3

หนึ่ง-กลไกราคาขายปลีกน้ำมัน

และสอง–แผนการลงทุนทางธุรกิจ

 

จากบริษัทไทยยักษ์ใหญ่ สู่เครือข่ายธุรกิจระดับโลก

ผู้คนวงกว้างเพิ่งมอง ปตท. จากบทบาทผู้นำในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน (โดยเฉพาะสถานีบริการ) อย่างตื่นเต้น

ปตท. สร้างจินตนาการอย่างไม่หยุดยั้ง ไปสู่สถานีบริการโมเดลใหม่ ที่สำคัญก้าวออกไปสู่ธุรกิจอื่นไม่ใช่น้ำมัน

เหตุการณ์สำคัญบางกรณีเป็นไปอย่างเงียบๆ โดยเฉพาะร่วมมือกับ 7-Eleven เครือซีพี (ปี 2545) และซื้อกิจการสถานีบริการน้ำมันเจ็ท (Jet) และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ (Jiffy) ในประเทศไทย จาก Conoco Phillips แห่งสหรัฐ (ปี 2550)

ก่อนจะมาครึกโครมอย่างมากๆ ด้วยเผชิญแรงต้านแผนการใหญ่จำต้องถอนตัวจากการซื้อกิจการ Carrefour ในประเทศไทย (ปี 2553)

อีกด้านที่เป็นไปอย่างเข้มข้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ โอกาสใหม่ ซึ่งสั่นสะเทือนสังคมธุรกิจไทยอย่างมากๆ ที่เรียกว่า Integrated Value Chain ว่าด้วยยุทธศาสตร์ธุรกิจปิโตรเคมี ยุทธศาสตร์ที่แตกต่างจากยุคแรกๆ ยุทธศาสตร์ที่เชื่อว่าอ้างอิงกับการเมืองจากการเลือกตั้ง

โอกาสซึ่งถือว่าต่อเนื่อง จากการเข้าตลาดหุ้น กับสถานการณ์น้ำมันโลกพลิกผันอย่างรวดเร็ว ปี 2547 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากวิกฤตครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อ การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันสูงขึ้น

ปตท. ขยายตัวอย่างเหลือเชื่อ จากสินทรัพย์ระดับ 3 แสนล้านบาทในปี 2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี 2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี 2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาทในปี 2548-2549 ขณะเดียวกันราคาหุ้นจากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545 เพิ่มขึ้นทะลุ 400 บาทในปี 2547

การลงทุนครั้งใหญ่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการวางรากฐานมั่นคงยิ่งขึ้นในธุรกิจขั้นต้น (Upstream) โดยบทบาทของ ปตท.สผ. ไปสู่การสร้างฐานธุรกิจเคมีภัณฑ์อย่างครบวงจรและลงลึกมากขึ้นๆ ทั้งขยายตัวครอบคลุมภูมิศาสตร์ที่กว้างขึ้นด้วย

ขณะนั้น ปตท. มั่นใจว่าถึงเวลาแล้วต้องก้าวออกจากเกราะกำบังอันแข็งแกร่ง และเชื่อว่าโดยคงไม่มีใครสามารถดึงรั้งให้ ปตท. ถอยหลังกลับไป

แม้ต้องเผชิญแรงเสียดทานครั้งแล้วครั้งเล่า